ออฟฟิศ…ช่างคิด

ทางเดินรูปทรงเปลือกไข่… โต๊ะทำงานไร้คอมพิวเตอร์… ห้องประชุมตู้ปลา… โต๊ะพูล… เก้าอี้นวด… ล็อกเกอร์เก็บของ… นี่คือฟังก์ชันไฮไลต์แห่งการดีไซน์ออฟฟิศสไตล์ใหม่ของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งกลายเป็นสถานที่ทำงานยุคใหม่ที่นับว่าอินเทรนด์ที่สุด โมเดิร์นสุดๆ ใน พ.ศ. นี้

ที่ทำงานโฉมหน้าใหม่ของ KTC บนตึกยูบีซี 2 ถนนสุขุมวิท 33 ชั้น 11 และ 14 กลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของสถาบันการเงินไทย ที่ถูกดีไซน์ขึ้นอย่างทันสมัย และสนุกแบบมีสาระ

KTC เรียกรูปแบบใหม่นี้ว่า สมาร์ท ออฟฟิศ ในคอนเซ็ปต์ “ครีเอทีฟ ออกาไนเซชั่น” หรือ องค์กรช่างคิด

…ช่างคิดแบบที่ใครๆ ต้องบอกว่า น่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ในการบริหารออฟฟิศที่ต้องศึกษา และจับตามามองอย่างที่สุด

ถ้าคุณเห็นคุณอาจไม่เชื่อ ที่นี่หรือคือที่ทำงาน เพราะตั้งแต่ทางเดินจรดท้ายห้อง แทบไม่เห็นกระดาษเอกสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ มีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ และโทรศัพท์ ให้เห็นด้วยตาที่เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ทำงานเท่านั้น
ออฟฟิศ KTC สไตล์ใหม่มีสาระที่เคลือบอยู่อย่างน่าสนใจ…

สมาร์ทไอเดีย

บนพื้นที่ขนาดประมาณ 2,000 ตร.ม. ถูกดีไซน์ขึ้นอย่างอินเทรนด์ ตั้งแต่ทางเข้า เมื่อออกจากลิฟต์บนชั้น 11 และ 14 ทางเดินถูกครอบด้วยโดมสีขาวที่ วรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรผู้ออกแบบ KTC สมาร์ท ออฟฟิศ เรียกการออกแบบทางเดินนี้ว่า โดมเปลือกไข่ เป็นไอเดียจากรูปทรงของเปลือกไข่ ที่สร้างความรู้สึกสบายตา สะอาดใจ

ถัดเข้ามาจากถึงจุดหน้าประตู มีจอ LCD เป็นจุดที่พนักงานจะใช้บัตรพนักงานเลือกที่นั่งได้ตามอัธยาศัย เป็นระบบที่เรียกว่า Free-Seating แต่ถ้าคุณอยากนั่งกับเพื่อนร่วมงานที่สนิท ก็สามารถคีย์ชื่อเพื่อนได้ว่า นั่งอยู่จุดใด ภายในจอ LCD จะแสดงผังการนั่ง จุดที่แดงหมายถึงมีคนจองที่นั่งแล้ว ส่วนจุดสีเขียวแสดงว่ายังว่างอยู่

ที่น่าสนใจ จุดที่นั่งพนักงานสามารถเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ ระบบโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ได้ทันทีด้วยระบบ Wi Fi LAN Network ทั่วทั้งพื้นที่ และไม่ว่าคุณจะอยู่พื้นที่ใดก็สามารถทำงานได้ปกติ โดยการนำระบบ Log in มาใช้ ระบบทุกอย่างบนโต๊ะทำงาน ตั้งแต่โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์จะเป็นเบอร์ของคุณเอง

โต๊ะทำงาน มีการออกแบบที่กะทัดรัด ไม่มีลิ้นชัก ไม่มีที่เก็บเอกสาร มัณฑนากรผู้ออกแบบเล่าว่า เป็นโต๊ะทำงานเดิมของ KTC นำมาตัดให้เล็กลง แต่เน้นดีไซน์ให้มีลักษณะโค้งมน สอดรับกับพื้นที่และประโยชน์ใช้งาน สามารถตั้งเครื่องโน้ตบุ๊กได้ หรือใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม

ฉากกั้นโซนโต๊ะ ความโดดเด่นของพื้นที่ทำงาน หลายคนมักสะดุดตากับฉากกั้นระหว่างโซนโต๊ะทำงาน ที่ออกแบบเป็นเหมือนมุ้ง หรือฉากกั้นตาข่ายที่เลื่อนเก็บหรือเคลื่อนย้ายได้ ทำให้พนักงานที่นี่รู้สึกโปร่ง ไม่อึดอัด

ห้องประชุมตู้ปลา วรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรผู้ออกแบบ พยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่า ห้องประชุมที่เขาดีไซน์นั้น มีหลายคนเรียกว่าห้องประชุมตู้ปลา ด้วยลักษณะกระจกใสออกแบบเหมือนโหลแก้ว ทำให้มีลักษณะเหมือนตู้ปลา โดยพยายามเลือกการจัดวางห้องประชุมไว้บริเวณจุดริมหน้าต่าง เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการประชุม

ล็อกเกอร์ พนักงานบนชั้น 11 และ 14 จะตู้เก็บสัมภาระ เพื่อไม่ให้นำของไปวางหรือเก็บไว้บนโต๊ะทำงาน

นอกจากนี้ จุดประชุมแบบ Open หรือเปิดโล่ง ภายในชั้นทำงานนี้ ถูกจัดไว้นับสิบจุด เพื่อเน้นการพบปะกันระหว่างผู้ทำงาน เป็นจุด Center สำหรับการนั่งคุย เป็นจุดประชุมย่อยๆ

ที่น่าแปลกตาอย่างที่สุด คือ มุมเกมรูม มีโต๊ะพูลขนาดเล็กๆ และเคาน์เตอร์เครื่องดื่ม เป็นฟังก์ชันที่ถูกแทรกอยู่บริเวณห้องทำงาน มุมนี้อาจเป็นมุมผ่อนคลายแต่สำหรับพนักงานสามารถเข้ามาใช้และพูดคุยกันได้ตอลดทั้งวัน
ไม่ใช่แค่นั้น สำหรับพนักงานที่อยากผ่อนคลายแบบนวดๆ มีมุม Massage ซึ่งมีเก้าอี้นวดไว้คอยบริการ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ครีเอทีฟต้นทุน

โต๊ะทำงานใหม่… อุปกรณ์ตกแต่งใหม่… ไม่ใช่ความทันสมัยเพียงแค่ฉากใหม่ของ KTC เท่านั้น หากแต่เป็นนโยบายปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานของพนักงาน KTC ทั้งหมดด้วย

นิวัตต์ บอกว่า ในสไตล์การทำงานแบบใหม่นี้เรียกว่า New Working Lifestyle พนักงานจะไม่มีโต๊ะทำงานประจำ สามารถนั่งได้ทุกจุด ไม่แบ่งแยกแผนก KTC จะแจกกระเป๋าทำงานหนึ่งใบ เพื่อใส่เครื่องโน้ตบุ๊ก และเอกสาร เพื่อเคลื่อนย้ายไปตามจุดที่ต้องการได้

ที่สำคัญ พยายามให้พนักงานทุกคนใช้พื้นที่เปิด (Open Space) สำหรับการพูดคุยหรือประชุมงาน ให้มีมากกว่าโต๊ะทำงาน และสื่อสารกันแบบ Face to Face แทนการใช้อีเมลเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้น ให้ใช้กระดาษในการทำงานน้อยลง หันมาใช้การบันทึกข้อมูลลงไฟล์มากขึ้น

การปรับออฟฟิศใหม่นี้ ซีอีโอ KTC ยอมรับว่า ผลจากปรับโฉมออฟฟิศสไตล์ใหม่เป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับต้นทุนการดำเนินงานสองส่วนใหญ่ๆ คือ เรื่องของค่าเช่าอาคาร และการบริหารบุคลากร

“คอนเซ็ปต์ใหม่เกิดจากปัจจัยแรก คือ ปัญหาต้นทุนค่าเช่าตึกที่นับวันยิ่งแพงขึ้น อย่างเมื่อ 4 ปี ก่อน เราเสียค่าเช่าตึกเพียง ตร.ม. ละ 270 บาท แต่ถึงวันนี้ต้องจ่ายถึง 550 บาท ทำให้การขยับขยายพื้นที่ลำบากมากขึ้น แต่พนักงาน KTC เพิ่มขึ้น ปัจจุบันเกือบ 1,000 คน เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้จากพื้นที่อันจำกัด เพื่อประโยชน์สูงสุด”

ปัจจุบัน สำนักงาน KTC มีอยู่สองจุด คือ ที่ตึก UBC 2 และตึกไทยซัมมิท ซึ่งนิวัตต์บอกว่า KTC จะไม่ขยายฐานทัพไปอีกแล้ว แต่จะบริหารพื้นที่สองตึกนี้ให้ได้ ตามจำนวนบุคลากรที่มีอยู่

ออฟฟิศรูปแบบใหม่ จะเริ่มใช้กับพนักงาน 300 คนก่อน โดยเจาะจง แผนกด้านการตลาด แผนกประชาสัมพันธ์ แผนกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่ตามโต๊ะทำงาน หรือบางวันก็ต้องออกไปพบลูกค้า อย่างไรก็ดี ต่อไปจะขยายให้พนักงาน KTC เกือบทุกคนเข้าสู่ระบบนี้

“บรรยากาศ สภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำงานอย่างยิ่ง เหมือนคุณอยู่วัด คุณจะรู้สึกสงบ แต่ถ้าคุณทำงานอยู่สนามกีฬาคุณจะรู้สึกกระฉับกระเฉง เช่นกัน ถ้าคุณทำงานในที่ที่ทันมัย สนุก คุณก็จะเป็นเช่นนั้นไปด้วย”

นิวัตต์ย้ำว่า การสร้างสภาพแวดล้อมในออฟฟิศให้น่าอยู่ มีผลกระตุ้นต่อการทำงานอย่างดียิ่ง และ KTC พยายามสร้างแบรนด์ด้วยบุคลิก 5 ประการ คือ ความทันสมัย (Modern), ความไม่หยุดนิ่ง (Dynamic), ความสนุก (Fun& Friendly), ความเป็นมืออาชีพ (Professional) และความเรียบง่ายสบายๆ (Simple)

สมาร์ทออฟิศ เทรนด์ใหม่

ผลงานการออกแบบและการดีไซน์ ในรูปแบบสมาร์ท ออฟฟิศ ของ KTC เป็นฝีมือการออกแบบของ บริษัท พี อินทีเรีย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด หรือ pia บริษัทที่มีผลงานด้านการดีไซน์สำนักงานมาอย่างมากมาย

วรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรผู้ออกแบบบริษัทแห่งนี้ บอกว่า ผลงานการออกแบบและตกแต่งออฟฟิศของ pia ที่เด่นๆ เช่น ดีแทค ธนาคารกสิกรไทย เนชั่น ชั้น 40 แต่ที่ KTC ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่มุ่งเน้นฟังก์ชันของความสนุก และสร้างความรู้สึกที่สดใส ทันสมัย

“การคิดคอนเซ็ปต์ครั้งนี้ เมื่อโจทย์คือความสนุก และความทันสมัย เราจะแยกวิธีคิดออกแบบออกเป็นส่วนๆ โดยไฮไลต์ของการออกแบบอยู่ที่การลดพื้นที่การทำงานของพนักงานให้น้อยลง จะเห็นได้จากโต๊ะทำงานที่ออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะ และสามารถลดพื้นที่ของการนั่งทำงานได้มาก แต่จะเพิ่มพื้นที่ในส่วนของจุดประชุมให้มากขึ้น”

มัณฑนากรผู้ออกแบบ บอกว่า ออฟฟิศรูปแบบนี้ ในต่างประเทศทำกันนานแล้ว แต่เมืองไทย ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังค่อยๆ นิยมกันมากขึ้น