15 สปอนเซอร์หยุดโลก

ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาที่มีผู้ชมทั่วโลกมากที่สุด มากกว่าโอลิมปิกและซูเปอร์โบวล์ จากข้อมูลปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วม FIFA ได้ประมาณการไว้เป็นจำนวน 28,800 ล้านคนจากทั้ง 64 แมตช์และทุกช่องทางทั้งทีวีและในสนาม ส่วนครั้งนี้ฟีฟ่าประมาณไว้ถึง 32,000 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ส่วนบัตรเข้าชมในสนามครั้งนี้มี 3.1 ล้านใบจาก 64 เกม ขายหมดแล้ว

นอกจากเฝ้าชมเกมสดๆ ด้วยทีวีแล้ว แต่ละคนยังอาจกินฟาสต์ฟู้ดแกล้มเบียร์หรือน้ำอัดลม ขับรถออกไปหาที่ชมนอกบ้าน ถ่ายรูปบรรยากาศเป็นที่ระลึก โทรเล่าให้เพื่อนฟัง จ่ายค่าอาหารด้วยบัตรเครดิต ดูบันทึกภาพเด็ดการแข่งขันทางทีวีหรืออินเทอร์เน็ต พูดคุยกันใน IM, Chat, Webboard, หรือ Blogs

ธุรกิจใหญ่ๆ ระดับโลกจึงแย่งโอกาสกันเข้าสู่สายตาแฟนบอลผ่านมหกรรมหยุดโลกครั้งนี้ โดยมี 15 บริษัทยักษ์ใหญ่ทุ่มงบฝ่าด่านเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ (Official Partner) ทำสัญญาและได้รับสิทธิรูปแบบต่างๆ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็น Partner ก็ร่วมเกาะกระแสบอลโลกได้ไม่ผิดกติกา แต่ก็จะไม่ได้รับสิทธิหลายๆ อย่างที่ฟีฟ่าสงวนไว้ให้ Partner เท่านั้น

ในแต่ละแมตช์การแข่งขัน บริษัท Partner แต่ละรายจะได้โควต้าจำนวนตั๋วเข้าชมถึง 16% ของความจุสนามแต่ไม่เกิน 25,000 ใบ เอาไปให้ผู้บริหาร พนักงานที่มีผลงานดีเด่นหรือทำยอดขายทะลุเป้า ลูกค้าสำคัญหรือลูกค้าที่ชิงโชคชนะ ในขณะที่สมาคมฟุตบอลของชาติที่แข่งในนัดนั้นได้ข้างละ 9.5% เท่านั้น (รวม 2 ชาติ 19%)

รายชื่อสปอนเซอร์หรือ Official Partner 15 ราย

ADIDAS
อาดิดาส แบรนด์รองเท้าและอุปกรณ์กีฬาสัญชาติเยอรมัน เริ่มแจ้งเกิดในเวทีกีฬาโลกเมื่อปี 1954 ในฟุตบอลโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อทีมชาติเยอรมันตะวันตกในยุคนั้นใส่รองเท้าสตั๊ดที่มีลายแถบขาว 3 แถบของอาดิดาสคว้าแชมป์บอลโลกครั้งแรกของประเทศได้

ครั้งนี้ที่ฟุตบอลโลกจัดที่เยอรมนี อาดิดาสจึงเป็นสปอนเซอร์รายแรกที่เซ็นสัญญากับฟีฟ่าในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ตั้งแต่เสื้อผ้าของนักฟุตบอล ผู้ตัดสิน ผู้กำกับเส้น เจ้าหน้าที่ในสนาม ไปจนถึงเด็กเก็บบอลทุกคน และลูกฟุตบอลทุกแมตช์ต้องเป็นอาดิดาส เป็นลูกบอลรุ่น “Teamgeist” ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่าสปิริตแห่งทีม ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ 2,650 ลูก เพื่อใช้ใน 64 แมตช์ และอีก 10 ล้านลูกขายทั่วโลก เพิ่มขึ้น 66% จากในฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วที่ผลิต 6 ล้านลูก นอกจากนี้แน่นอนว่าอาดิดาสต้องมีป้ายโฆษณาในทั้ง 12 สนามการแข่งขันทั่วเยอรมนี

ฟุตบอลโลกครั้งนี้ทุ่มเงินค่าสปอนเซอร์ให้กับฟีฟ่าและค่าโฆษณาที่เกี่ยวข้องไป 350 ล้านยูโร ครอบคลุมฟุตบอลโลก 2006, 2010 และ 2014 และคาดหวังตั้งเป้ายอดขายเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฟุตบอลทั่วโลกในปี 2006 ไว้ที่ 1.2 พันล้านยูโร หรือราวเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 30% จากปีที่แล้วที่ทำได้ 9 พันล้านยูโร ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลทำรายได้รวม 6 พันล้านบาทเท่านั้น

AVAYA
เป็นผู้ให้บริการวางระบบเครือข่ายยักษ์ใหญ่ของโลก วางเครือข่ายทั้งข้อมูล เสียง และภาพ ให้มหกรรมกีฬามาหลายรายการ รวมถึงระบบในสำนักงานของ FIFA ในเบอร์ลิน เยอรมนี

สำหรับผู้ทำธุรกิจสร้างวางระบบแล้ว Portfolio หรือโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่เคยทำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อใช้อ้างอิงในการเข้าแข่งประมูลงานต่อๆ ไป

ดังนั้น นอกจากเป็นสปอนเซอร์ที่จะได้มีป้ายโฆษณาในทุกสนามแล้ว Avaya ยังได้เป็น “Official Convergence Communication Provider” หรือผู้วางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของระบบงานเบื้องหลังการจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้ รวมถึงการสื่อสารกันระหว่าง 12 สนามใน 12 เมืองที่จัดการแข่งขันในเยอรมนี เช่นระบบขายตั๋ว และศูนย์ข่าว Press Center ต่างๆ เป็นต้น โดยไม่มีการระบุว่าได้รับรายได้ตัวเงินจากโปรเจกต์นี้แต่อย่างใด

BUDWEISER
เป็นแบรนด์ของบริษัท Anheuser-Busch ในสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาเป็นเบียร์หนึ่งเดียวที่เสิร์ฟและขายในกิจกรรมต่างๆ ของฟีฟ่า ตลอดช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกครอบคลุม 3 ครั้ง คือ 2006, 2010 และ 2014 รวม 8 ปี รวมถึงป้ายในสนามและป้ายคัตเอาต์ตามทางเดินรอบๆ บริเวณสนาม ซึ่งก่อนหน้านี้บัดไวเซอร์ก็สนับสนุนฟุตบอลโลกทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 1986 แล้ว
นอกจากฟุตบอลโลก บัดไวเซอร์ยังเป็นสปอนเซอร์ของ Premier League อังกฤษ, Major League Soccer ในสหรัฐฯ ทีมชาติฟุตบอลสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันบัดไวเซอร์เป็นเจ้าตลาดเบียร์ในสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาด 50%

COKE
บริษัท Coca-Cola ยักษ์น้ำอัดลมโลกจากสหรัฐฯ เซ็นสัญญาผูกพันยาวไกลสิบหกปีจาก 2006 ถึง 2022 ที่จะเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างเป็นทางการในฟุตบอลโลก และหากมองย้อนไป โค้กก็สนับสนุนฟุตบอลโลกและฟุตบอลรายการใหญ่ๆ ของฟีฟ่ามาตั้งแต่ปี 1950 นับว่ายาวนานที่สุดในบรรดาสปอนเซอร์ทุกราย

นอกจากป้ายโฆษณายังได้สิทธิจัด “World Cup Trophy Tour” เชิญถ้วยฟุตบอลโลกของแท้ไปจัดแสดงโชว์เป็นอีเวนต์ใหญ่ไปใน 30 ประเทศทั่วโลก เน้นประเทศที่ฟุตบอลยังไม่เฟื่องฟูมากนัก เพื่อเป็นการขยายพรมแดนความนิยมในฟุตบอล (และโค้ก) ออกไป

CONTINENTAL
แบรนด์ยางรถยนต์จากเยอรมัน เป็นเจ้าตลาดยางรถยนต์และรถบรรทุกในเยอรมนี ก่อตั้งใน 1871 หรือร้อยกว่าปีก่อน สนับสนุนทัวร์นาเมนต์ของฟีฟ่ามาตั้งแต่ศึก Confederations Cup ปี 2003 ที่ฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นก็สนับสนุนอย่างเป็นทางการให้กับ UEFA หรือสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปในรายการ UEFA Champions’ League ตั้งแต่ปี 1995 ถึง 1999 และยังเป็นสปอนเซอร์อีกหลายทีมในยุโรป

DEUTSCHE TELEKOM
เจ้าของแบรนด์มือถือดังในเยอรมัน และคุ้นตาแฟนบอลบุนเดสลีกาทั่วโลกผ่านทางอกเสื้อและข้างสนามทีมดัง Bayern Munich คือ T Mobile สนับสนุนฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปี 2002 ในครั้งนี้ 2006 ชูม๊อตโต้ว่า “The link between us”

นอกจากสิทธิทางการโฆษณา T-Mobile ยังได้ลิขสิทธิ์ริงโทน เสียงรอสาย และโหลดเพลงประจำฟุตบอลโลก “Time Of Our Lives” และข่าวด่วนบอลโลกทาง MMS, SMS ใน Germany, Austria, Netherlands, Czech Republic, Hungary และ Croatia ที่ T-Mobile ให้บริการอยู่

ไม่เพียงแต่บริการโทรฯมือถือ T-Mobile แต่ด๊อยชเทเลคอมจะจัดทัพแบรนด์ T-Com, T-Online, และ T-Systems มาร่วมกันจัด Showcase การให้บริการประสานกันในบอลโลกครั้งนี้ในการสื่อสารไร้สายเคลื่อนที่ทั้งเสียงภาพและข้อมูล

EMIRATES
เป็นสายการบินที่เป็นสปอนเซอร์รายการม้าแข่งดังๆ ทั่วโลกมานาน รวมถึง Dubai Cup เริ่มเข้าร่วมกับฟีฟ่าตั้งแต่ปี 2003 ในศึกฟุตบอลเยาวชนโลกซึ่งจัดที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นก็มาเป็นสปอนเซอร์ให้ยักษ์ใหญ่รายใหม่ของบอลอังกฤษคือทีม Chelsea

สายการบินเอมิเรตส์ครอบคลุม 58 ที่หมาย 41 ประเทศทั้งในยุโรป, ตะวันออกกลาง, เอเชีย, แอฟริกา และออสเตรเลีย

FUJIFILM
แบรนด์กล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูปรวมถึงฟิล์มจากญี่ปุ่น เป็น “Official Imaging Sponsor” ดูแลการบันทึกภาพการแข่งขันและกิจกรรมต่างๆ ให้ฟีฟ่าและฟุตบอลโลกตั้งแต่ครั้งปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

HYUNDAI
เริ่มเป็นสปอนเซอร์ให้ฟีฟ่าตั้งแต่ปี 2003 และครอบคลุมถึง 2006 นี้ นอกจากการโฆษณาแล้ว ฮุนไดยังได้จัดรถบัสพิเศษ 32 คันไว้รับส่ง 32 ชาติจากสนามบินไปโรงแรมและจากโรงแรมไปสนามแข่งขัน ทุกคันพ่นสีภายนอกเป็นลายและสีสันธงชาตินั้นๆ อย่างสวยงาม ยกเว้นชาติเดียวคือสหรัฐฯที่กลัวภัยก่อการร้ายขอใช้สีธรรมดาๆ ไม่โดดเด่น รถบัสทุกคันจุผู้โดยสารได้ 44 คน มีห้องน้ำหรู ครัวชั้นดี เครื่องเล่นดีวีดีทุกที่นั่ง และระบบนำร่องไปยังถนนต่างๆ ทั่วเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีรถยนต์อีก 1,000 คันที่ฮุนไดจัดมาไว้ใช้ในการจัดการแข่งขันตลอดรายการทั้ง 12 เมือง

MASTERCARD
แบรนด์บัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์การเงินระดับโลก เป็นสปอนเซอร์ให้ฟีฟ่าตั้งแต่ปี 2003 ตั้งแต่คอนเฟดเดอเรชั่นคัพ บอลเยาวชน ครอบคลุมมาถึงฟุตบอลโลกในปีนี้ ก่อนนี้มาสเตอร์การ์ดเคยสนับสนุนเป็น “Official Card” ในฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี และ 1994 ที่สหรัฐฯ

ในครั้งนี้มาสเตอร์คาร์ดใช้ชื่อแคมเปญบอลโลกว่า “Fever” ในทุกสื่อ สะท้อนความร้อนแรงในความสนใจของทุกคนที่อยากมีส่วนร่วมในมหกรรมครั้งนี้ ผ่านทางสโลแกน “Football Fever: Priceless” หมายถึงว่าความคลั่งไคล้ในฟุตบอลนั้นไม่อาจตีเป็นราคาได้

MCDONALD’S
จัด 4 แคมเปญคือ ชิงโชคแจกตั๋วฟรี, “Player Escort Program” เปิดโอกาสให้เด็กๆ ทั่วโลกได้พบตัวจริงของนักฟุตบอลขวัญใจ, เมนูสลัดบอลโลก “Salads Plus” และเกม “Fantasy Football Online” โดยทั้ง 4 แคมเปญจัดผ่านสาขา 30,000 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

PHILIPS
แบรนด์จากประเทศเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของยุโรป เป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลดังของฮอลแลนด์คือพีเอสวีไอน์โฮเฟ่น และเป็นสปอนเซอร์ให้ฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 1986 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในเชิงการตลาดแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาทางฟิลิปส์มองฟุตบอลโลกเป็น “Great marketing platform on a global level” หรือเป็นฐานปล่อยตัวที่ยิ่งใหญ่สำหรับยิงแบรนด์ออกไปสู่ตลาดโลก

TOSHIBA
เป็น “Official IT Partner” หรือพันธมิตรด้านไอทีของฟีฟ่าในฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยนอกจากสิทธิในการโฆษณาแล้วยังได้จัดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 2,000 ตัวให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และติดตั้งจอยักษ์ขนาด 60 ตารางเมตรหน้าสนามแข่งขันทุกแห่งในบอลโลกครั้งนี้ เพื่อเสริมบรรยากาศความตื่นเต้นของแฟนบอลที่รอเข้าไปในสนาม

VISA
เซ็นสัญญามูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (เท่ากับราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ) สนับสนุนฟุตบอลโลกครั้งนี้ นอกจากสิทธิทางการโฆษณาแล้ว ยังเป็นผู้ให้บริการทางการเงินกับผู้ทำงานใน FIFA สำนักงานใหญ่ที่ ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ และได้เป็น “Official Credit Card” ในบอลโลกครั้งนี้ ต่างจากของ Mastercard ที่ได้รับเพียงสิทธิในการโฆษณา นอกจากบอลโลกครั้งนี้ วีซ่ายังจะเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ของศึกรักบี้โลกปีหน้าและกีฬาโอลิมปิกในอีกสองปี

YAHOO
นอกจากสิทธิในการโฆษณาแล้ว ยังได้เป็นผู้จัดทำและดูแลเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบอลโลกครั้งนี้ที่ FIFAworldcup.com 6 ภาษา อังกฤษ, โปรตุเกส, อิตาลี, เกาหลี, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และสเปน ซึ่งจะผ่านเข้าไปสู่ fifaworldcup.yahoo.com ซึ่งนอกจากข่าวสารเนื้อหาแล้ว ยังได้สิทธิถ่ายทอดการแข่งขันทางเว็บไปทั่วโลก รวมวิดีโอคลิปภาพช็อตเด็ดประทับใจทั้งในครั้งนี้และอดีตย้อนไปหลายสิบๆ ปี พร้อมสิทธิทางการโฆษณาข้างสนาม

ฝ่ายคู่กัดยักษ์ใหญ่อย่าง MSN ของไมโครซอฟท์ก็ไปเปิดเว็บไซต์ “Road To World Cup” มาแข่งพร้อมสร้างความต่างด้วยบล็อกของ 7 นักฟุตบอลดัง

Adidas , Nike และ Puma ชิงสปอนเซอร์ชุดนักบอล

แม้จะเป็น 1 สปอนเซอร์หลัก แต่จากทีมฟุตบอล 32 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย มี 6 ทีมเท่านั้นที่ใส่ชุดแบรนด์ Adidas คือ เยอรมนี, อาร์เจนตินา, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, สเปน และ ตรินิแดด&โตเบโก

ในขณะที่คู่แข่งตัวกลั่นอย่าง Nike ซึ่งไม่ได้เป็นสปอนเซอร์หลักในฟุตบอลโลกปีนี้ เลือกที่จะเป็นสปอนเซอร์ทีมนักฟุตบอล 8 ทีมรวม หนึ่งในนั้นคือ แชมป์ห้าสมัยบราซิล, โครเอเชีย, ฮอลแลนด์, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, โมร็อกโก, โปรตุเกส, สหรัฐอเมริกา

ส่วน Puma ก็มีถึง 12 ทีมได้แก่ คือ อังโกลา, เช็ก, กานา, อิหร่าน, อิตาลี, ไอวอรี่โคสต์, ปารากวัย, โปแลนด์, ซาอุดีอาระเบีย, สวิตเซอร์แลนด์, โตโก, ตูนิเซีย

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือตัวเต็งของ Adidas ที่คาดว่าจะได้เข้ารอบสุดท้ายกลับตกรอบไปหมด อย่างแชมป์ยูโรล่าสุดคือกรีซ, แชมป์แอฟริกาหลายสมัยอย่างไนจีเรีย และมหาอำนาจดาวรุ่งบอลเอเชียอย่างจีน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ยอดขายสินค้าเกี่ยวฟุตบอล ทั้งลูกบอล รองเท้า และเสื้อผ้า ทั่วโลก อาดิดาสก็ยังครองแชมป์อยู่ด้วยส่วนแบ่งตลาด 35% มีไนกี้ตามมาติดๆ ที่ 30% ส่วนพูม่ายังมีแค่ 9% เป็นอันดับสาม