หลัง “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ “บิ๊กซี” มาไว้ในอ้อมอกอาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการทุ่มเงินก้อนโต 2 แสนกว่าล้านบาท ซื้อกิจการมาไว้ ก็ได้เห็นเกมรุกธุรกิจปลายน้ำห้างค้าปลีกสมัยใหม่ “บิ๊กซี” อย่างต่อเนื่อง ทั้งขยายสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม และแน่นอนว่าปี 2561 เกมรุกยังคงเข้มข้นขึ้น ภายใต้การนำทัพธุรกิจโดย “เขยเล็ก” อย่าง “”อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
ปิดงบปีเก่า ก็เดินเกมรุกของปี 2561 แม้ “บีเจซี” จะให้น้ำหนักทุกๆ ธุรกิจ แต่ “ปฏิเสธ” ไม่ได้ว่า สปอร์ตไลต์ที่ส่องตรงไปยังกลุ่มหนีไม่พ้นทิศทางของธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” เพราะเป็นพอร์ตใหญ่สุดและทำเงิน “มหาศาล” ดังนั้นแม่ทัพใหญ่ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ที่ประกาศเทงบลงทุนอีกกว่า 10,000 ล้านบาท ลุยเปิด “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์“ สาขาใหม่ๆ เพิ่ม 10 สาขาในไทย แต่ละสาขาใช้เงินเฉลี่ยมากถึง 200-300 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2560 เปิดสาขาทุกรูปแบบรวม 187 สาขา ใน 10 จังหวัด แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 9 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 1 สาขา และมินิ บิ๊กซี 186 สาขา (ปิดร้านเดิม 9 สาขา)
กลยุทธ์การเปิดสาขาปีนี้ บริษัทเทน้ำหนักไปยังทำเลทอง “เมืองรอง” และลงลึกถึงระดับ “อำเภอ” มากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้เปิด 3 สาขาใหม่จังหวัดเล็กเรียบร้อยแล้ว ที่อำเภอพังโคน และคำตะกร้า จังหวัดสกลนคร เรียกว่านำร้านไปสู่ “สมรภูมิ” ให้ใกล้ชิดชุมชนยิ่งขึ้น
ส่วนอีกสาขาเปิดที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพราะนอกจากเป็นจังหวัดและอำเภอที่ประชากรกำลังซื้อสูง ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจคึกคัก ยิ่งมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การมีสาขาที่นั่น จะรองรับการเติบโตของเมืองและกำลังซื้อในอนาคตได้อย่างดีด้วย
ปีนี้บริษัทจะเน้นเปิดสาขาบิ๊กซีที่ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ และจะโฟกัสพื้นที่ระดับอำเภอมากขึ้น รวมถึงจังหวัดที่ยังไม่มีบิ๊กซีเปิดให้บริการ
อัศวิน กล่าว
หมากรบดังกล่าว เรียกว่าไม่ต่างจาก “บิ๊กค้าปลีก” รายอื่นๆ ที่ต่างขยับตัวจาก “หัวเมืองใหญ่“ หรือ Key City เพราะปัจจุบันเป็นสนามที่ “แน่น” พอตัว ทุกรายยึดทำเลทองไว้ทำเงินหมดแล้ว ดังนั้นการเจาะหัวเมืองรอง จังหวัดเล็ก ไปจนถึงอำเภอ อย่าง Tier 2 Tier 3 จึงเริ่มถูกรุม “ทึ้ง” ทำตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีสาขาใหม่ ก็ไม่ลืมที่จะปรับปรุงสาขาเดิมให้ดีขึ้นด้วย เพิ่มบริการในร้านให้ดี มีความสมบูรณ์แบบกว่าเดิม เพื่อให้ผู้บริโภคสัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดี โดยเฉพาะแผนกต่างๆ จะต้องมีความทันสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้คือการโฟกัส “แผนกอาหารสด” ซึ่งกลายเป็น “หมวด“ ที่ไม่ทุกห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างหันมา “ยกเครื่อง” แข่งกันทั้ง “ความสด” และความสวยเตะตา มาพร้อมราคาที่ถูกใจใช่เลย
“แผนกอาหารสดของบิ๊กซี เราเริ่มปรับปรุงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ประเดิมสาขาราชดำริก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เดือนมิถุนายนนี้”
นอกจากลงทุน ไฮไลต์สำคัญของ “บิ๊กซี“ ในการท้ารบค้าปลีก และเอาใจขาช้อปปิ้งทั้งหลาย คือการ “ขยายเวลา“ ให้บริการ สำหรับสาขาที่อยู่บนทำเลทอง “ย่านท่องเที่ยว” เพื่อดูดเงินจากความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเวลาใหม่จะเปิดตั้งแต่ 09.00-02.00 น. รวมๆ แล้วช้อปยาวได้ 17 ชั่วโมง จากเดิมเปิดบริการถึง 22.00 น. หรือกินเวลา 13 ชั่วโมง
“เราขยายเวลาเปิดเฉพาะในส่วนของสโตร์เท่านั้น พื้นที่ร้านค้าเช่าไม่ได้ขยายเวลา ส่วนทำเลที่เปิดให้บริการยาวนานขึ้น เพิ่งเริ่ม 4 สาขา ที่บิ๊กซี ราชดำริ, รัชดาภิเษก ภูเก็ต และทดลองเปิดสาขามินิบิ๊กซีในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ราชดำริด้วย ซึ่งถือเป็นการทดลองโมเดลใหม่ๆ ไปในตัว”
สิ้นปี 2560 บิ๊กซีมีร้านให้บริการทุกรูปแบบรวม 977 สาขา แบ่งเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 125 สาขา, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, บิ๊กซี มาร์เก็ต 60 สาขา, มินิ บิ๊กซี 612 สาขา และร้านขายยาเพรียว 135 สาขา
เพราะห้างต้องแก่งแย่งนักช้อป การมีสินค้าเด็ดก็ต้องจัดอีเวนต์เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมาย จังหวะนี้ประเทศไทยมีผลหมากรากไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก “บิ๊กซี” ก็ไม่พลาด! ที่จะเกาะกระแสจัดงาน “เทศกาลผลไม้สดจากสวนปี 2″ ที่นอกจากจะสนองนโยบายรัฐบาลด้านการค้าผลไม้ครบวงจรแล้ว ยังเป็นการ “ออกหมัด” ซัดกับคู่แข่งในสังเวียนค้าปลีกเดียวกันอย่าง “เทสโก้ โลตัส” ที่ประกาศจัดแคมเปญบุฟเฟต์ผลไม้ และทุเรียน รวมถึง MOU รับซื้อผลไม้โดยตรงจากเกษตรกรทั่วไทย ขายผ่านห้างร้านกว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ
โดยเทศกาลผลไม้ของบิ๊กซี จะมีขึ้นตั้งแต่ 4-14 พฤษภาคมนี้ ที่สาขาราชดำริ ในงานยังมีการออกร้านจากเกษตรตัวจริง และยังสอดแทรกงาน “บุฟเฟต์ผลไม้ไทยกินไม่อั้น 399 บาท” ในเวลา 1 ชั่วโมงตั้งแต่ 12.00-19.00 น. มีไฮไลต์ของงานคือราชาผลไม้ “ทุเรียน” นั่นเอง โดยงานนี้จัดขึ้นเพียง 3 วันด้วย ตั้งแต่ 4-6 พฤษภาคม เรียกว่าจัดเต็มให้สาแก่ใจคนกินจุเลยทีเดียว และคาดว่างานจะโกยยอดขายรวม 180 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 10%
กิจกรรมดังกล่าว ยังเป็นช่วยเหลือเกษตรในการรับซื้อผลไม้โดยตรง เพื่อกระจายสู่ตลาดในวงกว้างด้วย ซึ่งปัจจุบันบ “อัศวิน” บอกว่าบิ๊กซีซื้อสินค้าอาหารสดผักผลไม้โดยตรงจากเกษตรกว่า 65 รายหลัก จาก 59 จังหวัด โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางประมาณ 70%
ในปี 2561 บิ๊กซีทำมากขึ้นด้วยการสนับสนุนเกษตรกรใช้เครื่องหมายรับรองต่างๆ เช่น การรับรองสถานที่ผลิตอาหาร การรับรองมาตรฐาน GMP โรงคัดบรรจุผลไม้ การอบรมมาตรฐานแหล่งเพาะปลูก GAP ในอนาคตสินค้าผักและผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธีทางการผลิตทุกรายการ จะต้องแสดงเลข อย.บนบรรจุภัณฑ์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จัดจำหน่ายที่บิ๊กซี จากที่ผ่านมามีโครงการบิ๊กซีผลไม้วงจรคุณภาพ หรือ BQL Big C Quality Line สามารถสืบย้อนกลับได้ว่าสินค้าส่งมาจากแปลงปลูกไหน เก็บเกี่ยวเมื่อใด จะร่วมมือกับเกษตรกรในการควบคุมแผนการผลิตตั้งแต่แหล่งผลิตที่เหมาะสม ดิน น้ำ สภาพแวดล้อมต่างๆ การควบคุมการใช้สารเคมี การตรวจสอบสารตกค้างเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย
“เรามีสินค้า BQL รวม 30 กว่ารายการในปีที่แล้ว มียอดสั่งซื้อรวมกว่า 6,000 ตัน มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท และในปีนี้เราเตรียมพัฒนาสินค้ากับคู่ค้าหลายรายการ เช่น ทุเรียนทอดกรอบ ขนุน กล้วย มะขาม มะนาว เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย”
เร่งเครื่องขยายธุรกิจค้าปลีกขนาดนี้ เพื่อสร้างการเติบโตต่อนื่องจากปีก่อน หลัง “ผลประกอบการ” เติบโตสวยพอตัว เพราะตัวเลขปิดปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 164,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,600 ล้านบาท หรือโต 19.3% นี่เป็นตัวเลขที่รับรู้รายได้จากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) “บิ๊กซี“ เต็มๆ เป็นปีแรก หลังจากซื้อกิจการมาใหญ่โตร่วม 2 แสนล้านบาท เมื่อปีก่อนหน้า
Top Line ที่โตดีแล้ว การทำ “กำไร“ ก็ไม่น้อยหน้า เพราะปิดปีสามารถโกยเงินมากถึง 5,211 ล้านบาท เติบโต 1,904 ล้านบาท หรือโต 57.6% จากปี 2559 นี่ขนาดยังไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินกู้ยืม และกำไรจากต่อรองราคาซื้อกิจการกระดาษชำระ “วีนา เปเปอร์ คัมปะนี ลิมิเต็ด” ที่ประเทศเวียดนาม ช่วงปลายปี 2560 ด้วย รวม 2 รายการก็คิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับการเติบโตของ “บีเจซี” หากพิจารณาตามหมวดสินค้าและบริการของบริษัททั้ง 5 กลุ่ม เรียกว่าโตเกือบยกแผง คงมีเพียง “กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์” ที่มีบางตัวลดลงเล็กน้อย เช่น บรรจุภัณฑ์แก้ว หดตัว 1.8% แต่ถ้ารวมทั้งกระป๋อง ก็ช่วยหักลบกลบกันพยุงกันโตเล็กน้อย 2.6% อีกกลุ่มที่โตน้อย 3.8% คือ “กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค” ที่ครบด้วยของกินของใช้อย่างสบู่นกแก้ว, แพรอท, ขนมขบเคี้ยว
มันฝรั่งเทสโต, ปาร์ตี้, โยเกิร์ตปาร์ตี้ แดรี่, น้ำผลไม้กาโตะ, ข้าวอบกรอบโดโซะ กระดาษชำระเซลล์ล็อก แต่ก็ยังดีที่ “กำไร” โตแรงกว่า 80%
ส่วนกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ก็โต 9% กำไรโตกว่า 43% ขณะที่น้องใหม่ในพอร์ตธุรกิจอย่าง “กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่” อย่าง “บิ๊กซี” นอกจากเป็นพอร์ตที่ทำรายได้สูงสุดให้บริษัทมากกว่า 69% สามารถทำรายได้ปี 2560 มากกว่า 118,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,193 ล้านบาท หรือโต 28.5% ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งมีทั้งค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียนเช่น บีส์มาร์ท เวียดนาม, เอ็มพอยท์มาร์ท ลาว การซื้อและควบรวมกิจการ การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ก็ทำเงินกว่า 2,000 ล้านบาท.