กฤษณ์-กรณ์ ณรงค์เดช แถลงคดี “หุ้นวินด์” ศาลตัดสินชัดบิดา “ถูกปลอมลายเซ็น”

ณรงค์เดช หุ้นวินด์
  • ศึกสายเลือด “ณรงค์เดช” ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 7 ปี มีความคืบหน้าแล้วหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินว่า นายเกษม ณรงค์เดช “ถูกปลอมลายเซ็น” เอกสาร 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ “หุ้นวินด์” จริงตามที่ครอบครัวณรงค์เดชยืนยันมาตลอด
  • อย่างไรก็ตาม ศาลยกฟ้องในส่วนของผู้ปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากขาดหลักฐานพยานยืนยันว่าใครเป็นผู้กระทำ
  • ครอบครัวณรงค์เดชยืนยัน ปัจจุบันมีเพียงนายกฤษณ์ ลูกชายคนโต และนายกรณ์ ลูกชายคนเล็ก ทายาทครอบครัวเพียง 2 คนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจ

นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช ร่วมด้วย นายทิชา ป้อมค่าย ทนายครอบครัว จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าของคดีหมายเลขดำที่ 1708/2564 กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับพวกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2564

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ1753/2566 โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เอกสารจำนวน 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม กล่าวคือ

1) สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ ที่นายเกษม ทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด

2) หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ที่นายเกษม รับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์

3) ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษม โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

4) ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว

5) คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว

ณรงค์เดช หุ้นวินด์
เอกสารหลักฐาน ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นลายเซ็นปลอม (ภาพจาก: ครอบครัวณรงค์เดช)

เมื่อเป็นเอกสารลงลายเซ็นปลอม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ริบเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว การถือเป็นทรัพย์ที่มีไว้จะเป็นความผิดหรือโดยนำไปใช้ก็จะมีความผิดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลได้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากฝ่ายโจทก์ (นายเกษม) ไม่สามารถยืนยันระบุได้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ทำเอกสารปลอม

นายทิชา ทนายครอบครัวอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลตัดสินนี้จึงถือได้ว่านายเกษมไม่เคยเป็นตัวแทนหรือนอมินีของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอยี ตามที่นายณพ และคุณหญิงกอแก้วได้กล่าวอ้างมาตลอด และเมื่อเอกสารเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคระหว่างนายเกษมและคุณหญิงกอแก้วเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นจึงไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

งานแถลงข่าวคำพิพากษาคดีปลอมลายเซ็นนายเกษม ณรงค์เดช ณ ตึก One City Centre

หลังจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชจะใช้คำพิพากษาแจ้งต่อนายทะเบียนในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงให้ทราบและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนบริษัท เนื่องจากผลของคดีทำให้การโอนหุ้นของบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดไปให้คุณหญิงกอแก้วเป็นโมฆะ นายเกษมยังคงเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในโกลเด้นมิวสิค

โดยนายกฤษณ์ ณรงค์เดชเสริมว่า ปัจจุบันบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ดถือหุ้นอยู่ในบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เป็นสัดส่วน 38% ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด

นอกจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น นายทิชากล่าวว่า ผลพิพากษาคดีนี้จะมีผลเกี่ยวเนื่องกับคดีอื่นๆ อีกนับสิบคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาลขณะนี้ด้วย

จุดเริ่มต้นศึก “ณรงค์เดช”

ศึกสายเลือดณรงค์เดชครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2558 นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของครอบครัว นำเสนอให้ครอบครัวซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ซึ่งทางครอบครัวนำโดยนายเกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดา เห็นชอบในการลงทุนนี้และให้นายณพเป็นแม่งานหลักในการซื้อหุ้น โดยตั้งใจให้วินด์ฯ เข้ามาเป็นธุรกิจใหม่ในอาณาจักรของครอบครัว พร้อมลงลายลักษณ์อักษรการจัดสรรแบ่งหุ้นกันในหมู่พี่น้อง

การดำเนินการผ่านไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 นายเกษม ณรงค์เดชกลับได้รับหมายศาลจากนายนพพรว่ามีคดี “โกงค่าหุ้น” เกิดขึ้น โดยทางนายนพพรได้รับชำระค่าหุ้นมาเพียง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากนั้นครอบครัวณรงค์เดชฝั่งนายเกษมจึงสืบทราบว่า หุ้นของวินด์ เอนเนอยีถูกโอนไปอยู่ในมือบริษัท โกลเด้นมิวสิค ลิมิเต็ด ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และนายเกษมกลายเป็น “นอมินี” ในการโอนหุ้นของวินด์ฯ ไปจนถึงมือคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ซึ่งนายเกษมยืนยันมาตลอดว่า เอกสารที่เกี่ยวกับการเป็นนอมินีโอนหุ้นไปให้คุณหญิงกอแก้วนี้ตนไม่เคยได้เห็นและลายมือชื่อในเอกสารถูกปลอมขึ้น

คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดานั้นมีศักดิ์เป็น “แม่ยาย” ของนายณพ ณรงค์เดช โดยนายณพแต่งงานกับนางพอฤทัย ณรงค์เดช (บุณยะจินดา) ลูกสาวของคุณหญิงกอแก้วกับพล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ (เสียชีวิตแล้ว)

เมื่อความปรากฏเช่นนี้แล้ว จึงกลายเป็นว่าประเด็นนี้มีทั้ง “ศึกภายใน” คือ หุ้นวินด์ เอนเนอยีที่ทางนายเกษมยืนยันว่าเป็นธุรกิจของครอบครัว ขณะที่นายณพก็ยืนยันว่าเป็นธุรกิจส่วนตัวเฉพาะของตน รวมถึงมี “ศึกภายนอก” ที่นายนพพร ฟ้องร้องเรียกเงินค้างชำระค่าหุ้นวินด์ฯ

พิสูจน์ความจริงเพื่อกู้ชื่อเสียง “คุณพ่อ”

หลังมีคำพิพากษาเรื่องการปลอมลายเซ็นจากศาลอาญากรุงเทพใต้ นายกรณ์ ณรงค์เดชกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ดำเนินมาเกือบจะ 7 ปีนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่นำความทุกข์ใจมาให้ครอบครัวอย่างมาก

“ตอนเกิดเรื่องพ่อผมอายุ 82 ปีแล้ว ผมรู้สึกสงสารคุณพ่อสุดหัวใจ” นายกรณ์กล่าว “การฟ้องร้องเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งวันนี้คุณพ่อได้พิสูจน์แล้วว่า พ่อไม่ได้เป็นคนกระทำผิด และคุณพ่อพูดความจริงมาตลอดว่าถูกปลอมลายเซ็น”

ณรงค์เดช หุ้นวินด์
(จากซ้าย) นายกรณ์ ณรงค์เดช ลูกชายคนเล็ก, นายกฤษณ์​ ณรงค์เดช ลูกชายคนโต และนายทิชา ป้อมค่าย ทนายความครอบครัว

ที่ผ่านมานายเกษมได้ถูกเข้าใจผิดมาเป็นระยะเวลาหลายปีว่า การที่นายเกษมออกมาพูดเรื่องการถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นของนายเกษมไปให้แก่คุณหญิงกอแก้วเป็นเรื่องไม่จริง ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ใช้ความอดทนเพื่อรอการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา

จนกระทั่งวันนี้หลักฐานถูกพิสูจน์แล้วโดยหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ได้แก่ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผลการตรวจสอบจากทั้ง 2 สถาบันล้วนยืนยันออกมาตรงกันว่าเป็นลายมือชื่อปลอม

ทายาทเหลือแค่ 2 คน – ทำธรรมนูญครอบครัวป้องกันปัญหา

ด้านการดูแลธุรกิจ “กงสี” ของครอบครัวณรงค์เดชที่มีนับสิบบริษัท นายกฤษณ์ ลูกชายคนโตระบุว่า ขณะนี้จะมีทายาทเพียง 2 คนเท่านั้นคือตนและนายกรณ์ที่เป็นผู้ดูแลบริหารทั้งหมด

รวมถึงจะมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันไม่ให้มีศึกสายเลือดขึ้นอีก

นายกฤษณ์และนายกรณ์เล่าถึงประวัติในครอบครัวว่า ครอบครัวโตมากับการมี “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช (พรประภา)” เป็นผู้ดูแลจัดการระบบกงสีภายในบ้าน คุณหญิงพรทิพย์เปรียบเสมือน ‘ผู้คุมกฎ’ ซึ่งเป็นกฎที่พูดกันด้วยวาจา ไม่มีการลงลายลักษณ์อักษรไว้ เมื่อสิ้นคุณหญิงแล้วกฎจึงเกิดการอะลุ้มอะล่วยขึ้น

“เราคุยกันในครอบครัวแล้วว่า ต่อไปเป็นหน้าที่ผมกับกรณ์ที่จะปกป้องตระกูลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก” กฤษณ์กล่าว