ชนะคดี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Oct 2023 05:22:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กฤษณ์-กรณ์ ณรงค์เดช แถลงคดี “หุ้นวินด์” ศาลตัดสินชัดบิดา “ถูกปลอมลายเซ็น” https://positioningmag.com/1448947 Fri, 20 Oct 2023 08:17:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1448947
  • ศึกสายเลือด “ณรงค์เดช” ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 7 ปี มีความคืบหน้าแล้วหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินว่า นายเกษม ณรงค์เดช “ถูกปลอมลายเซ็น” เอกสาร 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ “หุ้นวินด์” จริงตามที่ครอบครัวณรงค์เดชยืนยันมาตลอด
  • อย่างไรก็ตาม ศาลยกฟ้องในส่วนของผู้ปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากขาดหลักฐานพยานยืนยันว่าใครเป็นผู้กระทำ
  • ครอบครัวณรงค์เดชยืนยัน ปัจจุบันมีเพียงนายกฤษณ์ ลูกชายคนโต และนายกรณ์ ลูกชายคนเล็ก ทายาทครอบครัวเพียง 2 คนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจ
  • นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช ร่วมด้วย นายทิชา ป้อมค่าย ทนายครอบครัว จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าของคดีหมายเลขดำที่ 1708/2564 กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับพวกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2564

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ1753/2566 โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เอกสารจำนวน 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม กล่าวคือ

    1) สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ ที่นายเกษม ทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด

    2) หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ที่นายเกษม รับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์

    3) ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษม โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

    4) ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

    5) คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว

    ณรงค์เดช หุ้นวินด์
    เอกสารหลักฐาน ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นลายเซ็นปลอม (ภาพจาก: ครอบครัวณรงค์เดช)

    เมื่อเป็นเอกสารลงลายเซ็นปลอม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ริบเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว การถือเป็นทรัพย์ที่มีไว้จะเป็นความผิดหรือโดยนำไปใช้ก็จะมีความผิดเช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลได้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากฝ่ายโจทก์ (นายเกษม) ไม่สามารถยืนยันระบุได้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ทำเอกสารปลอม

    นายทิชา ทนายครอบครัวอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลตัดสินนี้จึงถือได้ว่านายเกษมไม่เคยเป็นตัวแทนหรือนอมินีของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอยี ตามที่นายณพ และคุณหญิงกอแก้วได้กล่าวอ้างมาตลอด และเมื่อเอกสารเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคระหว่างนายเกษมและคุณหญิงกอแก้วเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นจึงไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

    งานแถลงข่าวคำพิพากษาคดีปลอมลายเซ็นนายเกษม ณรงค์เดช ณ ตึก One City Centre

    หลังจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชจะใช้คำพิพากษาแจ้งต่อนายทะเบียนในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงให้ทราบและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนบริษัท เนื่องจากผลของคดีทำให้การโอนหุ้นของบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดไปให้คุณหญิงกอแก้วเป็นโมฆะ นายเกษมยังคงเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในโกลเด้นมิวสิค

    โดยนายกฤษณ์ ณรงค์เดชเสริมว่า ปัจจุบันบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดถือหุ้นอยู่ในบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เป็นสัดส่วน 38% ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น นายทิชากล่าวว่า ผลพิพากษาคดีนี้จะมีผลเกี่ยวเนื่องกับคดีอื่นๆ อีกนับสิบคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาลขณะนี้ด้วย

    จุดเริ่มต้นศึก “ณรงค์เดช”

    ศึกสายเลือดณรงค์เดชครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2558 นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของครอบครัว นำเสนอให้ครอบครัวซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ซึ่งทางครอบครัวนำโดยนายเกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดา เห็นชอบในการลงทุนนี้และให้นายณพเป็นแม่งานหลักในการซื้อหุ้น โดยตั้งใจให้วินด์ฯ เข้ามาเป็นธุรกิจใหม่ในอาณาจักรของครอบครัว พร้อมลงลายลักษณ์อักษรการจัดสรรแบ่งหุ้นกันในหมู่พี่น้อง

    การดำเนินการผ่านไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 นายเกษม ณรงค์เดชกลับได้รับหมายศาลจากนายนพพรว่ามีคดี “โกงค่าหุ้น” เกิดขึ้น โดยทางนายนพพรได้รับชำระค่าหุ้นมาเพียง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

    หลังจากนั้นครอบครัวณรงค์เดชฝั่งนายเกษมจึงสืบทราบว่า หุ้นของวินด์ เอนเนอยีถูกโอนไปอยู่ในมือบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ด ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และนายเกษมกลายเป็น “นอมินี” ในการโอนหุ้นของวินด์ฯ ไปจนถึงมือคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ซึ่งนายเกษมยืนยันมาตลอดว่า เอกสารที่เกี่ยวกับการเป็นนอมินีโอนหุ้นไปให้คุณหญิงกอแก้วนี้ตนไม่เคยได้เห็นและลายมือชื่อในเอกสารถูกปลอมขึ้น

    คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดานั้นมีศักดิ์เป็น “แม่ยาย” ของนายณพ ณรงค์เดช โดยนายณพแต่งงานกับนางพอฤทัย ณรงค์เดช (บุณยะจินดา) ลูกสาวของคุณหญิงกอแก้วกับพล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ (เสียชีวิตแล้ว)

    เมื่อความปรากฏเช่นนี้แล้ว จึงกลายเป็นว่าประเด็นนี้มีทั้ง “ศึกภายใน” คือ หุ้นวินด์ เอนเนอยีที่ทางนายเกษมยืนยันว่าเป็นธุรกิจของครอบครัว ขณะที่นายณพก็ยืนยันว่าเป็นธุรกิจส่วนตัวเฉพาะของตน รวมถึงมี “ศึกภายนอก” ที่นายนพพร ฟ้องร้องเรียกเงินค้างชำระค่าหุ้นวินด์ฯ

    พิสูจน์ความจริงเพื่อกู้ชื่อเสียง “คุณพ่อ”

    หลังมีคำพิพากษาเรื่องการปลอมลายเซ็นจากศาลอาญากรุงเทพใต้ นายกรณ์ ณรงค์เดชกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ดำเนินมาเกือบจะ 7 ปีนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่นำความทุกข์ใจมาให้ครอบครัวอย่างมาก

    “ตอนเกิดเรื่องพ่อผมอายุ 82 ปีแล้ว ผมรู้สึกสงสารคุณพ่อสุดหัวใจ” นายกรณ์กล่าว “การฟ้องร้องเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งวันนี้คุณพ่อได้พิสูจน์แล้วว่า พ่อไม่ได้เป็นคนกระทำผิด และคุณพ่อพูดความจริงมาตลอดว่าถูกปลอมลายเซ็น”

    ณรงค์เดช หุ้นวินด์
    (จากซ้าย) นายกรณ์ ณรงค์เดช ลูกชายคนเล็ก, นายกฤษณ์​ ณรงค์เดช ลูกชายคนโต และนายทิชา ป้อมค่าย ทนายความครอบครัว

    ที่ผ่านมานายเกษมได้ถูกเข้าใจผิดมาเป็นระยะเวลาหลายปีว่า การที่นายเกษมออกมาพูดเรื่องการถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นของนายเกษมไปให้แก่คุณหญิงกอแก้วเป็นเรื่องไม่จริง ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ใช้ความอดทนเพื่อรอการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา

    จนกระทั่งวันนี้หลักฐานถูกพิสูจน์แล้วโดยหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ได้แก่ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผลการตรวจสอบจากทั้ง 2 สถาบันล้วนยืนยันออกมาตรงกันว่าเป็นลายมือชื่อปลอม

    ทายาทเหลือแค่ 2 คน – ทำธรรมนูญครอบครัวป้องกันปัญหา

    ด้านการดูแลธุรกิจ “กงสี” ของครอบครัวณรงค์เดชที่มีนับสิบบริษัท นายกฤษณ์ ลูกชายคนโตระบุว่า ขณะนี้จะมีทายาทเพียง 2 คนเท่านั้นคือตนและนายกรณ์ที่เป็นผู้ดูแลบริหารทั้งหมด

    รวมถึงจะมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันไม่ให้มีศึกสายเลือดขึ้นอีก

    นายกฤษณ์และนายกรณ์เล่าถึงประวัติในครอบครัวว่า ครอบครัวโตมากับการมี “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช (พรประภา)” เป็นผู้ดูแลจัดการระบบกงสีภายในบ้าน คุณหญิงพรทิพย์เปรียบเสมือน ‘ผู้คุมกฎ’ ซึ่งเป็นกฎที่พูดกันด้วยวาจา ไม่มีการลงลายลักษณ์อักษรไว้ เมื่อสิ้นคุณหญิงแล้วกฎจึงเกิดการอะลุ้มอะล่วยขึ้น

    “เราคุยกันในครอบครัวแล้วว่า ต่อไปเป็นหน้าที่ผมกับกรณ์ที่จะปกป้องตระกูลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก” กฤษณ์กล่าว

    ]]>
    1448947
    จับตาทีวีดิจิทัลแห่คืนใบอนุญาต หลัง ”เจ๊ติ๋ม” ชนะคดี กสทช. คืนเงิน 1.5 พันล้าน https://positioningmag.com/1161480 Tue, 13 Mar 2018 11:19:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161480 คาดทีวีดิจิทัลเตรียมคืนช่อง หลังศาลสั่ง กสทช. คืนเงินช่องเจ๊ติ๋ม ย้ำ กสทช. ควรยอมรับความจริง และแก้ปัญหาค่าธรรมเนียม ค่าเช่าสัญญาณ

    วันนี้ (13 มี.ค.) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของบริษัท ไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด

    พร้อมกับขอให้เพิกถอนหนังสือ กสทช.ฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2558, ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ที่ให้บริษัท ไทยทีวี ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่ 2 และฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ยกเลิกให้บริษัท ไทยทีวี ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่พร้อมกับให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ให้ใช้คลื่นความถี่ และให้สั่ง กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ

    รวมทั้งคืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่บริษัทฯ ได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 365,512,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จสิ้น และค่าเสียหายจากการกระทำของ กสทช.จำนวน 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

    โดยศาลปกครองกลางพิพากษาว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา

    แต่วันบอกเลิกสัญญาพ้นกำหนดการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ที่บริษัทฯ ได้มีการดำเนินการกิจการทีวีดิจิตอลไปแล้วจึงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 จำนวน 258 ล้านบาท ส่วนหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ จำนวน 16 ฉบับ ซึ่งเป็นค่างวด ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไปให้ กสทช.คืนให้แก่บริษัท แต่ถ้าไม่สามารถคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้เป็นเงินแทน อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่ได้ให้ กสทช.ชดใช้ค่าเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้อง เพราะภาวะการขาดทุนเกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ

    พันธุ์ทิพา พอใจที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิดจริง โดยศาลให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีให้บริษัท ไทยทีวี ในงวดที่ 3, 4, 5 และ 6 มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700 ล้านบาทตามที่ขอไป จึงจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยมั่นใจว่ามีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า กสทช.ทำผิดสัญญาจนทำให้เกิดความเสียหาย

    “เราไม่ใช่คนที่อ่อนแอ หรือไม่มีสายป่าน ขาดทุนแล้วจึงเลิก เราเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถ เพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำไม่ได้เอื้อ และเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ทำธุรกิจเกือบ 40 ปีไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็น อ่อนแอ เป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก ตอนนี้ช่องอื่นๆ ก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยก ถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น แม้ว่า กสทช.ชุดที่อนุมัติเรื่องทีวีดิจิทัลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมนั้น” พันธุ์ทิพากล่าว

    ด้าน สมบัติ ลีลาพตะ ผอ.สำนักกฎหมาย กสทช.กล่าวว่า ทาง กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่าศาลยังไม่ได้นำข้อเท็จจริงบางส่วนมาประกอบการพิจารณา เช่น รายละเอียดในหนังสือชี้ชวน ที่กำหนดว่าโครงข่ายจะมีการขยายได้ปีละเท่าใด และกรณีที่บริษัท ไทยทีวี อ้างว่าโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์มีปัญหา แต่จริงๆ ทางไทยทีวีใช้โครงข่ายของผู้ประกอบการรายอื่น

    สำหรับช่องทีวีดิจิทัล อย่าง นวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ให้ความเห็นถึงกรณีนี้ว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง ทำให้ไทยทีวี จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยคำตัดสินของศาลที่ออกมาในวันนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในอนาคตได้เลย

    โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้สามารถคืนสัญญาหรือคืนช่องได้ เพราะเมื่อทำต่อไม่ไหวด้วยปัจจัยหลายด้าน ก็ควรมีทางออกให้กับผู้ประกอบการได้เลือกตัดสินใจ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนมือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มาทำแทนเลย หรือจะเป็นหน้าเก่าที่มีช่องในมืออยู่แล้วและมีศักยภาพในการทำช่องก็สามารถมาทำได้

    รวมถึงการเปิดโอกาสให้ช่องสามารถปรับส่งสัญญาณภาพจากหมวดหมู่ความคมชัดปกติเป็นความคมชัดสูงได้ หรือการเยียวยาวอย่างอื่นที่เห็นผลชัดเจนมากกว่านี้ ก็จะดีต่อผู้ประกอบโดยรวมอย่างมาก

    ทางด้าน สุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความเห็นกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษา ว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ว่า กรณีนี้คาดว่าจะเป็นตัวอย่างและจะมีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องมองเป็นตัวอย่างได้เพราว่ามีหลายช่องก็แบกรับภาระต้นทุนที่สูงไม่ไหว

    ปัจจุบันนี้ทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตมา 24 ช่อง มีเพียง 22 ช่องที่ดำเนินการอยู่ นอกจากช่องของเจ๊ติ๋ม 2 ช่องที่หยุดดำเนินการไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่ง 22 ช่องที่เหลือ ก็มีแนวโน้มว่า จากนี้ไปอาจจะเหลืออีกไม่ถึง 10 ช่องเท่านั้น และที่ผ่านมาหลายช่องก็มีการเปลี่ยนแปลงนายทุนเปลี่ยนแปลงเจ้าของไปหลายช่องแล้ว เพราะว่าไปไม่รอด

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ กสทช. น่าจะดำเนินการจากนี้ คือการยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้วยการแก้ไขเงื่อนไขสัมปทานหรือกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น ใบอนุญาตสัมปทาน 15 ปีที่ให้เอกชนไปนั้น ในเรื่องของการจ่ายค่างวดสัมปทานควรจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง หรือการจ่ายค่า MUG สัญญาณ จะลดลงอย่างไรได้บ้าง

    กสทช. ผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว ที่เปิดประมูลรวดเดียว 24 ช่อง ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ควรจะเปิดเป็นระดับขั้นตอนไป ไม่ใช่เปิดครั้งเดียว การเปลี่ยนถ่ายจากระบบอะนาล็อกต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการแจกคูปองแลกอล่องที่ล่าช้า ไม่มีแผนการเรียงช่องที่ชัดเจน ไม่มีการให้ความรู้และการเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนถ่าย การนำสัญญานดิจิทัลภาคพื้นดินไปออกอากาศผ่านดาวเทียม เป็นต้นและอีกหลายอ่าง

    “ที่ผ่านมา คนในวงการทีวีดิจิทัล ต้องถูกปลดหรือออกจากงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะการที่ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวของทีวีดิจิทัลหลายช่อง เพราะต้นทุนการประมูลสูงมาก”.

    ]]>
    1161480