Life on CAMPUS แมกกาซีนเจาะกึ๋นวัยทีน

“ … Life on CAMPUS เป็นเสมือนจดหมายข่าวที่ทุกมหาวิทยาลัยอ่านได้หมด…” ธนกร แสงสินธุ์ บรรณาธิการบริหาร แมกกาซีน Life on CAMPUS วัย 29 แห่งค่าย ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ในเครือผู้จัดการ บอกกับทีมงาน POSITIONING ด้วยแววตามุ่งมั่น และสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มเล็กๆ ขณะที่ในมือพลิกอ่านแมกกาซีน life on CAMPUS รูปลักษณ์ใหม่ที่ได้ถูกวางแผงไปไม่นาน

ธนกร บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจทำ Life on CAMPUS เพราะอยากทำนิตยสารที่พูดถึงเรื่องราวนักศึกษาอย่างชัดเจนในรูปแบบของ Lifestyle ซึ่งในตลาดมีนิตยสารแนวดังกล่าวเพียงไม่กี่เล่ม ที่เห็นชัดเจนก็มี U-Life Magazine ที่ยังมีเนื้อหาไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักศึกษานัก บางเล่มมีเรื่องภาพ เนื้อหาเน้นเจาะบันเทิง

“เราเห็นว่าในตลาดยังไม่มีแมกกาซีนเล่มไหนที่เน้นเจาะเรื่องราวในรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้น Life on CAMPUS จึงเกิดขึ้นมา โดยเน้นนำเสนอภาพ เนื้อหาที่ไม่ซีเรียส เป็นเรื่องเล่า บทความ และผลงานนักศึกษา เพราะสังคมนักศึกษาไม่ได้มีแต่เรื่องการเรียน แต่ยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวการใช้ชีวิต เช่น เล่นอินเทอร์เน็ต กินอาหาร ท่องเที่ยว และผักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ โดยเราทำหน้าที่เสมือนเป็นเพื่อนทั้งในมุมการใช้ชีวิตและการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย”

Life on CAMPUS ฉบับแรกจึงออกมาดูโลกในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เป็นรายปักษ์ ประมาณ 56 หน้า จำหน่ายในราคา 39 บาท มีจุดเด่นที่หน้าปก มีสีสันสดใส ดึงดูดด้วยนางแบบซึ่งมักเป็นนักศึกษาวัยใส หน้าตา สวมเครื่องแบบนักศึกษา เน้นภาพสี่สีขนาดใหญ่ มีคอลัมน์เด่น Uniform, Cheeze ซึ่งเป็นการถ่ายแฟชั่น โพสต์นักศึกษาหน้าตารูปร่างดี เป็นจุดขายที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างดี รวมไปถึง คอลัมน์สกู๊ปสัมภาษณ์ความคิดเห็นนักศึกษาในแง่มุมต่างๆ Feature, Opinion

“จุดเด่นแมกกาซีนเรา เน้น Lifestyle นักศึกษาหลากหลายแง่มุมอย่างมีสีสัน ภาพแฟชั่นที่ น.ศ.ใส่Uniform เพราะต้องการพูดกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเพื่อบอกถึงว่าเป็นนิตยสารของกลุ่มใด ใครเป็นคนอ่าน ซึ่งทำให้บุคลิกหนังสือเด่นชัด โดยทีมงานถ่ายทำเป็นมืออาชีพจากนิตยสารมาร์”

ด้านการตลาด Life on CAMPUS ได้รับการตอบรับจากสินค้า บริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ขายตรงต่อบริษัท ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ ซัมซุง MP3, ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ลอรีอัล, ข้าวอบกรอบโอเซ่น รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์, สถาบันสอนภาษา, มหาวิทยาลัย, เครือข่ายมือถือ AIS, DTAC

“ช่วงแรกหนังสือยังมีอายุไม่ครบปี อาจขายผ่านเอเยนซี่ค่อนข้างลำบาก แต่จากที่บุคลิกหนังสือชัดเจนและโดนใจคนอ่านกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สินค้าหลายตัวกล้าตัดสินใจลงโฆษณากับเรา ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยที่ต้องการประชาสัมพันธ์หานักศึกษาใหม่เข้าไปเรียน ปัจจุบันเรามีอัตราการอ่าน Leadership 1 ต่อ 10 (1 เล่มมีผู้อ่านเฉลี่ย 10 คน อาจซื้อหรือยืมอ่าน)”

โฉมใหม่ “เล็กพริกขี้หนู”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดเด่นลงตัว แต่ในแง่ผลตอบรับจากคนอ่านและเอเยนซี่อาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ดังนั้น แนวคิดที่จะปรับปรุงใหม่จึงเกิดขึ้น ทั้งรูปเล่ม เนื้อหามีความเด่นชัดและเข้มข้นมากขึ้น มีปรับเพิ่มจำนวนหน้าเพิ่มเป็น 80 หน้า ปรับราคาเพิ่มเป็น 49 บาท โดยขนาดเล่มมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ซึ่งเนื้อหาคอลัมน์สาระและสีสัน ขณะที่กลุ่มเป้าหมายคนอ่านก็ขยายไปยังกลุ่มนักเรียน ม.ปลาย และคนทำงานเริ่มต้น (First Jobber)

“เราปรับมาเป็นรายเดือน ทำให้มีเวลามากขึ้น มีคอลัมน์ใหม่ที่ชัดเจน ตั้งแต่ Knowledge และ Entertainment ทำให้มีความเป็น Edutainment มากยิ่งขึ้น คอลัมน์ใหม่ๆ เช่น Life on High School สัมภาษณ์นักเรียนชั้นมัธยมปลาย, Guru Interview เป็นคอลัมน์สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงคอลัมน์ Shopping และ Activity ”

ขณะที่ด้านตลาดก็ยังหวังผลให้สินค้าใหม่ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เข้ามาลงโฆษณา เพื่อเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุน และรายได้จากการลงโฆษณา

แม้มีบุคลิกโดดเด่น แต่เพราะเพิ่งเข้าสู่ตลาด ทำให้แมกกาซีน Life on CAMPUS ต้องขยันทำการบ้านสร้างแบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักศึกษาอย่างจริงจัง ธนกรบอกว่า เบื้องต้นสร้างความรู้จักด้วยวิธีให้การสนับสนุนแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้ามาขอรับการสนับสนุน โดยให้ในรูปแบบของแจกแมกกาซีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็นำไปจำหน่ายแลกเป็นเงินสดเพื่อใช้ในกิจกรรมมหาวิทยาลัย
“ช่วงฤดูกิจกรรม หากมีนักศึกษามาขอให้ช่วยสนับสนุนเราก็ยินดี หากมองในแง่การตลาดมันก็เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์แบรนดิ้งหนังสือต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งเป็นการบอกต่อปากต่อปาก (Word of Mouth) ยิ่งมีเรื่องราวเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยลงสัมภาษณ์ ถ่ายแฟชั่น ก็จะมีการบอกต่อในหมู่เพื่อนฝูง”

พร้อมต่อเนื่องด้วยรูปแบบ จัดกิจกรรมอบรมแก่นักศึกษา อาทิ โครงการอบรม/ประกวดภาพถ่าย รวมถึงโครงการอบรมนักข่าวน้อย ซึ่งเป็นรูปแบบที่คาดว่านักศึกษา ซึ่งเปิดรับหลากหลายคณะ อาทิ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เป็นต้น ได้ร่วมสร้างประสบการณ์ คาดว่าภายในปีนี้จะดำเนินการได้

เว็บไซต์ “Community Channel”

ขณะเดียวกัน ยังมีเว็บไซต์ www.lifeoncampusmag.com ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจลงทะเบียนเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนไม่น้อย ซึ่งจาก Database พบว่า จำนวนผู้อ่านทั้งชายและหญิงอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยคอลัมน์ รูปภาพ และแฟชั่น มีคนอ่านพูดถึงในเว็บบอร์ดมากที่สุด

“สำหรับเว็บไซต์ ซึ่งจัดเป็นช่องทางสำคัญ ปีนี้มีแผนจะปรับปรุง จัดให้มีกิจกรรม และเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดและผลงาน เพื่อต้องการสื่อสารกับคนอ่านมากขึ้น”

เมื่อถามถึงพฤติกรรมอ่านแมกกาซีนของกลุ่มนักศึกษา บก.บห. หนุ่มให้ทัศนะว่า “ปัจจุบันนิตยสารแนวนี้นักศึกษาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะพวกเขาอยากรู้เรื่องราวเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย แวดวงมหาวิทยาลัยอื่นๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำอะไรกันอยู่ คิดอย่างไร สำหรับบางคนอยากเป็นนางแบบ ถ่ายแบบเก็บงานไว้เป็น Port งาน ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นได้ที่แมกกาซีน”

ขณะที่การแข่งขัน ธนกร ยอมรับว่า แมกกาซีนในกลุ่มเดียวกันแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากแมกกาซีนใหม่ๆ ที่เน้นเฉพาะทางเจาะเฉพาะกลุ่มมีมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มีการปรับปรุงใหม่ของ Life on CAMPUS สไตล์ภาพแฟชั่น คอลัมน์เนื้อหาเล่มอื่นก็ได้ปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องราวในมหาวิทยาลัย การสัมภาษณ์นักศึกษา บุคลิก หน้าตาดี เพื่อทำคอลัมน์ใหม่ๆ ซึ่งมองในแง่ดี ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพเนื้อหา ที่สร้างประโยชน์ต่อคนอ่านโดยตรง” บก.บห. คนเดียวกันกล่าวสรุปในตอนท้าย