อาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ของราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” รู้กันว่ามีธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นำโดย ไทยเบฟเวอเรจ โออิชิ เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น เป็นหัวหอก, อุตสาหกรรมและการค้าโดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี), ธุรกิจการเงินและประกันผ่านอาคเนย์ และอสังหาริมทรัพย์ ผ่านทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
ธุรกิจดังกล่าวมี “ฐานผู้บริโภค” ทั่วประเทศจำนวนมาก หากเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ “พฤติกรรมการซื้อสินค้า” ว่าใครซื้อเมื่อไหร่ อย่างไร ซื้อที่ไหน หรือรู้ความต้องการเชิงลึก (Insight) ได้มากสุด เชื่อว่าจะทำตลาด “ชนะใจ” ผู้บริโภคได้ และ “ชนะคู่แข่ง” ไปพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้าง “คลังข้อมูล” หรือ กุม Big Data ผู้บริโภคไว้ในมือทั้งหมด บริษัท อเดลฟอส จำกัด บริษัทลงทุน (Holding Company) ของทีซีซี กรุ๊ป ที่ถือหุ้นโดย 2 ทายาท “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” รุกคืบขยายธุรกิจดิจิทัลครั้งสำคัญด้วยการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ของ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้ง E-Marketplace ดังกล่าว
จากนั้น “อเดลฟอส“ ได้ตั้งบริษัทลูก “ทีสเปซ ดิจิตอล” ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อเข้าไปถือหุ้นในตลาด ดอท คอม 51 และ “ภาวุธ” ถือ 49% พร้อมส่ง “มารุต บูรณะเศรษฐกุล” ลูกหม้อไทยเบฟเวอเรจไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด
โดยบทบาทของ “ทีสเปซ ดิจิตอล” จะทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ หนุนธุรกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนว่า “ดิจิทัล” จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค หรือ Lifestyle Driven เช่น ต่อยอดธุรกิจที่ตลาด ดอท คอมทำ และเดินหน้าลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับเครือ ขณะนี้สนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่จะไม่ลงทุนเป็นลำดับขั้นการเติบโต (Seeding) แล้วมีนักลงทุนอื่นเข้าไปลงทุนร่วม แต่บริษัทจะต้องเป็น “รายเดียว” ที่ผูกกับสตาร์ทอัพนั้น ๆ โดยธุรกิจที่ให้น้ำหนักจะต้องเกี่ยวเนื่องในเครือ
ส่วนการเข้าไปถือหุ้นในตลาด ดอท คอม บริษัทได้ปรับ Positioning ธุรกิจ “TARAD.com” ใหม่ยกกระบิ พร้อมใช้งบหลัก “ร้อยล้านบาท” เพื่อลงทุนด้านระบบรองรับการสร้างคลังเก็บ Big Data ผู้บริโภค และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ปในอนาคต
จากที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มมีการแยกเก็บข้อมูลลูกค้าไว้แล้ว เช่น บิ๊กซี มีบริษัท อีวายซี (EYC) ยักษ์ใหญ่ด้านวิจัยข้อมูลชั้นนำของโลกมาวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการลูกค้าเชิงลึกให้ อาคเนย์ประกันภัย ก็เก็บข้อมูลผู้บริโภค แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
++“ไทยเบฟ” ต้องรู้ Insight ผู้บริโภค
ทั้งนี้ ไทยเบฟ จะเป็นกลุ่มแรกที่ “ซีเนอร์ยี” ธุรกิจกับตลาด ดอท คอม เพราะเป็นธุรกิจที่ “ใหญ่สุด” ของกลุ่ม รายได้รวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท ทั้ง “มารุต” ยังทำงานใกล้ชิดองค์กรและเห็นว่าบริษัทมีการขายสินค้าผ่านช่องทางขายจำนวนมากทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ร้านสะดวกซื้อ (CVS) และร้านค้าทั่วไป (TT) เช่น
- เหล้าขายผ่านร้านค้าทั่วไป 90% โมเดิร์นเทรด 10%
- เบียร์ขายผ่านร้านค้าทั่วไป 70% โมเดิร์นเทรด 30%
- เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขายผ่านร้านค้าทั่วไป 50% และโมเดิร์นเทรด 50%
แต่บริษัทไม่เคยล้วงลึกพฤติกรรมผู้บริโภคในช่องทางร้านค้าทั่วไปได้เลย และเชื่อว่ายังไม่มีบริษัทไหนทำได้ด้วย ซึ่งยุคนี้การมีฐานข้อมูลผู้บริโภคเยอะสำคัญ จะดีกว่านั้นหากเข้าใจ Insight บริษัทจะนำเสนอสินค้าและบริการ สร้างแบรนด์ ทำตลาด ตลอดจนโปรโมชั่น “ตรงใจ” ผู้บริโภคทุกคนมากที่สุด ถึงขั้นอาจเห็นเครื่องดื่มทำมาเพื่อผู้บริโภคเฉพาะคนมากขึ้น (Customize)
“ไทยเบฟขายสินค้าผ่านร้านค้าทั่วไปเกือบแสนร้าน จากทั่วประเทศมี 4-5 แสนร้านค้า แต่เราไม่เคยรู้ข้อมูลผู้บริโภคระดับย่อย (Endless Stream)ได้เลยว่ามีพฤตกรรมการซื้อสินค้ายังไง ซื้อที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร หากรู้ Insight ลูกค้าเราจะส่งต่อให้แบรนด์ต่าง ๆ ในไทยเบฟใช้ประโยชน์ได้”
++รุกคืบ E-Payment เสริมบริการร้านค้า
ทีสเปซฯ ยังเตรียมขอใบอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ตลอดจนบริการทางการเงินอื่น ๆ เพราะในการขายสินค้าผ่านร้านค้าหลักแสนร้าน การ “ชำระเงิน” เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ “เก็บข้อมูล” พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้านั่นเอง
นอกจากนี้ ยังได้ฐานข้อมูลร้านค้าด้วย เพื่อนำเสนอบริการอื่นเสริมให้แก่ร้านค้า เพิ่มจากการขายเครื่องดื่ม เช่น บริการรับชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคเหมือนกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น หากทำได้เพียง 10% หรือราว 3 หมื่นร้านค้า ไทยเบฟจะมีเครือข่ายร้านค้าให้บริการทางการเงินมากกว่าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีร้านกว่า 1 หมื่นสาขาด้วย
ปัจจุบันไทยเบฟเริ่มมีบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดให้ร้านค้านำไปใช้บ้างแล้ว เพื่อรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
อนาคตลูกค้าไม่ต้องเข้าแค่ร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่มีทางเลือกอื่นเพิ่ม เช่น ไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ที่ร้านโชห่วยได้
โฟกัสเรียบทุกช่องทางค้าขาย รุกจ่ายเงินดิจิทัล
เมื่อทีสเปซฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในตลาด ดอท คอม ได้พลิกโมเดลธุรกิจใหม่ ถอยทัพจากการทำ E-Commerce หรือหน้าร้านออนไลน์ เพราะแข่งเดือดจากยักษ์ใหญ่ต่างชาติเผาเงินสู้กันสุดฤทธิ์ จากนี้ไปขอลุย 6E’s ดีกว่า ดังนี้
1. E-Commerce พลิกโมเดลจากเป็นช่องทางให้ร้านค้าทั่วไป (B2B) หลักแสนรายมาขายสินค้า ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าแบบครอบจักรวาล หรือ Universal-Commerce (U-Commerce) ผ่านช่องทางร้านค้าต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ ส่งต่อร้านค้าหลักแสนร้านไปขายสินค้าในมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ยักษ์ใหญ่อื่น ๆอย่าง Shopee 11-street เตรียมคุยกับเจดี ดอทคอม และลาซาด้าเพิ่ม บุกโซเชียลคอมเมิร์ซ เชื่อมต่อการขายสินค้าเจาะร้านค้าทั่วไป และขยายช่องทางขายในต่างประเทศอย่าง Amazon e-Bay เป็นต้น
โดย U-Commerce จะให้บริการฟรี (Freemium) แต่จะมี “รายได้” หากร้านค้าต้องการบริการด้านขนส่ง คลังสินค้า ทำตลาดและโฆษณาอื่น ๆ
“ปัจจุบันช่องทางขายสินค้ามีหลากหลาย TARAD.com จะไม่ใช่ออมนิชาเนล แต่จะเป็นยูนิเวอร์แซลคอมมิร์ซ เพราะการค้าขายไม่ควรมีช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่สินค้าควรไปขายที่ไหนก็ได้ เราจึงแปลงจากอีคอมเมิร์ซ เป็นยูคอมเมิร์ซ” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด กล่าว
สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2560 มีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านบาท โต 9.86% จากปีก่อนหน้า และตั้งแต่ปี 2557-2560 ตลาดโตมาโดยตลอด
2. E-Marketplace ยังคงเว็บไซต์ TARAD.com เพื่อเจาะผู้บริโภครายยย่อย (B2C) แต่ไม่โฟกัสถมเงินทำโปรโมชั่นจนเจ็บตัวขาดทุนหลักล้านทุกเดือนเหมือนในอดีต ปัจจุบันเว็บดังกล่าวมีฐานสมาชิกกว่า 3 ล้านราย คนเข้าเว็บกว่า 5.8 ล้านรายต่อเดือน ส่วน Thaisecondhand.com ยังขายของเหมือนเดิม
3. E-Marketing การทำตลาดและโฆษณาออนไลน์ให้ครบวงจร โดยซีนเนอร์ยีกับ “โธธโซเชียล” และ WINTER EGENCY เป็นต้น
4. E-Payment ซึ่งตลาด ดอท คอม มี Pay Solutions ที่ให้บริการด้านชำระเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งยังมีใบอนุญาตประกอบการให้บริการ E-Payment 2 ใบ เพื่อขยายบริการในอนาคตด้วย
5. E-Logistics & Warehouse ใช้ประโยชน์จาก SHIPPOP และ Siam Outlet ให้บริการส่งสินค้าและคลังสินค้าได้
6. E-Knowledge มีการหารือและทำโปรเจกต์ด้านความรู้ทางธุรกิจกับกลุ่มอมรินทร์ ธุรกิจสื่อที่ “ฐาปน-ปณต” เข้าไปซื้อกิจการด้วย
“Big Data คือหัวใจ สิ่งที่ทำทั้งหมดจะทำให้เรามีข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค (Purchasing Data) มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น แล้วนำไปเชื่อมต่อให้ทีสเปซ และทีซีซี กรุ๊ป เพื่อทำให้ชำระเงินสะดวกสบายขึ้น”
++ทีสเปซ ควงตลาด ดอท คอม มีกำไร
แม้ทีสเปซฯ เข้ามาลงทุนในตลาด ดอท คอมไม่นาน และปรับโครงสร้างธุรกิจ ช่วยให้ผลการดำเนินงานบริษัทดีขึ้น และคาดว่าในปีนี้จะพลิกมีกำไรได้ ขณะที่เป้าหมายรายได้ปีนี้คาดว่าจะโต 200-300% จากปี 2559 มีรายได้รวมกว่า 164 ล้านบาท โตกว่า 264% มีกำไรสุทธิกว่า 101 ล้านบาท โตกว่า 282% จากปี 2558 มีรายได้รวมกว่า 45 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 55 ล้านบาท (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ส่วนฐานสมาชิกตั้งเป้าโต 150%
ส่วนทีสเปซฯ หลังลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาราว 5 ปี จึงจะคืนทุนและมีโอกาสทำกำไร ซึ่งการรุกธุกิจดิจิทัลครั้งนี้ “มารุต” รวมถึงผู้บริหารของอเดลฟอส และทีซีซี กรุ๊ป ไม่ได้มองการ “ทำกำไร” เป็นตัวตั้ง เพราะวัตถุประสงค์สำคัญคือมอง “ศักยภาพ” ของธุรกิจที่จะนำไปต่อยอดและซีเนอร์ยีให้กับกลุ่มได้มากที่สุด.