รักที่ไร้เงื่อนไข ของไทยประกันชีวิต (อีกแล้ว)

เรื่องขยันสร้างภาพลักษณ์องค์กร ดูเหมือนว่าไทยประกันชีวิต ซึ่งพยายามที่จะชูจุดขายในฐานะสถาบันทางการเงินของคนไทย จะไม่เคยเหือดแห้งไอเดียเอาเสียเลย

ที่สำคัญ มีความหลากหลายของการโจมตีผู้รับสื่อที่คาดเดาได้ยาก ทำให้แต่ละครั้งที่นำเสนอออกมา “โดน” จังๆ ทุกครั้ง
หลายเดือนก่อน เน้นจุดขายเรื่องคุณภาพตัวแทนจนเป็นที่ประทับใจ ด้วยเรื่องราวของ คนดูแลนักเปียโนพิการมาแล้ว ครั้งใหม่นี้ ก็เลยหันกลับมาตอกย้ำแบรนด์องค์กรอีกครั้ง เพื่อส่งท้ายปีเก่า ก่อนจะไปวัดผลกับความสำเร็จในช่วงต้นปีหน้า

ครั้งนี้ ไม่ยอมเล่นกันเนื้อหาชาตินิยมแบบฮาร์ดเซลส์อีก แต่หันมาเล่นกับเรื่องของความรัก ด้วยการโฆษณาชุดใหม่ My Girl ตอกย้ำจุดยืนเรื่อง Lifelong Taking Care กันอีกรอบ

เหตุผลก็คงเดาได้ไม่ยาก เพราะยามนี้ในยุค ”รู้รักสามัคคี” คนไทยกำลังแสวงหาความรัก โหยหาความเอื้ออาทร และความปรารภนาดีกันไปทั่ว

เพื่อให้ทันสมัย เรื่องราวที่นำเสนอจึงต้องมุ่งไปจับกลุ่มครอบครัว และปัญหาวัยรุ่น ซึ่งไม่ว่ายุคสมัยไหน ก็มีความวุ่นวายที่น่าสะเทือนใจมาให้จับต้องได้เป็นรูปธรรมเสมอมา ไม่เคยขาด

แล้วก็เพื่อให้ประทับใจมากขึ้น ภาพยนตร์ชุดนี้ก็เลยต้องยาวเป็นพิเศษ ถึง 2 นาทีเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว สาระที่มุ่งนำเสนอ ก็ดูเหมือนจะซ้ำภาพยนตร์โทรทัศน์ปีที่แล้ว ระหว่างพ่อม่ายกับลูกชายวัยรุ่นนักดนตรี ที่จบลงอย่างสะเทือนในแบบโศกนาฏกรรม ทำเอาหลายคนอึ้งไปกับเนื้อหาที่ออกไป แต่คราวนี้ กลับพลิกผันมาที่เรื่องซึ่งจบลงด้วยสุขนาฏกรรม ที่ทิ้งคำถามเอาไว้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น

เหมือนดังปริศนาธรรมแบบเซน ที่ว่า สุขนั้นสุขอย่างไร? ทุกข์นั้นทุกแค่ไหน? และที่ว่ารักนั้น รักอย่างไร?

เปิดฉากแรกด้วยภาพเด็กทารกน่ารักแรกเกิด พร้อมกับคำบรรยาย “ปุยฝ้าย คือความมหัศจรรย์แรกในชีวิตผม” จากนั้น ก็ตามด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่พ่อได้ค้นพบความมหัศจรรย์ของชีวิตนับตั้งแต่ลูกสาวลืมตาดูโลก เขาสัญญากับตัวเองว่าจะรักและดูแลเธอจวบจนวาระสุดท้าย

เรื่องอย่างนี้ ใครที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่คนอาจจะเฉยๆ แต่นี่คือจิตใต้สำนึกของพ่อแม่ทุกคน เพราะรักของพ่อแม่นั้น ไม่เคยมีเงื่อนไข ทำนองรักแล้วก็รักเลย อาจจะเรียกร้อง แต่ก็ไม่เคยเรียกร้องเพื่อตัวเอง หากเรียกร้องด้วยสัญชาตญาณแห่งความปรารถนาดี

จากนั้น ฉากก็ตัดแวบข้ามไปยังวันเวลาที่เลวร้ายสิ่งเกิดขึ้น เมื่อลูกสาวที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น พลาดพลั้งมีความสัมพันธ์กับเพื่อนชายจนตั้งครรภ์ แต่ด้วยความรักและการดูแลของพ่อและแม่ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เขาจึงเลือกดูแลลูกของลูก ไม่ใช่ในฐานะ ”มารหัวขน” ที่เป็นบาปบริสุทธิ์ตั้งแต่เยาว์วัย

ความรัก ไม่ต้องการเหตุผล แต่ต้องการหัวใจ ไม่ต้องสนใจว่าถูกหรือผิด แต่ต้องการเมตตาธรรม และการให้อภัย
และชีวิต ย่อมมีผิดพลั้งได้

ส่วนจะนำไปสู่เหตุการณ์ดีหรือร้ายในวันหน้า ไม่ต้องถาม เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และไม่พึงคาดเดา
ก่อนจะตบท้ายเฉกเช่นเดียวกับพันธสัญญาของไทยประกันชีวิตในการดูแลผู้เอาประกันตลอดไป

แน่นอนว่า หลายคนที่ดูภาพยนตร์โทรทัศน์ชุดนี้ ต้องตั้งคำถามตามมา ทัศนคติที่อยู่เบื้องหลังการเลี้ยงลูก และการตัดสินใจแบบ ”ไทยๆ” อย่างนี้ ไม่เท่ากับเป็นการส่งเสริมเด็กหญิงใจแตก หรือปล่อยให้ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์บกพร่องดอกหรือ?

ก็มีสิทธิตั้งคำถาม เพราะปัญหาสังคมนั้น คำตอบสำเร็จรูปไม่เคยมี และไม่ควรมีเพราะเหตุว่า เรื่องใดที่หากไม่มีประสบการณ์ตรงกับตัวเองแล้ว กล่าวอย่างไรก็ย่อมได้

ดูจากเจตนาแล้ว เจ้าของสินค้าเองก็ไม่ได้ปฏิเสธ ถึงกับยอมรับหน้าตาเฉยว่า “มุ่งให้แง่คิดต่อสังคมไทย เพราะเราตระหนักดีว่าธุรกิจจะเข้มแข็งได้ สังคมไทยต้องแข็งแรง โดยเฉพาะความมั่นคงของสถาบันครอบครัว”

การนำเสนออย่างคมคายและแยบคายเช่นนี้ ทำให้นึกถึงนิทานเซนเรื่องหนึ่ง

พระเซนสองรูป เดินไปตามทางเดินริมแม่น้ำ พระเซนอาวุโสเปรยขึ้นมาว่า “ดูปลาที่แหวกว่ายในคลื่นนั่นสิ มันช่างมีความสุขเสียจริง”
พระเซนผู้อ่อนด้อยกว่า กล่าวท้วงขึ้นมาว่า “ท่านไม่ใช่ปลา จะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีความสุขหรือไม่มี”

พระเซนอาวุโสหยุดเดิน มองหน้าผู้อ่อนวัยกว่าครู่หนึ่ง แย้มยิ้ม และกล่าวว่า “ท่านเองก็ไม่ใช่อาตมา ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า อาตมารู้หรือไม่รู้ว่าปลามีความสุขหรือไม่?”

ภาพยนตร์ชุดนี้ก็เฉกเช่นกัน เพราะความรักที่ไร้เงื่อนไขนั่นแหละ ที่ทำให้ทารกที่ไร้เดียงสาอีกชีวิตหนึ่ง ได้ลืมตาดูโลกขึ้นมาอย่างอบอุ่น ไม่ใช่กลายเป็นชิ้นเนื้อไร้ชีวิตที่ถูกทำให้แท้งและทิ้งลงถังขยะของคลินิกเถื่อนที่ไหนสักแห่งของเมืองใหญ่อันน่าอนาถใจ

ใครไม่เคยรัก ย่อมหาเหตุผลมากล่าวอ้างได้ เว้นเสียแต่ตอนที่เขาเริ่มมีความรัก (และด้วยรักขั้นสูงอย่างพรหมธรรม) แล้วนั่นแหละ มุมมองของชีวิต (จะเรียกกระบวนทัศน์ หรือ ชีวทัศน์ ก็สุดแท้แต่)จะเริ่มกลับขั้วไปอีกข้าง

ที่แน่ๆ ภาพยนตร์ชุดที่สาระสร้าง Dilemma of virtue ขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ ก็ถือว่า บรรลุเป้าหมายของ Brand Identity ได้เกินพออยู่แล้ว

เหมือนกับคุณภาพของบริษัทประกันชีวิตรายนี้นั่นแหละ

ใครที่ดูภาพยนตร์นี้แล้วไม่สะเทือนใจ และจำชื่อบริษัทขายประกันชีวิตไม่ได้ คงต้องเร่งไปหาจิตแพทย์โดยด่วน