รัฐบาล “สุรยุทธ์” ยึดหลัก “พอเพียง” ขับเคลื่อนประเทศ

นับเป็นนโยบายที่แตกต่างสุดขั้วระหว่างนโยบายรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งเน้นการเติบโตของตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จนทำให้ประเทศต้องประสบกับวิกฤต ในขณะที่รัฐบาลในยุคของ “สุรยุทธ์ จุลานนท์” ได้หันมาประกาศยึดนำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งในภาคเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เริ่มจากกรอบใหญ่ของประเทศเรื่อง ”เศรษฐกิจพอเพียง” ถูกบรรจุอยู่ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 อย่างชัดเจน ทั้งเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติ ที่ไม่บิดเบือน ต่างจากแผน 9 ที่แม้จะอัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจมาร่างแผน แต่ก็ใช้แนวทางที่ก้ำกึ่ง เอนเอียงไปในแนวทางเติบโตทางเศรษฐกิจมากจนไม่เกิดความสมดุล (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในตารางเปรียบเทียบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 1-10)

การปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ซึ่งจะเป็นกรอบให้รัฐบาลต้องเดินตามสัญญาที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เขียนไว้ชัดเจนถึงการยึดแนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ตัวอย่างนโยบายรัฐบาลที่ยึดหลัก”พอเพียง”

นโยบายเกี่ยวกับ การปฏิรูปการเมือง การปกครองและบริหาร
เป้าหมาย แก้ไขวิกฤตการเมืองและบริหาร
การดำเนินการ
– ตั้ง ”สภาพัฒนาการเมือง” เพื่อสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง เป็นต้น
-บริหารทรัพยากรบุคคล และจัดองค์กรรัฐสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน สังคมมีความเข้มแข็ง และประชาชนมีความสุขด้วยการดำรงชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นโยบายเกี่ยวกับ นโยบายเศรษฐกิจ
เป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจ 3 ภาคคือเศรษฐกิจรากฐาน, ภาคเศรษฐกิจระบบตลาด และภาคเศรษฐกิจส่วนรวม
การดำเนินการ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงใช้หลักคุณธรรมกำกับตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 3 ภาค

นโยบายเกี่ยวกับ นโยบายสังคม
เป้าหมาย สร้างสังคมเข้มแข็งที่คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุขอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานของคุณธรรม
การดำเนินการ
-ส่งเสริมความมัคคี สรุปบทเรียนจากความแตกแยกในอดีต
-ปฏิรูปการศึกษาเสริมสร้างความตระหนักใน คุณค่าของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รายละเอียดเป้าหมายในแผน 10
พัฒนาคุณภาพคน
– เพิ่มปีการศึกษาเฉลี่ยเป็น 10 ปี
– อายุเฉลี่ยคนไทย 80 ปี
– พัฒนาแรงงานระดับกลาง 60% ของกำลังแรงงานรวม
– ลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคป้องกันได้ 5 อันดับแรก
– รายได้เฉลี่ยแรงงานเพิ่มขึ้น 4.5%
– ลดรายจ่ายสุขภาพ 10%
– สัดส่วนนักวิจัย 10 คน ต่อประชากร 10,000 คน
พัฒนาชุมชน/แก้ปัญหาความยากจน
– ทุกชุมชนมีแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม
– ลดสัดส่วนคนจนเหลือ 4% ภายในปี 2554
– ลดคดีอาชญกรรม 10%
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
– ภาคเศรษฐกิจในประเทศ/ภาคการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 75%
– ความยืดหยุ่นการใช้พลังงานเฉลี่ยไม่เกิน 1:1
– ผลิตภาพการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 3%ต่อปี
– สัดส่วนกลุ่มรายได้สู/รายได้ปานน้อยไม่เกิน 10 เท่า
– อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไม่เกิน 4% ต่อปี
– ผลผลิตเอสเอ็มดีต่อจีดีพี เป็น 40% ในปี 2554
– หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 50%
สร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
– พื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 33% เป็นป่าอนุรักษ์ 18%
– คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– พื้นที่เกษตรในเขตชลประทานไม่น้อยกว่า 31 ล้านไร่
– จัดการของเสียอันตรายจากชุมชนได้ 30%
– คุณภาพแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ไม่น้อยกว่า 85%
ธรรมาภิบาล
– คะแนนภาพลักษณ์ความโปร่งใส 5.0 ในปี 2554
– ธรรมาภิบาลภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น
– ท้องถิ่นมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
– ภาคประชาชนเข้มแข็ง
– ศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม ประชาธิปไตยไม่ต่ำกว่า 20 เรื่องต่อปี