พรรคมหาชน…ไม่ใช่ทางเลือกใหม่

ครั้งหนึ่งพรรคมหาชนเคยตั้งเป้าหมายว่า อยากจะเป็นแบรนด์สินค้าชนิดใหม่ต่อการตัดสินใจของประชาชนได้เลือกใช้สินค้าใหม่ๆ แต่สุดท้ายตลาดผู้บริโภคกลับไม่ยอมรับ เมื่อผู้ผลิตยังเป็นคนหน้าเดิม มีวิธีสร้างสินค้าแบบเดิมๆ แม้ผู้ผลิตจะพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ดึงบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือทางนักวิชาการมาช่วยเป็นผู้นำก็ตาม ทุกอย่างก็ช่วยสร้างพรรคนี้ไม่ได้ หากวันนี้ของ “มหาชน” คงเป็นเพียงพรรคเล็กๆ ที่อาศัยเพียงเวลาและจังหวะทางการเมืองเติบโตในยามที่คนเบื่อพรรคใหญ่เท่านั้น

พรรคมหาชน ถูกวางโพสิชันนิ่งตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2547 ว่า ต้องการเป็นพรรคทางเลือกใหม่ของประชาชน หรือพรรคทางเลือกที่สาม ต่อจากพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ โดยมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นแกนนำในการจัดตั้ง

เกษม ศิริสัมพันธ์ ได้กล่าวไว้ในบทบาทตอนหนึ่งว่า พรรคมหาชนนี้จะเรียกว่าเป็นพรรคทางเลือกที่สาม เห็นจะไม่ได้! เพราะพรรคชาติไทยยังเป็นพรรคทางเลือกที่สามอยู่อีกทั้งพรรค

เสธ.หนั่นตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาได้ ก็ด้วยความช่วยเหลือของคุณวัฒนา อัศวเหม เจ้าของพรรคราษฎร โดยนำเอาพรรคราษฎรมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคมหาชน ไม่ต้องเสียเวลาจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ ซึ่งยืดเยื้อกินเวลา

ทว่า ภาพนักการเมืองแบบเสธ.หนั่นที่ยังผูกติดกับพรรคประชาธิปัตย์ บวกกับภาพนักการเมืองยุคเก่าของวัฒนา ทำให้ภาพของพรรคมหาชนจึงไม่มีอะไรใหม่ มากกว่าการตั้งชื่อพรรคใหม่ขึ้นมา

แม้เสธ.จะพยายามดึง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อหวังสร้างแบรนด์มหาชน ให้ดูมีความน่าเชื่อถือ และสลัดภาพจากนักการเมืองรุ่นเก่าๆ แต่บางคนก็เชื่อว่า ดร.เอนกก็ยังเป็นเพียงร่างทรงที่ไร้อำนาจและบารมี ซึ่งแท้จริงนั้นอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่เสธ.หนั่นเพียงผู้เดียว

ดร.เอนก ถือเป็นนักวิชาการคนเก่ง มีภาพของเคยนั่งเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของเสธ.หนั่น สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และยุคบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดร.เอนกได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคคนหนึ่ง และเป็นกำลังสำคัญในการผลิตนโยบายต่างๆ ของประชาธิปัตย์

แต่ดูเหมือนดร.เอนกเกิดผิดที่ ผิดเวลา บารมีที่ต่อสู้กับพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยของระบอบทักษิณในขณะนั้น ถือว่าไม่มีแรงเสียดทานเพียงพอ บทพิสูจน์ความล้มเหลวได้ชัดเจนขึ้นเมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคมหาชนได้ ส.ส. เพียง 3 ที่นั่งจากที่ตั้งเป้าไว้ถึง 50 ที่นั่ง

ในที่สุด ดร.เอนกตัดสินใจลาออก เพราะทนกับพิษบาดแผลการเมืองไม่ไหว โดยพรรคมหาชนมีมติตั้ง เสธ.หนั่น เข้ามานั่งในตำแหน่งหัวพรรคในปัจจุบัน

วันนี้ของพรรคมหาชน จึงเป็นเพียงพรรคเล็ก ไม่มีบทบาทในวงการเมืองมากนัก มีเพียงแต่บารมีเสธ.หนั่นเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่
เป้าหมายของพรรคนี้ยังเป็นเหมือนการซื้อเวลา หากผลการตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทยออกมา อาจจะเป็นโอกาสในการดึง ส.ส. จากทั้งสองพรรคเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคได้บ้าง และหวังจะเป็นโอกาสทางการเมืองครั้งใหม่ที่ประชาชนจะหันมานิยมพรรคมหาชนบ้าง…