ปี 2007 “อาการของเศรษฐกิจไทย”จะเป็นอย่างไร ชัดเจนว่าปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับ “รัฐบาล” เพียงประการเดียว เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร แต่หาก “ขาดความรอบคอบ” ในการประกาศใช้นโยบาย หรือออกมาตรการใดๆ ย่อมทำให้ “เศรษฐกิจไทย” พังได้เช่นกัน
บทเรียนมีจริง มาจากการแก้ปัญหาเรื่อง “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าจนเกิดเสียงเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ปัญหา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม “การส่งออก” ที่ยิ่งบาทแข็งรายได้ยิ่งลด โดยหากคำนวณตั้งแต่ต้นปี 2006 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 35.10 บาทดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2006 หรือแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 ปี เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 16% หรือเท่ากับว่ารายได้ที่ผู้ส่งออกเคยได้วูบหายไปถึง 16%
ทันทีทันใดก่อนตัวเลขการส่งออกจะวูบไปมากกว่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จึงประกาศมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทในเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2006 ด้วยการให้นักลงทุนต่างประเทศที่นำเงินเข้ามาลงทุนต้องกันสำรองเงินไว้ 30%
มาตรการดี แต่ไม่ได้ผลชะงักทันที แถมยังเป็นยาที่ใครๆ ก็บอกว่าแรงเกินไป เพราะช็อกกันไปตามๆ กันในเช้าวันรุ่งขึ้น 19 ธันวาคม 2006 จากปฏิกิริยาโต้กลับจากนักลงทุนต่างชาติที่เคยขนเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ได้เทขายหุ้นอย่างหนัก เปิดตลาด 5 นาทีแรก ดัชนีตลาดร่วงไปทันทีประมาณ 60 จุด กระทั่งปิดตลาดดัชนีลบที่ 108.41 จุด มูลค่าซื้อขายถึง 72,131.54 ล้านบาท เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทยที่ไม่เคยมีวันไหน แม้จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงดัชนีก็ไม่เคยร่วงเป็นร้อยจุดขนาดนี้
แต่เย็นวันเดียวกันนั้น ทางการไทยก็ยกเลิกมาตรการนี้สำหรับเงินลงทุนที่จะเข้ามาในตลาดหุ้นไทย
การเลิกมาตรการอย่างกลางครันสำหรับตลาดหุ้นนั้นมองได้ 2 แง่คือชัดเจนว่าทางการไทยให้ความสำคัญกับ “ตลาดหุ้น” แต่อีกแง่คือการขาดความรอบคอบในการตัดสินใจ เพราะแม้จะกลับลำทันที ยกเลิกบังคับเงินลงทุนในตลาดหุ้น แต่ราคาหุ้นที่ร่วงทั้งตลาด ทำให้มาร์เก็ตแค็ปของหลักทรัพย์หายไปวันเดียว 8 แสนล้านบาท ยังกลับมาไม่ถึงครึ่ง และที่เสียหายมากกว่านั้นคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ไม่อาจประเมินค่าได้
“มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการให้กันสำรองเงินของนักลงทุนต่างประเทศ 30% คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะกระทบกับตลาดหุ้น แต่ยอมรับว่าไม่คิดว่านักลงทุนต่างชาติจะตื่นตกใจมากขนาดนี้” “ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าการแบงก์ชาติแถลงในแบบที่ชัดเจนว่าเดาใจต่างชาติพลาด แต่ไม่แคร์ เพราะผู้ว่าแบงก์ชาติบอกต่ออีกว่า “คนเจ็บตัวจากการลงทุน คือนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งไม่ควรกังวลแทน เพราะต่างชาติได้ผลประโยชน์ไปมากแล้ว”
ขณะที่ระดับนโยบายอย่างกระทรวงการคลัง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยืนยันว่า 8 แสนล้านบาทนั้นไม่ได้เสียค่าโง่ และยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลเป็นห่วงเรื่องตัวเลขการส่งออก เป็นการเสียหน้าเพื่อชาติ
“ไม่โง่ เพราะถ้าไม่ทำวันนี้คงยุ่งไปแล้ว ค่าเงินบาทคงลดลง 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นก็จะยุ่ง เมื่อเห็นปัญหาแล้วรีบป้องกันดีกว่าให้เกิดปัญหาแล้วมาเสียใจภายหลัง เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นตกมาก ก็รีบทำ ดีกว่าหยิ่งผยอง บอกว่าไม่เป็นไร ยึดไว้เดี๋ยวก็เสียเงินอีกเท่านั้นเอง ทำอะไรให้ประเทศมันได้ดี ตัวเองเสียหน้าบ้างก็ไม่เป็นไร”
กระบวนการตัดสินใจของทางการ ไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 2006 ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่ารัฐบาลยังคงหวังให้ผลงานการบริหารประเทศในรัฐบาลชุดรักษาการชุดนี้มีมาตรวัดที่จีดีพี ซึ่ง “หม่อมอุ๋ย” เองก็ยืนยันว่ามาตรการนี้ช่วยให้บาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกที่มีมูลค่าถึง 60% ของจีดีพี
“เราไม่อยากให้เกิดวิกฤตในภาคส่งออก เพราะการส่งออกหมายถึงเศรษฐกิจทั้งหมด รวมถึงการจ้างงานด้วย”
แต่การหวังพึ่งพิงตัวเลขการส่งออกจะได้ผลหรือไม่ ในเมื่อทางการแคร์ดัชนีตลาดหุ้น ด้วยการยกเลิกการคุมเข้มเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าในตลาดหุ้นทันที ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งมาจากเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าในตลาดหุ้น
ณ ปี 2007 จึงเรียกได้ว่าภาคเศรษฐกิจจริง อย่างผู้ส่งออกยังคงแน่ใจไม่ได้ว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับที่พอใจ เพราะยังคงมีความผันผวน ทำให้ทั้งการนำเข้าและส่งออกไม่สามารถกำหนดต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่แบงก์ชาติเองเรียกร้องให้ผู้ส่งออกลงทุนเพิ่มเติมด้วยการป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์) และพัฒนาผลิตผล เพื่อแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเองก็ทำท่าจะถดถอยลงเรื่อยๆ จนนักเก็งกำไรทั้งหลายทิ้งดอลลาร์เข้าเก็งกำไรในค่าเงินสกุลอื่น
จุดเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2007 จึงต้องตอกย้ำกันว่าต้องเฝ้าระวังค่าเงินบาทชนิดอย่ากะพริบตา
ปัจจัยหนุนให้เงินบาทแข็ง
ปัจจัยนอกประเทศ
– การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ มาจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ชะลอตัว และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ประเทศหลักในเอเชียเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่า
ปัจจัยในประเทศ
– ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
– การค้าระหว่างประเทศของไทยดีกว่าคาดการณ์ขยายตัว เช่นเดียวกับการนำเข้าจากการพลังงาน และวัตถุดิบเติบโตในอัตราเหมาะสมทำให้ดุลบริการ และเงินโอนอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
– เงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งเงินลงทุนบิ๊กล็อต จากการขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2006
– เงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาฯ ที่ลงทุนในโครงการก่อสร้างของต่างชาติ
ผลกระทบจากบาทแข็งค่า
ด้านลบทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง เมื่อรับรายได้จากเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วแปลงเป็นเงินบาท ได้ลดลง เช่น เดิมได้รับ 40 บาทต่อดอลลาร์ช่วงต้นปี 2006 แต่ปลายปี 2006 ได้เพียงประมาณ 36 บาท หากผู้ส่งออกรายหนึ่งมีรายได้ 100,000 ดอลลาร์ ก็จะได้รับเพียง 3.6 ล้านบาท แทนที่จะได้รับ 4 ล้านบาท
ด้านบวกลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร เช่น น้ำมัน ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาท ทำให้ราคาน้ำมันลดลงลิตรละ 40 สตางค์ และยังเอื้อต่อผู้มีภาระหนี้ต่างประเทศ