ถอดสมการแผนรีแบรนด์ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการเป็นรัฐบาลมาแล้ว 7 สมัย และเป็นฝ่ายค้านมา 11 สมัย นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคในปี 2489 เคยผ่านความรุ่งเรืองด้วยการชนะเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคสามารถเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ 123 คน ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 และผ่านความตกต่ำโดยได้ที่นั่งในสภาเพียง 5 คนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จนกระทั่งในยุค 6 ปีหลังนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ที่ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามเท่าไร ก็ไม่สามารถหาจังหวะเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ แม้อุดมการณ์จะยังคงชัดเจน และสินค้าหลักของพรรคจะยังคงอยู่ในมาตรฐานเดิม แต่ยังไม่พอสำหรับยุคการเมืองที่ต้องพึ่งพิงการตลาดเป็นส่วนสำคัญ

พรรคประชาธิปัตย์ ไม่อาจปฏิเสธ “การใช้กลยุทธ์การตลาด” ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าหมายชัดเจน อย่างที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันบอกว่า “ต้องการเป็นพรรคการเมืองที่กอบกู้วิกฤตประเทศอีกครั้ง”

หรือในการขยายความจาก “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” หนึ่งในทีมผู้บริหารพรรคที่ดูแลกลยุทธ์การหาเสียงของพรรค ว่า “เป้าหมายครั้งนี้คือต้องชนะเลือกตั้ง”

อันเป็นเป้าหมายเพื่อนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่ว่างเว้น ไปมีบทบาทเป็นพรรคฝ่ายค้านมานานกว่า 6 ปี เพราะพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทย

การปรับตัวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มเปิดรับกลยุทธ์การตลาดเข้ามาปรับใช้ เริ่มเห็นชัดเจนเมื่อปี 2548 โดยมีทีมงานสำคัญดูแลรับผิดชอบทั้งการปรับโครงสร้างพรรค และการสื่อสารออกสู่ภายนอก อย่าง “กอร์ปศักดิ์” “กนก วงศ์ตระหง่าน” “องอาจ คล้ามไพบูลย์” และ “กรณ์ จาติกวนิช” รวมไปถึงการจ้างบริษัทรับผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ อย่างฟาร์อีสท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง เป็นที่ปรึกษา

ผลของกลยุทธ์ที่เห็นคือการจัดประชุม “สมัชชาประชาชน” ในปี 2549 จนนำไปสู่การแถลงแคมเปญ “วาระประชาชน” ด้วยถ้อยคำที่โดนใจว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” และที่แปลกใหม่สำหรับประชาธิปัตย์ คือการผลิต และซื้อเวลารายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศหนังโฆษณาที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นพรีเซ็นเตอร์ นำเสนอเนื้อหาทั้งชีวิตส่วนตัว และเสนอนโนยายของพรรค หากได้เป็นรัฐบาล

แต่การสร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสาร ไม่ใช่หลับตานั่งร่างนโยบาย แต่หมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับตัวภายในพรรคครั้งใหญ่ ทั้งรูปแบบการวิจัย ที่ลงลึกในการทำโฟกัสกรุ๊ปมากขึ้น การสร้างนโยบาย และหาคนใหม่ๆ ในพรรคเพื่อแตกไลน์สินค้าให้ได้กลุ่มลูกค้ามากที่สุด และทุกกลุ่ม

รุกปรุงแต่งสินค้า สูตรซักผ้าขาว ยังไม่พอ

ปี 2550 หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คีย์แมนหลักทั้งหมดต่างบอกว่า “ประชาธิปัตย์” เตรียมแผนเดินเครื่องเต็มสูบ ทั้งการวิจัย ข้อมูล ทั้งรูปแบบการลงพื้นที่ การประชุมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม การวิจัยในทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ หาความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพื่อนำมาสู่การเสนอนโยบายที่จับต้องได้ และตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อครอบคลุมคะแนนเสียงทั่วประเทศ และนำเสนอบุคคลของพรรคที่ประชาชนเห็นด้วยว่าสามารถทำงานบริหารบ้านเมืองได้ มิใช่เป็นได้แค่ฝ่ายค้าน

ต้องยอมรับว่าแม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดแข็งที่เป็นพรรคเก่าแก่ คนรู้จักชื่อมานาน แต่จุดอ่อนคือความชัดเจนในฝีมือการบริหารบ้านเมือง ซึ่งยังเป็นที่สงสัยว่าทำได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจดจำเพียงภาพความเป็นฝ่ายค้าน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การมีนักพูด และทนายความเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นจุดอ่อนที่ “อภิสิทธิ์” มักถูกโจมตีว่าไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงานใดๆ มาก่อน นอกจากความเป็นคนเรียนเก่ง เคยเป็นนักวิชาการ มีวาทะน่าฟัง ไม่มีประวัติด่างพร้อย และหน้าตาดี เป็น “หล่อใหญ่” ประจำพรรค

การปรับปรุงนโยบายพรรคให้ถูกใจประชาชน และการนำเสนอคนให้ประชาชนเลือกมากขึ้น รวมไปถึงการพยายามนำเสนอให้ประชาชนเห็นว่า “ความเป็นนักการเมืองอาชีพ” ของ “อภิสิทธิ์” เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างไร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสินค้าและบริการที่ต้องออกมาอย่างหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อ และในที่สุดได้ส่วนแบ่งตลาดจากประชาชนทั่วประเทศ

หรือเรียกง่ายๆ ว่า ลำพังคุณสมบัติที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยมี ทั้ง “ชวน” จนถึง “อภิสิทธิ์” แค่เป็นผงซักฟอกที่ซักผ้าขาวอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะขณะนี้ชาวบ้านยังต้องการสูตรถนอมผ้า หรือแม้แต่มียูวีป้องกันแสงแดดด้วย

และนี่คือคำตอบว่า เหตุใดในช่วงที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยังคงลงพื้นที่เลือกตั้งตลอดเวลา การประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ชาวบ้าน นักธุรกิจ และต่างชาติ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “อภิสิทธิ์” ที่เดินสายพบกลุ่มต่างๆ ตลอดเวลา ให้ความร่วมมือกับสื่อต่างๆ อย่างดี เมื่อต้องการสัมภาษณ์ ร่วมงานสัมมนาต่างๆ ที่ทำให้มีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณชน

นอกจากเป็นแผนที่ “กรณ์” บอกว่า วิธีการนี้มีเป้าหมายคือให้กลุ่มต่างๆ ได้ซึมซับนโยบายและความตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังทำให้พรรคสามารถหาความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากมีโอกาสในการหาเสียง ออกแคมเปญแล้ว กลุ่มต่างๆ จะเข้าใจสิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังบอกได้ง่ายขึ้น มีความน่าเชื่อถือในการโฆษณาในอนาคต ช่วงนี้ถือเป็นช่วง Pre Campaign ก่อนจะถึงเวลาหาเสียงได้

อีกเป้าหมายคือได้เครือข่ายคน เช่น อาจจะพบคนดีคนเก่งจากวงเสวนาที่จะชักชวนมาร่วมงานได้ในอนาคต เช่นให้เป็นกรรมาธิการ เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นรัฐมนตรี

ไม่เพียงแต่การปรับปรุงนโยบาย แต่ยังหมายถึงการสื่อนโยบายให้ชัดเจนที่ “กรณ์ จาติกวณิช” บอกว่า “จาก 100 เรื่องที่เราอยากจะทำ เราอาจจะเลือก 15 ถึง 20 เรื่องที่จะได้เสียง อีก 80 เรื่องพักไว้ก่อน โดยเลือกจากการ Research วิจัยหาความต้องการของประชาชน”

ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ต้อง “เลิกแขวะ”

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องจัดระเบียบในการให้ข่าว ให้สัมภาษณ์ใหม่ โดยต้องเน้นข้อเสนอ ข้อมูล เป็นเหตุเป็นผล มากว่าสไตล์เดิมที่ใช้ข้อความเชิงเสียดสี ประชดประชน หรือที่ “กรณ์ จาติกวณิช” บอกว่า “เลิกแขวะ” และหากใครติดนิสัยเดิม ก็ควรหยุดให้สัมภาษณ์

การปรับPositioning ของนักการเมืองแต่ละคนของพรรค ยังแสดงจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายรวมทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีภาพความขัดแย้งระหว่าง ส.ส. ในพรรคเดียวกัน เช่น “อลงกรณ์ พลบุตร และกอร์ปศักดิ์” ทำหน้าที่ตรวจสอบ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น “กรณ์” ชัดเจนในบทบาทมือเศรษฐกิจของพรรค “องอาจ คล้ามไพบูลย์” โฆษกพรรคที่แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนของพรรคในประเด็นด้านการเมือง

ในฐานะเลขาธิการพรรค “กรณ์” บอกว่า การปรับภาพลักษณ์ยังต้องทำอีกมาก พรรคการเมืองคือ คน หากพรรคเป็นแบรนด์ คนก็คือสินค้าของพรรค ต้องระดมคนที่ประชาชนต้องการเข้ามาพรรคเราให้ได้มากที่สุด “ที่เราอยากได้เพิ่ม คือ เกษตรกร แรงงาน นักธุรกิจ มาเพื่อให้สมดุลกับเดิมที่มีนักกฎหมายอยู่มาก”

การปรับปรุงภายในพรรคทั้งหมด “กอร์ปศักดิ์” บอกเป็นไปตามเป้าหมายในการวาง Positioning ของพรรคนับจากนี้ว่าเป็นนักบริหารที่พร้อมบริหารประเทศ จากปัจจุบันพรรคมีบุคคลที่ประสบความสำเร็จร่วมงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “กรณ์” “กนก” หรือแม้แต่ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” สมาชิกพรรคและเป็นผู้ว่า กทม. ในขณะนี้ หรือในอดีต มี “ศุภชัย พานิชภักดิ์” “ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์” “หรือคนของพรรคเอง อย่าง “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ด้วยนโยบายใหม่ที่ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นรัฐสวัสดิการ เช่น ดูแลคน ตั้งแต่อยู่ในท้อง คลอด เลี้ยงจนโต เรียนฟรี 12 ปี หรือแม้แต่เรื่องค่าครองชีพที่ต้องมีค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนอกจากมาจากข้อมูลของ ส.ส. ในพื้นที่แล้ว ยังมาจาการวิจัยทางการตลาด

ยุทธศาสตร์การสื่อสาร

“กนก” ในฐานะที่มีความรู้พื้นฐานเดิมด้านธุรกิจ บอกว่า นี่คือโจทย์ ที่ “ประชาธิปัตย์” แก้ไขมากว่า 2 ปี และปีที่แล้วชัดเจนถึงเกมรุกของพรรค ทั้งการปรับโครงสร้างภายในของพรรค การวิจัยข้อมูลมากมาย และการประชุมทำสมัชชาประชาชน นำมาสู่วาระประชาชนที่รองรับด้วยอุดการณ์ของพรรค และแน่นอนความคิดด้านมาร์เก็ตติ้งก็เข้ามาเพิ่ม เพื่อช่วยให้มีสีสันมากขึ้น แต่ไม่ใช่มาร์เก็ตติ้งที่ขายสินค้าวันนี้วันเดียว แต่มีกระบวนการ มีหลักคิดอยู่ภายใต้กระบวนการของการสื่อสารทางด้านการตลาด

กระบวนการสื่อสารที่สำคัญ “กนก” ย้ำว่า จุดที่จะช่วยให้ประชาธิปัตย์สำเร็จได้คือโอกาสในการสื่อสารกับประชาชน อย่างเช่นปีที่แล้วที่ออกวาระประชาชน ซื้อสื่อทางทีวี ภายใน 2 เดือน ความคิดเห็นของประชาชนต่อประชาธิปัตย์เปลี่ยนเยอะมาก ในทางบวก ผมไม่มีข้อสงสัยเลยว่าถ้าเราได้โอกาส 6 เดือน เราจะสามารถสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนได้”

ที่สำคัญในทางการเมืองนั้น “การสื่อสาร” กำลังเปลี่ยนไป ต้องสื่อออกไปว่านับจากนี้ประชาชนจะได้อะไรจากสิ่งที่พรรคการเมืองเสนอ ไม่ใช่สื่อแบบเดิมว่าพรรคการเมืองจะทำอะไรเท่านั้น

สอดคคล้องกับ “กรณ์” ที่บอกว่า “คุณทำงานยังไงก็ตาม ถ้าคุณไม่ออกสื่อ คนก็ไม่เลือกคุณ เพราะ
นอกเหนือจากนี้ที่สำคัญ หากคุณภาพใกล้เคียงกัน ภาพลักษณ์ดีเหมือนกัน ในที่สุดคนจะตัดสินใจเลือกที่น่าเชื่อถือมากกว่า โดยวัดจากความรู้สึก”

นี่คือประสบการณ์ที่เขาได้รับเมื่อครั้งที่เคยเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง โดยพบว่า พรรคการเมืองเติบโตได้เพราะความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่อยู่ได้เพราะความน่าเชื่อถือ

จุดพลุ TVC “อภิสิทธิ์”

ตลอดเวลาของการเป็นพรรคฝ่ายค้าน 6 ปี ในยุครัฐบาลทักษิณ “กอร์ปศักดิ์” บอกว่า ประชาธิปัตย์ไม่มีโอกาสปรากฏผ่านสื่อ เพราะทุกช่องเสนอแต่ข่าวรัฐบาล จึงเป็นที่ผ่านมาที่ทำให้พรรคใช้สื่ออย่างทีวีโดยไม่เคยทำมาก่อน โดยเริ่มต้นด้วยการโปรโมตหัวหน้าพรรค เพื่อปูทางให้คนรู้จักก่อน เริ่มเสนอเรื่องราวครอบครัว เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจ และเป็นประเด็นพูดคุยกัน และที่ต้องเป็นสื่อทีวี เพราะไม่มีสื่อใดที่มีพลัง สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกับประชาชนทั้งประเทศในเวลาอันสั้น

ในกระบวนการผลิตหนังโฆษณาชุดนี้โดยทีมงาน “ฟาร์อีสท์” เป็นการตามไปถ่ายทำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มิใช่การสร้างเหตุการณ์ขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มคนต่างๆ ตลอดช่วง 6 สัปดาห์ที่ออกอากาศ ว่านี่คือการสร้างภาพหรือไม่ หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งที่ “อภิสิทธิ์” ลงมือเดินเข้าไปในแปลงนาเพื่อโชว์การไถนาทั้งที่ในความเป็นจริง “อภิสิทธิ์” คือหนุ่มนักเรียนนอก นักวิชาการ

แต่กระบวนการสื่อสารของประชาธิปัตย์ช่วงนั้นต้องหยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ และทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องยุติกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด

ปี 2549 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะยังมีจุดโจมตีอยู่บ้างว่า “ทำได้ไม่เนียน” หรืออย่างที่ “กรณ์” บอกว่า บางคนแสดงความเห็นว่าสำหรับพื้นที่ในกทม.แล้ว “มันตื้น” หรือได้ผลในระยะสั้น เหมือนกับจุดพลุ ที่วาบแล้วก็วูบหายไป แต่ในต่างจังหวัดถือว่าได้ผล ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคด่านแรกของพรรค ที่ต้องการเจาะฐานประชาชนให้ได้กลุ่มใหญ่ หรือ Mass เพื่อชนะเลือกตั้ง ซึ่งการชนะเลือกตั้งได้ ต้องชนะใจคนที่ยังไม่รวยมากกว่าคนที่รวยแล้ว เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีฐานะยังไม่รวย ขณะนี้สิ่งที่ประชาธิปัตย์ขาดแน่นอนคือ คะแนนเสียงรากหญ้า โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน

อย่างไรก็ตาม ในแง่อุดมการณ์แล้ว “กรณ์” บอกว่า นักการเมืองไม่ควรจะมุ่งแต่เสียง หรือไปแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ ให้มีความขัดแย้งกัน แล้วทำอะไรที่มีผลเสียต่อส่วนรวมระยะยาว เพียงเพื่อจะชนะการเลือกตั้งท่านั้น ส่วนความจำเป็นที่จะต้องชนะการเลือกตั้ง ก็เป็นอีกส่วนแยกกัน ซึ่งเทคนิคที่ “กรณ์” เสนอแนะคือ การเลือกพูดสิ่งที่มีผลดีต่อการเลือกตั้ง บางเรื่องที่จริงแต่ยังไม่ควรพูด ก็ควรเก็บไว้ก่อน

สำหรับเป้าหมายพรรคประชาธิปัตย์หลังแผนการรีแบรนด์เสร็จสมบูรณ์ “กรณ์” บอกว่า เมื่อมีคนพูดถึงชื่อ “ประชาธิปัตย์” อยากให้ประชาชนนึกถึง 3 คำ คือ 1.ซื่อสัตย์ 2.ทำงานเก่ง และ 3.มีคุณธรรม แทนที่ความทรงจำเดิมของประชาชนที่เมื่อนึกถึง “ประชาธิปัตย์” ในความรับรู้ของประชาชนเพียงแค่ ความมั่นคง เข้ามากอบกู้ประเทศหลังมีวิกฤติ ไม่หวือหวา ไม่มีสีสัน และเชื่องช้า

ด้วยเป้าหมายนี้ และแนวทางที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์นับจากนี้ “กรณ์” บอกว่า พรรคยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและอีกมากมาย และแม้จะมีแคมเปญหาเสียงหลายรูปแบบ และสื่อครบวงจร แต่เขายืนยันการเมืองที่ดีต้องหาสมดุลระหว่างอุดมการณ์ กับความจำเป็นที่จะต้องชนะการเลือกตั้ง และแคมเปญเลือกตั้งไม่ได้มีไว้เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ แต่มีไว้เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ได้ชัยชนะ

“จุดอ่อน-ทางแก้” ประชาธิปัตย์

1. ชำนาญงานฝ่ายค้าน
จุดอ่อน-นับตั้งแต่ปี 2489 เป็นพรรคฝ่ายค้านมา 11 ครั้ง แม้เป็นรัฐบาล 7 ครั้ง แต่มีเพียงไม่กี่ครั้งที่เป็นแกนนำรัฐบาล
ทางแก้-แสดงวิสัยทัศน์ นโยบายที่จับต้องได้ ในแบบที่ประชาชนต้องการ เพิ่มสมาชิกพรรคที่เป็นนักบริหาร หรือจากตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ

2. พรรคที่ต้องไต่เต้า-ขาดคนเก่ง-คนรุ่นใหม่
จุดอ่อน-ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองเก่าแก่ มีสมาชิกหลายคนที่อยู่มานาน เมื่อถึงเวลาจัดสรรตำแหน่งบริหารพรรค หรือรัฐมนตรีทำงานให้พรรค ต้องเรียงลำดับการอยู่ก่อนหลัง ทำให้คนเก่งงานด้านบริหาร ไม่ตัดสินใจเข้าร่วมพรรค
ทางแก้-การปรับโครงสร้างภายในพรรค และทำความเข้ากับสมาชิกถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชน

3. พรรคนักพูด
จุดอ่อน-ความโดดเด่นที่ทำให้คนจดจำพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถเฉพาะตัวของสมาชิกในการอภิปราย ด้วยวาทะเชือดเฉือน และเสียดสีประชดประชัน ทำให้บางคนมักใช้ลีลาชวนติดตาม มากกว่าข้อมูล
ทางแก้-ทำความตกลงภายในพรรคถึงแนวทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ เน้นข้อมูล และข้อเสนอแนะ และจัดวางตำแหน่งหน้าที่ของแต่ละคนอย่างชัดเจนในการนำเสนอเนื้อหาสู่สาธารณชน

4. ความเชื่องช้า
จุดอ่อน-ในปี 2540 แม้ “ชวน หลีกภัย” มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนถึงความซื่อสัตย์ แต่คนรอบข้างยังคงเป็นปัญหา ประกอบการทำงานที่เต็มไปด้วยการพิจารณาบนหลักการ และการรอรายงาน ทำให้พัฒนาประเทศหลังปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจนได้รับสมญานามว่า “ชวน เชื่องช้า”
ทางแก้-การพยายามชี้แจงถึงผลงานที่แท้จริง และการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ภาวะความเป็นผู้นำต่อประเด็นต่างๆ

5. ขาดประสบการณ์
จุดอ่อน-จากอดีตที่พรรคมักมีเพียงนักการเมืองอาชีพเข้ามาเป็นรัฐมนตรี และผลงานไม่เป็นที่ประทับใจ เมื่อถึงช่วงปัจจุบันที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรค และประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คนยังตั้งคำถามถึงประสบการณ์การบริหารงานองค์กร
ทางแก้-การเดินสายทำความเข้าใจ การใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงความมุ่งมั่น และความชัดเจนในนโยบายการบริหารประเทศ เน้นย้ำการบริหารงานเป็นทีม

6. พรรคภูมิภาคคนใต้
จุดอ่อน-การมีฐานเสียงจากภาคใต้จำนวนมาก ตั้งแต่สมัย “ชวน หลีกภัย” ซึ่งเป็นชาวจังหวัดตรัง เป็นหัวหน้าพรรค ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคกลายเป็นพรรคของชาวใต้ กระทั่งในการเลือกตั้งปี 2548 ได้ที่นั่ง ส.ส. ใต้ถึง 52 ที่นั่งจากทั้งหมด 54 ที่นั่ง ขณะที่กรุงเทพฯ ได้เพียง 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง
ทางแก้-การเดินสายพบปะประชาชนในภาคต่างๆ และประกาศชัดเจนถึงความเป็นพรรคการเมืองของประเทศไทย