จริตของเถ้าแก่ใหม่

ชื่อหนังสือ: จริต มาร์เกตติ้ง อาวุธลับ SMEs
ผู้เขียน: ชวนะ มหิทธิชาติกุล-ภวกานันท์
สำนักพิมพ์: เจ เอผ็ม ที พับลิชชิ่ง
จำนวนหน้า: 186
ราคา(บาท): 190

หากไม่นับคำนำของผู้เขียนเล่มนี้ ซึ่งทำให้เสียเวลายาวนานถึง 6 หน้าเพื่อแนะนำตัวเองเกินจำเป็นแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่า เป็นหนังสืออ่านเบื้องต้นในเรื่องการจุดประกายความคิดเรื่อง การตลาดพลังจิต หรือ Mind-power Marketing ที่เข้าท่า ก่อนจะไปอ่านหนังสือที่ลงรายละเอียดลึกซึ้งกว่านี้

สำหรับคนที่รู้จักผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จะพบว่า แท้จริงแล้วเป็นคนที่น่ารัก และมีความรู้หลายสาขาที่ค่อนข้างลึกพอตัวทีเดียว แม้ว่าภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาภายนอกจะพิสดารอยู่บ้าง และการนำเสนอแนวคิดที่ดูซับซ้อน อาจจะทำให้เข้าใจยากพอสมควร
สิ่งที่น่าสนใจเมื่อเริ่มต้นเปิดหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนนั้นเป็นคนที่นำเสนอเรื่องได้ค่อนข้างซับซ้อนชนิด ”ทำให้ยาก” คนหนึ่ง แม้จะพยายามใช้การนำเสนอแบบมีกรณีศึกษามาเป็นตัวช่วยแล้วก็ตาม เพราะโมเดลความคิดท่นำเสนอนั้น ถูกครอบงำด้วยภาษาที่วกวนเหมือนเขาวงกตเสียจนกระทั่งจับทิศทางได้ยากว่า จริงแล้ว มันคืออะไรกันแน่

ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นคำว่า พลังจิต แตกต่างจากคำว่า พลังจริต ตรงไหน? เพราะอ่านหนังสือนี้จบหลายรอบ ก็ยังแยกออกไม่ได้

ปัญหานี้ไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ และไม่แก้ด้วยภาษาอย่างเดียว แต่ต้องแก้ด้วยกรอบความคิดที่แปรออกมาจากยากเป็นง่ายด้วย ที่สำคัญ หากไม่มีการแก้ไข ชื่อรองเรื่องที่ว่า “อาวุธลับ SMEs” ก็คงจะเป็นอาวุธลับที่คนอ่านไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไร ไม่เกิดผลตามเป้าหมาย

ที่แปลกอย่างหนึ่งของหนังสือนี้ ซึ่งเข้าใจยากพอสมควรก็คือ หนังสือนี้ไม่มีหน้าสารบัญ ทำให้คนอ่านต้องแหวกว่ายเข้าไปคุ้นหาบทต่างๆ ด้วยตัวเอง เหมือนเขาวงกต เทคนิคนี้ ไม่ทราบว่าเป็นกลยุทธ์ หรือเพราะเผอเรอ เนื่องจากความอ่อนด้อย ก็ไม่ชัดเจน

5 บทแรกของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยองค์ประกอบของผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการเข้าสู่การทำธุรกิจด้วยตนเอง ว่าต้องการทุนประเภทใดบ้าง ได้แก่ ดวงก่อ ชาติวุฒิ ทุนวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์วุฒิ และกลยุทธ์วุฒิ

ในขณะที่บทต่อๆ มา ก็ว่าด้วยการเตรียมความพร้อม และการเข้าสู่ธุรกิจ พร้อมด้วยรายละเอียดประเภท How to ในบทท้ายๆ ก่อนจะส่งท้ายด้วยบทที่ว่า การคิดแบบองค์รวม เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมด้วยรายละเอียดเรื่อง แผนที่ทางจิต

จุดบกพร่องน่าเป็นห่วงคือ เนื้อหา (รวมทั้งหัวเรื่อง) บทที่ 7 และ 12 ดูจะซ้ำกันอย่างพลาดชัดๆ แม้รายละเอียดจะต่างกันไปบ้าง แต่หากสามารถนำมารวมในบทเดียวกันก็จะดูดีขึ้น

บทที่น่าสนใจในหนังสือนี้ ซึ่งหลายคนอาจจะต้องกลับไปนั่งทบทวนและครุ่นคิดหาทางศึกษาเพิ่มเติมได้แก่ บทที่ 19 เรื่อง รวยจากการขายความว่างเปล่า? ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจบริการเป็นพิเศษ เพียงแต่บทนี้ค่อนข้างสั้น ซึ่งหากมีการขยายความออกมา จะถือว่าทำหนังสือให้น่าอ่านขึ้นอีกหลายเท่า

เหมาะสำหรับเอาไว้อ่านยามว่าง หรือตอนที่สมองตีบตัน แต่ไม่ควรเชื่อคำโฆษณาที่หน้าปกว่า “คู่มือแผ้วทางรวย เส้นทางลัดสู่เถ้าแก่ยุคใหม่ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเพียงแค่นี้คงไม่เข้าข่าย ”อ่านแล้วรวย” ได้อย่างแน่นอน

แค่อ่านเอาประกายความคิด ก็พอเข้าท่ามากแล้ว

รายละเอียดในหนังสือ

บทที่ 1 สำรวจตัวตนก่อนเข้าสู่พลังจริต ว่าด้วย 3 วิธีสำหรับสำรวจตัวเองเพื่อหาองค์ความรู้ภายในตัวเองก่อนเข้าสู่ธุรกิจ ได้แก่ บอกตัวตนคนทำธุรกิจ ขับเคลื่อนธุรกิจออกจากตัวตน และพลังจริต ด้วยการสำรวจความล้มเหลวล่วงหน้า

บทที่ 2 พลังจริต : บอกตัวตนคนทำธุรกิจ ว่าด้วย ดวงก่อ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของตัวคนที่จะเข้าสู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบเริ่มแรกที่จะบอกความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคตได้

บทที่ 3 ชาติวุฒิ และทุนวุฒิ ว่าด้วยฐานะดั้งเดิมของครอบครัวผู้จะก่อธุรกิจ และต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนทำธุรกิจ

=b>บทที่ 4 คุณวุฒิ และประสบการณ์วุฒิ ว่าด้วยคุณภาพของบุคคลที่จะนำไปใช้จัดการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจได้ และช่วยป้องกันความเสี่ยงในการประเมินธุรกิจได้ทางหนึ่ง

บทที่ 5 กลยุทธ์วุฒิ ว่าด้วยการกำหนดรูปแบบการต่อสู้แข่งขันเพื่อสร้างความเหนือกว่าในระดับต่างๆ รวมทั้งตัวแบบทางธุรกิจ

บทที่ 6 กล้ายอมรับตัวเองสู่เปลี่ยนแปลง ประยุกต์แนวคิดของ โรเบิร์ต อี ควินน์ ซึ่งสร้างโมเดลคำถามประเมินตัวเองของผู้ประกอบธุรกิจ 20 ข้อ เพื่อหาว่า มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการเข้าสู่ หรือต้องปรับปรุงก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจส่วนใดบ้าง

บทที่ 7 พร้อมออกจากลูกจ้างมาเป็นเถ้าแก่ แบบสอบถามตนเอง 3 แนวทาง สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนสภาพจากพนักงานลูกจ้าง มาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง

บทที่ 8 ขับเคลื่อนพลังจริต ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันด้วยการไม่มุ่งหาจริงแห่งความสำเร็จก่อน ด้วยการประเมินความพร้อม 4 อย่างที่เรียกว่า SWOT เพื่อหาช่องทางที่เหมาะสมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

บทที่ 9 จริตค้นสภาพความพร้อมหลุดพ้นอบาย ว่าด้วยการค้นหาความผิดเพี้ยนจากภาวะผู้นำ โดยอาศัยโมเดล EPSS เพื่อวัดความโน้มเอียงของพฤติกรรมจำนวน 15 ข้อ เพื่อป้องกันความผิดเพี้ยนให้น้อยที่สุด พร้อมแบบทดสอบวิญญาณแห่งการให้บริการ

บทที่ 10 คลาสสิกวิทยาฤาดักดาน ว่าด้วยแนวคิดเกี่ยวกับนักขายที่วางไว้ในอดีตเป็นต้นแบบสำหรับคนที่ริเริ่มจะเป็นนักการขาย ในฐานะภูมิปัญญาการขาย 50 ข้อ รวมทั้งแนวคิดในการสร้างแบรนด์สินค้า

บทที่ 11 วังวนโฆษณา หรือสื่อสารการตลาด ข้อชี้แนะ 15 ข้อ เพื่อเป็นกรอบพิจารณาก่อนการเริ่มต้นวางแผนโฆษณาของธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ไม่สูญเปล่า เพราะหลงใหลกับการโฆษณามากเกินขนาด

บทที่ 12 พร้อมหรือยังจะออกจากการเป็นลูกจ้างเป็นเถ้าแก่? ว่าด้วยแบบทดสอบ 26 ข้อ สำหรับการประเมินจริตตัวเองในการเปลี่ยนแปลงจากบทบาทคนกินเงินเดือน มาเป็นผู้ประกอบการ พร้อมแบบทดสอบประเมินการเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะการซื้อแฟรนไชส์ของผู้อื่นมาทำ

บทที่ 13 เทคนิคทำธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ขั้นตอน และเคล็ดลับของการเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวที่ทำมาก่อนแล้วให้ประสบความสำเร็จ 8 ขั้น พร้อมกับข้อสังเกตเรื่องของการที่ลูกจ้างที่เป็นคนนอกครอบครัวจะออกไปแข่งขันเหมือนเสือออกจากถ้ำ

บทที่ 14 คัมภีร์ก่อตั้งธุรกิจใหม่ ว่าด้วยหัวใจขงการทำธุรกิจใหม่ 6 ประการ และการทำความเข้าใจกับ 5 แหล่งที่มาของรายได้ธุรกิจซึ่งมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน

บทที่ 15 ค้นห้าจริตลูกค้าเพิ่มเพิ่มยอดขาย ว่าด้วยเหตุผลจริตของลูกค้าในการซื้อสินค้าและบริการ 5 ประการ รวมทั้งจริตของผู้บริโภคแบ่งตามเพศและวัย

บทที่ 16 ค้นหาความล้มเหลวประเมินความสำเร็จยั่งยืนด้วย TOWSว่าด้วยแนวคิดและแบบทดสอบการค้นหาความนิยมหลอก ซึ่งนำธุรกิจไปสู่ความเสี่ยง เพราะอาจจะทำให้แผนธุรกิจเป็น ”คิดเอง เออเอง”

บทที่ 17 เพาะพันธุ์เชาว์ฉลาดคิดทางธุรกิจ ว่าด้วยแบบทดสอบการเชื่อมโยงการพัฒนาศักยภาพของผู้คิดเริ่มตั้งธุรกิจ เพื่อให้เกิดความฉลาดทางภาวะผู้นำ เหมือนกับการตรวจหาสภาพความพร้อมในการแข่งขัน

บทที่ 18 Think Marketing สู่ความรวย แนวคิดขบถ 27 ข้อ เพื่อพ้นจากสภาพความซ้ำซากของแนวคิดธุรกิจ ซึ่งเป็นกุญแจในการสร้างแบรนด์สมัยใหม่

บทที่ 19 รวยจากการขายความว่างเปล่า? ว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์อยากซื้อ ซึ่งเป็นการจับเอาสิ่งที่ไม่มีตัวตนมาสร้างให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เป็นข้อผูกพันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ

บทที่ 20 เถ้าแก่ยุคใหม่ต้อง…คิดเชิงบูรณาการ+คิดเชิงองค์รวม ว่าด้วยกรอบคิด 3 ขั้นตอน ถอดกรอบ ขยายกรอบ และคลุมกรอบ เพื่อให้เกิดมุมมองอย่างองค์รวมขึ้นมาและบันทึกด้วยเทคนิคของแผนที่สมอง 6 แบบ