สาวิตรี รินวงษ์
กลายเป็น “ศึกสายเลือด” ที่ซ้ำรอยรุ่นใหญ่ไปเสียแล้ว สำหรับตระกูล “ณรงค์เดช” เมื่อ ” ดร. เกษม ณรงค์เดช” ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น ตามด้วยบุตรชาย “กฤษณ์–กรณ์ ณรงค์เดช” ประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เคพีเอ็น ซึ่งทั้งหมดเป็น พ่อ พี่ชายและน้องชาย ที่ออกแถลงการณ์ “ตัดขาด” ความสัมพันธ์กับ “ณพ ณรงค์เดช” ลูกชายคนกลาง โดยมีสาเหตุจากปมธุรกิจ
ที่บอกว่าเป็นสงครามครอบครัว “ซ้ำรอย” เพราะหากย้อนอดีตจะพบว่ารุ่นใหญ่ คือ “ถาวร พรประภา” ผู้ร่วมสร้างอาณาจักรสยามกลการ ก็มีปัญหาขัดแย้งกับพี่ชาย “สินธุ์ พรประภา” ในยุคที่ค้าขายเศษเหล็กและอะไหล่เครื่องยนต์
ถัดมารุ่นลูกสาวของ “ถาวร” ก็คือ “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช” ผู้เป็นภรรยา “ดร.เกษม” และ “มารดา” ของลูกๆ สามทหารเสือ “ณรงค์เดช“ ก็เคยผ่านจุดร้าวฉานของความสัมพันธ์กับคนในตระกูลมาแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้มีศักดิ์เป็น “อา ปรีชา พรประภา“ เนื่องจากความเห็นต่างทางธุรกิจ รวมถึงการมี “อำนาจ” ใหญ่ในการกุมบังเหียนธุรกิจยานยนต์ ภายใต้บริษัท สยามกลการ จำกัด ซึ่งประเด็นนี้ “ถาวร พรประภา“ ผู้เป็นบิดาของ “พรทิพย์” และเป็นพี่ชายของ “ปรีชา“ รู้ดีถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายไปเอง
แต่ที่สุด สงครามสายเลือดก็ยังอยู่ และหนักข้อมากขึ้น เพราะธุรกิจที่มีมูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท” ของสยามกลการ ความยิ่งใหญ่ของ “อาณาจักร” ที่เคยมีชื่อติดท็อปๆ ในระดับภูมิภาคย่อมมีคนอยากได้และเข้ามานั่งเก้าอี้บริหารเพื่อกุมบังเหียนธุรกิจ
แน่นอนว่า เลือดข้นกว่าน้ำ ลูกสาวของ “ถาวร” ก็คือ “พรทิพย์“ ที่ร่วมหัวจมท้ายดูแลธุรกิจครอบครัวเคียงข้างบิดาตั้งแต่อายุ 17-18 ปี รู้ทุกกระบวนการบริหาร การทำธุรกิจ ก็ได้เป็นใหญ่มีอำนาจคุมธุรกิจเบ็ดเสร็จ
นอกจากศึกสายเลือด “อา–หลาน” ระหว่างนั้นยังมี “สงครามพี่น้อง” ระหว่าง “พรเทพ พรประภา“ (น้องชายของคุณหญิงพรทิพย์) กับ “พรพินิจ พรประภา“ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากผลประโยชน์ทาง “ธุรกิจ”
เพราะ “อาณาจักรสยามกลการ“ คร่ำหวอดในธุรกิจยานยนต์มากมาย ทั้งรถจักรยานยนต์ “ยามาฮ่า” มาจนถึงรถยนต์ “นิสสัน“ นอกจากจุดเริ่มต้นของการ “แย่ง” อำนาจบริหารธุรกิจของคนในครอบครัวแล้ว การ “ยึด” พันธมิตรทางธุรกิจมาครอบครองเป็นของตัวเอง ก็เป็นชนวนเหตุให้ความร้าวฉานร้าวลึกกว่าเดิม เพราะเมื่อ “เกษม“ และ “คุณหญิงพรทิพย์“ ตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองในนาม “เคพีเอ็น” ลุยธุรกิจยานยนต์เหมือนกัน เพื่อแข่งกับธุรกิจ “สยามกลการ” ของตระกูล “พรประภา“ เต็มตัว จึงดึง “ยามาฮ่า มอเตอร์” ประเทศญี่ปุ่น มาร่วมทุนโดยตรง
นั่นหมายถึง “ยามาฮ่า มอเตอร์” ต้องสะบั้นพันธมิตรเก่า 30 ปี อย่าง “สยามกลการ“ พร้อมระบุเหตุผลการเลือก “เคพีเอ็น” เป็นพาร์ตเนอร์ใหม่และลงทุนในไทยเพราะคุ้นเคยกับ “คุณหญิงพรทิพย์–เกษม” ดีกว่า ที่สำคัญเชื่อมั่นในศักยภาพของ “เคพีเอ็น” มากกว่า “สยามกลการ” และนำไปสู่การที่ “ยามาฮ่า มอเตอร์” สะบั้นไม่ต่อสัญญาธุรกิจกับสยามยามาฮ่าในเครือสยามกลการในที่สุด
เมื่อดึงธุรกิจยานยนต์จาก “พรประภา” มาอยู่ในอ้อมอกอาณาจักร “เคพีเอ็น” ไม่พอ ยังลุยธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี “เคพีเอ็น มิวสิค“ มา “ทับไลน์” กับ “โรงเรียนสอนดนตรีสยามยามาฮ่า” กันอีก เรียกว่าเปิดเกมรบตีโอบสยามกลการทุกทิศทางจริงๆ ทำให้ “สายเลือด” ต้องขับเคี่ยวกันระอุกว่าเดิมทั้งการขยายสาขาโรงเรียนในอัตราเร่ง แย่งตัวครูสอนที่ขึ้นชื่อในวงการดนตรี เพลง สุดท้ายนำไปสู่การแย่งนักเรียนที่เป็นลูกค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับอาณาจักรธุรกิจของแต่ละฝั่ง
จะว่าไปแล้ว ธุรกิจยานยนต์ รวมถึงธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี “คุณหญิงพรทิพย์–เกษม” ล้วนมีส่วนทั้งริเริ่ม และทำให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปร่าง เมื่อลงมือสร้างมากับมือ บริหารจนรู้กลยุทธ์ การทำตลาดแบบหมดไส้หมดพุง จึงไม่แปลกที่จะ “แตกตัว“ ออกมาสร้างอาณาจักรเอง กลับไปแข่งขัน
นั่นเป็นบทสรุปคร่าวๆ ของศึกสายเลือดรุ่นใหญ่ ทว่าความร้าวฉานของคนในครอบครัวที่ออกมา “สาวไส้ให้กากิน” เบาๆ ของรุ่นพ่อ–ลูก “เกษม–กฤษณ์–กรณ์” กับ “ณพ“ ก็ไม่ต่างจากรุ่นเดอะ เมื่อ “ผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ“ เป็นปมปัญหาจากการซื้อขายหุ้น การเข้าไปบริหาร และการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดกับ “บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH)” ถึงขั้นพ่อ–ลูก “ณรงค์เดช“ ร่อนแถลงการณ์ร้อน!” ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำของ “ณพ“ ที่เกิดใน WEH จนทำเอาสังคมต๊กกะใจ! ไม่เอา “ณพ” เพราะต้องยอมรับว่าหากใครตามติด “สามพี่น้องณรงค์เดช” ต้องบอกว่าดูรักกันมาก ยิ่งถ้าได้พูดคุยกับ 3 หนุ่ม จะได้สัมผัสกับบุคลิกที่นุ่มนวล
ส่วนเรื่องธุรกิจ หลังสิ้นหญิงเหล็กแห่งวงการธุรกิจ “คุณหญิงพรทิพย์” แล้ว จะเห็นชัดว่าลูกๆ ทั้ง 3 คนมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไปชัดเจน
- คนโต “กฤษณ์” ดูแลภาพรวมของเครือเคพีเอ็น และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ตระกูลเพิ่งมารุกตลาดจริงจังไม่นานนัก
- คนกลาง “ณพ” ดูแลธุรกิจการศึกษา โรงเรียนสอนดนตรี
- คนเล็ก “กรณ์” ดูแลธุรกิจบันเทิง เคพีเอ็น อวอร์ด
เมื่อดูเส้นทางของ “ณพ” กับธุรกิจพลังงานลมยักษ์ใหญ่ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” จะพบว่า
• 2 ปีที่แล้ว “ณพ” ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช เรื่องจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่
• ครอบครัวณรงค์เดชให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม
• เมื่อ “ณพ” ได้รับความช่วยเหลือแล้ว กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนลำพัง ครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ
ทั้งรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนในวินด์ เอนเนอร์ยี่ ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆ ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา
• “ณพ“ ให้ “กรณ์” นั่งเป็นกรรมการฯ (บอร์ดบริหาร) ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แต่ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้รายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ จนต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นบอร์ด
• ข่าวของ “ณพ” กับ วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ครอบครัวณรงค์เดช ก็รู้จากข่าวเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป
ส่วนลำดับเหตุการณ์ซื้อขายโอนหุ้น วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ฯ มีดังนี้
• ปี 2558 บริษัทซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ ลิมิเต็ด (เอสพีแอล) บริษัทเน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส ลิมิเต็ด (เอ็นจีไอ) และ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด (ดีแอลวี) ขายหุ้น 99% ของหุ้นในบริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด (เคพีเอ็น อีที) (ขณะนั้นชื่อบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วน 59.4%) ในราคาตามสัญญาทั้งสิ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินหลายงวด
ส่วนผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวคือบริษัท ฟูลเลอร์ตัน อินเวสต์เมนต์ จำกัด (ฟูลเลอร์ตัน) และบริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (เคพีเอ็น อีเอช) ซึ่งทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัท “กระดาษ“ มี “ณพ” เป็นเจ้าของและมีอำนาจควบคุม ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชได้ชำระค่าหุ้นงวดแรกเป็นเงินเพียงประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนำมาจากการออกตั๋ว B/E กระทั่งปี 2559 ไม่มีการต่ออายุตั๋ว ทำให “ณพ” ไปยืมเงินจากครอบครัวเพื่อมาชำระหนี้ตั๋ว B/E
อย่างไรก็ตาม เมื่อฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบถ้วน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีจึงได้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี
• ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี ได้เรียกร้องให้มีคำชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (1) ให้ยกเลิกการขายหุ้นระหว่างเอสพีแอลกับฟูลเลอร์ตัน หรือ (2) ให้มีการชำระเงินที่ต้องชำระเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ในเดือนกันยายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้สั่งให้เคพีเอ็น อีเอชและฟูลเลอร์ตันชำระเงินจำนวนประมาณ 113 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือของราคาตามสัญญาและดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าว และได้สั่งมีคำสั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ในสัดส่วนร้อยละ 59.4 ซึ่งเคพีเอ็น อีทีเป็นเจ้าของ จนกว่าจะได้มีการชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วน โดยระบุว่าการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวน่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งอันไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้
• เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีได้มีคำขอเป็นหนังสือให้ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็นอีเอชชำระเงินตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซี แต่ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชก็ยังปฏิเสธที่จะชำระเงิน ตามข้อเรียกร้อง โดยหน่วงเหนี่ยวการตอบข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเวลากว่า 30 วัน
• เดือนกันยายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซีได้มีคำสั่งห้ามโอนหุ้น 59.4% ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชยังถูกสั่งให้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า เคพีเอ็น อีทียังเป็นเจ้าของหุ้นของ วินด์ เอนเนอร์ยี่อยู่หรือไม่ แต่ปลายเดือนตุลาคม 2560 กลับพบว่าทั้ง 2 บริษัทโอนหุ้นดังกล่าวไปยังบุคคลที่สามตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2559 โดยไม่เผยชื่อผู้รับโอน
• อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทำให้เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีต้องให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนในวงจำกัดเพื่อแจ้งต่อสาธารณชนเกี่ยวกับคำสั่งห้ามโอนหุ้น 59.4% ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ และเสนอเงินจูงใจให้แก่บุคคลใดก็ตามที่ที่มีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะของหุ้นดังกล่าว (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560) หลังจากนั้นไม่นาน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวีก็ได้รับรู้ถึงตัวของผู้รับโอนหุ้น
ขั้นต้นของหุ้นร้อยละ 59.4 ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ว่าเป็น “ดร.เกษม ณรงค์เดช” บิดาของ “ณพ” โดยไม่กี่วันก่อนมีการโอนหุ้นให้ “ดร.เกษม” กรรมการจำนวน 5 คนของ เคพีเอ็น อีที ได้แก่ “นายณพ ณรงค์เดช, นายธันว์ เหรียญสุวรรณ, นาย กฤษณ์ ณรงค์เดช, นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนายอมาน ลาคานี” ได้ลาออก และมีกรรมการใหม่ 3 มาแทนที่
• ขณะที่ราคาขายหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ที่เคพีเอ็น อีทีขายให้แก่นายเกษม ณรงค์เดชนั้น คิดเป็นสัดส่วน 10% ของราคาที่ซื้อมาแต่แรก (2,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
• เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้ ฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอชมีเงินทุนชำระแล้วในจำนวนที่จำกัดมาก (50,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับทุนเรือนหุ้นของฟูลเลอร์ตัน และ 2.5 ล้านบาทของเคพีเอ็น อีเอช)
• เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี ดำเนินการฟ้องร้อง “ณพ” และพวกอีก 13 คน ฐานความผิดโกงเจ้าหนี้ และ “ณพ” ยังได้แจงผ่านสื่อจะฟ้องกลับกับผู้ที่ทำให้ตนและ “ครอบครัวณรงค์เดช” ฐานให้ข้อมูลเท็จและสร้างเรื่องให้เป็นข่าว สร้างความเสียหายให้กับครอบครัว
สำหรับเคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น ปัจจุบันรายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังพบรายชื่อ “ณพ” นั่งเป็นกรรมการ (บอร์ด) อยู่ และในปี 2559 บริษัทมีการรายงานรายได้รวมกว่า 1,400 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 6 แสนกว่าบาท แต่หากดูรายได้รวมที่กลุ่มประกาศให้สาธารณชนทราบ เมื่อปี 2556 จะพบว่าขุมทรัพย์องค์กรใหญ่และมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท!