สนธิ ลิ้มทองกุล

“คุณอยากจะซื้อรถเบนซ์สักคันนึง หรือว่าประมูลป้ายทะเบียนรถยนต์ราคาสัก 15 ล้าน 9 ล้าน คุณทำได้ แต่ต้องแน่ใจนะว่าเงินที่คุณเอาไปประมูล หรือซื้อรถราคาสิบๆ ล้านนั้น คุณไม่ได้เบียดเบียนฉ้อราษฎรบังหลวงเอามา”

ในฐานะของสื่อมวลชน ที่สามารถอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้อธิบายความหมายปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้อย่างน่าสนใจ

เมืองไทยรายสัปดาห์

16 เมษายน 2548

“…ผมคิดว่าแนวทางพัฒนาประเทศ มันจะมีสองแนวทาง แนวทางของตะวันตก ทางสากล ที่รุกเข้ามาในประเทศเรา คือแนวทางของการที่จะยุยงส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจจะได้พัฒนา บริโภคกันเยอะๆ คือเขามองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเรายังไม่เข้าใจคำว่าพัฒนาเศรษฐกิจคืออะไร ถ้าพัฒนาเศรษฐกิจหมายถึงการจับจ่ายใช้สอยเยอะๆ นะ ผมคิดว่าไม่ใช่แล้ว

อีกแนวทางหนึ่งก็คือว่า แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านหมายถึงการมีเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น และพระองค์ท่านจะพูดถึงการเน้นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม พระองค์ท่านได้มอบพระราชดำรัสให้หลายๆ ครั้งในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือในวันปีใหม่ หลายๆ ปี …สิ่งที่พระองค์ท่านเน้น คือ เรื่องคุณธรรม ถ้าเราพัฒนาประเทศไปในเชิงพัฒนาจิตใจคนก่อน เมื่อมีคุณธรรมแล้ว เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตต่อ ก็เป็นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของคุณธรรม ย่อมจะยั่งยืนมากกว่า

ผมเกรงว่าเศรษฐกิจของเราที่กำลังโตทุกวันนี้ โตโดยไร้ฐานคุณธรรม ถ้าโตไร้ฐานคุณธรรม มันล่มสลายได้ตลอดเวลา อย่างเช่น คุณธรรมต้องรู้จักคำว่าสันโดษ ถ้าคนไทยรู้จักคำว่าสันโดษ รู้จักคำว่าพอเพียง รู้จักคำว่ามีเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น รู้จักคำว่าอดออม
เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็ผิดไปหมดเลย และถ้าเราเริ่มว่า เศรษฐกิจเราจำเป็นต้องอยู่ในเศรษฐกิจโลกนะ แต่เราไม่จำเป็น ที่จะต้องลอยล่องไปตามกระแสโลกซึ่งไปเร็วขนาดนั้น เราชะลอสักนิดนึง ไม่เสียหาย

เมืองไทยรายสัปดาห์

25 มิถุนายน 2548

“…ผมไปค้นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2540 พระองค์ท่านพูดถึงว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นเพราะว่าพวกเราไม่รู้จักคำว่าพอเพียง คำว่าพอเพียงของท่าน หมายความว่า ถ้าเราจำเป็นจะต้องเข้าสู่กระแสโลกานุวัตร เราจะต้องรู้จักตัวเราเองให้ดี พอว่าเราเข้มแข็ง แล้วเราต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้ได้ ให้มีงานทำ มีรายได้ ก็สามารถจะฝ่าวิกฤตการณ์ได้

พอมาถึงวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2541 พระองค์ท่านมาอธิบายความให้เข้าใจอีกทีนึงว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านพูดในปีก่อนนั้น คือปี 2540 นั้น ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดก็ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำบ้างบางส่วนก็ได้

พระองค์ท่านบอกว่า คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งที่กว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือว่า ในพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2541 นั้นพระองค์ท่านได้ขยายความให้รัฐบาลให้ประชาชนได้เข้าใจ ว่า คนเรานั้นถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย

ถ้าทุกประเทศมีความคิดทำอะไรต้องพอเพียง ไม่สุดโต่ง ไม่โลภ คนเราก็อยู่เป็นสุข และพระองค์ก็ตรัสต่อว่า… พอเพียงนี้อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง นัยของพระองค์ท่านลึกซึ้งจริงๆ อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น หมายความว่า คุณอยากจะซื้อรถเบนซ์สักคันนึง หรือว่าประมูลป้ายทะเบียนรถยนต์ราคาสัก 15 ล้าน 9 ล้าน คุณทำได้ แต่ต้องแน่ใจนะว่าเงินที่คุณเอาไปประมูล หรือซื้อรถราคาสิบๆ ล้านนั้น คุณไม่ได้เบียดเบียนฉ้อราษฎรบังหลวงเอามา

นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังสอนต่อว่า คำว่าพอเพียงพระองค์ท่านนั้นมีความหมายกว้างเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ แต่ยังรวมถึง ความคิด …ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่งและต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกก็ไม่สมควรทำ

ในความคิดพระองค์ท่านเป็นคนซึ่งประเสริฐเลิศล้ำมากในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ความพอเพียงในความคิด ก็คือ แสดงความคิดของตัวแล้ว ก็ควรปล่อยให้คนอื่นพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ฉะนั้นความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอ ประมาณและความมีเหตุผล ลึกซึ้งมาก…

…เศรษฐกิจพอเพียงนั้น ความพอเพียงพระองค์ท่านต้องเริ่มด้วยการคอรัปชั่นพอเพียงก่อน ไม่โลภมากไปกว่านี้ เอาล่ะไหนๆ ก็ได้โกงมาแล้วบ้างเล็กๆ น้อยๆ น่าจะพอแล้ว ทุกวันนี้เมื่อคอรัปชั่นไม่พอ คือคอรัปชั่นก็ผิดอยู่แล้ว คอร์รัปชั่นแค่บาทเดียวก็ผิด แต่เอาล่ะไม่เป็นไรถ้าจะถือว่า เป็นค่าคอมมิชชั่นเล็กๆ น้อยๆ ค่าน้ำร้อน น้ำชา ไม่เป็นไร ให้พออยู่ตรงนี้…

…คำว่าพอเพียงที่พระองค์ท่านพยายามจะพูด นัยที่ลึกซึ้งที่สุด ก็คือคำว่า พอมีพอกิน แต่คนไปตีความหมายว่า ต้องถอยหลังไปใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ตัวนึง รองเท้าก็ไม่ยอมซื้อใส่ใหม่…ไม่ใช่

นัยของพระองค์ท่านมีอยู่ 2 นัย นัยแรก คือ ความสันโดษ ก็คือว่า มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้นมันก็แปลลงไปถึงระดับรากหญ้าได้ คือ ถ้ามีเงินเดือนอยู่เดือนละ 8,000 บาท ก็ใช้ให้อยู่ในวงเงิน 8,000 ไม่ใช่เที่ยวไปกู้หนี้ยืมสิน หรือไม่ใช่ว่ารัฐบาลอยู่เอาเงินไปให้เขาเป็นเงินกองทุนหมู่บ้าน แล้วทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นเงินไปแจกฟรี คนที่ได้เงินกองทุนหมู่บ้านคิดอะไรไม่ออกก็เอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ เอาเงินนั้นไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ตรงนี้ต่างหากที่ไม่พอเพียง

หรือว่าคนทำงานในเมืองหลวงมีเงินเดือน เรียนจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 8-9 พันบาท เรื่องอะไรจะต้องไปดิ้นรนซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เข้ามาใช้ทั้งๆ ที่ของเก่ามีใช้อยู่แล้ว ก็คือว่า มีแค่ไหนใช้แค่นั้น ให้รู้จักพอเพียงว่าการใช้โทรศัพท์นั้น เราใช้เพื่อติดต่องาน เราใช้เพื่อตรวจสอบว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่สบายดีมั้ย ดูว่าน้องกลับบ้านรึยัง ไม่ใช่เราใช้เพื่อจะแชตตลอดเวลานะฮะ พอสิ้นเดือนทีก็ไปจ่ายค่าโทรศัพท์ 2,000 บาท 3,000 บาท

…เศรษฐกิจไทยนั้นจะต้องเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมาด้วยความมั่นคง ไม่ได้สร้างมาด้วยการ
บริโภค ทุกวันนี้เศรษฐกิจของเราเป็นเศรษฐกิจกิเลสนิยม คือเราไปเร่งสร้างกิเลสให้คนไปจับจ่ายใช้สอย ไปเปลี่ยนรถคันใหม่ ไปซื้อโทรศัพท์มือถืออันใหม่ขึ้นมา ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ใช้เงินทองในเรื่องที่ไร้สาระมากที่สุด

สมมุติว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเดือนอยู่ประมาณสัก 20,000 บาท ยังไม่มีบ้าน อยากจะมีบ้านกับเขาสัก 1 หลัง ถามว่า ผิดมั้ยถ้าหากว่าดิฉันอยากจะมีบ้านสักหลังนึงราคา 4 ล้านบาท ต้องไปกู้แบงก์มาเพื่อที่จะมาผ่อนส่ง ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านที่มีราคาถึง 4 ล้าน…

ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลับไปในยุคโบราณที่ไม่มีการค้า พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้สอนว่า ไม่ให้คนทำมาหากิน หรือไม่ให้คนเป็นคหบดี เป็นเศรษฐี แต่ว่าเมื่อเป็นแล้ว ต้องรู้ว่าขั้นตอนของการมาเป็นเศรษฐีนั้นต้องไม่โกงคนจน ต้องไม่รังแกเกษตรกรเพียงเพื่อตัวเองร่ำรวยขึ้นมาแล้วทำให้เกษตรกรจน ให้ความเอื้ออาทรกับคนซึ่งเราค้าขายด้วย เมื่อมีกำไรเข้ามาแล้วก็ต้องรู้จักแบ่งปันกำไรตรงนั้นคืนให้กับสังคม นัยที่แท้จริงอยู่ตรงนี้ ซึ่งตรงนี้คือธรรมขั้นสูง ซึ่งสังคมไทยไม่มี