“ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม” อัดฉีด ”แกรนด์สปอร์ต”

การสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจว่ามาจากฝีมือของตนโดยล้วน หรือการสานต่อธุรกิจของครอบครัวให้ขยายเติบโต เป็นมรดกลูกหลานต่อไป แบบไหนคือสิ่งที่ยากกว่ากัน และถ้าคุณเลือกได้ คุณจะเลือกเป็นแบบไหน

ไม่ว่าคำตอบจะหลากหลายเพียงใด หรืออาจลังเลสำหรับบางคน แต่สำหรับเขา “ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม” ชัดเจนว่าสำหรับตัวเองแล้วคือการเดินหน้า เพื่อให้ธุรกิจการจำหน่ายชุดกีฬา และอุปกรณ์กีฬาภายใต้ชื่อ “แกรนด์สปอร์ต” (Grand Sport) ที่รุ่นพ่อของเขา ”กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อน เติบโตต่อไป

แต่การสานต่อธุรกิจครอบครัว ความหมายไม่ได้อยู่แค่การเติบโตในสินค้าที่มีอยู่เดิมเท่านั้น สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือการสร้างสรรค์เพิ่มขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่อย่างที่เขากำลังพยายาม

“แกรนด์สปอร์ต เกิดจากคุณพ่อเป็นนักกีฬา เล่นบาสเกตบอล สมัยก่อนนักกีฬาต้องสั่งซื้อเสื้อจากต่างประเทศ จากปีนัง เขาก็เลยสงสัยว่าทำไมคนไทยต้องไปซื้อ น่าจะทำกันเองได้ ก็มาปรึกษากับพี่น้อง มีคุณอาเรียนตัดเย็บที่รพี ก็ออกมาช่วยเหลือกัน ในไทยยุคนั้นยังไม่มีแบรนด์ไทยเลย ตอนนั้นเปิดร้านครั้งแรกปี 2504 ที่วงเวียน 22 อยู่ในซอย ถนนมังกร ช่วงแรกนั้นก็เน้นผลิตให้คนใกล้ตัวกันก่อน

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นนักกีฬา มีคอนเนกชั่น รู้จักนายทหาร เพราะสมัยก่อนมีลูกคนจีนกับทหารที่เล่นกีฬาส่วนใหญ่ ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำว่าน่าจะอยู่ริมถนนนะ หาทำเลกันใหม่ ก็มาอยู่เชิงสะพานลอยประตูน้ำ”

การขยายกิจการในช่วงเวลานั้น “แกรนด์สปอร์ต” ก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนมาตั้งร้านที่หน้าสนามกีฬาศุภชลาศัย ผลิตทั้งชุดซ้อมกีฬา ชุดแข่ง ชุดทีมนักกีฬา เรียกได้ว่าคนเล่นกีฬาทุกคนในยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก ”แกรนด์สปอร์ต” และเมื่อประเทศไทยมีบิ๊กอีเวนต์ของกีฬา คือได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ก็ทำให้แกรนด์สปอร์ตเริ่มเปิดประตูสู่ต่างประเทศ เพราะมีนักกีฬาต่างชาติมาแข่งในไทย และได้เห็นสินค้าของแกรนด์สปอร์ต

กีฬาแข่งจบแล้ว แต่ออเดอร์ชุดกีฬาจากต่างประเทศของแกรนด์สปอร์ตเพิ่งเริ่มขึ้น และต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ แม้จะมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับยอดขายรวมปีละหลายพันล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นการกรุยทาง และสร้างแบรนด์แกรนด์สปอร์ตให้เป็นที่รู้จัก

สำหรับยอดขายของเมืองไทยก็เติบอย่างน้อยปีละ 20% ซึ่ง ”ธิติ” บอกว่า ”ส่วนหนึ่งมาจากคอนเนกชั่นของคุณพ่อ ต้องบอกว่าคอนเนกชั่น สำหรับเมืองไทยสำคัญมาก เพราะสินค้าเกี่ยวกับกีฬา ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ต้องอาศัยอีเวนต์กีฬา โปรแกรมการแข่งขันต่างๆ ที่ทำให้มีการใช้ชุดและอุปกรณ์มากขึ้น หรือแม้แต่การร่วมทุนกับไต้หวันมานานเกือบ 20 ปี ในการตั้งโรงงานผลิตลูกบาสเกตบอล วอลเล่ย์บอลในไทย ก็มาจากความคุ้นเคยของคุณพ่อที่เคยเดินทางไปแข่งบาสเกตบอลที่ไต้หวัน”

วิธีการทางการตลาดของแกรนด์สปอร์ต หรือแม้แต่คู่แข่งอย่างเอฟบีทีที่เห็นชัดเจนคือการเป็นผู้สนับสนุนในการจัดแข่งกีฬาต่างๆ ทั่วประเทศ และหากมีกิจกรรมที่จัดระดับประเทศ อย่างแอโรบิกที่รัฐบาลจัดเพื่อกระตุ้นการออกกำลังกาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจกีฬาคึกคัก เฉพาะเสื้อผ้ากีฬาของไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท หากรวมการผลิตอุปกรณ์กีฬาด้วยแล้วปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท

แต่กระแสของกีฬาไม่หยุดนิ่งกับที่ ”ธิติ” จึงแตกไลน์สินค้าให้กับ ”แกรนด์สปอร์ต” เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มคนเล่นกอล์ฟ ด้วยแบรนด์ Onyx และ GSX เสื้อผ้าลำลองที่ใส่ออกกำลังกายได้

“เรามองว่ากลุ่มคนใส่เริ่มตามสินค้า ตามอายุ เราก็มองว่ากลุ่มใหม่ใส่อะไร น่าจะมีตัวใหม่มารองรับ สำหรับกอล์ฟเราเข้ามาถูกจังหวะ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ที่กระแสกอล์ฟแรงมาก ตอนนั้นเราก็คิดว่าคนจะใส่แบรนด์แกรนด์สปอร์ตไปตีกอล์ฟ ก็ยังไงๆ อยู่ เพราะแบรนด์แกรนด์สปอร์ต แข็งในกีฬาฟุตบอล ถ้าเป็นกอล์ฟจะเป็นอีกระดับหนึ่ง ชุดกอล์ฟสมัยนั้นมีแต่ของนอก ไม่มีแบรนด์ไทย Onyx จึงเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกของชุดกอล์ฟ

ส่วน GSX เรามองกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อยากใส่เสื้อผ้าลำลองออกกำลังกาย เพราะกระแสออกกำลังกายมาแรง สังเกตได้จาก ตามห้างสรรพสินค้ามีฟิตเนสเซ็นเตอร์เต็มไปหมด มีลานแอโรบิก ก็เลยคิดชุดลำลองใส่เล่นกีฬาก็สวยงาม สามารถใส่เดินไปกลับได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชุดก็ได้”

สำหรับกลยุทธ์ที่ ”ธิติ” ใช้ในการชิงตลาดกอล์ฟนั้น คือราคาเป็นหลัก ง่าย ๆ เลย “ธิติ” บอกว่าเสนอถูกกว่าแบรนด์ของต่างชาติ ที่ต่างชาติเสนอเท่าไหร่ ของ Onyx ถูกว่าเกือบครึ่ง แต่คุณภาพดีเหมือนกัน เพราะ Onyx ตั้งเป้าชัดเจนว่าต้องการชนแบรนด์ต่างประเทศ กลุ่มคนกลุ่มนี้อยากใช้ของดี ไม่ได้ติดยี่ห้อ เน้นว่าถ้ารู้ว่าเป็นของดี วัสดุดี ใส่แล้วสบาย วงแขนไม่อึดอัด ใส่แล้วเดินในสนามกอล์ฟดูสวยงาม เมื่อผสมผสานกับวิธีการโปรโมต ด้วยการให้ ”อ่ำ อมรินทร์ นิติพน” ที่มีภาพชัดว่าเป็นนักแสดงและเล่นกอล์ฟด้วย ทำให้ Onyx ได้รับความนิยม

ส่วน GSX นั้นยอมรับว่ามีคู่แข่งเยอะ และค่อนข้างหนัก เพราะแนวโน้มชุดกีฬาเป็นแฟชั่นมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมเฉพาะ มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ค่อยง้อสินค้ามากนัก เรียกได้ว่าสินค้าตอนนี้ทดแทนกันได้หมด ถ้าชอบแบบนี้ พอใจแบบนี้ก็ซื้อ พออีกวันเห็นอีกแบบสวยกว่า ก็พร้อมเปลี่ยน Brand Loyalty น้อยลง

แต่ ”ธิติ” มีวิธีการต่อสู้ในตลาดนี้ด้วยวิธีสร้างดีไซน์ของชุดกีฬา จัดโครงการให้นักศึกษา ส่งผลงานประกวดออกแบบชุดกีฬา สร้างตลาดใหม่ให้กลุ่มนี้เห็นว่าชุดกีฬาของกลุ่มแกรนด์สปอร์ต ก็มีแฟชั่นที่สวยงาม

เป้าหมายของ ”ธิติ” ในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ของครอบครัวกีฬา นอกจากสานต่อแบรนด์แกรนด์สปอร์ตให้เติบโตต่อเนื่องแล้ว สำหรับอีก 2 แบรนด์ที่เขาเป็นหลักในการสร้างขึ้นมานั้น มีเป้าหมายในขั้นแรกให้เป็นที่รู้จักในตลาดคนไทยมากขึ้น และแน่นขึ้น ในระยะต่อไปคือการเข้าไปทำตลาดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า ลาว เวียดนาม ปลุกปั้นให้เป็น Asian Brand แม้ว่าต้องเจอศึกหนักคือแบรนด์ข้ามชาติ ที่แข็งแกร่งก็ตาม

แต่ Asian Brand เป็นความท้าทายที่น่าลอง เพื่อให้เขา ”ธิติ” ในฐานะตัวแทนทายาทรุ่นที่ 2 ของครอบครัวธุรกิจกีฬาได้โชว์ฝีมือ ขยายธุรกิจให้ทายาทรุ่นต่อไปได้สานต่อ เหมือนอย่างที่เขาได้เรียนรู้จากครอบครัว ”แกรน์ดสปอร์ต”

กลุ่มสินค้าเครือแกรนด์สปอร์ต

1. กลุ่ม Basic เน้นเสื้อกีฬานักเรียน ราคาถูก เฉลี่ยต่ำกว่าตัวละ 100 บาท
2. กลุ่ม Premier ชุดแข่งขันกีฬา ราคาตัวละ 100-300 บาท
3. กลุ่ม Active เป็นชุดคอปก เสื้อสำหรับอีเวนต์ต่างๆ เสื้อแจ็กเกต ราคาตัวละ 100-300 บาท
4. กลุ่ม Excercise ชุดกีฬาแอโรบิก วิ่ง แบบออกกำลังคนเดียว Individual Sport หลายระดับราคา
5. Onyx ชุดกอล์ฟ
6. GSX ชุดแฟชั่นกีฬา

Profile :

Name: ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม
Age: 38 ปี
Education:
ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ สาขาการจัดการทางการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
Career Highlight:
ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ และขาย บริษัทแกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด