“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยตอกย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่อยู่ในกระแสเสรีนิยม ทุนนิยม หรือบริโภคนิยม ที่ชัดเจนในการแสวงหาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง ความร่ำรวยจากการลงทุน กระตุ้นการบริโภคและกิเลส หล่อเลี้ยงระบบทุนนิยม

ประเทศไทยเองก็พัฒนาตามแบบทุนนิยมเช่นกัน ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก เมื่อปี 2505 เศรษฐกิจเติบโตมาต่อเนื่อง จนกระทั่งมาจุดหนึ่งที่เกิดวิกฤตต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือโตแล้วแตก

“ที่ผ่านมาประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงฐานรากของประเทศ ซึ่งมีฐานในภาคการเกษตร แต่กลับมุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความต้องการปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.เงิน ซึ่งประเทศไทยอาจมีไม่พอก็ไปกู้มาเพิ่ม 2.เทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยสร้างอะไรขึ้นมาเองก็จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ และ 3.คน ซึ่งมาตรฐานการศึกษาของไทยต่ำลง มหาวิทยาลัยมากขึ้นแต่คุณภาพลดลง แต่ถ้าคนที่รู้ด้านการในประเทศไม่มีก็ไม่เป็นไรอีกก็จ้างต่างชาติเข้ามา

จะเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยตั้งอยู่บนฐานของคนอื่นทั้งสิ้น และเมื่อมีการก็ย้ายฐานการลงทุนออกไป เศรษฐกิจก็ล้มในที่สุด

สถานการณ์นี้เป็นวัฏจักรของการพัฒนาเหมือนกับวัฏจักรเชิงพุทธ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยึดหลักการพอดีตั้งแต่แรก โดยให้มีการพัฒนาไปตามขั้นตอน เป็นระยะๆ

ดร.สุเมธย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เศรษฐกิจสำหรับคนยากคนจน พระองค์ท่านรับสั่งว่า …ให้ร่ำรวย แต่ร่ำรวยแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ ต้องยั่งยืน และต้องกระจายอย่างทั่วถึง

พระองค์ท่านรับสั่งให้คำไว้สามคำเป็นหลักสามประการ เพื่อใช้เป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศ และจะนำไปใช้ในการบริหารงานในองค์กรต่างๆ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ให้ใช้เหตุผลอย่าใช้กิเลสตัณหาเป็นเครื่องนำทาง อย่าเอาแต่กระแส ต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเลือกหนทางว่าประเทศไทยต้องการจะพัฒนาไปทางไหนไม่จำเป็นต้องตามกระแสของโลก

ประการที่สอง ทำอะไรพอประมาณ การพอประมาณคือตรวจสอบศักยภาพของตนเองก่อน ฐานของตนเองอยู่ตรงไหน การจะพัฒนาอะไรต้องดูจากศักยภาพที่มีความเข้มแข็งก่อน

ประการที่สาม ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกันตลอดเวลา เพราะไม่รู้พรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนพัฒนาทำได้ยาก มีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีวิสัยทัศน์ ตัวอย่างเช่น เรื่องราคาน้ำมันต้องมองในอนาคต ถ้านำไบโอดีเซลมาใช้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันได้หรือไม่ เป็นต้น

นอกจากสามคำนี้พระองค์ท่านทรงให้มีฐานรองรับที่สำคัญอีกคำหนึ่งคือ คนต้องดีด้วย ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม มีธรรมาภิบาล พระองค์ท่านทรงวางหลักการไว้ดีมาก แต่ปัญหาเกิดจากยังไม่มีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจกัน

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคำบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Profile

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ที่ จ.เพชรบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมและอนุปริญญา ที่ประเทศเวียดนามและประเทศลาว ปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาโท-เอกทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองเปลิเอ ประเทศฝรั่งเศส เริ่มทำงานที่สภาพัฒน์ตั้งแต่ปี 2512 ได้เป็นเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒน์ ตั้งแต่ปี 2537-2539 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิชัย พัฒนา และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ยังนับเป็นผู้ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งออกหนังสือที่ทรงคุณค่าเรื่องใต้เบื้องพระยุคลบาท และหลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท