Campus Magazine สื่อเสริม “พลังการตลาด”

นอกจาก “สื่อทีวี” ที่ขึ้นชื่อว่าทรงอิทธิพลต่อ “กลุ่มพลังนักศึกษา” แล้ว “นิตยสาร” ก็จัดเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สร้างกระแสและปรากฏการณ์ได้ไม่น้อยเช่นกัน ความแรงของ “นิตยสารนักศึกษา” แม้จะยังสู้กลุ่ม นิตยสารผู้หญิง ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดไม่ได้ แต่ก็เป็นเซ็กเมนต์หนึ่งที่บรรดาสินค้า บริการหลายตัวให้ความสำคัญ รวมถึงเอเยนซี่ก็ไม่อาจมองข้ามไปได้

ข้อเท็จจริง นิตยสารนักศึกษาได้เข้ามาในตลาดหลายปีแล้ว แต่ปัจจุบันเหลือบนแผงอยู่ไม่กี่เล่ม โดยหลายสิบเล่มที่เข้ามาต้องมีอันปิดตัวไปก่อนเวลา เพราะสื่อเซ็กเมนต์มีข้อจำกัด อุปสรรค ค่อนข้างมาก ทั้งการแข่งขันด้วยกันเอง การยอมรับจากสินค้า เอเยนซี่ ที่ต้องคัดสรรกันอย่างถี่ถ้วน รวมไปถึงต้องถูกสกรีนด้วยกฎเหล็ก “อายุบนแผง” ก่อนเท่านั้น

พลังสื่อนิตยสารแนวนี้ นอกจากเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงแล้ว ยังสามารถประยุกต์สร้าง Community หรือชุมชนนักศึกษาได้เช่นกัน หากนำมาเชื่อมโยงเข้ากับ “เว็บไซต์” อันเป็นสื่อทรงพลังมากที่สุดในหมู่นักศึกษาในเวลานี้

ในทางสื่อสารการตลาด “นิตยสาร” ยังถือเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ที่ทำหน้าที่ส่ง “Messages” บอกเล่าข้อความ เรื่องราว ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตรั้วนักศึกษาได้อย่างถึงแก่น ขณะเดียวกันยังเป็น “สื่อเสริม” ให้กับกิจกรรมทางการตลาด Below the lineของนักการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็น “บันไดขั้นแรก” ให้บรรดานักศึกษาชาย หญิงที่สนใจอยากเข้าสู่วงการบันเทิงได้สร้าง “พอร์ตผลงาน” หากได้ถ่ายแบบขึ้นปก สัมภาษณ์ลงหนังสืออีกด้วย

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บรรดานิตยสารนักศึกษายังคงยืนหยัดบนแผง แรงจัดในหมู่วัยรุ่นยุคนี้ จึงพยายามสร้างจุดเด่น เอกลักษณ์ของตัวเอง ตั้งแต่หน้าปก (บางเล่มนางแบบนักศึกษาใส่ยูนิฟอร์ม) ขนาดรูปเล่ม เนื้อหา ควบคู่ไปกับการแข่งขันกัน ปรับปรุงตัวเองแบบไม่หยุดหย่อน เพื่อเอาใจกลุ่มคนอ่านที่ไม่ชอบของล้าสมัย และอยู่รอดในตลาดให้นานที่สุด

U life นิตยสารนักศึกษาเล่มเดียวที่อยู่บนแผงนานที่สุด … Life on Campus นิตยสารน้องใหม่ในเครือผู้จัดการ มาแรงรอแซงรุ่นพี่ (บางเล่ม)… Cheeze นิตยสารของ ตี๋ แม็ทชิ่ง ที่ประกาศตัวชัดในปีนี้ มุ่งเจาะกลุ่มนักศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึง Classroom นิตยสารตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีสาระ จึงเป็นคำตอบ (บางส่วน) ของตลาด “Campus Magazine” ที่ POSITIONING นำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของ “ชุมชนนักศึกษา”