ตลาดดอทคอม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Nov 2021 09:33:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะ 10 เทรนด์ E-Commerce ไทยปี 65 โดย ‘ป้อม ภาวุธ’ ถึงเวลา ‘CryptoCommerce’ https://positioningmag.com/1363899 Thu, 25 Nov 2021 09:07:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363899 เหมือนเป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com และถือเป็น กูรูอีคอมเมิร์ซเมืองไทย จะมา ฟันธงเแนวโน้มของการค้าออนไลน์ปี 2565 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะปีนี้ออนไลน์เข้ามามีบทบาทสูงมากจริง ๆ 

อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักของธุรกิจ

ปี 2564 อาจจะยังไม่ค่อยชัดมากเท่าไหร่ แต่ปี 2565 จะชัดมากว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักในแง่ของบางธุรกิจยอดขายต่าง ๆ บางกลุ่มอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่มาก แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตผมบอกได้เลยว่าน่าจะโตขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียวในเชิงของการขาย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

JSL จะเริ่มทำกำไรได้แล้วในปีหน้า

(JD Centra, Shopee, Lazada) จะพยายามเข้าสู่โหมดการทำกำไร อย่างเมื่อกลางปี 2564 Lazada ส่งงบกลางปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้รายได้ 1.4 หมื่นกว่าล้านบาท กำไรสูงถึง 226 ล้านบาท แม้สงครามยังคงมีอยู่ แต่บางเจ้าเริ่มหยุดการสาดเงิน เริ่มมาโฟกัสที่รายได้ของธุรกิจมากขึ้น กำไรของพวกมาร์เก็ตเพลสนั้น lazada กับ shopee จะได้มาต่างกัน shopee จะมาจากค่าคอมมิชชั่นและการซื้อโฆษณาภายในเว็บไซต์ แต่ลาซาด้าจะมี 2 โมเดล คือ

1.แบบโฆษณา ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไปขายของจะไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น แต่หากต้องการยอดขายเพิ่มอาจต้องไปซื้อโฆษณาเพิ่ม 2.LazMall ตรงนี้เปิดให้เฉพาะเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2-10% ซึ่งถือว่าต่ำ การนำไปขายในช่องทางค้าปลีกทั่ว ๆ ไปที่อาจอยู่ที่ 30% ยังไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงานที่ไปยืนขาย ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อลงโฆษณาออนไลน์จะจ่ายน้อยกว่าและเห็นยอดขายเลยทันที

ดังนั้น รายได้ของผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสโตขึ้น เพราะแบรนด์ต่าง ๆ เบนเข็มเบนเม็ดเงินจากที่ไปจ่ายตามสื่อต่าง ๆ มาลงบนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสเริ่มมีรายได้มากขึ้นและเห็นแววว่าจะมีกำไรแล้ว

สงครามการเป็น SuperApp

ง่าย ๆ คือ เป็นแอปที่ต้องเปิดทุกวัน โดยมีทุกบริการอยู่ภายใน อาทิ Grab ที่สั่งอาหารก็ได้ ส่งสินค้าก็ได้ เดี๋ยวนี้สั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ยังมีวอลเล็ต มีให้กู้เงิน ฯลฯ เต็มไปหมดเลย หรือ TrueMoney เริ่มเป็น Super App แล้ว เดี๋ยวนี้มีกระเป๋าเงิน จ่ายเงินได้ ซื้อกองทุน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทำได้หมดทุกอย่าง

ตอนนี้ Super App เริ่มเบ่งบานในไทย รวมถึงธนาคารต่าง ๆ ก็เริ่มพยายามทำตัวเองให้เป็น Super App ทุกคนพยายามช่วงชิงเวลาของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่ในแอปของตัวเองให้นานหรือบ่อยที่สุด ในปีนี้มีการบุกครั้งใหญ่ของสายการบินแอร์เอเชีย มีการเข้าซื้อ GET ผู้ให้บริการส่งอาหารให้เข้ามารวมอยู่ในแอร์เอเชีย เพื่อให้บริการส่งสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

อีกเจ้าที่น่ากลัวมากคือ Shopee ตอนนี้มีทุกอย่างและรุกหนักมาก และยังไปต่ออีกคือมี Shopee Food, Shopee Travel ดังนั้น จะเห็นว่าทุกเจ้าพยายามจะกระโดดเข้ามาเป็น Super App โดยพยายามจะขายของให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยอาศัยฐานที่ตัวเองมี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกไปไหนอยู่แต่ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น

หรืออย่าง Flash Express นอกจากทำขนส่ง ที่มีการวางแผนจะไปทำ Flash Pay, Flash Warehouse พยายามกระโดดไปทำทุกอย่างเหมือนกัน พยายามกระโดจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำด้วยเหมือนกัน ในแง่ผู้ประกอบการ คำแนะนำก็คือต้องไปทุกอัน ยิ่งเจ้าไหนมีโปรโมชันช่วยมากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งเข้าไปเอาผลประโยชน์เข้ามาทำการตลาดให้กับเรา เช่น มีค่าส่งฟรีก็ต้องเข้าไป เป็นงบที่เราสามารถเอาเข้ามากระตุ้นการตลาดของเราได้

LIVECommerce+OEM

การขายของออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสด ในปีหน้าจะเป็นการขายทางออนไลน์แบบซีเรียสมากขึ้น คือจะเริ่มเจอพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพที่ขายไลฟ์จนเป็นอาชีพจริง ๆ เรียกว่าเป็น Professional Live Commerce และขายได้ในระดับหลายร้อยล้าน เช่น พิมรี่พาย หรือ สอ.ดอ Style

และเมื่อก่อนอาจจะเอาของคนอื่นมาขาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เมื่อไลฟ์บ่อย ๆ มีฐานลูกค้ามีคนติดตามแล้ว ก็หันจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าของตัวเองเลย ดังนั้น จะเริ่มเห็นหลายคนเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะอาจได้กำไรมากกว่าเดิม 100-200% เลย ดังนั้นจึงเป็น LIVECommerce+OEM

Combine And Automated ECommerce

การค้ารูปแบบใหม่ ต่อไปทุกช่องทางการขายจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกัน ทุกอันจะรวบรวมเข้ามาอยู่ในช่องทางเดียวกันได้ ยอดขายจากออนไลน์ ยอดขายจากทีวี และจากทุกสื่อทุกช่องทางจะสามารถดึงข้อมูลมารวมไว้ที่เดียวกันเพื่อมาวิเคราะห์ว่าช่องทางไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่องทางไหนเวิร์กสุด

เมื่อเรา combine ได้หรือรวมข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ สิ่งที่ตามมาคือ automated คือสามารถต่ออัตโนมัติ เอาพวกแชทบอทเข้ามาช่วยได้ ระบบออกบิล ออก invoice การเก็บข้อมูลทุกอย่าง ฯลฯ การขายของในปัจจุบันจะรวดเร็วขึ้นและจะอัตโนมัติมากขึ้นเลยทีเดียว

ล่าสุดผมพัฒนา TARAD U-Commerce 2.0 เป็นระบบที่สามารถรวบรวมยอดขายได้ทุกช่องทางไว้ที่เดียว รวมทั้งการส่งสินค้าจากหลายๆ ขนส่งที่ถูกกว่าปกติผ่าน Shippop และมีระบบชำระเงินทุกช่องทางของ PaySolutions รวมอยู่ที่เดียว ทำให้ใครที่สนใจสามารถสมัครใช้ได้ฟรีเลยครับที่ www.TARAD .com ครับ

และนอกจากนี้แม่ค้าออนไลน์หลายๆ รายเริ่มหันมาใช้ Chat Bot ในการตอบลูกค้า เวลาทักไปหา จะพบว่าแป๊บเดียวเขาจะตอบกลับมาแล้ว นั่นหมายถึงระบบการบริหารจัดการ การขายของออนไลน์เดี๋ยวนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้นและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น จริง ๆ ปีนี้ผมก็เห็นเครื่องไม้เครื่องมือออกมาเยอะแล้วเหมือนกัน

Photo : Shutterstock

Retail Automation เครื่องขายของอัจฉริยะ ตลอด 24 ชม.

การค้าปลีกแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน ปีหน้าจะเริ่มเห็นพวก Vending Machine พวกตู้ขายสินค้าอัตโนมัติต่าง ๆ ที่สามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมง มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาไม่แพง ข้อดีคือมันไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ไม่ต้องมีโบนัส สามารถขายได้ 24 ชั่วโมง มีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี ใครที่ทำธุรกิจขายของอยู่แล้วอยากให้ลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถใช้ตู้พวกนี้ขายของได้อย่างไรบ้าง

งบโฆษณาเท่าเดิม แต่ขายของได้น้อยลง

งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิมยอดขายจะได้น้อยลง เพราะอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อทุกคนกระโดดเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาก็ต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นต่าง ๆ เมื่อเริ่มใช้งบมากขึ้น งบเริ่มไม่ค่อยได้ผล การแข่งขันมากขึ้น ฉะนั้น ตลาดการลงโฆษณา ตลาดการแข่งขันขายของออนไลน์จะดุเดือดมากขึ้นเยอะเลย

นี่สิ่งหนึ่งที่เตรียมตัวได้เลย แน่นอนว่าต้องปรับตัวในแง่ทีมเรา ต้องมีคนเก่งมากขึ้น ต้องเติมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับทีมให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ถ้าไม่พัฒนาให้ทีมเก่งมากขึ้น ก็จะขายได้น้อยลง ถ้ายังทำแบบเดิมอยู่คุณจะขายได้น้อยลง และอีกอย่างที่จะตามมาคือ จากที่เคยเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีที่จะติดตามลูกค้าเริ่มไม่ได้ผลแล้ว อย่าง Facebook ก็ดี Apple ก็ดี การติดตามคน การเอาคุกกี้หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ต่อ เริ่มใช้ไม่ค่อยได้แล้ว ฉะนั้น ความแม่นยำจะเริ่มน้อยลง

CryptoCommerce

เป็นคำใหม่ที่ผมขอใช้คำว่า Crypto Commerce คือ การใช้สกุลเงินคริปโตมาร่วมกับการค้าจริง ๆ จัง ๆ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการใช้เหรียญคริปโตมาใช้ แต่เป็นการใช้ในแง่ของการลงทุน มาเก็งกำไรมากกว่า ไม่ได้เอามาซื้อของ แต่ในปีหน้าจะเริ่มเจอว่ามีการเอาเงินคริปโตมาซื้อมากขึ้น

ตอนนี้กลุ่มคนพวกคริปโตบอกว่าตอนนี้สามารถเอาคริปโตไปซื้อเสื้อผ้าได้ มีสตาร์ทอัพที่ผมไปลงทุนบอกว่ามีการจ้างนักกฎหมายและจ่ายเงินเป็นคริปโต ฯลฯ ฉะนั้นเราจะเริ่มเห็น Crypto Commerce เริ่มใช้กันมากขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่าในแง่ของนโยบายของแบงก์ชาติยังไม่ได้สนับสนุนในแง่การนำเงินคริปโตมาใช้ในแง่การซื้อขายมากเท่าไหร่ แต่ผมว่าในปีหน้าจะเริ่มเห็นในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่ใช่อะไรที่แพร่หลายมากนัก เป็นเฉพาะกลุ่ม

D2C จะเริ่มเหิมเกริมมากกว่าเดิม (Direct to Consumer)

เพราะทุกแบรนด์สินค้าและโรงงานต่าง ๆ ต่างโดดเข้ามาขายออนไลน์เองกันหมด เริ่มหันมาขายในมาร์เก็ตเพลส ขายผ่าน Social Media เริ่มสร้างทีมของตัวเอง และเปิดร้านขายเอง ส่งเอง ตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้บางครั้งกลายเป็นการ ขายแข่งกับดีลเลอร์ของตัวเองด้วยซ้ำไป

อนาคตของค้าปลีกตัวกลางอย่างดีเลอร์ และร้านค้าต่าง ๆ ที่ผมเคยเตือนไว้ เริ่มชัดแล้วว่าบทบาทความสำคัญจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และปีหน้าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออีคอมเมิร์ซเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ

การถดถอยของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น (Local Business Decline)

เมื่อ 1-9 มารวมกันจะเกิดการที่ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วย ร้านค้าขนาดเล็ก ฯลฯ จะเริ่มเห็นการหดตัวในปี 2565 เพราะผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น คนต่างจังหวัดจะเริ่มเปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจค้าปลีกทันทีเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ต่อไปจะมีผลกระทบมากขึ้นเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง ยอดขายจะตกลงด้วยเหมือนกัน

]]>
1363899
เพราะแพ้ในสงคราม E-Marketplace “ป้อม – ภาวุธ” เลยพลิกภาพ TARAD.com สู่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร https://positioningmag.com/1221959 Wed, 27 Mar 2019 23:59:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1221959 ชื่อของป้อมภาวุธ พงษ์วิทยภานุหนึ่งในกูรูด้าน e-Commerce ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง TARAD.com เว็บไซต์ E-Marketplace ขึ้นมาเมื่อปี 1999 ในมุมๆ หนึ่งของออฟฟิศ (ไทยออส อลูมิเนีย)

ธุรกิจค่อยๆ ปั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อนในปี 2009 จะไปแตะตาราคุเท็น” (Rakuten) เจ้าพ่อบริการออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่น จนนำมาสู่การซื้อหุ้น 67% ของ TARAD.com ด้วยเงิน 114 ล้านบาท (มูลค่าเงินเมื่อ 31 ธันวาคม 2009) การซื้อขายหุ้นครั้งนั้น ภาวุธยืนยันว่า ไม่ได้ขายเว็บไซต์ให้ราคุเท็น ราคุเท็นเพียงแค่มาถือหุ้นหลัก

เป็นธรรมดาของธุรกิจ E-Marketplace ช่วงแรกจะต้องยอมขาดทุน ก่อนพลิกกลับมามีกำไรในภายหลัง โดยคาดว่า TARAD.com น่าจะสามารถทำกำไรได้ในปีที่ 3 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่าในช่วงรอยต่อขึ้นปีที่ 3 นั้น การเข้ามาของ “Lazada” ทำให้เกมทุกอย่างเปลี่ยนไป ภาพที่เคยวางไว้จะมีกำไรต้องพังลง เพราะ Lazada เข้ามาพร้อมเงินทุน

สงคราม E-Marketplace เป็นเรื่องของการแข่งกันดำน้ำ ใครดำได้อึดกว่าคนนั้นจะเป็นผู้จะชนะ คำถามคือใครจะเป็นผู้ชนะ ? แต่ที่แน่ๆ เรายอมรับเลยว่า แพ้ในสงครามครั้งนี้

หลังจากเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด 6 ปี ในที่สุดราคุเท็น” (Rakuten) ได้ตั้งสินใจขายหุ้นคืนให้กับภาวุธ ก่อนที่ในปีที่ผ่านมา TARAD.com จะได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ 2 เจ้าสัวน้อยแห่งเบียร์ช้างฐาปนปณต สิริวัฒนภักดีได้เข้ามาถือหุ้น 51% ผ่านทีสเปซ ดิจิตอลส่วนภาวุธเหลือหุ้น 49%

และการเข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนภาพของ TARAD.com ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าออกจากวงการนี้ไป เพราะป้อมภาวุธยังมองว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 14.04% ประกอบกับมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 45 ล้านคน

ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะยังคงมาแรง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศหันมาค้าขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวุธได้สรุป Thailand E-Commerce Trend 2019 ได้แก่

1.การแข่งดุของ JSL E-Marketplace ระดับโลกในไทย ทั้ง Shopee – Lazada – JD.com ซึ่งแนวโน้มจะยังแข่งกันดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างน้อย 5 ปี

2.สินค้าจีนจะเริ่มรุกบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกี่ยวกับกีฬาและสัตว์เลี้ยง ให้สังเกตได้เลยหากสินค้าไหนต้องรออย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถูกส่งมาจากจีนแน่ๆ

3.Brand จะโดดเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น เพราะคนหันเข้ามาสู่โลกออนไลน์ เลยจะเริ่มเห็นแบรนด์มาสร้างเว็บไซต์ และเข้าสู่ E-Marketplace

4.Online VS Offline แม้จะเข้าสู่โลกออกไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหน้าร้านอยู่ แบรนด์เลยจะเอา 2 อย่างนี้มาผสมกัน

5.ผู้ให้บริการ E-Commerce จะมาช่วยธุรกิจ

6.บริการสนับสนุน E-Commerce โตขึ้นอย่างรุนแรงทั้งการขนส่ง หรือระบบชำระเงินต่างๆ

7.ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing) เช่น เว็บ Cash Back ที่เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวแทนขายของออนไลน์กำลังเริ่มโต “DropShip”

8.การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเริ่มเติบโต (Cross Border) ปีนี้จะเริ่มเห็นสินค้าขายออกไปต่างประเทศมากขึ้น ผ่าน Amazon eBay และ Alibaba

9.Social Commerce โตอย่างต่อเนื่อง เพราะแพลตฟอร์มเริ่มพัฒนาให้รองรับ เช่น Facebook รองรับการชำระเงิน หรือ Instagram ที่เริ่มซื้อสินค้าได้เลย

10.การตลาดรูปแบบใหม่ จะฉลาดเป็นกรด โดยเฉพาะระบบ Automation ที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

เพียงแต่ TARAD.com ต้องเปลี่ยนเป้าหมายเสียใหม่ จากเดิมที่มีฐานสมาชิก 200,000 User ในระบบ 80% เป็น SME ที่เหลือ 20% เป็นลูกค้าองค์กร แต่ปีนี้จะโฟกัสลูกค้าองค์กรให้เพิ่มเป็น 80% เพราะจากเทรนด์ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าแบรนด์จะกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มเครื่องสำอาง แฟชั่น และโรงงานที่เดิมรับจ้างผลิต ก็อยากมาขายสินค้าด้วยตัวเอง

จึงเป็นที่มาของการผันตัวจาก E-Marketplace มาเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร (E-Commerce Services)” ผ่านมาเปิดตัวบริการ U-Commerce แพลตฟอร์มบริหารการค้าออนไลน์ทั้งหมดได้ในที่เดียวแบบ One Stop Service โดยบริการนี้จะครอบคลุม 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.Website & E-Commerce จะมีการรับทำเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิรซ์ (E-Commerce) โดยจะสามารถเชื่อมกับ E-Marketplace ชั้นนำของไทย ได้แก่ Lazada และ Shopee เชื่อมกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และเชื่อมโยงกับหน้าเว็บไซต์ของร้านค้าเอง

มีระบบชำระเงิน (E-Payment) ทั้งการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ บัตรเครดิต เดบิต และออฟไลน์ อย่าง พร้อมเพย์และ QR Code ของ Pay Solutions, ระบบขนส่ง (E-Logistic & Fulfillment) เชื่อมกับระบบขนส่ง มากกว่า 10 บริษัท ผ่านทาง SHIPPOP.com และบริการคลังสินค้าและจัดส่งของ SiamOutlet.com ซึ่งในส่วนของทั้ง Pay Solutions – SHIPPOP.com และ SiamOutlet.com ที่ทางภาวุธมีหุ้นส่วนตัวอยู่ในนี้อยู่แล้ว

2.การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) ในทุกช่องทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ภาวุธมีหุ้นแล้วทั้ง Wisesight บริษัทที่ให้บริการข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคหรือสิ่งที่คนให้ความสนใจบนโลกออนไลน์ และ Tellscore แพลตฟอร์มที่รวบรวม Micro Influencers เป็นต้น

3.Service & Operation ไล่มาตั้งแต่ระบบจัดการ E-Marketplac – e-Commerce รวมไปถึงการขนส่งและคลังสินค้า สามารถส่งสินค้ามาไว้ที่คลังและให้จัดการต่อได้

เบื้องต้นสำหรับลูกค้ารายย่อยจะให้บริการฟรี แต่หากมีสินค้าที่วางขายตั้งแต่ 35 SKU จะมีค่าใช้จ่ายหลักพันบาทต่อปี แต่รายได้หลักของจะมาจากการให้บริการลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

จุดนี้ภาวุธบอกว่าค่าบริการของ U-Commerce ถูกว่า a-Commerce คู่แข่งโดยตรงเป็นอย่างมาก เพราะ a-Commerce มีต้นทุนที่สูงกว่า มีการจ้างบุคลากรเข้ามาเสริมทีมจำนวนมาก จึงรับแต่งานระดับบน หลักหลายล้านบาทต่อโปรเจกต์ แต่ U-Commerce ใช้ทีมภายในซึ่งขณะนี้มีประมาณ 70 คน ได้วางแผนขยายเพิ่มเป็น 100 คน ต้นทุนจึงถูกกว่า สามารถรับงานขนาดกลางราคาหลักแสนต่อโปรเจกต์ได้

การเปิดบริการใหม่นี้เชื่อว่าจะทำให้ TARAD Group พลิกกลับมาทำกำไรในปีนี้ โดยรายได้เติบโตอย่างน้อย 200% ปีถัดไปเติบโตอีกเท่าตัว ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใน 3-4 ปี แต่ก่อนอื่นต้องทำให้ลูกค้ารู้จัก U-Commerce ก่อน

ท้ายที่สุด ภาวุธยืนยันว่า เว็บไซต์ TARAD.com จะไม่มีการปิดอย่างแน่นอน เพราะถ้าปิดไปแล้วก็จะไม่เหลือ E-Marketplace ที่เป็นสัญชาติไทยไว้ให้คนไทยได้ใช้อีก

]]>
1221959
ผ่าดีล “อเดลฟอส” ฮุบหุ้นตลาดดอทคอม 51% แปลงอีคอมเมิร์ซเป็น “Big Data” กรุยทางทำอีเพย์เมนต์ เสริมอาณาจักร “ทีซีซี กรุ๊ป” https://positioningmag.com/1163581 Wed, 28 Mar 2018 04:32:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163581 อาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” รู้กันว่ามีธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นำโดย ไทยเบฟเวอเรจ โออิชิ เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น เป็นหัวหอก, อุตสาหกรรมและการค้าโดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี), ธุรกิจการเงินและประกันผ่านอาคเนย์ และอสังหาริมทรัพย์ ผ่านทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ธุรกิจดังกล่าวมี “ฐานผู้บริโภค” ทั่วประเทศจำนวนมาก หากเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ “พฤติกรรมการซื้อสินค้า” ว่าใครซื้อเมื่อไหร่ อย่างไร ซื้อที่ไหน หรือรู้ความต้องการเชิงลึก (Insight) ได้มากสุด เชื่อว่าจะทำตลาด “ชนะใจ” ผู้บริโภคได้ และ “ชนะคู่แข่ง” ไปพร้อม ๆ กัน

เพื่อสร้าง “คลังข้อมูล” หรือ กุม Big Data ผู้บริโภคไว้ในมือทั้งหมด บริษัท อเดลฟอส จำกัด บริษัทลงทุน (Holding Company) ของทีซีซี กรุ๊ป ที่ถือหุ้นโดย 2 ทายาท “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” รุกคืบขยายธุรกิจดิจิทัลครั้งสำคัญด้วยการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ของ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง E-Marketplace ดังกล่าว  

จากนั้น “อเดลฟอส“ ได้ตั้งบริษัทลูก “ทีสเปซ ดิจิตอล” ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อเข้าไปถือหุ้นในตลาด ดอท คอม 51 และ “ภาวุธ” ถือ 49% พร้อมส่ง มารุต บูรณะเศรษฐกุล” ลูกหม้อไทยเบฟเวอเรจไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด

มารุต บูรณะเศรษฐกุล

โดยบทบาทของ “ทีสเปซ ดิจิตอล” จะทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ หนุนธุรกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนว่า “ดิจิทัล” จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค หรือ Lifestyle Driven เช่น ต่อยอดธุรกิจที่ตลาด ดอท คอมทำ และเดินหน้าลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับเครือ ขณะนี้สนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่จะไม่ลงทุนเป็นลำดับขั้นการเติบโต (Seeding) แล้วมีนักลงทุนอื่นเข้าไปลงทุนร่วม แต่บริษัทจะต้องเป็น “รายเดียว” ที่ผูกกับสตาร์ทอัพนั้น ๆ โดยธุรกิจที่ให้น้ำหนักจะต้องเกี่ยวเนื่องในเครือ 

ส่วนการเข้าไปถือหุ้นในตลาด ดอท คอม บริษัทได้ปรับ Positioning ธุรกิจ “TARAD.com” ใหม่ยกกระบิ พร้อมใช้งบหลัก “ร้อยล้านบาท” เพื่อลงทุนด้านระบบรองรับการสร้างคลังเก็บ Big Data ผู้บริโภค และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ปในอนาคต   

จากที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มมีการแยกเก็บข้อมูลลูกค้าไว้แล้ว เช่น บิ๊กซี มีบริษัท อีวายซี (EYC) ยักษ์ใหญ่ด้านวิจัยข้อมูลชั้นนำของโลกมาวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการลูกค้าเชิงลึกให้ อาคเนย์ประกันภัย ก็เก็บข้อมูลผู้บริโภค แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้  

++“ไทยเบฟ” ต้องรู้ Insight ผู้บริโภค  

ทั้งนี้ ไทยเบฟ จะเป็นกลุ่มแรกที่ “ซีเนอร์ยี” ธุรกิจกับตลาด ดอท คอม เพราะเป็นธุรกิจที่ “ใหญ่สุด” ของกลุ่ม รายได้รวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท ทั้ง “มารุต” ยังทำงานใกล้ชิดองค์กรและเห็นว่าบริษัทมีการขายสินค้าผ่านช่องทางขายจำนวนมากทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ร้านสะดวกซื้อ (CVS) และร้านค้าทั่วไป (TT) เช่น

  • เหล้าขายผ่านร้านค้าทั่วไป 90% โมเดิร์นเทรด 10%
  • เบียร์ขายผ่านร้านค้าทั่วไป 70% โมเดิร์นเทรด 30%
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขายผ่านร้านค้าทั่วไป 50% และโมเดิร์นเทรด 50%

แต่บริษัทไม่เคยล้วงลึกพฤติกรรมผู้บริโภคในช่องทางร้านค้าทั่วไปได้เลย และเชื่อว่ายังไม่มีบริษัทไหนทำได้ด้วย ซึ่งยุคนี้การมีฐานข้อมูลผู้บริโภคเยอะสำคัญ จะดีกว่านั้นหากเข้าใจ Insight บริษัทจะนำเสนอสินค้าและบริการ สร้างแบรนด์ ทำตลาด ตลอดจนโปรโมชั่น “ตรงใจ” ผู้บริโภคทุกคนมากที่สุด ถึงขั้นอาจเห็นเครื่องดื่มทำมาเพื่อผู้บริโภคเฉพาะคนมากขึ้น (Customize)

“ไทยเบฟขายสินค้าผ่านร้านค้าทั่วไปเกือบแสนร้าน จากทั่วประเทศมี 4-5 แสนร้านค้า แต่เราไม่เคยรู้ข้อมูลผู้บริโภคระดับย่อย (Endless Stream)ได้เลยว่ามีพฤตกรรมการซื้อสินค้ายังไง ซื้อที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร หากรู้ Insight ลูกค้าเราจะส่งต่อให้แบรนด์ต่าง ๆ ในไทยเบฟใช้ประโยชน์ได้”

++รุกคืบ E-Payment เสริมบริการร้านค้า

ทีสเปซฯ ยังเตรียมขอใบอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ตลอดจนบริการทางการเงินอื่น ๆ เพราะในการขายสินค้าผ่านร้านค้าหลักแสนร้าน การ “ชำระเงิน” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ “เก็บข้อมูล” พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้านั่นเอง

นอกจากนี้ ยังได้ฐานข้อมูลร้านค้าด้วย เพื่อนำเสนอบริการอื่นเสริมให้แก่ร้านค้า เพิ่มจากการขายเครื่องดื่ม เช่น บริการรับชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคเหมือนกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น หากทำได้เพียง 10% หรือราว 3 หมื่นร้านค้า ไทยเบฟจะมีเครือข่ายร้านค้าให้บริการทางการเงินมากกว่าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีร้านกว่า 1 หมื่นสาขาด้วย  

ปัจจุบันไทยเบฟเริ่มมีบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดให้ร้านค้านำไปใช้บ้างแล้ว เพื่อรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

อนาคตลูกค้าไม่ต้องเข้าแค่ร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่มีทางเลือกอื่นเพิ่ม เช่น ไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ที่ร้านโชห่วยได้

โฟกัสเรียบทุกช่องทางค้าขาย รุกจ่ายเงินดิจิทัล  

เมื่อทีสเปซฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในตลาด ดอท คอม ได้พลิกโมเดลธุรกิจใหม่ ถอยทัพจากการทำ E-Commerce หรือหน้าร้านออนไลน์ เพราะแข่งเดือดจากยักษ์ใหญ่ต่างชาติเผาเงินสู้กันสุดฤทธิ์ จากนี้ไปขอลุย 6E’s ดีกว่า ดังนี้  

1. E-Commerce พลิกโมเดลจากเป็นช่องทางให้ร้านค้าทั่วไป (B2B) หลักแสนรายมาขายสินค้า ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าแบบครอบจักรวาล หรือ Universal-Commerce (U-Commerce) ผ่านช่องทางร้านค้าต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ ส่งต่อร้านค้าหลักแสนร้านไปขายสินค้าในมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ยักษ์ใหญ่อื่น ๆอย่าง Shopee 11-street เตรียมคุยกับเจดี ดอทคอม และลาซาด้าเพิ่ม บุกโซเชียลคอมเมิร์ซ เชื่อมต่อการขายสินค้าเจาะร้านค้าทั่วไป และขยายช่องทางขายในต่างประเทศอย่าง Amazon e-Bay เป็นต้น  

โดย U-Commerce จะให้บริการฟรี (Freemium) แต่จะมี “รายได้” หากร้านค้าต้องการบริการด้านขนส่ง คลังสินค้า ทำตลาดและโฆษณาอื่น ๆ

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

“ปัจจุบันช่องทางขายสินค้ามีหลากหลาย TARAD.com จะไม่ใช่ออมนิชาเนล แต่จะเป็นยูนิเวอร์แซลคอมมิร์ซ เพราะการค้าขายไม่ควรมีช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่สินค้าควรไปขายที่ไหนก็ได้ เราจึงแปลงจากอีคอมเมิร์ซ เป็นยูคอมเมิร์ซ” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด กล่าว

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2560 มีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านบาท โต 9.86% จากปีก่อนหน้า และตั้งแต่ปี 2557-2560 ตลาดโตมาโดยตลอด

2. E-Marketplace ยังคงเว็บไซต์ TARAD.com เพื่อเจาะผู้บริโภครายยย่อย (B2C) แต่ไม่โฟกัสถมเงินทำโปรโมชั่นจนเจ็บตัวขาดทุนหลักล้านทุกเดือนเหมือนในอดีต ปัจจุบันเว็บดังกล่าวมีฐานสมาชิกกว่า 3 ล้านราย คนเข้าเว็บกว่า 5.8 ล้านรายต่อเดือน ส่วน Thaisecondhand.com ยังขายของเหมือนเดิม

3. E-Marketing การทำตลาดและโฆษณาออนไลน์ให้ครบวงจร โดยซีนเนอร์ยีกับ “โธธโซเชียล” และ WINTER EGENCY เป็นต้น  

4. E-Payment ซึ่งตลาด ดอท คอม มี Pay Solutions ที่ให้บริการด้านชำระเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งยังมีใบอนุญาตประกอบการให้บริการ E-Payment 2 ใบ เพื่อขยายบริการในอนาคตด้วย

5. E-Logistics & Warehouse ใช้ประโยชน์จาก SHIPPOP และ Siam Outlet ให้บริการส่งสินค้าและคลังสินค้าได้

6. E-Knowledge มีการหารือและทำโปรเจกต์ด้านความรู้ทางธุรกิจกับกลุ่มอมรินทร์ ธุรกิจสื่อที่ “ฐาปน-ปณต” เข้าไปซื้อกิจการด้วย  

“Big Data คือหัวใจ สิ่งที่ทำทั้งหมดจะทำให้เรามีข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค (Purchasing Data) มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น แล้วนำไปเชื่อมต่อให้ทีสเปซ และทีซีซี กรุ๊ป เพื่อทำให้ชำระเงินสะดวกสบายขึ้น”

++ทีสเปซ ควงตลาด ดอท คอม มีกำไร

แม้ทีสเปซฯ เข้ามาลงทุนในตลาด ดอท คอมไม่นาน และปรับโครงสร้างธุรกิจ ช่วยให้ผลการดำเนินงานบริษัทดีขึ้น และคาดว่าในปีนี้จะพลิกมีกำไรได้ ขณะที่เป้าหมายรายได้ปีนี้คาดว่าจะโต 200-300% จากปี 2559 มีรายได้รวมกว่า 164 ล้านบาท โตกว่า 264% มีกำไรสุทธิกว่า 101 ล้านบาท โตกว่า 282% จากปี 2558 มีรายได้รวมกว่า 45 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 55 ล้านบาท (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ส่วนฐานสมาชิกตั้งเป้าโต 150%

ส่วนทีสเปซฯ หลังลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาราว 5 ปี จึงจะคืนทุนและมีโอกาสทำกำไร ซึ่งการรุกธุกิจดิจิทัลครั้งนี้ “มารุต” รวมถึงผู้บริหารของอเดลฟอส และทีซีซี กรุ๊ป ไม่ได้มองการ “ทำกำไร” เป็นตัวตั้ง เพราะวัตถุประสงค์สำคัญคือมอง “ศักยภาพ” ของธุรกิจที่จะนำไปต่อยอดและซีเนอร์ยีให้กับกลุ่มได้มากที่สุด. 

]]>
1163581