ตามหลักการตลาดแล้ว เป้าหมายของการใช้สื่อโฆษณาสินค้าตัวหนึ่ง ย่อมต้องสอดคล้องกับวงจรชีวิตของสินค้าตัวนั้นๆ เช่นสินค้าใหม่ต้องใช้โฆษณาให้คนรู้จักและรับรู้ (Awareness)
แต่กับสินค้าที่พ้นช่วงโปรโมตไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างรอขั้นตอนปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือออกรุ่นใหม่ๆ หากจะไม่โฆษณาบ้างเลยก็เสี่ยงที่ผู้บริโภคจะลืมลบออกจากใจไป เป้าหมายที่ใช้จึงต้องเป็น “Remind” คือการเตือนไม่ให้ลืมแบรนด์ไปเสียก่อน ระหว่างที่รอการ Re-brand หรือแคมเปญใหม่ๆ
ในช่วงที่ คมช. ห้ามพรรคการเมืองจัดกิจกรรมหรือโฆษณาหาเสียงนี่เอง พรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีการออกพ็อกเกตบุ๊กส่วนตัวของนักการเมืองคนสำคัญๆ ในพรรค เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และถาวร เสนเนียม
หนังสือสองเล่มที่ออกห่างกันไม่กี่เดือนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “การเมืองไทยหลังรัฐประหาร” กับ “เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้ถูกฉีก” เป็นการรวมบทความของอภิสิทธิในเว็บ abhisit.org โดยที่เล่มแรกมีงานเปิดตัวแจกลายเซ็นที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ส่วนเล่มหลังที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วยผู้ฟังหลายร้อย
ส่วนหนังสือ “ทำไม กกต. ต้องเข้าคุก ?” ของ ถาวร เสนเนียม เล่าถึงผลงานตรวจสอบการทำงานของ กกต. และเป็นโจทย์ยื่นฟ้องจน กกต. ชุด พลต.ต.วาสนา ต้องพ้นจากตำแหน่งเป็นข่าวดังในปีที่แล้ว
งานเปิดตัวหนังสือพร้อมด้วยการเสวนาทางการเมืองพร้อมแจกลายเซ็นของทั้งสองคน ไม่ว่าจะที่ศูนย์หนังสือจุฬา หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จึงนับเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ “เนียน” อย่างที่ คมช. อาจจะไม่ทันระวังสังเกต
นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีก 3 เล่มที่ออกในนามพรรค จัดทำรูปเล่มสวยงามแบบพ็อกเกตบุ๊ก คือ “คำให้การ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คดีพรรคประชาธิปัตย์” , “คำให้การ สุเทพ เทือกสุบรรณ คดีพรรคประชาธิปัตย์” , และ “คำให้การ สุเทพ เทือกสุบรรณ คดีไทยรักไทยโกงเลือกตั้ง” ซึ่งทั้งหมดนี้สอดรับกับความต้องการของทั้งสื่อมวลชนและประชาชนคอการเมือง ในช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนจะถึงการตัดสินคดีประวัติศาสตร์นี้ในวันที่ 30
หนังสือทุกเล่มแม้จะเป็นหนังสือขาย มีการตั้งราคา แต่ผู้เขียนและพรรคก็ดูจะยินดีแจก ทั้งแจกให้สมาชิกเว็บไปจนถึงให้ดาวน์โหลดอ่านฟรีในเว็บพรรค แสดงถึงเป้าหมายการเป็นสื่อ Remind ทางการตลาด มากกว่าจะออกมาเพื่อหวังรายได้หรือกำไรจากยอดขาย