EPSON จัดงานเปิดตัว “นาโอยูกิ ซาเอกิ” ประธานคนใหม่ ในสไตล์คาวบอยนอกสถานที่ ณ โรงแรมทวาราวดี รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมมอบเสื้อประจำตำแหน่งอย่างเป็นทางการกลางมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา หลังจากมาเริ่มงานและศึกษาข้อมูลตลาดไทยเชิงลึก พบปะลูกค้า และตัวแทนจำหน่ายในร้านค้าปลีกและศูนย์การค้าไอที อาทิ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า อยู่กว่า 2 เดือน
นับเป็นการตัดสินใจออกไปทำงานนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของ “นาโอยูกิ ซาเอกิ” หลังจากสร้างผลงานโดดเด่นให้บริษัทไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น สำงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นมาตลอด 23 ปี เพื่อมาแทน “โตชิยูกิ ยาคูวา” อดีตประธาน บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) คนเดิมที่หมดวาระไป
การย้ายครั้งนี้พิเศษตรงที่ “ซาเอกิ” เป็นหนึ่งใน 4 ผู้บริหารที่บริษัทไซโก้ เอปสันฯ แต่งตั้งให้มาเป็นประธานคนใหม่พร้อมกันในเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดไซน่า ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ไม่ต่ำกว่าปีละ 5-10%
EPSON มีโพสิชันนิ่งเด่นในตลาดโฟโต้ พรินเตอร์ ด้วยการทำตลาดคอนซูเมอร์และเอสเอ็มอีเป็นหลัก แต่เป้าหมายของ EPSON คือต้องการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดองค์กรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ เพื่อเพิ่มแชร์ตลาดเครื่องพิมพ์ด็อทเมตริกซ์จาก 85% เป็นอันดับ 1 ของตลาด เป็น 90% ในปีนี้
ส่วนเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เครื่องพิมพ์ออล-อิน-วัน และเครื่องพิมพ์เลเซอร์ EPSON ยังมีแชร์เป็นอันดับ 2 ในตลาดรองจากคู่แข่งอย่าง HP และแคนนอน ดังนั้นปีนี้ EPSON จึงต้องบุกหนัก เพื่อเป้าหมายทางการตลาด และเพิ่มรายได้เป็น 2,700 ล้านบาท หรือรวมประเทศอินโดไซน่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
“ซาเอกิ” มีประสบการณ์การขายมากว่า 23 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่สร้างให้ EPSON เติบโตสูงสุดในปี 2538 รวมทั้งเชี่ยวชาญในตลาดพรินเตอร์ขนาดใหญ่และอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ โดยย้ายไปรับตำแหน่งฝ่ายขายของบริษัทในเครือ EPSON ในญี่ปุ่นหลายแห่ง ก่อนจะย้ายมาประจำประเทศไทย ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เอปสัน ฮันไบ ในเครือไซโก้ เอปสันฯ
“ตลาดไอทีเคยเติบโตสูงสุดในญี่ปุ่นในปี 2538 โดยมีผู้ใช้ไอทีสูงถึง 10 เท่าจากปี 2523 เช่นเดียวกับตลาดอเมริกา นั่นเพราะองค์กรธุรกิจเน้นการใช้ไอที และผมเชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้าภูมิภาคนี้ก็จะเติบโตเช่นกัน”
ตลาดรวมเครื่องพิมพ์ปี 2549 (มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท)
– เครื่องพิมพ์ด็อทเมตริกซ์ 1,000 ล้านบาท
– เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท 1,500 ล้านบาท
– เครื่องพิมพ์ออล-อิน-วัน 1,000 ล้านบาท
– เครื่องพิมพ์เลเซอร์ 1,000 ล้านบาท
ที่มา : POSITIONING รวบรวม