ตัวอย่างเหตุการณ์ตอกย้ำอุดมการณ์ประชาธิปัตย์

ธันวาคม 2533 –ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ในปี 2533 พรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างความสนใจต่อพรรคอีกครั้ง หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในยุคที่ไม่มีบทบาทางการเมืองมากนัก โดยเป็นเพียง 1 ในพรรคร่วมรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น แต่ภายหลังเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่นาน

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2533 พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลของพลเอกชาติชาย โดยประกาศต่อสาธารณชนว่า เพราะไม่ต้องการให้เกิดสภาพเผด็จการรัฐสภา เนื่องจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านหลายเท่าตัว ทำให้ยากต่อการตรวจสอบรัฐบาลผ่านกระบวนการทางสภาฯ

พฤษภาคม 2535-ร่วมต้านเผด็จการb>
การตัดสินใจที่สำคัญในวันที่ 12 ธันวาคม 2533 และพลิกบทบาทให้ประชาธิปัตย์ไม่มีภาพความเกี่ยวเนื่องกับ “บุฟเฟต์ คาบิเนต” ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ที่ถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือรสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และในเวลาต่อมาเกิดการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ประชาธิปัตย์ได้เลือกแนวทางการต่อสู้กับรัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จนมีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535 มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยในจังหวะนี้เองที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งร่วมอภิปรายต่อต้านรัฐบาลพลเอกสุจินดาหลายครั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่สามารถปลุกกระแสคนกรุงเทพฯ ให้สนใจประชาธิปัตย์ได้มากขึ้น

กุมภาพันธ์ 2548 แคมเปญ 201 เสียง
ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคประชาธิปัตย์ประเมินผลการเลือกตั้งว่ายังคงแพ้พรรคไทยรักไทย จึงประกาศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งว่า ขอคะแนนเสียงจากประชาชนเลือก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ 201 คะแนน เพื่อให้ประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีคะแนนเสียงในสภาเพียงพอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ โดยพรรคประกาศว่า นี่คือความรับผิดชอบที่ต้องการแสดงต่อประเทศ เพราะไม่ใช่ว่าต้องแพ้เลือกตั้งแน่นอน แล้วถอดใจ และในที่สุดไม่มีใครตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้

เมษายน 2549-คว่ำบาตรเลือกตั้ง
ท่ามกลางวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคชาติไทย และมหาชน คว่ำบาตรเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง นำไปสู่การวินิจฉัยการเลือกตั้งอันเป็นโมฆะ และสะท้อนให้เห็นถึงความซ่อนเร้นของอดีต กกต. ที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย ในที่สุดเกิดความแตกแยกของสังคม และนำไปสู่ภาวะที่ระบบการปกครองทางสภาไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ และทหารเข้ามากระทำการรัฐประหารในที่สุด