ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Apr 2024 13:40:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น! “ซื้อกิจการ” ร้านดังเข้าพอร์ต – ส่งรถเข็นบะหมี่ขาย “ฟิลิปปินส์” https://positioningmag.com/1468549 Mon, 01 Apr 2024 11:16:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468549 กว่า 30 ปีที่ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เปิดขายอยู่ในเมืองไทย ใช้กลยุทธ์ยึดหัวหาดตามปั๊มน้ำมันและหน้าเซเว่นฯ จนวันนี้มีแฟรนไชซีกำลังลวกบะหมี่อยู่กว่า 4,500 สาขาทั่วประเทศ แต่ถ้าจะโตได้มากกว่านี้ต้องขายมากกว่าบะหมี่! ทำให้บริษัทปรับใหญ่สู่ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” พร้อมล่าซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารดาวรุ่งเข้าสู่อาณาจักร “สตรีทฟู้ด” ของบริษัท ปั้นให้แมสเพื่อเจาะตลาดทั่วไทยและไปไกลถึงต่างประเทศ

“พูดตรงๆ เพราะผมไม่อยากเห็นลูกๆ ทะเลาะกัน” พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเปิดใจตรงไปตรงมาถึงเหตุผลเริ่มแรกที่ต้องการผลักดัน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำมาสู่การปรับโครงสร้างในบริษัทให้ ‘พร้อม’ ที่จะเป็นบริษัทในตลาดหุ้น

พันธ์รบ เป็นหนุ่มอีสานผู้ต่อสู้ฝ่าฟันจากศูนย์ ทำงานมาหลายอย่างก่อนจะมาจับธุรกิจขายบะหมี่เกี๊ยวครั้งแรกที่แยกลำลูกกาเมื่อปี 2535 หลังจากนั้นพันธ์รบคิดพัฒนาเรื่อยมาจนมีสูตรและเครื่องผลิตเส้นบะหมี่ด้วยตนเอง พร้อมต้อนรับญาติพี่น้องจากบ้านเกิดเข้ามาขยายสาขา “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” โกยรายได้ในเมืองกรุง จนทำให้เกิดอาณาจักรบะหมี่เกี๊ยว ขายแฟรนไชส์รถเข็นไปทั่วประเทศ

ปัจจุบันชายสี่ คอร์ปอเรชั่นไม่ได้มีแต่ร้านบะหมี่เกี๊ยว แต่ยังขายแฟรนไชส์แบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น ชายใหญ่ ข้าวมันไก่, ลูกชิ้นทอด โอ้มายก๊อด, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง รวมทั้งหมด 7 แบรนด์ในเครือ มีสาขารวมกว่า 4,500 สาขา แต่ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวยังเป็นแบรนด์หลักคิดเป็นสัดส่วนเกิน 90% ของรายได้รวม

อาณาจักรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวสนับสนุนด้วยโรงงานผลิตเส้นบะหมี่และฮับกระจายสินค้า 7 แห่งในทุกภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, อุดรธานี, มหาสารคาม, พิษณุโลก, ลำปาง และสุราษฎร์ธานี มีรถขนส่งมากกว่า 100 คันที่กระจายวัตถุดิบสำคัญคือ “เส้น” ให้แก่แฟรนไชซีทุกวัน เพื่อไม่ให้มาตรฐานตกเพราะร้านนี้มีจุดขายที่ “เส้นบะหมี่ทำสด” ไม่ค้างหลายวันจนหมดอร่อย

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
ข้อมูลผลประกอบการจาก บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ในแง่รายได้ เมื่อปี 2566 บริษัททำรายได้รวม 1,117 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 126.6 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิปี 2566 เติบโตถึง 121% จากปีก่อนหน้า เพราะบริษัทเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2565 เริ่มนำผู้บริหารมืออาชีพและทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารธุรกิจ เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บริหารต้นทุนให้ดีขึ้น จนลดต้นทุนได้สำเร็จ

 

จะโตเร็วต้อง “ซื้อ” แบรนด์เข้ามา

“อนุชิต สรรพอาษา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายถึงวิสัยทัศน์การเติบโตว่า หากพึ่งพิงการขายเส้นบะหมี่อย่างเดียวคงโตได้ช้า บริษัทจึงปรับตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง ต้องการจะเป็น “เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” ผ่านแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีอยู่ 7 แบรนด์ และจะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทเพื่อมา ‘ปั้น’ ให้กลายเป็นแบรนด์ ‘ซูเปอร์แมส’ ที่ไปเปิดได้ทั่วไทย

ผลิตภัณฑ์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้”

ในปี 2567 นี้ชายสี่ฯ ตกลงเข้าถือหุ้นใหญ่ซื้อกิจการแล้ว 2 ร้าน ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้” จากอยุธยา และ ร้านขนมหวานชื่อดัง “BRIX” จะเป็น 2 ร้านนำร่องที่บริษัทจะร่วมกับผู้ก่อตั้งนำมาปั้นให้แมสขึ้นร่วมกัน เพื่อเป็นโชว์เคสในการไปเจรจาแบรนด์อื่นในอนาคตว่าการร่วมทุนกับชายสี่ฯ จะทำให้ร้านเติบโตในทิศทางใด

“เรามีศักยภาพในการทำร้านรถเข็น ร้านแนวสตรีทฟู้ดมาก่อน อย่างร้านเสือร้องไห้มีจุดเด่นเรื่องรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือที่อร่อยจนคนกรุงเทพฯ ยังต้องไปต่อคิวถึงอยุธยา ก็เป็นไปได้ที่เราจะนำสูตรมาทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือรถเข็น หรือร้าน BRIX อนาคตก็อาจจะแตกแบรนด์ย่อยมาขายขนมชิ้นละ 60-70 บาท เป็นบูธขายตามห้างฯ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน” อนุชิตกล่าว

ร้านขนมหวาน BRIX

การคัดเลือกแบรนด์ดาวรุ่งที่ชายสี่ฯ สนใจซื้อกิจการ อนุชิตมองว่าไม่จำกัดประเภทอาหาร/ขนม/เครื่องดื่ม เป็นไปได้ทั้งหมดขอเพียงเป็นแบรนด์ที่มี ‘ลายเซ็น’ ของตัวเองที่ชัดเจน เป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง และผู้ก่อตั้งเดิมยังต้องการจับมือร่วมกันพัฒนาต่อ ไม่ต้องการผู้ร่วมทุนที่ขายขาดและออกจากกิจการ

ภายในปีนี้ชายสี่ฯ ตั้งเป้าจะซื้อกิจการแบรนด์ใหม่อีก 5-10 แบรนด์ โดยเตรียมงบลงทุนไว้ราว 50-100 ล้านบาท

 

ขยายให้ไกลกว่า CLMV สยายปีกเข้า “ฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น”

ขยายพอร์ตโฟลิโอแล้ว ตลาดก็ต้องขยายด้วยเช่นกัน อนุชิตกล่าวว่า ชายสี่ฯ จะเริ่มทำตลาด “ต่างประเทศ” อย่างจริงจัง จากเดิมมีการขายแฟรนไชส์บ้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่วันนี้ชายสี่ฯ กำลังจะเริ่มบุกเข้าสู่ “ฟิลิปปินส์” เต็มตัว

โดยบริษัทเข้าไปร่วมทุนกับ Cabalen Group ธุรกิจร้านอาหารสไตล์เอเชียนบุฟเฟต์ที่มีกว่า 60 สาขาในฟิลิปปินส์ สร้างโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ที่ฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว ภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มผลิตเพื่อป้อนเส้นบะหมี่ส่งในร้านของ Cabalen Group ก่อนที่ในอนาคตจะเริ่มเปิดร้าน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ในศูนย์การค้าและสตรีทฟู้ดของฟิลิปปินส์

ส่วนแผนธุรกิจใน “ญี่ปุ่น” นั้นกำลังทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” จากสูตรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเองเพื่อขายในแดนปลาดิบ

 

เข้าตลาดหุ้นอีกไม่เกิน 3 ปี

จากการปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้ อนุชิตกล่าวว่าบริษัทคาดจะได้ยื่นไฟลิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นภายใน 3 ปี โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนจะเป็นไปเพื่อใช้ซื้อกิจการแบรนด์ใหม่ ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และลงทุนโรงงานเพิ่มเติม

เมื่อถึงจุดที่พร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้น เชื่อว่าโครงสร้างรายได้จะสมดุลมากขึ้น โดยน่าจะทำรายได้จากการขายแฟรนไชส์ราว 70-80% ส่วนที่เหลือ 20-30% จะมาจากการขยายสาขาเองผ่านแบรนด์ที่ซื้อกิจการเข้ามา, การขยายไปต่างประเทศ และสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ต

อนุชิตเชื่อว่าในตลาดร้านอาหารที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ยังมีพื้นที่อีกมากให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่นบุกเข้าไป และบริษัทยังเติบโตได้มากกว่านี้ โดยปี 2567 บริษัทตั้งเป้าแล้วว่ารายได้น่าจะเติบโตไปถึง 1,500 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะโต 20%

“ถ้าเราเปรียบบริษัทของเราเป็นวงดนตรี เราก็เหมือนมี ชายสี่ เป็นนักร้องดังติดตลาดแล้ว แต่เราต้องมีนักร้องดังคนที่ 2,3,4 ด้วย หรือมีวงใหม่แนวอื่นเข้ามาด้วย ถึงจะเติบโตได้เร็วกว่านี้ มากกว่านี้” พันธ์รบ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” กล่าวปิดท้าย

]]>
1468549
“เป๊ปซี่” แก้เกมไม่มีขวดแก้ว จับมือ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ปูพรมเข้าสตรีทฟู้ด 4,500 สาขา https://positioningmag.com/1295844 Tue, 08 Sep 2020 09:59:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295844 “เป๊ปซี่” จับมือกับ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” จำหน่ายเป๊ปซี่ขวด PET 10 บาท ใน 4,500 สาขา ทั่วประเทศ เปิดเกมรุกตลาดร้านอาหารอีกครั้ง หลังไม่มีขวดแก้ว

อุดช่องว่างไม่มีขวดแก้ว

ช่องทางร้านอาหารล้วนเป็นช่องทางสำคัญสำหรับตลดาเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งตลาดนี้จะเน้นที่แพ็กเกจจิ้ง “ขวดแก้ว” เป็นหลัก เพราะมีต้นทุนราคาถูก และมีการซื้อขายกับบริษัทโดยตรง แถมบางคนยังบอกว่าน้ำอัดลมในขวดแก้วรสชาติอร่อยกว่าขวด PET อีกด้วย

แต่หลังจากที่ “เป๊ปซี่” ได้แยกทางกับ “เสริมสุข” ทางบริษัทแม่ของเป๊ปซี่ได้เข้ามาทำตลาดเองในไทย ทำให้เป๊ปซี่ไม่มีโรงงานผลิตขวดแก้ว ส่งผลให้เป๊ปซี่มีแต่แพ็กเกจจิ้งขวดพลาสติก PET ทำให้การทำตลาดในช่องทางร้านอาหารค่อนข้างจำกัด

ล่าสุดเป๊ปซี่ได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ผู้ผลิตเส้นบะหมี่ และเจ้าของแฟรนไชส์สตรีทฟู้ดชายสี่บะหมี่เกี๊ยวกว่า 4,500 สาขาทั่วประเทศ นำเครื่องดื่มเป๊ปซี่ขนาด 300 มล. ราคา 10 บาท ไปวางจำหน่ายถึงรถเข็นที่เป็นสาขาของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวทุกสาขา รวมถึงสื่อส่งเสริมการขาย ณ จุดขาย และป้ายไฟของเป๊ปซี่

โอเมอร์ มาลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป๊ปซี่นั้นเป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกคน สามารถรับประทานร่วมกับอาหารได้หลากหลายประเภท รวมถึงสตรีทฟู้ดอย่างบะหมี่เกี๊ยวที่เป็นที่ชื่นชอบของคนไทย โดยเฉพาะชายสี่บะหมี่เกี๊ยวซึ่งเป็นแบรนด์สตรีทฟู้ดที่ครองใจชาวไทยมานาน”

ขยายฐานลูกค้าผ่านจุดขายทั่วประเทศ

อีกหนึ่งความสำคัญของการจับมือกันครั้งนี้คือ การที่เป๊ปซี่ได้ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ทั้งคนเมือง และต่างจังหวัด ไม่ต้องหาซื้อเป๊ปซี่ที่ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ แต่หาดื่มได้ตามร้านอาหารของชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

ปัจจุบันชายสี่บะหมี่เกี๊ยวมีสาขาราว 4,500 สาขา มีศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 7 แห่ง ครอบคลุมไปตามจุดต่างๆ เพื่อจัดส่งเส้นบะหมี่สดใหม่ให้แก่แฟรนไชส์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีระบบโลจิสติกส์ขนส่งทางรถกว่า 100 คัน เท่ากับเครื่องดื่มเป๊ปซี่จะถูกขนส่งไปกับรถของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวด้วย

โดยวิ่งไปตามเส้นทางที่ครอบคลุมรถเข็นชายสี่บะหมี่เกี๊ยวทั่วประเทศ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองแบรนด์ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และที่สำคัญสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น

]]>
1295844
“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ร้านที่ก่อตั้งโดยชายที่จบแค่ ป.4 แต่กำลังจะนำบะหมี่ชามนี้ ติด “นามสกุลมหาชน” ในอีก 2 ปี พร้อมเป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาท https://positioningmag.com/1237918 Sun, 07 Jul 2019 22:59:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1237918 ป้ายสีเหลือง ตัวหนังสือสีแดง และรูปชามสีเขียว เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่คลายหิวยามค่ำคืน ที่คนไทยย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี เชื่อหรือไม่ว่าชายสี่บะหมี่เกี๊ยวที่ก่อตั้งโดยพันธ์รบ กำลาผู้ก่อตั้งที่เรียบจบแค่เพียง ป.4 เคยมีอาชีพรับจ้างทำไร่ทำนา ไปจนถึงคนขายไอติม ในวันนี้มีรายได้กว่า 800 ล้านบาท และกำลังจะฝันใหญ่อยากติดนามสกุลมหาชนในอีก 2 ปีข้างหน้า

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จากร้านขายก๋วยเตี๋ยวภายใต้ชื่อ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ที่ขายเพียงบะหมี่หมูแดง กับข้าวหมูแดง ถูกแตกแขนงออกเป็นสารพัดเมนู ไล่มาตั้งแต่ พันปีหมี่เป็ดย่าง, เตี๋ยวไก่ข้าวมันไก่, โจ๊กต้มเลือดหมู, ชายสี่ ชิ้นเนื้อ, อาลี หมี่ฮาลาล และชายังไข่มุก

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ก่อนหน้านี้เพิ่งขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์อีก 2 รูปแบบคือ Chaixi Factory เป็นรูปแบบของร้านอาหาร ภัตตาคาร และ รถ Food Truck easy meal ด่วนชวนหิว เนื่องจากขณะนี้การทำธุรกิจแบบ Food Truck กำลังเป็นที่น่าสนใจ

จากการประเมินโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพบ Food Truck เป็นตลาดที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท มีการเติบโตที่อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีรถ Food Truck กว่า 1,500 คัน ทั่วประเทศ แบ่งเป็นอาหารคาว 57% อาหารหวาน 14% และเครื่องดื่ม 29% ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 70% ที่เหลืออีก 30% อยู่ในส่วนภูมิภาค

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวจึงเริ่มขยายตลาดในด้านนี้ โดยราคาแฟรนไชส์จะเริ่มต้นที่ 30,000 ต้นๆ ไปจนถึงหลัก 40,000 กว่าบาท นอกจากนี้แล้วยังมีการปรับตัวของสินค้า เพราะก่อนหน้านี้สินค้าต่างๆ มีให้เพียงลูกค้าแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มหาช่องทางขยายตลาด เพื่อเข้าไปสู่ทุกครัวเรือนของทุกบ้าน

เป็นที่มาของการพัฒนาสินค้าแช่แข็งเช่นบะหมี่ ด้วยส่วนใหญ่จะได้เจอร้านแค่ช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น หลังจากนั้นผู้บริโภคก็ไม่ต้องรอเพราะสามารถทำเองง่ายๆ ได้ที่บ้าน ตอนนี้มีออกมาบ้างแล้ว อาทิ บะหมี่แห้งไก่เทอริยากิ, บะหมี่แห้งกะเพราไก่ และบะหมี่แห้งไก่รวมควัน รวมไปถึงของกินเล่น เช่น ชายสี่เกี๊ยวกรอบ

นอกเหนือธุรกิจในเมืองไทยชายสี่บะหมี่เกี๊ยวได้ขยายออกไปต่างประเทศแล้วโดยตอนนี้มีแฟรนไชส์ไปเปิดที่ต่างประเทศแล้ว 3 ประเทศคือ เมียนมา, กัมพูชา และลาว ซึ่งที่ประเทศลาวมีสาขามากที่สุด ถึง 70 กว่าสาขา และปีนี้จะเพิ่มเป็น 140 สาขาพร้อมทั้งมีแผนสร้างโรงงานผลิตในประเทศ

แฟรนไชส์ในต่างประเทศส่วนใหญ่ทำในรูปแบบการร่วมทุน (Joint Venture) คือร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนประเทศนั้นๆ ซึ่งจะมีตัวแทนของบริษัทเข้าไปร่วมดูแล ประสานงาน เตรียมขยายให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม) ให้เติบโตอย่างแข็งแรง

ขณะนี้บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัดได้เตรียมตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2564 เพื่อยกระดับจากธุรกิจครอบครัวไปสู่การเป็นองค์กรมืออาชีพปัจจุบันรายได้อยู่ที่หลัก 1,000 ล้านบาท

Source : Facebook ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

รายได้และกำไร บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

  • ปี 2556 รายได้ 186 ล้านบาท กำไร 3.5 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้ 215 ล้านบาท กำไร 5 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 235 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 241 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 290 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 834 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท

เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วชายสี่บะหมี่เกี๊ยวคาดว่าจะมีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะมั่นใจในจุดแข็งของทำเลที่นั่งอยู่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีทราฟฟิกจำนวนมากที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ปัจจุบันมีราวๆ 400 – 500 สาขาที่ตั้งอยู่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

Source

]]>
1237918
ผ่าเกม SCB จับมือ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” จุดพลุ “QR Code” ในร้าน Street Food ตั้งเป้าปีนี้ได้เห็นแน่อีก 30 แฟรนไชส์ https://positioningmag.com/1208221 Mon, 14 Jan 2019 23:07:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1208221 Thanatkit

นับตั้งแต่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไฟเขียวให้สามารถจ่ายเงินผ่าน “QR Code” ตั้งแต่ปลายปี 2017 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นให้เกิดสังคมไร้เงินสดในเมืองไทย ตลอดปี 2018 สิ่งที่เราเห็นคือทุกธนาคารต่างงัดกลยุทธ์เพื่อชักจูงให้เกิดการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งร้านค้า หรือผู้ใช้งานก็ตาม

ไม่เพียงการอัดโปรโมชั่นเท่านั้น แต่ละธนาคารก็หาวิธีเพิ่มกิมมิกเพื่อให้คนจดจำได้ง่าย และฉีกออกจากธนาคารอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เล่นกับความเชื่อของคนไทย โดยถอดแบบออกมาจากนางกวัก ซึ่งร้านค้าขายส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่หน้าร้าน เพราะมีความเชื่อสามารถกวักลูกค้าให้เข้าร้านได้ ฟาก SCB ก็ตั้งชื่อใหม่เป็นแม่มณี

รูปจาก SCB Thailand

1 ปีที่ผ่านมา “SCB QR แม่มณีมีจำนวนร้านค้าทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านร้านค้า โดยปลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดระบบใหม่ที่สามารถจ่ายเงินผ่าน QR Code แล้วไปหักบัตรเครดิตได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องหักผ่านบัญชี จึงมีร้านค้าที่รองรับการจ่ายแบบบัตรเครดิตแล้ว 18,000 ร้าน

ธุรกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายใน “SCB EASY” โมบายแบงกิ้งของ SCB ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วง 3 ปีมานี้ โดยในปี 2016 มีจำนวนผู้ใช้งาน 1.3 ร้านราย ถัดมาปี 2017 ตัวเลขอยู่ที่ 5.3 ล้านราย ตัวเลขล่าสุดปี 2018 พุ่งขึ้นไปเป็น 8.5 ล้านราย

เช่นเดียวกันจำนวนผู้ใช้งานจำนวนธุรกรรมก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปในปี 2016 ยังอยู่เพียง 89 ล้านธุรกรรม ปี 2017 มี 237 ล้านธุรกรรม ส่วนปี 2018 กระโดดขึ้นมาเป็น 711 ล้านธุรกรรม แน่นอนส่วนหนึ่งของยอดที่เติบโตมาจากจำนวนผู้ใช้งาน QR Code

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสะท้อนมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น ซึ่งทุกธนาคารต่างก็อยากได้ฐานลูกค้ากลุ่มนี้มาอยู่ในมือ เพราะไม่ใช่แค่เพียงธนาคารจะสามารถลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจัดการเงินสด

แต่ข้อมูลการใช้งานที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นแต้มต่อให้ธนาคาร สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า แล้วต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อออนไลน์ที่ถูกมองจะเป็นโจทย์หลักที่ทุกธนาคารจะมาลุยกัน

พิมพ์ใจ ทองมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Payments Product Sales and Delivery ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า

นโยบายธนาคารต้องการให้ลูกค้าเปิดใช้แอปบ่อยๆ ดังนั้นบริการที่เพิ่มเข้ามาจึงต้องตอบสนองกับการใช้ชีวิตประจำวัน SCB จึงตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้ากว่าเท่าตัว โดยโฟกัสหลักจะอยู่ที่อาหารที่เป็นสตรีทฟู้ดส์

เหตุที่เลือกโฟกัสอาหารสตรีทฟู้ดส์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2020 มูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดส์จะเพิ่มเป็น 340,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาทในปี 2018 โดยร้านประเภทแฟรนไชส์จะมีส่วนแบ่งอยู่ 20%

ทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากเว็บวงใน เกี่ยวกับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลร้านอาหารในประเทศไทย พบว่าในปี 2017 คนไทยมีการค้นหาเมนูอาหารเป็นจำนวนมากถึง 7,500,000 ครั้ง ซึ่งเมนูอาหารที่มีการค้นหามากที่สุด คือก๋วยเตี๋ยวทำให้เห็นว่าธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยว ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก

จึงเป็นที่มาของการจับมือกับชายสี่บะหมี่เกี๊ยวแฟรนไชส์ร้านอาหารสตรีทฟู้ดส์ที่มีสาขากว่า 4,300 สาขาทั่วประเทศ จึงเป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี ในการเปิดให้ลูกค้าชำระค่าบะหมี่เกี๊ยว และผู้ซื้อแฟรนไชส์ชำระค่าซื้ออุปกรณ์ และวัตถุดิบจากชายสี่บะหมี่เกี๊ยวผ่าน QR Code ซึ่งไม่ได้รองรับแค่การตัดผ่านบัญชีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตัดผ่านบัตรเครดิตที่ได้ร่วมมือกับวีซ่าด้วย

ถ้าจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวราคา 35-40 บาทในร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวได้ ที่อื่นก็สามารถจ่ายได้เหมือนกัน

เบื้องต้นจะสามารถจ่ายได้ในร้าน 378 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยพฤติกรรมคนผู้บริโภคที่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หลังจากเปิดให้บริการมีราว 1 เดือน พบมีการใช้จ่ายผ่าน QR Code เฉลี่ย 2-3 รายการต่อสาขา โดยต้องการเพิ่มเป็น 5-10 รายการต่อสาขา ภายในครึ่งปีแรกจะเพิ่มเป็น 2,000 สาขา เริ่มจากหัวเมืองก่อน

ความร่วมมือครั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการที่ร้านแฟรนไชส์สามารถชำระค่าสินค้าผ่านทาง QR Code ได้ด้วย ซึ่ง SCB เชื่อว่า จะเป็นการเชื่อมต่อสังคมไรเงินสดตั้งแต่ต้นน้ำคือเจ้าของแฟรนไชส์ กลางน้ำเป็นร้านค้า และปลายน้ำได้แก่ผู้บริโภค ที่ SCB พยายามกระตุ้นมาตลอด

ปี 2019 SCB ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งาน SCB EASY 12 ล้านราย ส่วน SCB QR แม่มณีต้องการเพิ่มเป็น 2 ล้านร้านค้า และที่รองรับบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 1 แสนร้านค้า ซึ่ง SCB ยอมรับเป็นความท้าทายที่ต้องหาร้านที่ยอมรับการชำระด้วยบัตรเครดดิต

ภายในปีนี้ SCB ตั้งเป้าเพิ่มร้านค้าที่เป็นแฟรนไชส์อีก 30 แบรนด์ เช่น ร้านชาไข่มุก จะได้เห็นแน่นอน

ปัจจุบันมีจ่ายเงินผ่าน QR Code คิดเป็นเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท จำนวนธุรกรรม 2 ล้านครั้ง ด้วยจำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้น SCB จึงตั้งเป้าเติบโต 3 เท่าทั้งเงินที่ใช้จ่ายและธุรกรรม ขณะเดียวกัน SCB ได้วางงบการตลาดกว่า 200 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้งานอีกด้วย

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยากติดนามสกุลมหาชน

สำหรับ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยววางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มองว่า  การจับมือกับ SCB ที่ให้แฟรนไชส์สามารถจ่ายผ่าน QR Code จะทำให้ได้ตัวเลขทางบัญชีเข้ามาเสริมรวมไปถึงได้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาไว้ในมือ เป็นผลดีต่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีข้อกำหนดทางบัญชีที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว บอกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีถ้าอยากเป็นนกอินทรีต้องเข้าตลาด ซึ่งในปีที่เข้าตลาดคาดจะมีสาขาทั้งหมด 8,000 – 10,000 สาขา และมีรายได้ราว 1,400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นอีก 10 ปีอยากมีรายได้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท

ก่อนจะไปถึงวันนั้นชายสี่บะหมี่เกี๊ยววางแผนเปิดโมเดลร้านขึ้นมาใหม่ชื่อ “CHYSEE FACTORY” เป็นร้านสแตนด์อโลนพรีเมียมขึ้น ต้องการเจาะกลุ่มคนที่มีเงินเพิ่มมาอีกหน่อย โดยจะมีเครื่องให้เลือกมากกว่า และราคาเริ่มต้น 49 บาท ต่างจากร้านรถเข็นที่มีราคา 35-40 บาท

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดร้านชานมไข่มุก ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาด และการบริหารจัดการไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เบื้องต้นทดลอง 1 สาขาที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ใช้ชื่อว่าทรีชาราคาขายอยู่ที่ 19 บาท มียอดขายราว 200 แก้วต่อวัน โดยตั้งเป้าขยาย 100 สาขาภายใน 1 ปี

นับเป็นความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเดินเกมรบของทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ที่หวังจะเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินและต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคต.

]]>
1208221