ยุบพรรคการเมือง !!! จุดเปลี่ยนประเทศไทย

อนาคตการเมืองไทยของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย ที่จะกลายเป็นเพียงแค่ “ตำนาน” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือไม่ วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 รู้ผล

เป็นเส้นตายที่คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ คตส. จะต้องตัดสินให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 12 พรรค โดยมี 2 พรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์

ด้วยความที่ทั้งสองพรรคเคยมีที่นั่ง ส.ส. รวมกันถึง 95% มีสมาชิกรวมกันเกือบ 20 ล้านคนทั่วประเทศ

ไทยรักไทยมีสมาชิกทั่วประเทศ 14 ล้านคน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกทั่วประเทศ 4 ล้านคน สองพรรครวมกัน 18 ล้านคน
เรียกว่า ถ้ายุบทั้งสองพรรค เท่ากับยุบการเมืองไทย

ไม่ว่าผลการตัดสินของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ (คตส.) จะตัดสินให้ยุบพรรค หรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการพรรคจะถูกตัดสินลงโทษห้ามลงเลือกตั้ง 5 ปีหรือไม่ก็ตาม การเมืองของไทยคงยุ่งเหยิงไปอีกพรรคใหญ่ และอาจนำไปสู่ วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้การเมืองไทยต้องเปลี่ยนโฉมหน้า

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยต้องหาทางออกให้ตัวเองกับอนาคตทางการเมืองในวันข้างหน้า

ไม่ว่าผลจะลงเอยเช่นใด แต่ “พรรคการเมืองไทย” ก็มีเรื่องราวให้น่าศึกษา หากเป็นตำนาน “พรรคไทยรักไทย” ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ที่สุด” ในทุกๆ ด้าน มีสมาชิกมากที่สุด 14 ล้านคน เคยกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุด

ไทยรักไทยนั้นได้ชื่อว่า เป็นต้นตำรับพรรคการเมืองไทย ที่ต้องยอมรับว่านำสูตรกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้สร้างพรรคจนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ทำตลาดรุนแรงด้วยแผนโปรโมชั่นมากมายจนในช่วงเวลาสั้นๆ สามารถกวาดส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุด
เมื่อพรรคไทยรักไทยต้องเข้าสู่ยุคตกต่ำ กลายเป็นสินค้ามีตำหนิ แต่ก็ยังคงมีกลยุทธ์มากมายเพื่อรักษา “แบรนด์” ไม่ให้ถูกลืม โดยเฉพาะอดีตหัวหน้าพรรคอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่แม้จะเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็สามารถสร้างเครื่องมือทำให้ชื่อของ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ถูกกล่าวถึงตลอดเวลา

ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ได้ชื่อว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีความ “คลาสสิก” ที่สุด อยู่ในตลาดมานานถึง 61 ปี มีอดีตที่น่าศึกษา เคยเป็นที่รวมของกลุ่มคนหัวก้าวหน้าทางการเมืองซึ่งผ่านระบบการศึกษามาอย่างดี

แต่ 61 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ต้องผ่านการต่อสู้อย่างโชกโชน ถึงแม้จะไม่ล้มหาย หรือ ถูกยุบเหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับต้องมาสะดุดในยุคที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องกลายสภาพเป็นฝ่ายค้านเกือบจะถาวร อยู่ถึง 6 ปี

สิ่งที่พรรค “ประชาธิปัตย์” ต้องทำในเวลานี้คือ การ “เปลี่ยนแปลง” ที่เห็นได้ชัดคือ “กลยุทธ์การตลาด” เริ่มเข้ามามีบทบาทนอกเหนือจากการปรับโครงสร้างภายในพรรค เพราะวิถีแบบเดิมที่เคยใช้ ไม่ “โดนใจ” กลุ่มเป้าหมายของ “ประชาธิปัตย์”ทั้งประเทศ ซึ่งหากไม่ได้ทุกกลุ่มเป้าหมายก็ยากที่ “ประชาธิปัตย์” จะชนะการเลือกตั้ง

หากการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็น “โอกาส” ให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย ที่พร้อมสบช่องทางการเมือง
ความเป็นชาติไทยแบบเดิม ทั้งเชย อยู่กันแบบระบบพ่อ ลูก กำลังถูกปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น หรือแม้แต่กลุ่มมหาชนและกลุ่มมัชฌิมา ที่ล้วนแต่นำเรื่องของกลยุทธ์การสร้างแบรนด์มาใช้เกือบทั้งสิ้น

Positioning ของพรรคการเมืองเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย หลังจากนี้ไม่ว่าจะถูกยุบพรรคหรือไม่ถูกยุบ จะเป็นเช่นใด

นี่คือปรากฏการณ์ของ “พรรคการเมือง” ที่มีเรื่องราวต้องติดตาม