โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ถอดรหัสทิศเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง จะขัดต่อระบบเศรษฐกิจเสรี และกลไกการตลาดหรือไม่ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ในฐานะคีย์แมนหลักด้านเศรษฐกิจ นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวใจของภาคการผลิตของประเทศ ในรัฐบาลเฉพาะกิจของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ฟันธงชัดเจนว่าไม่ขัด แต่ประเทศไทยต้องขอเวลาประชาคมโลกในการสำรวจตัวเอง เป็นเวลาที่ประเทศไทยต้อง ”ปรับทิศ” เพื่ออนาคตการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาทิศที่ประเทศไทยเดินนั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ”ผิดพลาด”

จากนี้ทิศทางที่จะเดินต่อไป ภายใต้นโยบายรัฐบาลในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอย่างไร ฟังคำตอบได้จาก”โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ที่เขาบอกว่าปรัชญานี้ “คงไม่สามารถทำให้เข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ทุกคน แต่เราก็ต้องอธิบาย และช่วยกัน”

“ปรับทิศ” หนีหายนะ

รัฐบาลปัจจุบันมีภารกิจที่ต่างจากรัฐบาลในอดีตอย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นการ”ปรับทิศ” จากการไล่ให้ทันความเจริญเพื่อสู่เป้าหมายตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ด้วยวิธีการยึดระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ มาเป็นการยึดแนวพระราชดำรัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเป้าหมายที่การเติบโตของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

ก่อนเริ่มต้นที่จะอธิบายแนวทางและจุดยืนของรัฐบาลในการบริหารประเทศโดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ”โฆสิต” ย้ำให้ทุกคนอ่าน และทำความเข้าใจพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างละเอียด และจะพบว่าความลึกซึ้งในพระราชดำรัสนั้น ไม่ได้หมายความว่า ”เศรษฐกิจพอเพียง” ปฏิเสธการพัฒนา และการเติบโตของประเทศ แต่การพัฒนาประเทศต้องมีความรู้ และคุณธรรม

บางคนอาจสงสัยว่าแล้วเศรษฐกิจพอเพียงจะปรับใช้กับประชาชนได้อย่างไร “โฆสิต” แนะว่าการปรับใช้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่ควรเหมือนกัน ไม่ใช่สูตรตายตัว การปรับใช้ไม่มีสูตรตายตัวเพื่อตอบสนองโลกาภิวัตน์ หรือโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าจะปรับอย่างไร ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ และคุณธรรม

หากจะถามว่าการยึดหลักนี้ขัดกับบรรยากาศเศรษฐกิจตลาดโลก หรือระบบการค้าเสรีหรือไม่ ซึ่ง ”โฆสิต” บอกว่าอย่างนักเศรษฐศาสตร์ก็มองชัดเจนว่าความจริงพื้นฐานของระบบตลาด การใช้กลไกตลาดมาพัฒนาอย่างน้อยก็ต้องมีคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับอยู่แล้ว

เศรษฐกิจเสรีก็ต้องมีการกำกับ เพราะฉะนั้น ”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ถูกนักเศรษฐศาสตร์ขัดแน่ เพราะถ้าไม่มีคุณธรรมก็มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง เมื่อไม่ขัดกับหลักเศรษฐกิจเสรี เท่ากับส่งเสริมให้กลไกตลาดทำงานดีขึ้น ให้กลไกตลาดไม่บิดเบือน มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมักลืมว่าเมื่อพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีแล้ว นึกถึงเรื่องรายได้ และไม่ต้องมีการกำกับ นี่คือปัญหา ฝรั่งเรียกว่า Governance ต่อไปต้องบอกว่าที่มาของรายได้ต้องอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

รังเกียจโตแบบฟองสบู่

คนต่างประเทศอาจฟังแล้วอนุมานเอาเองว่าเป็นการพอเพียง อยู่แต่ข้างในประเทศ ไม่ยุ่งกับเขา แต่หากอ่านพระราชดำรัสอย่างชัดเจนแล้ว จะเห็นถึงเรื่องการต้องก้าวทันโลก โลกาภิวัตน์ และการรองรับความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก ตระหนักว่าข้างนอกเปลี่ยนเราต้องปรับ ถ้าเราไม่ปรับจะไม่มีภูมิคุ้มกัน สังคมก็จะมีปัญหา การก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าเราไม่ทัน เราก็โดนทิ้ง และเช่นกัน การที่ต้องการให้ทัน ต้องใช้ความรู้ และคุณธรรม ตาเราเปิดเต็มที่ ดูว่าข้างนอกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อก้าวให้ทัน

เปรียบเทียบให้เห็นถึงการเติบโตที่ไม่ตรงกับการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเจริญเติบโตที่ไม่อาศัยความรู้ เช่น ลอตเตอรี่ การเติบโตโดยพึ่งคนอื่น ความเจริญเติบโตจำเป็นต้องไม่ใช่แบบฟองสบู่ ซึ่งฝรั่งรู้จักฟองสบู่อย่างดี แต่เศรษฐกิจพอเพียงเรารังเกียจการโตแบบฟองสบู่

หลายคนอาจมองว่านี่คือการเติบโตในระดับน้อย ไม่พุ่งพรวดเหมือนที่ผ่านมาซึ่ง ”โฆสิต” บอกว่ามันเป็นทางเลือกของคนในสังคมที่จะโตแบบเข้มแข็ง ยั่งยืน หรือเร่งโต แต่เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงเราเลือกแล้วว่าเราโตแบบพอเพียง ยั่งยืน และเข้มแข็ง

“โฆสิต” ย้ำกว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำมาขับเคลื่อนประเทศไทยนับจากนี้ ไม่ได้หมายถึงการใช้เฉพาะในภาคเกษตร ชาวไร่ ชาวนา เท่านั้น ยังรวมถึงนักธุรกิจ ข้าราชการ ครอบครัวชุมชน ปรับใช้ตามสถานะที่ไม่เหมือนกัน

Profile

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการคลัง (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ผ่านประสบการณ์การทำงานระดับสากลเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่เวิลด์แบงก์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เคยเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนภาคเอกชนตำแหน่งสุดท้ายคือประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ