จับรองเท้าผ้าใบใส่สตอรี่

การที่สินค้าบางรุ่นจะขายได้แพงกว่ากว่ารุ่นอื่นๆ มากนั้น มักพบว่าต้องมีแรงขับบางอย่างเช่น มีเรื่องราว (Story), มีจำนวนจำกัด (Limited), หรือออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่

ด้วยเหตุนี้เอง Manga ร้านค้าแฟชั่นแนว “Urban street lifestyle” หรือ Streetware ที่จับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นไปจนถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวทำงานวงการโฆษณา จัดงานเพื่อหา Positioning ของตัวเอง โดยรวมเอารองเท้าผ้าใบ 70 คู่ ที่ “หายากที่สุด แพงที่สุด” พร้อมให้เหล่านักสะสมมาบอกเล่า “ตำนาน” ของรองเท้าแต่ละรุ่นและดีไซน์ อันเป็นที่มาของความแพง เช่นตัดเย็บจากผ้ายีนส์พิเศษ ผ่านกรรมวิธีที่ใช้มือ มีลวดลายเฉพาะจำนวนจำกัด และออกแบบโดยดีไซเนอร์รองเท้าชื่อดังที่มีสไตล์ของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Nike, Reebok, New Balance ทุกแบรนด์ต่างมี “รุ่นพิเศษ” ของตัวเองซึ่งถูกรวมมาในงานนี้ สะท้อนว่าเทรนด์การออกรุ่น Limited ด้วยดีไซน์และราคาระดับพรีเมียมนั้นกำลังมาแรงในวงการรองเท้าผ้าใบ

บรรยากาศในงานคึกคักไปด้วยหนุ่มสาวแขกรับเชิญที่เป็นหนุ่มหล่อสาวสวยดาวรุ่งคุ้นหน้ากันตามมิวสิกวิดีโอและนิตยสารแฟชั่นวัยรุ่น และผู้เข้าร่วมงานที่เป็นเหล่าวัยรุ่นขึ้นไปที่แต่งตัวแนว “Streetware”

ไฮไลต์ของงาน คือการเพนต์ตกแต่งรองเท้าผ้าใบโดยหนุ่มนักออกแบบรองเท้าชื่อดังชาวสิงคโปร์ มาร์ค อ่อง (Mark Ong) วัย 32 หรือชื่อฉายาแบบฮิพฮอพว่า Sabotage ที่บรรจงแต่งแต้มรองเท้าผ้าใบสีพื้นๆ ให้มีลวดลายคลอไปกับดนตรีฮิพฮอพเร้าใจ ลงลายเซ็น SBTG (Sabotage) แล้วเปิดประมูลทันทีด้วยราคาเริ่มต้นถึง 2 หมื่นบาท และขายเสื้อยืดที่เขาออกแบบอีก 100 ตัว

Did you know ?

อะไรคือ “Streetware” ?
Streetware นั้นได้ถูกปรับแนวมาจากเสื้อผ้าฮิพฮอพให้เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ไปได้หลายโอกาส ไม่ถึงกับเป็นฮิพฮอพแท้ๆ ที่อาจจะใหญ่โคร่งและเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งและลวดลายมากไปสักนิดหากคิดจะสวมใส่เป็นประจำ เพื่อสนองความต้องการของวัยรุ่นขึ้นไปถึงหนุ่มสาวคนทำงานวงการโฆษณาหรือสร้างสรรค์ ที่ไม่นิยมใส่เสื้อเชิ้ตและเนกไท ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ เมื่อเป็นทางการก็แค่แจ็กเกตอีกตัว

People
ศศิเพ็ญ จันทร์ศรี
ตำแหน่ง Marketing Manager ของเธอทำให้ต้องคิดและจัดอีเวนต์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามาหาที่ทั้งเพลย์กราวน์ ทองหล่อ และร้านมังก้า ที่เซ็นทรัลเวิลด์

ศศิเพ็ญผ่านงานครีเอทีฟที่ต้องคลุกคลีอยู่กับไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และดนตรีมาหลากหลายบริษัท เช่น นิตยสารมีดีไซน์อย่างคาราวานและ True Blue และรับตำแหน่ง Creative Director ในค่ายเพลงโพลีแกรมและ R.S. ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการตลาดในบริษัทออแกไนเซอร์ที่ A4 Connection และ Bangalow Republic Agency

ก่อนจะมาทำงานที่เพลย์กราวน์ ศศิเพ็ญเคยเป็นสไตลิสต์และทำการตลาดให้กับ Greyhound จากนั้นก็รับตำแหน่ง Fashion Editor ให้กับหนังสือเครือเซ็นทรัล