มอส เบอร์เกอร์ ผมมาจากญี่ปุ่น

ภาพของผู้คนต่อคิวยาวเหยียดอย่างไม่ย่อท้อเพื่อซื้อมอส เบอร์เกอร์ บนชั้น 3 เซ็นทรัล เวิลด์ หลายคนอาจมองว่านี่อาจเป็นปรากฏการณ์ โรตีบอย ภาค 2 ที่เกิดและดับเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ทว่าในความเหมือนนั้นมีความต่างอยู่มากมาย

ยาซึมาสะ อาซาอิ ประธานกรรมการ บริษัท มอส ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้รายละเอียดกับ POSITIONING ถึงจุดต่างซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์นี้ว่า

มอส เบอร์เกอร์ เชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ หอบความสำเร็จข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่นด้วยแนวคิดเบอร์เกอร์เพื่อสุขภาพ มาแสวงหา Blue Ocean Market ที่เมืองไทย ด้วยการวาง Positioning เป็น Fast Casual Restaurant ที่ทำเบอร์เกอร์หลากชนิดแบบ Handmade คือ ทำเมื่อลูกค้าสั่งเท่านั้น แต่รวดเร็วและสะดวกกว่าร้านอาหารทั่วไป ในราคาสะดวกจ่าย กินช่องว่าง Price Gap ที่แพงกว่าแมคโดนัลด์ แต่ถูกกว่าหรือเท่ากับเบอร์เกอร์คิง

ด้านองค์ประกอบของร้านไม่ได้สื่อถึงความเป็นฟาสต์ฟู้ดเลยแม้แต่น้อย เบอร์เกอร์ถูกเสิร์ฟมาในตะกร้าสาน ไม่ใช้แก้วพลาสติก โต๊ะเก้าอี้เน้นสีเอิร์ธโทน สีเขียวทั้งจากโลโก้และต้นไม้กระถางที่วางอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วร้าน ทำให้มอส เบอร์เกอร์ ดูผ่อนคลายกว่าแบรนด์เบอร์เกอร์อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม มอส เบอร์เกอร์ จะต้องเผชิญกับคู่แข่งที่สั่งสมชื่อเสียงมายาวนาน และแมคโดนัลด์นับเป็นคู่ชกที่ประหมัดได้มันส์หยดทั้งในแง่ของเงินทุนและโนว์ฮาว แต่กระนั้นในฐานะผู้ท้าชิงความโดดเด่นในการพัฒนาเมนูของมอส เบอร์เกอร์ ก็ถึงขั้นที่แมคโดนัลด์เดินตามรอยด้วยการออกเบอร์เกอร์ข้าวมาแล้ว แต่ในจุดแข็งกลับกลายเป็นจุดอ่อนที่อาซาอิยอมรับว่า “Operation Times” ของมอส เบอร์เกอร์ ทำให้เกิดความล่าช้าซึ่งต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าให้ได้

มอส เบอร์เกอร์ เปิดเส้นทางสยายปีกธุรกิจในไทยอย่างเป็นขั้นตอนซึ่งน่าติดตาม ดังนี้

1. การวาง Positioning ที่ชัดเจน สร้างตลาดใหม่หลีกเลี่ยงที่จะแข่งกับเจ้าตลาดเบอร์เกอร์โดยตรง
2. สร้างบรรยากาศเชื้อเชิญในการกินด้วยการทำ “ครัวเปิด” โชว์จุดแข็งของการเป็นเบอร์เกอร์แบบ Made to order ซึ่งสะท้อนถึง “ความสด” ซึ่งเบอร์เกอร์เชนอื่นๆ ทำไม่ได้ขนาดนี้
3. Area Doninant Strategy ในช่วง 2 ปีแรกจะเปิดในแถบสยาม ราชประสงค์ก่อน โดยสาขาที่ 2 จะเปิดที่สยามพารากอน จากนั้นจะขยายไปเส้นสุขุมวิท ต่อด้วยย่านเศรษฐกิจมุมเมือง บางนา ปิ่นเกล้า และจากนั้นในปี 2553 จะเปิดในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เป็นต้น ทั้งนี้ใน 1 เมืองจะต้องมีสาขาอย่างน้อย 3 สาขา
4. เตรียมเสนอ Localized Menu ในปีหน้า

ภายใน 10 ปี อาซาอิคาดหวัง 70 สาขาในไทย แม้การเติบโตในแง่ของสาขาจะยังห่างชั้นกับ Global Brand อย่างแมคโดนัลด์ที่ทุกวันนี้ปาเข้าไปกว่า 100 สาขา แต่ก็คาดว่าจะแซงหน้าเบอร์เกอร์ คิง ยักษ์ใหญ่ที่เคลื่อนตัวช้าเสียเหลือเกินได้ในอีกไม่นาน

Did you know?

MOS มาจากคำว่า Mountain – Ocean –Sun สื่อถึงการเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม

Mos Burger
Company บริษัท มอส ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
Details มีรายการอาหารทั้งฮอทดอก เบอร์เกอร์ข้าว และแฮมเบอร์เกอร์หลากชนิด ราคาตั้งแต่ 49-79 บาทต่อชิ้น
Positioning Fast Casual Restaurant
Target ผู้ที่มีการศึกษาดี มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป
Strategy ใช้ Word of Mouth จากกลุ่ม Opinion leaders ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เป็นแฟน
พันธุ์แท้ รวมถึง Blog ต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะของ Consumer Drive โดยแท้
Competitors แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์ คิง ซับเวย์