ศรัทธามาร์เก็ตติ้ง

รูปแบบการตลาดที่เรียกว่า “ศรัทธา” หรือ Faith Marketing ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ทางการตลาด หากแต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และรุนแรงของสังคมไทยในช่วงนี้

เริ่มจากพลังศรัทธาจาก จตุคามรามเทพ วัตถุมงคลยอดนิยม เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่ชี้ให้เห็นภาพศรัทธามาร์เก็ตติ้งที่ชัดเจนอย่างยิ่ง ใครจะเชื่อว่าวัตถุมงคลที่มีอายุเพียงยี่สิบปี กลายเป็นแบรนด์วัตถุบูชาที่มาแรง ถึงจุดความนิยมสูงสุด มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

โมเดลการตลาดของจตุคามรามเทพจึงร้อนแรงและลี้ลับ ชวนน่าติดตามยิ่งนัก!

หินทิเบต เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ขยายผลความนิยมขึ้นจากความเชื่อเช่นกัน นักสะสมบางคนต่างเรียกกันว่า แฟชั่นแห่งศรัทธา ได้เกิดขึ้นแบบปากต่อปาก และพัฒนาเป็นธุรกิจการผลิตที่มีมูลค่ามหาศาล

กระแสศรัทธาช่วงนี้ ไม่ใช่แค่วัตถุมงคลอย่างเดียว หากขยายผลไปถึงการตลาดแบบ “ธรรมะมาร์เก็ตติ้ง” ในรูปแบบของทัวร์บุญ ธุรกิจที่ดูจะคึกคักมากเป็นพิเศษ และสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทธรรมะที่ขายดิบขายดี กระทั่งเรียกกันว่า “ยุคทอง”

นิตยสาร POSITIONING ฉบับนี้ได้หยิบกรณีดังกล่าวทั้งจตุคามรามเทพ หินทิเบต ทัวร์บุญ และธรรมะในแผงหนังสือ และยังนำกรณีตัวอย่างของพลังศรัทธาในรูปแบบสินค้าต่างประเทศอย่าง มอเตอร์ไซค์ ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน และแบรนด์คอมพิวเตอร์แมคอินทอช ที่สร้างสาวกแฟนพันธุ์แท้ รวมทั้ง กรณีของการใช้แรงฟีเวอร์ของ “เรน” นักร้องดังจากกิมจิ มาทำตลาด เป็นกรณีศึกษาของกระแสศรัทธามาร์เก็ตติ้งที่น่าติดตาม

…ผลจากวิเคราะห์และศึกษาครั้งนี้ มีเรื่องราวที่นักการตลาด เจ้าของสินค้า หรือผู้ผลิต สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้อย่างน่าสนใจ เป็นข้อสรุปที่อาจเป็นกลยุทธ์ใหม่ในกระแสการแข่งขันทางการตลาดได้เป็นอย่างดี