“กลุ่มออมทรัพย์"สะสมแบบพอเพียง

ระบบธนาคารพาณิชย์ เป็นระบบที่อยู่ในระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ แต่ว่ายังไม่สามารถตอบสนองปัญหาและพฤติกรรมการทำมาหากินของชาวบ้าน “รากแก้ว” ในชุมชนเล็กๆ เท่าที่ควร

ส่วนระบบกองทุนให้กู้ยืมที่รัฐบาลก่อนทำไว้ ก็เป็นแหล่งทุนจากทางการที่ปล่อยกู้เน้นปริมาณตามเป้าให้ปล่อยไปมากๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลดังที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เล่าที่ได้พบมาจากชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงว่า เดิมที่ชาวบ้านเหล่านี้พึ่งตนเองได้ อยู่ได้ตามอัตภาพด้วยความสุขแบบเดิม แต่เมื่อมีกองทุนหมู่บ้านที่ไม่คัดกรองการปล่อยกู้ ก็มีชาวบ้านจำนวนมากกู้ไปซื้อสินค้าที่ไม่ได้จำเป็นใช้ แล้วก็ไม่สามารถใช้คืนได้ ถูกเร่งรัดก็ไปกู้นอกระบบมาใช้คืน ไปโดนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือนหรือ 240% ต่อปีแทน ถูกทวงหนี้โหด ต้องหลบหนีเข้าป่า ไม่เป็นอันทำมาหากิน ครอบครัวแตกแยก เกิดปัญหาสังคม อาชญากรรม

“กลุ่มออมทรัพย์” เป็นโมเดลที่จะมาช่วยให้ชาวบ้านออมเงินได้อย่างเกิดคุณค่า เงินออมน้อยนิดเท่านี้ของชาวบ้านหากว่าไปฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไปย่อมได้รับกลับมาแค่ดอกเบี้ยตัวเงินเล็กน้อย แต่หากฝากเข้ากลุ่มออมทรัพย์ ผลที่ได้จะไปสร้างงาน สร้างสินค้าอาชีพ ในชุมชน แถมด้วยพัฒนาเด็กๆ ให้ฝึกทำมาหากินและมีกิจกรรมบันเทิงที่สร้างสรรค์

เป็นหนึ่งในโมเดลที่ประยุกต์เอาหลักพอเพียงมาใช้โดยมุ่งไปที่ผลประโยชน์ยั่งยืนส่วนรวม ไม่ใช่การเป็นหนี้เพื่อหาเงินมากๆ ไวๆ มาบริโภคใช้จ่ายเกินตัว

ดังตัวอย่างจากแม่บ้านนักพัฒนาชุมชนอาสาผู้หนึ่งที่ได้เล่าไว้ในงานสมัชชาสุขภาพ วันที่ 27 ตุลาคม ที่เมืองทองธานี

สมบูรณ์เป็นผู้คิดและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เริ่มจากการรวมสมาชิกในชุมชนได้ 27 คน เก็บเงินฝากเดือนละ 1 ร้อยบาทต่อเดือน ผ่านไปครึ่งปีได้ถึง 3 หมื่นกว่าบาท จึงเริ่มปล่อยกู้ให้คนที่ต้องการกู้ไปทำทุนค้าขาย ดอกผลที่ได้กลับมาร้อยละ 5 ก็เข้าสหกรณ์เองและส่งกลับไปสู่ชุมชนโดยนำไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์มาให้เด็กวัยรุ่นฝึกทำสบู่การบูรขายให้คนในหมู่บ้าน และยังจัดกิจกรรมกีฬาและร้องเพลงให้เด็กวัยรุ่นชายหญิงมีกิจกรรมทำไม่ไปมั่วสุมเสพยาหรืออบายมุข

นอกจากนี้ยังมีระบบสินค้าแลกสินค้า มีที่นัดพบให้ชาวบ้านเอาของกินของใช้ที่ทำผลิตเกินจากที่ต้องการมาตกลงแลกเปลี่ยนกันตามความพอใจ ทำให้ไม่ต้องใช้เงินก็มีของกินของใช้เพิ่มได้

ครอบครัวของสมบูรณ์สอนศาสนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาถึงตัวเอง และล่าสุดลูกๆ โตกันหมด ดูแลตัวเองได้ จึงไปทุ่มเททำสหกรณ์ชุมชนให้สมาชิกพึ่งพากันเอง และผลที่งอกเงยขึ้นมาก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ในชุมชนเอง สมาชิกก็มีทุนไปค้าขายยังชีพ ลูกหลานก็ได้ทำกิจกรรมที่ดี

และเมื่อเงินเป็นของชาวบ้านกันเอง การนำไปใช้ย่อมรู้คุณค่า และอยู่ในสายตาของชาวบ้านด้วยกันเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้คงยากจะเห็นหากทุนทั้งหมดของชุมชนไปเข้าสู่ระบบธนาคารใหญ่ในกระแสหลัก ที่จะทำให้ทุนเล็กๆ เหล่านี้ไปเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของธนาคารใหญ่ๆ แลกกับผลตอบแทนตัวเงินที่คืนมาเล็กน้อย และยังขาดแคลนโอกาสในการไปขอกู้เช่นเดิม