สายร้อนของหนุ่มผมร่วง

การตระหนักรู้ถึงการดูแลรักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของผู้บริโภค สามารถส่งผลให้ตลาดยาหรือเวชภัณฑ์คึกคักขึ้นได้ ดังนั้น ในวันนี้ผู้ผลิตยาอาจต้องเพิ่มคำว่า “Disease Awareness” เข้าไปสู่การรับรู้ของผู้บริโภค นอกเหนือจาก Brand Awareness หรือ Product Awareness อย่างที่คุ้นเคยกัน

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตยาเองก็หันมาทำการตลาดในลักษณะ Medical Education Marketing คือ วางตัวในฐานะผู้ให้คำแนะนำหรือให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยเหตุจากความไม่สะดวกทางด้านกฎหมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงสรรพคุณยาได้โดยตรง ทำให้รูปแบบการสื่อสารทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์จึงต้องเป็นไปโดยนัยหรือละไว้ในฐานที่เข้าใจ

บริษัท MSD (Thailand) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีน ได้จัดการประกวด Mr.Hairline 2007 เพื่อเฟ้นหาพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ Hairline Call Center ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากจัดตั้งศูนย์มาเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลังที่เริ่มมีการจัดกิจกรรมทางการตลาด ส่งให้มีผู้ขอรับบริการเพิ่มขึ้นถึงจำนวนหลายพันรายต่อปี

“จากการสำรวจในปีที่ผ่านมา บริษัทพบว่าชายไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าปัญหาผมร่วงอันเกิดจากพันธุกรรมนั้นสามารถรักษาได้ ทางบริษัทจึงได้อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ศีรษะล้านด้วยช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ Hairline Call Center 02-686-9191 และ www.hairline.th.com” คมสัน เทพกิจอารีกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กล่าว

กลุ่มเป้าหมายที่ทางบริษัทตั้งไว้ได้แก่ชายหนุ่มที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เนื่องจากปัญหาผมร่วงสามารถพบได้ตั้งแต่ในวัยหนุ่ม โดยมุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มคนเมืองก่อนโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างกังวลเรื่องบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ภายนอก

รูปแบบของสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เน้น Bus Ad เป็นสื่อหลักที่ใช้ต่อเนื่องมาจากปีก่อน คือ เป็นป้ายโฆษณาท้ายรถไมโครบัสจำนวน 30 คัน รองลงมาคือการลงโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ เมื่อได้ Mr. Hairline เป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ ใช้ Key Message ของการสื่อสารแบบ Emotional คือ ช่วยดึงความมั่นใจของชายหนุ่มให้กลับคืนมา (Growing in confidence)

Did you know?

ปกติผมคนเราจะร่วงไม่เกิน 100 เส้นต่อวัน ถ้าเกินกว่านั้น คุณอยู่ในข่ายควรปรึกษาแพทย์