ถอดรหัสชีวิต Young Executives สู่ความ “เพียงพอ”

เปิดวิธีคิด และหลักคิดในการนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการทำงานผ่าน Young Executives พวกเขาและเธอเหล่านี้ ล้วนแต่มีมุมมองในการนำหลักความ “พอเพียง” ไปใช้ ในการดำเนินธุรกิจ และการดำรงชีวิต ได้อย่างน่าสนใจ

คมกฤษ ตรีวิมล
ผู้กำกับภาพยนตร์

“มีเท่าไร ใช้เท่านั้น สุขได้จากภายใน”

ผู้กำกับหนุ่มชื่อดังในเสื้อยืดสบายๆ กับยีนส์ตัวเก่า เสร็จจากผัดกะเพราข้าวห่อมื้อเย็นในออฟฟิศ ก็มาบอกเล่าถึงความศรัทธาในหลักพอเพียง ว่า…

“มีเท่าไร ใช้เท่านั้น สุขได้จากภายใน ผมค่อนข้างยึดหลักนี้ในการใช้ชีวิต และทำงานสมัยที่ผมเงินน้อย ยังทำฟรีแลนซ์อยู่ ก่อนหนังแฟนฉันจะออก ผมก็นั่งรถเมล์ตลอด มีเงินพอจะดาวน์รถผ่อนรถได้ก็ไม่ผ่อน ไม่สร้างภาระ

พอหนังแฟนฉันออกฉาย ผมมีตังค์ขึ้น ก็ไปซื้อรถฮอนด้าซีวิครุ่นเก่ามาขับ ซื้อเงินสดเลย ไม่ต้องรถใหม่หรูอะไร เป็นรุ่นเดียวกับที่พ่อผมใช้อยู่เลย คุ้นเคยกันดี สำหรับผม รถยนต์แค่ขับได้ ไม่เสีย แอร์เย็น วิทยุดัง พอแล้ว พ่อแม่ผมสอนมานานแล้วว่า คนเรา ‘ไม่เป็นหนี้ ก็รวยแล้ว’ หลักนี้ลดความเครียดได้ ทำให้มีความสุข

ความสุขที่สำคัญกว่า คือการได้อยู่กับคนที่เรารัก ก็คือครอบครัว เป็นความสุขจากภายใน”

ปกป้อง จันวิทย์
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรณาธิการเว็บ Open Online (onopen.com)
คอลัมนิสต์ประชาชาติธุรกิจ และเจ้าของงานเขียน “คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ”

“ใช้ในการสร้างความสมดุลในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หรือชีวิตของสังคมเศรษฐกิจไทย”

อาจารย์หนุ่มผู้แต่งตัวเรียบง่าย สมถะ ที่ไม่สนใจเรื่องแบรนด์เนมในการเลือกซื้อสินค้า ไม่มีบัตรเครดิต ได้ให้คำอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับบุคคล ประเทศ และระหว่างประเทศที่โยงกับบทเรียนวิกฤตประเทศไทยช่วงปี 2540 ว่า…

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ในการสร้างความสมดุลในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หรือชีวิตของสังคมเศรษฐกิจไทย

เป็นปรัชญาที่เตือนสติให้มีความพอดี มีการวางแผนใช้ทรัพยากร กระจายความเสี่ยง มีวินัย เช่น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ให้ประเทศมีวินัยการเงินการคลัง ลงทุนในโครงการที่คุ้มค่าและคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม

หากโยงเข้าเรื่องการเงินระหว่างประเทศ เศรษฐกิจไทยควรพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพราะทุนต่างชาติระยะสั้นสร้างความผันผวนแก่เศรษฐกิจ หากเราหวังพึ่งพิงเงินทุนเหล่านั้นมากไปอาจกระทบเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ จึงควรมีมาตรการส่งเสริมทุนระยะยาว และเพิ่มต้นทุนกีดกันทุนระยะสั้นเช่นพวก hedge fund มาเก็งกำไร จึงต้องสร้างมาตรการคัดกรองทุนที่มีคุณภาพ

เศรษฐกิจควรเติบโตบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน มีความมั่นคงบนลำแข้งของตัวเองระดับหนึ่ง”

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด

“ธุรกิจรถหรู ต้องรู้จักคำว่า สมถะ บ้างไม่ควรฟุ้งเฟ้อจัดอีเวนต์โอ้อวดกันเกินไป”

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำรงชีวิตที่รู้จักคำว่า “พอ” ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำอะไรที่ไม่เกินความสามารถ เหมือนซื้อรถก็ควรมีตามกำลัง และความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ซื้อมาเพื่อโอ้อวดฐานะ

สังคมไทยควรยึดหลัก “ความพอเพียง” มาใช้อย่างจริงจัง นักธุรกิจก็เช่นกันปรับใช้ได้หมด อย่าง ธุรกิจรถหรูๆ วันนี้ควรยึดหลักความ “สมถะ” บ้าง ต้องไม่บ้า ฟุ้งเฟ้อที่จะจัดอีเวนต์แบบโอ้อวดกันเกินไป หลักการตลาดวันนี้ ต้องเข้าใจตลาดเมืองไทยจริงๆ ว่า เราเข้าถึงผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายได้แค่ไหน อย่าคำนึงถึงอีเวนต์โก้หรูเกินไป การหากำไรวันนี้ของนักธุรกิจไม่ใช่อินฟีนิตี้ ไม่ใช่ทำทุกอย่างที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ลดต้นทุนแต่ปรับราคาเพิ่ม เช่นนั้นสังคมไทยจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

ศุภกรณ์ เวชชาชีวะ
รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
บริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าไม่โต ไม่ได้หมายความว่า Anti Business แต่หมายถึงโตได้ในสิ่งที่ทำได้”

“จริงๆ พระราชดำรัส ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง พอแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วทุกคนใช้คำว่า Self – Sufficiency เท่ากับเศรษฐกิจเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าอยู่เพียงเท่านั้น แต่เท่าที่ผมฟังเข้าใจคือ Sustainable Growth เป็นเศรษฐกิจเติบโตได้เองจริงๆ ไม่ได้โตด้วยหลอกตัวเอง ทำอะไรที่ทำได้ในขอบเขต ถ้าพูดถึงบ้านเอื้ออาทร หวย ก็อาจไม่ได้ อาจเป็นการเติบโตโดยไม่ใช้ของจริง แค่ตัวเลข

มองในแง่เศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจโต ปล่อยกู้อะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น โตได้ทั้งนั้น แต่ที่ท่านหมายถึงการโตในสภาพที่เราควรเป็น ทำได้ ไม่ใช่เอาตัวเลขมาอย่างเดียว เหมือนโฆษณา ทำตัวเลขให้โต ก็ทำได้ แต่ว่าได้กำไรหรือเปล่า ให้ทุกคนกู้เงินไปซื้อของหมดก็ทำได้ แต่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าไม่โต ไม่ได้หมายความว่า Anti Business แต่หมายถึงโตได้ในสิ่งที่ทำได้

หากถามว่าปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวหรือไม่ ศุภกรณ์บอกว่าก็ปกติไม่ได้ฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว พอเพียงอยู่แล้ว ไม่ได้ทำอะไรเกินตัว ส่วนการทำธุรกิจก็มีผลในการทำธุรกิจที่ต้องคิดว่าเราทำอะไรตามที่เราทำได้ อย่างถ้าทุ่มเงินโฆษณาเยอะ ได้ผู้อ่านเยอะ ก็จริง ก็อาจเกินตัว และปีนี้ทุ่ม ปีหน้าปีต่อไป อาจทุ่มไม่ได้ เราควรให้โตตามที่ได้กำไรที่คุ้ม”

อุณา ตัน
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด

“เราก็ต้องมาดูว่ารายได้ที่เรามี กับสิ่งที่เราต้องการคืออะไร”

“ตอนแรกไม่เข้าใจ หลังจากไปอ่านไปฟัง ไปฟังดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านบอกว่าพอเพียงคืออะไร กับเพียงพอคืออะไร ท่านบอกว่าพอเพียงคือว่ามีของเท่านี้เราใช้ให้พอ สมมติเรามีข้าว 1 จานเท่านี้ เรากินเท่านี้ แต่ถ้าเราทำให้เพียงพอ สมมติในบ้านมีคนอยู่ 5 คน มีข้าวอยู่ 1 ถัง ถ้าเรากินข้าว 1 ถังให้พอ คือพอเพียง แต่ถ้าในบ้านมี 5 คน แต่คนต้องการกินมากขึ้น เราก็ต้องไปหาของมาทำให้เราเพียงพอ

ง่ายๆ อย่างรถ ตอนเด็กๆ เราอยากได้รถโน่นนี่ ตอนนี้เราก็ต้องมาดูว่ารายได้ที่เรามี กับสิ่งที่เราต้องการคืออะไร เราก็ต้องการรถเพื่อการเดินทาง กับที่เราจ่ายได้เท่านี้ ก็พอเพียง แต่ถ้าเราบอกว่าเงินเราได้เท่านี้ และรถนอกจากเป็นการเดินทาง ยังเป็นการเพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพ เราก็ต้องทำให้เพียงพอ เพราะเราต้องไปหาเงินมาให้เพียงพอกับรถ เหมือนกันเสื้อผ้าก็เหมือนกัน ก็อาจส่วนหนึ่ง เพราะหน้าที่การงานก็ต้องบอกถึงบุคลิกภาพของเรา แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ใช่ว่าเราต้องทำให้ตัวเองไปหาเงินเพื่อให้เพียงพอกับการไปหาซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆ

ถามว่ากระแสเยอะๆ มาอย่างนี้ คิดว่าหลายคนคงมองอะไรมากขึ้น”

จันทร์วิภา พิพัฒนกุล
Marketing Director – อาหาร
บริษัท เป๊ปซี่-โค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

“การทานขนมซองละไม่กี่บาทก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ”

“ชอบแนวคิดนี้ เริ่มพยายาม Apply กับตัวเอง อะไรที่มันเกินความต้องการก็ยุ่งยาก เหมือนเรามีเสื้อผ้าเยอะเต็มตู้ไปหมด ก็เหนื่อย ลำบากตัวเองที่จะต้องมาเลือกมาหาว่าจะใส่ตัวไหนดี เพราะมีเยอะจนเลือกไม่ถูก ไม่เหมือนสมัยเรียนเมืองนอก ทำไมเรามีรองเท้าแค่ 3 คู่ ก็อยู่ได้”

“ทุกวันนี้ช้อปปิ้งน้อยลง จากแต่ก่อนช้อปปิ้งบ่อยและถี่มาก เพราะมองว่าการช้อปปิ้งคือการคลายเครียด แต่ตอนนี้มองว่าการที่เราใช้เวลากับข้าวของมากๆ มันไม่ใช่แล้ว เพราะอาจทำให้ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้”

“หากนำหลักเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในแง่ของมาร์เก็ตติ้งกับงานที่ทำ ก็มองว่ามาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องความต้องการของคน เราตอบสนองการใช้ชีวิตของเขา เศรษฐกิจแบบนี้ การทานขนมซองละไม่กี่บาทก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ”

ตือ – สมบัษร ถิระสาโรช
เจ้าของบริษัท ตือ จำกัด

“พอเพียงทำได้ แต่อย่าทำจนเครียด เกินสมดุลกับชีวิตของเรา”

เป็นเรื่องที่ดีในการนำมาปรับใช้กับชีวิต และการทำงาน แต่ต้องระวังว่าหากนำความพอเพียง มาใช้จนเครียดเกินไป ไม่เป็นตัวของตัวเอง ก็ไม่ควรทำขนาดนั้น ความพอเพียงต้องสมดุลกับชีวิตของตัวเอง ให้เกิดการหมุนเวียนที่เหมาะสม

อย่าง การบริหารงานบริษัท ถ้าใช้หลักพอเพียง ต้องไม่เร่งขยายองค์กรให้ใหญ่เกินไป บริหารทรัพยากรให้ดีที่สุดก่อน และต้องทำให้ทุกคนในองค์กรมีความสุขกับงานในวันนี้ให้ได้ก่อน อย่าพยายามคาดหวังอะไรยาวไกล ต้องทำในระยะสั้นให้ได้ก่อน และเชื่อว่าถ้าทำแบบนี้ได้บริษัทจะก้าวหน้าไปเอง

ส่วนการจัดงานหรืออีเวนต์ บริษัทที่ทำด้านนี้อาจไม่กระทบมากนัก เพราะเป็นแผนหรืองบโฆษณาทางการตลาดที่ลูกค้าตั้งงบมาให้ ในฐานะผู้จัดงานก็จะทำตามงบ ถ้าจะกระทบบ้างคือ การตัดงบโฆษณาลง แต่ถือว่ามีน้อยมาก

พ.ญ.นลินี ไพบูลย์
ประธานกรรมการ บริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด

“งบโฆษณาปีนี้จะใช้จากเงินที่เหลือจากปีที่แล้ว ถ้าหากปีใดไม่มีเงินก็จะไม่โฆษณามาก”

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การทำมาหากินแบบสัมมาอาชีวะอย่างดีที่สุด มีการวางแผน ตั้งเป้าหมาย และขยันขันแข็ง มีการใช้เงินอย่างประมาณตน สมเหตุสมผล และต้องรู้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์ใด อีกทั้งอย่าเอาตัวเองและครอบครัวไปอยู่ในความเสี่ยงที่เรารับมือไม่ได้ เพราะตอนนี้ปัญหาคนไทย คือ การใช้เงินเกินตัว ไปกู้เงินนอกระบบและไม่มีปัญญาใช้คืน

ในการนำแนวคิดมาปรับใช้กับแบรนด์กิฟฟารีน ใช้มาตลอดตั้งแต่ทำธุรกิจกิฟฟารีนโดยเฉพาะการลงทุนเน้นใช้เงินสด โดยที่ผ่านมาการสร้างโรงงานลงทุนด้วยเงินสด เพราะไม่อยากเป็นหนี้ มันอาจเป็นแนวคิดไม่ก้าวหน้า เพราะไม่ใช้เงินกู้แบงก์ แต่ก็คิดว่าไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนหากเกิดอะไรขึ้น

และนับจากนี้ไปจะใช้เงินสด (Cash) หมายความว่า ใช้เงินเท่าที่เรามี ตัวอย่างเช่น งบโฆษณาปีนี้จะใช้จากเงินที่เหลือจากปีที่แล้ว ถ้าหากปีใดไม่มีเงินก็จะไม่โฆษณามาก หรือไม่ลงทุนมาก แต่มองว่า หากอนาคตเกิดอะไรขึ้นใครจะมาช่วยเหลือก็ยังบอกกับสมาชิกกิฟฟารีน อีกทั้งยังเตือนสมาชิกกิฟฟารีนในเรื่องการกู้เงินและใช้คืนดอกเบี้ยนอกระบบ

จิตต์สิงห์ สมบุญ
ดีไซเนอร์ จาก เกรย์ฮาว

“ไม่ได้หมายถึง เปลี่ยนจากหยิบแบงก์พันมาเป็นแบงก์ยี่สิบ แต่รู้จักที่จะใช้แบงก์พันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร”

“ไม่ได้หมายถึงว่า ต้องจน…ไม่ต้องซื้ออะไรเลย บางคนบอกว่าต้องตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมลงทุน ไม่ยอมให้เงินขอทาน ผมว่าจะน่าจะหมายถึงว่า คุณมีเท่าไหร่ ใช้ให้พอกับที่ตัวเองมี คุณควรรู้จักพอมากกว่า ไม่ใช่เศรษฐกิจตระหนี่ถี่เหนียว

แต่ถ้ามีเยอะ และการใช้ของคุณไม่ได้เบียดเบียนใคร หรือทำให้ใครหมั่นไส้ ก็ใช้ได้ ..เช่นว่า ถ้าคุณซื้อรถเบนซ์สปอร์ต เพราะคุณรักมัน ไม่ได้ต้องการไปโชว์ใคร มันก็ได้ ถ้าเงินนั้นไม่ได้ไปกระทบใคร…ถ้าห้ามซื้ออะไรเลย กลไกทุกอย่างก็ไม่เดิน

เรื่องการทำงาน ผมเอามาปรับใช้มากเลย… เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายถึงเรื่องการใช้จ่ายอย่างเดียว อย่างออกแบบเสื้อผ้า ก็ต้องมาคิดว่า คนใส่เขาไม่ได้ต้องการขนาดนั้นหรอก แต่เราไปใส่อะไรมากมาย ใส่กระดุม ใส่แบบเข้าไปอีก ปักทับเข้าไปอีก การใส่อะไรมากๆ มันมีผลต่อต้นทุน อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะใช้เงินทุน 500 บาท แต่เวลานี้เราลดลงเหลือแค่ 350 บาท ก็ได้ เราเอง ก็ไม่เหนื่อย คนอื่นก็ไม่เหนื่อย ไม่ต้องทุ่มสุดชีวิต เพราะมีอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่า เวลาพอเพียงมันหมายถึง…หลายพอเพียง จะได้เอาแรงไปทำอย่างอื่นต่อ

จามร จีระแพทย์
Marketing Supervisor
บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น

“หิวเท่านี้ กินเท่านี้ มีเวลา Relax เท่านี้ก็ใช้เท่านี้ อย่าไปโอเวอร์หรือ Spoil มัน”

ในแง่การตลาด ต้องมอง Target, Objective และใช้เงินอย่างเหมาะสม
โดยต้องศึกษาว่า Target ของเราคือใคร และทำให้พอดีกับความต้องการ อย่าไปทำเกินตัว และใช้เงินอย่างประหยัด เพราะในบริษัทแผนกการตลาดใช้เงินมาก ดังนั้นจึงต้องกลับมามองเงินนั้น หากเป็นของเราบ้าง และใช้เงินอย่างคุ้มค่า

ในด้านการใช้ชีวิตก็ใช้อย่างพอเพียงอยู่แล้ว หิวเท่านี้ กินเท่านี้ มีเวลา Relax เท่านี้ก็ใช้เท่านี้ อย่าไปโอเวอร์ Stress หรือ Spoil มัน และเราต้องรู้หน้าที่เรา เพราะคนเราหากรู้หน้าที่และมีสติชีวิตจะมีความสุข ไม่วุ่นวาย ขณะเดียวกันชีวิตมีแบบแผน แต่ก็ทำมันในอยู่ในกรอบที่วางไว้

ภัทรียา ณ นคร
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และฝ่ายจัดซื้อแบรนด์ Gucci

“เศรษฐกิจพอเพียง เสมือนการปลูกต้นไม้ เริ่มตั้งแต่หว่านพืช ค่อยๆ ฟูมฟัก ดูแลเอาใจใส่ ใช้พลังกาย พลังใจ จนได้ดอกผลให้เก็บเกี่ยว เป็นการลงทุนเพื่อผลระยะยาว ไม่ใช่การเก็งกำไรหวังผลระยะสั้น ใช้การหมุนเงินเพื่อให้ได้กำไรจำนวนมหาศาล หรือขาดทุนมหาศาล ซึ่งอาจเป็นอะไรที่เกินความจำเป็น”

จากมุมมองดังกล่าวของเธอ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอไม่นิยมเล่นหุ้นเก็งกำไร ซึ่งเธอมองว่าเสี่ยงเกินไป

นอกจากนี้ พายยังยกตัวอย่างธุรกิจ Tanning spa ที่เธอกำลังวางแผนร่วมหุ้นกับเพื่อนและกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ว่า เธอตั้งใจอยากให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ แต่ในขั้นเริ่มต้น เมื่อทุนระหว่างเธอกับเพื่อนยังมีไม่มากพอ เธอจึงสั่งนำเข้าเครื่องมาเพียงไม่กี่เครื่อง และจะเริ่มขยาย เมื่อธุรกิจเริ่มนำกำไรมาให้ โดยตั้งใจจะใช้ผลกำไรเพียงส่วนหนึ่งเพื่อนำไปลงทุนต่อ ภายใต้เงื่อนไขว่า กิจการไปได้ด้วยดี เท่านั้น ไม่ใช่ทำใหญ่โตไปเพื่อเอาหน้า หรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาต่อเติมกิจการ ก็จะกลายเป็นหนี้สินพอกหนี้สินไปกันใหญ่

สุดท้าย สำหรับการดำเนินชีวิตของเธอเอง เธอบอกว่า ทุกวันนี้ เธอจะกันรายได้ส่วนหนึ่งของเธอเป็นเงินออม และใช้จ่ายส่วนที่เหลือไม่ให้เกินไปกว่าขอบเขตที่ตั้งไว้

เสริมคุณ คุณาวงศ์
เจ้าของ บริษัทซีเอ็ม ออกาไนเซอร์ (มหาชน) จำกัด

“การพอเพียง คือ การพอประมาณเหมาะแก่กาลและโอกาส หรือการเดินสายกลางของพระพุทธเจ้า”

อีกมุมหนึ่ง ในเชิงลึกเป็นการปรับปรุงจิตใจของตัวเองที่เราต้องมีความอิ่ม สุขสงบในตัวเหมือนพอเพียง มนุษย์เราอยากไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรก็ไม่พอ จะเพียงพอหรือเปล่ามันอยู่ที่ภายใน เราต้องรู้และเข้าใจจิตใจ เพื่อทำความพอเพียงในจิตใจ ก่อนเราจึงเดินทางสายกลาง เพราะคำว่าเดินสายกลางจริงๆ มันไม่มี เพราะมันเป็น Idealistic

ดังนั้นการเดินสายกลาง จึงไปเกี่ยวข้องบุคคล สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การเดินสายกลางของคนมีฐานะดีมาก มีเงินพันล้านก็ใช้เงินวันละ 500, 1000, หรือบางวัน 10,000 บาท เรียกว่าMinimize เป็นการพอเพียงมาก แต่คุณใช้อย่างนั้นไม่ได้กับคนเงินเดือน 8 พันบาท ดังนั้นความพอเพียงมันไปสัมพันธ์กับบุคคลและสถานที่ และกาลเทศะ และมันไม่มีจุดเอกภาพ แต่มีจุดร่วมกันที่จริงใจ

อย่างไรก็ตาม ในแง่การนำมาใช้ลงทุน อาจนำมาใช้ค่อนข้างลำบาก เพราะการลงทุนต้องการความไว แม่นยำ จะ Minimize ค่อนข้างน้อย