“มัชฌิมา” เหล้าเก่าในขวดใหม่

“มัชฌิมา” กลุ่มการเมืองใหม่ ภายใต้การนำนักการเมืองหน้าเก่า “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ที่นำเรื่องของการ “แบรนดิ้ง” มาใช้ ตั้งแต่การเลือกชื่อที่มีความหมาย ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง แต่พวกเขากลับต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากกว่านั้น กลับถูกมองว่าเป็นเป็นเพียงร่างทรงพรรคไทยรักไทย ถ้าเปรียบเป็นสินค้าแล้ว ก็เป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ อันเป็นที่มาของการรีแบรนดิ้ง ตั้งแต่หัวจรดเท้า

“กลุ่มการเมืองไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ชื่อที่ไม่ได้มีความหมายเชิงทฤษฎีหรือปรัชญา ดังนั้นการที่กลุ่มมัชฌิมาซึ่งต่อไปคงจะกลายเป็นพรรคการเมือง เลือกชื่อที่มีความหมายเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ต่อไปการเสนอนโยบายของพรรคนี้จะเป็นไปในทางสายกลางหรือไม่ ที่สำคัญก็คือ แล้วพฤติกรรมทางการเมืองของผู้อยู่ในกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร” เป็นส่วนหนึ่งในบทความของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในคอลัมน์ ชีวิตที่เลือกได้ วันที่ 15 เมษายน 2550

เป็นการสะท้อนภาพของการเริ่มต้นของกลุ่มการเมืองใหม่ ภายใต้การนำของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือว่าเป็นแกนนำคนสำคัญ ที่กำลังเผชิญความท้าทายกับการถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นร่างทรงของพรรคไทยรักไทย

“ผมก็ต้องยืนยันว่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ผมไม่เคยโทรศัพท์ ไม่เคยพบท่าน และช่วงที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล ก็มีภาพที่เกิดขึ้นที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะผมถูกโยกงานเปลี่ยนแปลงไปมาตลอด”

คำยืนยันของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่มักถูกถามเสมอ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขา และ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และไม่ใช่ร่างทรงของใคร เพราะปัจจุบันเขาคือหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “มัชฌิมา” ที่พร้อมจะประสานกับพรรคการเมืองทุกกลุ่ม และกลุ่มสังคมต่างๆ

เป้าหมายของ “สมศักดิ์” สำหรับอนาคตของกลุ่ม “มัชฌิมา” คือการเป็นพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ลงสมัครไม่ว่าพื้นที่ใดแล้วประชาชนต้องเลือก และแน่นอนเพื่อนำไปสู่การกลับมาเป็นคณะรัฐมนตรีอีกครั้งของ “สมศักดิ์”

แต่กว่าจะถึงจุดหมายในเส้นทางการเมืองครั้งใหม่นี้ “สมศักดิ์” รู้ตัวดีว่า “มัชฌิมา” ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง และต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาใช้ เหมือนอย่างที่เขาเคยเรียนรู้เมื่อครั้งสังกัดพรรคไทยรักไทย และมีอำนาจต่อรองพอสมควร ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม ที่มี ส.ส. สังกัดอยู่ถึง80 คน และยังมีส่วนช่วยสร้างความฮือฮาให้กับพรรคไทยรักไทยบ่อยครั้งด้วยไอเดียกระฉูดเป็นจอมโปรเจกต์ อย่างที่ฮือฮาคือ “โครงการโคล้านตัว”

นอกเหนือจากนี้เขายังรู้ดีว่าการสร้างพรรคการเมืองโดยชูผู้นำ หรือหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว คงไม่เหมาะสมอีกต่อไปสำหรับคนไทย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำสำหรับกลุ่มมัชฌิมา คือการทำงานเป็นทีม และนำความผสมผสานระหว่างนักปฏิบัติ คือนักการเมืองในพื้นที่ กับนักวิชาการมาทำงานร่วมกัน

และงานนี้เขาพร้อมจ้างเอเยนซี่ที่จะทำสื่อสารครบวงจร รวมถึงการมีทีมที่ปรึกษาที่พร้อมทำแบรนดิ้งให้กับ “มัชฌิมา” นำทีมโดย “วีระศักดิ์ จินารัตน์”

“วีระศักดิ์” อดีต ส.ว. จังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่าตนเองในฐานะนักวิชาการ ผ่านการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิด้า และเอไอที รับหน้าที่ในกลุ่มเป็นประธานกลุ่มวิชาการและยังมีนักวิชาการจากอีกหลายแห่งรวมกว่า 30 คน ที่เข้าสังกัดกลุ่ม

มัชฌิมา ทั้งหมดมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะช่วยจัดทำแผนแบรนดิ้งให้กับมัชฌิมาได้ และขณะนี้ก็ได้เริ่มก้าวแรกสำหรับการแบรนดิ้ง และมีแผนต่อๆ ไป ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะคู่แข่งอาจทำตาม แต่ยืนยันได้ว่าในที่สุดจะทำให้มัชฌิมาประสบความสำเร็จชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

แผนแรกที่ดำเนินการคือการจัดคอร์สเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม โดยเริ่มครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน 2550 ผ่านการสัมมนาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการแข่งขัน

ที่มาของการจัดคอร์สความรู้นั้น “วีระศักดิ์” ชี้แจงว่า จากการสำรวจทัศนะคติพบว่ากลุ่มคนต่างๆ มองนักการเมืองทางลบ เห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญที่ลดจำนวน ส.ส. หรือให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นแผนของมัชฌิมาคือการทำให้นักการเมืองมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นผู้มีความรู้

“นับจากนี้ 7-8 เดือนก่อนเลือกตั้ง กลุ่มมัชฌิมาได้วางกำหนดการสัมมนาสมาชิกของกลุ่มทุกเดือนเพื่อเสริมความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และการตลาด โดยได้คัดสรรความรู้ต่างๆ มานำเสนอเทียบชั้นการเรียนการสอนในระดับด็อกเตอร์”

แผนต่อไปในเดือนพฤษภาคม ยังเตรียมประกาศผลการวิจัยที่กลุ่มดำเนินการมาเป็นระยะเกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อกลุ่มมัชฌิมา จากนั้นจึงจะจัดทำแผนสื่อสาร และแคมเปญต่างๆ ออกมา

ในขณะที่สมาชิกของกลุ่มมัชฌิมายังมีเพียงกลุ่มของ “สมศักดิ์” เป็นแกนหลักเท่านั้น แต่ยังมีการเรียกร้องหา “สินค้า” ใหม่เข้ามาสังกัดพรรค รวมไปถึง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่จนขณะนี้ยังไม่ปรากฏกายชัดเจนว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มของ “สมศักดิ์” หรือไม่

แต่ข้อดีของการมีกลุ่มนักวิชาการเข้าร่วมกลุ่มขณะนี้ “วีระศักดิ์” บอกว่า ทำให้ภาพลักษณ์ของ “สมศักดิ์” เปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่าผู้นำพรรค หรือผู้นำกลุ่มคือคนตัดสินใจคนเดียว เมื่อมีนักวิชาการร่วมงานถึง 30 คนเช่นนี้ ทำให้คนมองว่า “สมศักดิ์” ก็พร้อมรับฟังความเห็นของคนอื่นด้วยเช่นกัน

งานนี้คือการเริ่มต้นของ “มัชฌิมา” ที่ทั้งสมศักดิ์ และวีระศักดิ์ ต่างบอกว่ายังมีอะไรให้ต้องติดตามอีกมากมาย เพราะมัชฌิมาจะสร้างมิติใหม่ทางการเมือง ภายหลังแบรนดิ้งแล้ว และพร้อมจะให้ประชาชนทดสอบ “แบรนด์ พาวเวอร์” ของมัชฌิมา

“สายกลาง” Positioning มัชฌิมา

สมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา มองจุดอ่อนจุดแข็งของกลุ่มมัชฌิมาว่า

จุดแข็ง-เป็นพรรคเศรษฐกิจชุมชน มีฐานเสียงทั่วประเทศ และชัดเจนตั้งแต่ชื่อพรรคและแนวทางที่ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร เพราะเดินสายกลาง

จุดอ่อน-ความเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ มีทุนทรัพย์น้อย จะใช้งบประมาณใดก็ต้องให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนภาพลักษณ์เดิมที่เคยเป็นผู้บริหารพรรคไทยรักไทย มีทางแก้ไขโดยใช้วิธีการสื่อสารผ่านสื่อตอกย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวพันใดๆ กับพรรคไทยรักไทยแล้ว