สารกระตุ้น ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผง จนออกมาโอดโฉมบนแผงเล่มแรกรับปีใหม่ 2549 จากความเป็นนิตยสารนำเสนอไอเดียเด็ดให้กับวัยรุ่นจากค่ายเวิร์คพอยท์ บวกกับได้ “เสนีย์ จิตสุวรรณวัฒนะ หรือ โอ๊ทส์” หนึ่งในนักเขียนมือดีจากไปยาลใหญ่ มาเป็นบรรณาธิการบริหาร อะไรคือแนวคิด ผลตอบรับจากผู้อ่านกับเอเยนซีในสี่เดือนที่ผ่านมาของนิตยสารไอเดียล้นฉบับนี้
POSITIONING – ก่อนมาเป็นบรรณาธิการ สารกระตุ้น คุณทำงานด้านไหนมาก่อนบ้าง
เสนีย์ – จบม.6 ผมเอนทรานซ์เข้าครุศิลป์ จุฬา ช่วงเรียนปีหนึ่ง มีพ็อกเกตบุ๊กเรื่องสั้นที่ส่งไปหนังสือไปยาลใหญ่ออกมาซึ่งขายดีมาก ขายได้ประมาณสี่ห้าหมื่นเล่ม จากนั้นมีคนเห็นว่าเราน่าจะเขียนบทละครได้ เลยว่าจ้างเขียน สมัยก่อนจะมีรายการมิวสิกวิดีโอเยอะ ระหว่างรายการจะมีละครสั้นคั่นประมาณสองนาที พวกนี้มาจ้างให้เราเขียน เลยกลายเป็นการเปิดเส้นทางด้านเขียนบทไปเลย เรียนจบมาเป็นครีเอทีฟรายการทีวี ที่เวิร์คพอยท์ ทำชิงร้อยชิงล้าน ทำอยู่ประมาณแปดเดือน ผมรู้สึกเบื่อมาก รู้สึกว่าฝืน เลยลาออก
ออกจากเวิร์คพอยท์ว่างอยู่ไม่กี่เดือน พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ชวนไปทำที่มูเซอ เป็นค่ายเพลงมีวงทีโบน สมเกียรติซีมิกซ์ มาม่าบูลล์ ผมไปเป็นซีเนียร์ก๊อบปี้ไรเตอร์ ทำโปรโมชั่นเทป ทำทั้งออกทีวี สปอตวิทยุ ทำทุกอย่างที่เป็นสื่อโฆษณา คิดชื่อศิลปินชื่ออัลบั้ม อยู่ได้ประมาณปีสองปี เริ่มอยากรู้สึกทำหนังมากขึ้น พอดีกับตอนนั้นอาร์เอสฟิล์มเปิด เลยย้ายไป แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือน พอดีพี่หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธ์ เจ้าของบอร์ดคาสซ์ ซึ่งจ้างเขียนบทมาหลายปี ตอนนั้นบอร์ดคาสทซ์เริ่มขยายบริษัท ผมทำอยู่ประมาณสามปีกว่า ซึ่งนานที่สุดแล้ว
พอตอนหลังงานนอกเริ่มเยอะ แต่ระหว่างเส้นทางที่ผมเดิน ผมมีงานฟรีแลนซ์เขียนบทตลอดเวลาเลย รายได้เยอะกว่าเงินเดือนอีก จนคิดว่าเราออกมาทำงานนอกดีกว่า เพราะตอนนั้นเป็นยุคละครเฟื่องฟู เริ่มมีละครก่อนข่าว ละครตอนบ่าย คนเขียนบทขาดมากๆ ตอนนั้นเป็นยุคทองคนเขียนบทจริงๆ เหมือนหาเงินง่ายมากเลย ผมทำอยู่จนเมื่อประมาณช่วงกลางปี 2548
POSITIONING – แล้วมาเป็นบรรณาธิการบริหาร สารกระตุ้น ได้อย่างไร
เสนีย์ – ผมมีคอนเนกชั่นเก่ากับพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) พี่แจ๋ว (ปราย พันแสง) เคยเป็น MD ของเวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง เขากำลังพัฒนาโปรเจกต์จะมีนิตยสารใหม่ออกมาเพิ่มอีกเล่ม จากมี “แก้จน” อยู่เล่มเดียว ซึ่งตอนแรกเขาจ้างทีมพัฒนาไปบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ถูกใจเลยเรียกผมเข้าไปทำโปรเจกต์นี้ ผมมีข้อเสนอว่า ถ้าจะให้ผมทำผมอยากทำใหม่หมดเลย แล้วผมขอตั้งชื่อใหม่
POSITIONING – แนวเดิมที่ทีมเก่าคิดไว้แตกต่างจากสารกระตุ้นเยอะไหม
เสนีย์ – มองผิวเผินอาจคล้ายกัน แต่จริงๆ ต่างกันเยอะมาก กลุ่มเป้าหมายก็ต่างกันแล้ว ทาร์เก็ตที่ผมคิดเด็กกว่าตอนแรกที่ทำไว้ ของเขาจะเป็นแนววรรณกรรมมากกว่า แล้วไม่ได้จี๊ดจ๊าดเน้นอาร์ตมากเท่าเล่มนี้
POSITIONING – ที่เปลี่ยนรูปแบบเพราะคิดแบบใหม่น่าจะขายได้มากกว่า
เสนีย์ – คือผมทำอย่างที่ผมชอบ ถ้าเกิดว่ามาทำแล้วเราต้องกั๊ก เพราะไม่ใช่แบบที่เรา เลยบอกไปว่าผมทำเองดีกว่า เริ่มต้นใหม่เลย ตั้งชื่อใหม่ แล้วผมหาทีมงานเอง น่าจะตรงมากกว่า ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่มีใครเลยนะ
POSITIONING – เวิร์คพอยท์วางกรอบอะไรไว้บ้าง
เสนีย์ – ผมคิดว่าเขานึกผมออกว่า ผมจะทำอะไรประมาณไหน หมายถึงการที่เขาเลือกผมมาคงไม่ได้ผิดความคาดหมายกันเท่าไร เพราะรู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว
POSITIONING – นอกจากชอบแล้ว มองความเป็นไปได้ทางการตลาดด้วยไหม
เสนีย์ – มองครับ ผมบอกกับพี่จิกคำแรกเลยว่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมหนังสือแนวนี้ ทำไมจะเป็นไม้ยืนต้นไม่ได้ ทำไมไปยาลใหญ่ต้องเลิก แต่ตอนที่บอกผมยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร…ผมแค่สงสัยว่าทำไมหนังสือที่ออกใหม่ตอนนั้น ทำไมมีแต่เรื่องกอสซิป มีแต่ปาปารัชซี่ ทำไมไม่มีอย่างอื่นให้เลือกบ้าง แนวที่ให้แรงบันดาลใจ อยากให้อะไรดีๆ ให้คนคิดเป็นบ้าง ทำไมหนังสือแนวนี้ต้องเจ๊ง
POSITIONING – มองว่าเป็นช่องว่างในตลาดเหลืออยู่ด้วย
เสนีย์ – คงไม่ถึงกับเป็นช่องว่าง เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่หรอก นิตยสารตอนนี้มีร้อยหัวพันหัวทุกแนวโดนบรรจุไปหมดแล้ว แต่คิดจากตัวเองถามว่าหนังสือที่ถูกใจจริงๆ มีไหม ก็ยังไม่มี ในบางเรื่องเราสนใจอยากอ่าน หรือบางครั้งนำเสนอในวิธีที่ซีเรียสไปหรืออวดฉลาดไป ไม่เป็นมิตรกับคนอ่านเหมือนเป็นพวกเดียวกันที่มาตบบ่าคุยกันโวยวายกันได้ ไม่ใช่มานั่งเลกเชอร์กัน
POSITIONING – ทำไมเลือกใช้ชื่อ สารกระตุ้น
เสนีย์ – ผมอยากได้อะไรที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ แล้วอีกอย่าง หนังสือส่วนใหญ่เป็นหัวภาษาอังกฤษหมดเลย ผมสงสัยว่าหนังสือหัวภาษาอังกฤษแต่ข้างในเนื้อไทย พอดีตรงกับทางนี้ แล้วผมรู้สึกว่าอะไรที่สะกิดวัยรุ่นได้ต้องมีแง่ลบด้วย จะมีความน่าสนใจกว่า จริงๆ ผมตั้งไว้อีกคำหนึ่ง แต่มีไว้ขายเขาว่าผมคิดมาสองชื่อนะ แต่ผมรู้แล้วว่าเขาเอาชื่อนี้แน่ เพราะชื่อนี้ใช่สุดแล้วในด้านความน่าสนใจ ตรงกับคอนเซ็ปต์ แล้วเป็นคำภาษาไทยที่ไม่เชย
POSITIONING – ตอนนั้นมองโอกาสเรื่องโฆษณาไว้แค่ไหน
เสนีย์ – ผมมองว่าถ้าทำหนังสือให้เป็นหนังสือวัยรุ่นที่เท่ ที่ใครอ่านแล้วทันสมัย ผมเชื่อว่าสินค้าอะไรเสนอความทันสมัย ต้องการคำว่าเท่ มีหัวคิด ต้องมาลง ผมคิดแค่นี้ แล้วมองว่าสินค้าพวกนี้มีเยอะไหม ผมนั่งคิดในใจ มีเยอะนะ เพราะสินค้าวัยรุ่นทุกแบรนด์จะบอกสำหรับวัยรุ่นที่มีหัวคิด สำหรับวัยรุ่นที่ทันสมัย มีปนอยู่ในทุกสินค้า เลยคิดว่า ไม่น่าจะขายโฆษณายากน่า คิดแบบนั้น ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้ ตอนนี้รู้แล้วว่า จริงๆ นิตยสารขายโฆษณายากมาก
POSITIONING – มองจากจำนวนสินค้าเป็นร้อย โฆษณายี่สิบสามสิบหน้าคงหาไม่ยาก
เสนีย์ – ใช่ๆๆ อะไรอย่างนั้น แต่ผมมั่นใจว่าเรื่องอาร์ตเวิร์คผม ทันสมัยกว่าหนังสือที่มีอยู่บนแผงแน่ แต่ไม่ได้ทันสมัยแบบฉูดฉาดเป็นวัยรุ่นคิกขุ แต่มั่นใจว่าดูดี ถ้าใช้คำว่ามีรสนิยม ถ้าพวกคนเรียนอาร์ตไปถามว่ากราฟิกหนังสือเล่มไหนดีที่สุด ต้องมีสารกระตุ้นติดอันดับอยู่ด้วยในท็อปทรีเลยล่ะ
พอได้เป็นก้อนว่าผมขอทำแบบนี้ ชื่อนี้นะ ผมเริ่มหาทีม ขอเวลาหาทีมหนึ่งเดือน แล้วผมจะพาทีมนี้มานั่งที่ออฟฟิศ ให้เขาเตรียมคอมพิวเตอร์ไว้เลย ซึ่งเขาไม่รู้ว่ามีใครบ้าง
POSITIONING – มีวิธีหาคนทำงานด้วยอย่างไร
เสนีย์ – ผมจะคิดคอนเทนต์ ต่อเมื่อผมได้ทีมแล้ว คนแรกที่ได้มาเป็นฝ่ายอาร์ต เป็นรุ่นน้องที่ครุศิลป์ จุฬา ผมเข้าไปหาที่เว็บไซต์ของครุศิลป์ มีคนแนะนำมาก่อนว่าคนนี้ได้รางวัลประกวดที่มาเลเซียมา ส่วนคนอื่นๆ มาจากคนวงการทีวี วงการหนังสือ ทั้งพี่จุ้ย พี่ปราย กรกฏ เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย แนะนำมา ผมโทรถามทุกคนเลยว่า ตอนนี้มีเด็กใหม่คนไหนน่าสนใจบ้าง
POSITIONING – หลักกว้างที่ใช้เลือกทีมงานใช้อะไรบ้าง
เสนีย์ – ผมอยากได้เด็กที่ทัศนคติดี ดูทันสมัยหน่อย แล้วดูกวนตีน ผมใช้คำนี้เลยนะ ไม่เอาธรรมดา ไม่เอาคนที่เขียนกลางๆ เอาแบบเขียนแล้วรู้สึกเกลียดก็ได้ อ่านแล้วด่า หรืออ่านแล้วชม แต่อย่าอ่านแล้วเฉยๆ…ไม่เอา ซึ่งใช้กับทุกตำแหน่งเลย อย่างช่างภาพก็เหมือนกัน แบบที่ถ่ายธรรมดาๆ ไม่เอา ต้องแปลกๆ ไปเลย ถ้าได้แบบกลางๆ เราหนีเล่มอื่นไม่ได้
เพราะโพสิชั่นเราวางไว้แล้วเป็นหนังสือที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ คือคำนี้จะถูกคาดหวังเยอะ โฮ้ นี้เอ็ง เป็นสารกระตุ้นเลยเหรอ แล้วทำได้แค่ไหน ถ้าเรียบๆ ออกไป โดนคนหัวเราะเยาะเลยนะ
POSITIONING – ตอนรู้งบตัวเลขที่เวิร์คพอยท์ให้มากับภาพหนังสือที่อยู่ภายในหัว หนักใจไหม
เสนีย์ – หนักใจ แต่ถ้าเราเลือกว่ามาตรงนี้ ก็ต้องยอมรับ คือผมทำงานกับ Mass มาเยอะ ผมเขียนบทละครหลังข่าวให้ชาวบ้านดูได้ หรือทำรายการเกมโชว์ ผมรู้ว่า Mass คืออะไร ผมจะไม่ไปเถียงว่าไอ้นี่ Mass โคตร Mass เลย ไม่มีทาง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าไอ้นี่คือหนังสือสำหรับคนที่อยากคิด เหมือนกับหนังหนึ่งเรื่อง คนที่อยากรู้ว่าคนไหนเป็นพระเอกนางเอก นั่นคือ Mass แต่หนังสือเล่มนี้เป็นประเภทคนหนังแล้วอยากรู้ว่า ผู้กำกับคือใคร ซึ่งไม่ Mass ไม่ใช่โปรดักส์ที่จะทำเงินให้บริษัทนี้ ไม่ใช่เลย เออ คือเป็น Niche มากกว่า
POSITIONING – เวิร์คพอยท์ให้เวลาพิสูจน์ในเชิงธุรกิจมากน้อยขนาดไหน
เสนีย์ – ในเชิงธุรกิจ ผมว่าเหมือนกันทุกที่ ถ้าอะไรมันไม่ได้จริงต้องยอมรับความจริง แต่เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ โอเค มันไปได้ดี
POSITIONING – เริ่มต้นเรื่องหาโฆษณาอย่างไร
เสนีย์ – ตอนนั้นเราให้ทีมขายของเวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนท์ช่วย แต่เขาไม่มีเวลามาก ตอนนี้ฝ่ายการตลาดผมยังไม่มีเลย อยากมี หาอยู่ครับ แต่มีเซลส์อยู่สามคน ต้องยอมรับว่านิตยสารเล่มแรกๆ แนวนี้ด้วยขายยากมากนะ บางทีต้องเป็นลักษณะของคอนเนกชั่นมาช่วย ซึ่งต้องใช้เซลส์แข็งๆ มาก เราไม่สามารถหาเซลส์คนใหม่มาแล้วให้ไปทำตรงนี้
POSITIONING – อะไรคือความท้าทายในการทำสารกระตุ้น
เสนีย์ – ตั้งแต่วันแรกที่มาคุยกับพี่จิก ผมบอกว่าอยากทำหนังสือเล่มนี้ให้เป็นไม้ยืนต้น แล้วคิดว่าต้องทำให้ได้ โอเค ผ่านไปอีกห้าปี ผมอาจเชยเกินไปที่จะทำหนังสือแบบนี้แล้ว แต่ยังต้องมีอยู่ ผมอาจไปดูแลห่างๆ แต่ผมอยากให้เป็นไม้ยืนต้น
POSITIONING – คอลัมน์ต่างๆ เน้นเกี่ยวกับอะไรบ้าง
เสนีย์ – มาจากคอนเซ็ปต์ อ่านแล้วต้องกระตุ้น อย่าอ่านแล้วรู้สึกเฉยๆ ด่าก็ได้ ชมก็ได้ โอเค อาจมีคอลัมน์คล้ายๆ กับที่หนังสืออื่นมี แต่เราจะบิดอย่างไรให้แปลกกว่า กวนตีนกว่า จึงต้องกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ก่อน บางคนพยายามไปบิดให้แปลก บางอย่างดีอยู่แล้วไม่ต้องไปบิดเยอะ
POSITIONING – อะไรคือไม้เด็ดของสารกระตุ้นบ้าง
เสนีย์ – ผมว่ามีหลายไม้เลยนะ อย่างสัมภาษณ์หลัก คนบนปก ผมว่าคนพวกนี้เขามีบางอย่างที่เป็น Idol ที่เป็นแรงกระตุ้นของคนรุ่นใหม่ อย่าง พี่เป็นเอก ใครอยากเป็นผู้กำกับหนัง แล้วไม่มีคนนี้เป็นไอดอลบ้าง หรือ ปราบดา หยุ่น ใครอยากเป็นนักเขียนแล้วไม่มีคุ่นเป็นแรงบันดาลใจบ้าง คนพวกนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปะต่างๆ อย่างป๊อด โมเดิร์นด็อก แน่นอน
POSITIONING – ปกจำเป็นไหมต้องเป็นไอดอลแบบนี้
เสนีย์ – ต้องครับ จำเป็นครับ อย่างเล่มต่อไปเป็นป็อป อารียา ซึ่งเป็นผู้หญิงที่คุณไปสุดทางทั้งสองด้าน ทั้งทางความคิดไปทำหนังสารคดีเรื่อง โต๋ เป็นหนังที่ดีมาก
POSITIONING – เพราะต้องการผลด้านโฆษณาด้วยไหม
เสนีย์ – โฆษณา ผมมั่นใจว่า ถ้าเราทำหนังสือให้ดีสำหรับคนอ่านแล้ว ผมว่าโฆษณาจะมาเอง เพราะแนวของเรา เราไม่อาจเรียกร้องโฆษณามากกว่านี่ได้ แล้วเราไม่สามารถไปบอก คุณป๊อดครับ ช่วยใส่เสื้อตราหมีแพนด้าแดงให้หน่อยครับ เขาไม่ยอมหรอก เดินกลับบ้านเลย เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าวิธีขายเราไม่ใช่วิธีขายแบบเล่มอื่น
ผมมองว่าสารกระตุ้นเป็นแบรนด์นะ เป็นแบรนด์ที่ทันสมัย ที่เท่ เป็นวัยรุ่น ประมาณว่าแปะแบรนด์สารกระตุ้นกับอะไร อันนั้นไม่โง่ ไม่เชย เพราะฉะนั้นไม่ว่าปก คอลัมน์ต่างๆ ต้องมีคำนี้ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องทันสมัย
POSITIONING – คอลัมน์นิสต์ในเล่มมีค่อนข้างเยอะเลือกมาจากอะไร
เสนีย์ – คอลัมน์นิสต์เป็นไม้เด็ดอีกอัน คือเราอยากอ่านมุมมองความคิดคนอื่นๆ ที่ไม่ซ้ำกับฉบับอื่นๆ และต้องเป็นแรงกระตุ้นให้กับคนรุ่นใหม่ อย่างเราได้พี่ต้อม ยุทธเลิศ (สิปปภาค) ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังที่เป็นแรงกระตุ้นมากๆ ของเด็กเรียนฟิล์ม สคูลในเมืองไทย เด็กเรียนศิลปะที่อยากทำหนัง ทุกคนชอบคนนี้ หรือโน้ส อุดม (แต้พานิช) เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ แล้วเรื่องศิลปะดีมาก แต่ทุกคนที่เลือกมาเราพยายามไม่ให้เสนองานซ้ำกับเล่มอื่น อยากพี่ต้อมไม่เคยเขียนงานให้ใครเลย อย่างโน้ส เคยเขียนงานมาแล้ว งั้น เอางานศิลปะมาลงดีกว่า ซึ่งผมจะมีความชอบส่วนตัวกับคนเหล่านี้อยู่แล้ว
POSITIONING – ต้องตาม Trend ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยหรือเปล่า
เสนีย์ – ผมว่า เราอาจเกินหน้าคำนี้ไปนิดนึงนะ แต่ไม่ถึงกับเป็นคนกำหนด Trend เพราะเราไม่ใช่หนังสือแฟชั่น เรายึดตามแนวของเรา อย่างถ้ามีคนหนึ่งเขียนวิจารณ์ฟุตบอลแล้วเข้ากับตรงนี้ได้ เราอาจมีคอลัมน์วิจารณ์ฟุตบอลในเล่มก็ได้ อย่างพอวันพ่อ ถ้าปกเป็นปราบดา หยุ่น คงต้องเอาคุณสุทธิชัย หยุ่นมาถ่ายด้วย ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกเล่มในแผงเลย ผมอยากให้ต่างบ้าง แต่พอมาทำแล้วถึงรู้ว่าทำแบบนั้นง่ายกว่า คิดง่ายกว่า เรามันซ่าส์ คิดยาก เหนื่อย
POSITIONING – แนวคิดแบบนี้มีผลกระทบในแง่การตลาดไหม
เสนีย์ – มีผลครับ เพราะเอเยนซี่จะถามก่อนเลยว่า เรื่องฉบับนี้จะทำเกี่ยวกับอะไร แต่ผมว่าเริ่มมีบายเออร์ที่เข้าใจ อย่างบายเออร์รุ่นเก่า บายเออร์ก็มีรุ่นนะ ผมว่าบายเออร์รุ่นใหม่ๆ น่าจะสนใจหนังสือผมนะ แต่ถ้าบายเออร์รุ่นเก่า เขาคงอ่านไม่เข้าใจหรอก หรือเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำคนบนปกเล่มนี้เป็นใคร (ชูปก เป็นเอก รัตนเรือง)
POSITIONING – โดนเอาไปเปรียบกับนิตยสาร A DAY ค่อนข้างเยอะตั้งแต่ยังไม่ออก เพราะกลุ่มเป้าหมายใกล้ๆ กัน
เสนีย์ – ใช่ แต่ผมเข้าใจนะ สมมติผมบอก ผมอยากทำหนังตลกให้เวิร์คพอยท์คนต้องถามแน่ว่าเหมือนโหน่งเท่งละสิ ช่วยไม่ได้เขาต้องเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขารู้ เพราะไม่มีอะไรให้เปรียบเทียบ
POSITIONING – ในมุมเรื่องเนื้อหาด้วย
เสนีย์ – ใช่ เพราะมีหนังสืออะไรเกี่ยวกับเรื่องไอเดียบ้าง มี ADAY มี PLAY ON เห็นออกมาใหม่อีกเล่มหนังสือ PLAYGROUND ผมว่าโดนทุกเล่ม อีกหน่อยถัดไปอีก 5 ปีมีหนังสือสนุกคิด สนุกสร้างสรรค์ เขาต้องโดนถามว่าเหมือนสารกระตุ้นหรือเปล่า ต้องโดนแบบนั้นล่ะ
POSITIONING – ปฏิเสธความคิดแบบนี้ไม่ได้
เสนีย์ – ผมไม่โกรธที่คนถามกัน แต่ผมแค่งงนิดหนึ่ง เพราะตอนหนังสือยังไม่ออกมีจัดงานเปิดตัว มีนักข่าวสัมภาษณ์ไปลงอินเทอร์เน็ต ก็มีคนมาเสนอความเห็นเข้ามาว่า เหมือนอย่างโน้นเหมือนอย่างนี้ ผมก็งงว่า เอ ยังไม่มีใครเห็นหนังสือเลยนะ แล้วบางทีโดนแบบถามชง อย่างออกมาฆ่า ADAY เหรอ ทำไมต้องฆ่า เป็นเพื่อนกันไม่ได้เหรอ ทำไมต้องไปฆ่า จะให้ตีกันให้ได้ บางคนบอกว่าเลียนแบบ ผมเขียนหนังสือมาก่อนนะ ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ ม.6 แล้ว
POSITIONING – การถูกนำไปเปรียบเทียบมีผลกระทบทำให้ขายโฆษณายากไหม
เสนีย์ – ผมว่าการขายโฆษณายากเป็นเรื่องของความไม่ไว้ใจของเอเยนซี่มากกว่า แต่ผมว่ายอดขายผมไม่ได้น้อยกว่านะ แต่พูดยาก เพราะของแบบนี้ต้องใช้เวลา เราต้องยอมรับ เพราะทุกอย่างไม่มีทางลัด ต้องเหนื่อย
POSITIONING – ส่วนใหญ่นิตยสารวัยรุ่นใช้การตลาดช่วยเยอะอย่างจัดอีเวนต์ต่างๆ แต่สารกระตุ้นไม่มีส่วนนี้
เสนีย์ – ผมพยายามจะทำ แต่ยังไม่มีคนทำตรงนี้เลย ผมไม่มีเวลา แค่ทำหนังสือผมไม่มีเวลาแล้ว แต่ทำแน่ๆ มีแน่ๆ ตอนนี้กำลังคุยกับสปอนเซอร์รายหนึ่งอยู่จะจัดงานสนุกๆ ร่วมกัน
POSITIONING – เห็นความจำเป็นของงานส่วนนี้
เสนีย์ – เห็นครับ จำเป็นครับ เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครซื้อแอดหนังสือล้วนๆ ทุกคนอยากพ่วงโน้นพ่วงนี้ แล้วราคาหนังสือเราขายแบบแมกกาซีนต่างประเทศไม่ได้ ถ้าขายได้เราไม่ต้องง้อโฆษณา แค่ 85 บาท ยังบ่นแพงกันเลย แต่ 85 บาทขาดทุนนะ เพราะหักสายส่ง เราได้กลับ 55.25 บาท ขาดทุนอยู่ แค่ค่าพิมพ์ยังไม่รวมค่าบก.เกือบถึงแล้ว
POSITIONING – ด้านการตลาดเปิดกว้างให้การตลาดเข้ามาแตะเนื้อหาภายในเล่มได้ขนาดไหน
เสนีย์ – ผมไม่ได้หวงห้าม แต่ผมว่าผู้อ่านสารกระตุ้นมีความคิดเป็นพอสมควร สินค้าอะไรที่เข้ามาจอยกับเรา คงไม่ใช่สินค้าที่แย่ๆ คือต้องไปด้วยกันได้ อย่างให้มีปกพับเป็นสปอนเซอร์เข้า ทำได้ แต่อย่าไปให้เขาถืออะไรนะ ผมไม่เอา ไม่ได้ปิดกั้น แต่ไม่ได้เปิดเสียจนอะไรก็ได้ ไม่ได้พอรถซีวิคออกมาก เห็นรถซีวิคอยู่บนหน้าปกทุกเล่ม ผมไม่เอา
แต่อาจมีได้ ถ้าวันหนึ่งเกิด เฮ้ย ถ้าไม่มีเราตายแน่ ผมอาจมีรถ 2 คันเลยก็ได้ แต่ผมว่าน่าจะมีวิธีอื่นอีก แยกกันให้ชัดเจนหน่อย อย่างเช่นคอลัมน์แนะนำหนังสือ แต่กลายเป็นแนะนำสปอนเซอร์ ผมไม่แฮปปี้ เพราะเหมือนกับเราหลอกผู้อ่านแล้ว ถ้าทำแบบนั้นก็อยู่ได้ไม่นานหรอก
ที่ผมคิดสารกระตุ้นต้องเป็นไม้ยืนต้น เราต้องไม่ทำอะไรที่แบบว่าเราตัวรอดเฉพาะหน้า แล้วระยะยาวเจ๊ง เราต้องทำแบรนด์นี้ให้แข็งแรง แล้วผมมั่นใจว่าสปอนเซอร์จะเริ่มมาเอง เห็นว่าเราทำสิ่งดีๆ ช่วยมันเถอะ
POSITIONING – อาร์ตเวิร์คภายในเล่มจัดจ้าน แต่ปกเน้นเรียบ เพราะอะไร
เสนีย์ – ผมตั้งใจ เรารู้สึกว่าอย่าไปตีฆ้องร้องป่าวเยอะ อยากให้ขายแบบสงวนท่าทีมากกว่า
POSITIONING – กลุ่มผู้อ่านนิตยสารแนวนี้เติบโตด้านจำนวนมากขึ้นไหม
เสนีย์ – ผมไม่รู้ผลวิจัยที่แน่นอน แต่ผมรู้ยอดขายฉบับแรกถือว่าดีกว่าที่คิด คนส่วนใหญ่บอกว่าวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ไร้สาระ คุณไม่ขายเซ็กซ์ ไม่ขายแฟชั่น ไม่ขายเครื่องสำอาง ไปไม่รอดหรอก แต่จริงๆ แล้วมันไม่จริง ยังมีคนที่อยากอ่านอะไรแล้วได้คิดต่อ มีคนคิดแบบเราเยอะ เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยมีอะไรให้เขาเลือกหรือเปล่า ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งรอซื้ออยู่แล้ว
POSITIONING – ให้โอกาสตัวเองแค่ไหนกับเรื่องโฆษณา หลังไม่มีพลังสนับสนุนจากเวิร์คพอยท์
เสนีย์ – ใช้คำว่าพลังสนับสนุนจากเวิร์คพอยท์อาจเป็นคำแรงไปนิดหนึ่ง จริงๆ ไม่ได้มีอะไรหนุน ตอนเปิดงานเปิดตัวก็โดนถามแบบนี้ ผมบอกว่าคุณรู้หรือเปล่า จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวเลย ระหว่างบริษัทมหาชนกับบริษัทนายอะไรก็ได้ ไม่ต่างกันเลย ถ้าคุณทำไปแล้วขาดทุนๆๆ ไม่มีใครเล่นกับคุณหรอก เผลอๆ ถ้าได้นายทุนที่เป็นมือใหม่ๆ เขาอาจกล้าใส่เงินเยอะกว่าบริษัทใหญ่อีกนะ เพราะบริษัทมหาชนไม่ได้ขายข้าวแกงนี่ เขาต้องรู้ว่าอะไรได้ไม่ได้
แต่โอเค… ไม่ใช่ทุกโปรดักส์ของเขา ต้องทำเงิน ต้องมีเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน อย่างเล่มนี้ คนทั่วไปชอบพูดว่าแมกกาซีนน้ำเน่าแมกกาซีน้ำดี ผมว่าเล่มนี้อยู่ในฝั่งน้ำดีแน่ๆ คงไม่ใช่ล้มเหลว ถ้าไม่ได้ทำเงินให้บริษัท มีเรื่องอื่นด้วย
POSITIONING – สารกระตุ้นเป็นส่วนหนึ่งในแผนสร้างรายได้ในธุรกิจแมกกาซีนของเวิร์คพอยท์
เสนีย์ – โอ้โฮ ผมว่าเขาคงไม่ได้มาหวังกับผมขนาดนั้น เพราะส่วนผมเล็กมาก เหมือนกับเป็นทีมฟุตบอลใหญ่มาก เล่มนี้เป็นเหมือนเด็กดาวรุ่งซื้อตัวมาจากต่างจังหวัด ซึ่งถามว่าเด็กต่างจังหวัดคนนี้จะเป็นทิศทางภาพลักษณ์ในอนาคตไม่ได้ถึงขนาดนั้น ไม่มีวันเลยด้วยซ้ำ
POSITIONING – ไม่ได้มองว่าจะสารกระตุ้นเป็นอย่างเวยน์ รูนีย์ในอนาคต
เสนีย์ – เราอาจจะเป็น แต่ ณ นาทีนี้ เขาคงไม่ได้หวังพึ่งเราขนาดนั้น เทียบกับฟุตบอลอาจเทียบยาก เพราะฟุตบอลมีตัวพรสวรรค์ที่เก่งจริง คนเดียวตัดสินใจแพ้ชนะได้ แต่ให้สารกระตุ้นไปใช้ตัดสินแพ้ชนะทั้งเวิร์คพอยท์เป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าวันหนึ่งเป็นสารกระตุ้นแบรนด์ที่แข็งแรงแล้ว ผมอาจจะทำแมกกาซีนเพิ่ม เหมือนกับเราเป็นหน่วยหนึ่งโตเป็นไม้ยืนต้นของเราไป ซึ่งวันหนึ่งใครจะรู้ผมอาจเปิดบริษัทแล้วเป็นมหาชน หรือสารกระตุ้นอาจเป็นอย่างเครือจีเอ็ม กรุ๊ป ในปัจจุบันก็ได้ หรืออย่างเครือผู้จัดการ ซึ่งเป็นไปได้
Profile :
Name : เสนีย์ จิตสุวรรณวัฒนะ
Age : 36 ปี
Education : ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ เอกศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
– โค-โปรดิวเซอร์ รายการชิงร้อยชิงล้าน
– ซีเนียร์ก๊อบปี้ไรเตอร์ บริษัท มูเซอ จำกัด
– นักเขียนบทละครอิสระ เช่น ผมมากับพระ เจ้าชายหัวใจเกินร้อย และคุณพ่อรับจ้าง