ตลาดนัด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 06 Feb 2023 12:33:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แกะสูตร “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” เจ้าของ “จ๊อดแฟร์” ปั้น “ตลาดนัดกลางคืน” อย่างไรให้โดน! https://positioningmag.com/1418045 Mon, 06 Feb 2023 12:20:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418045 ใครๆ ก็ใจหายเมื่อครั้งได้ข่าวว่าตลาดนัดรถไฟรัชดาจะปิดตัวลงช่วงกลางปี 2564 จากพิษโควิด-19 แต่ไม่นานหลังจากนั้นทีมงานฮึดสู้เปิด “จ๊อดแฟร์” ขึ้นแม้โรคระบาดยังไม่จาง โปรเจกต์ที่เหมือนเสี่ยงดวงนี้ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่เที่ยวสุดฮิตชนิดที่เรียกได้ว่า “ตลาดแตก” จากปรัชญาการทำ “ตลาดนัดกลางคืน” ของ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งทั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ

ผู้สื่อข่าวหลายสำนักมีโอกาสได้พบ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ ในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กับทีมจ๊อดแฟร์ โดยตลาดจ๊อดแฟร์นั้นจะย้ายที่จากหลังเซ็นทรัล พระราม 9 มาอยู่ด้านหน้าอาคารมิกซ์ยูสใหม่ของเพอร์เฟค ริมถ.รัชดาภิเษก ใกล้กับ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

เรียกว่าเป็นการ ‘กลับถิ่นเก่า’ ก็ไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านี้ตลาดนัดรถไฟรัชดาก็อยู่ที่หลังศูนย์การค้าเอสพลานาด สถานีเดียวกันนี้เอง

 

เสี่ยงดวงปั้นตลาดใหม่ “จ๊อดแฟร์”

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ข่าวแพร่สะพัดว่าในที่สุด “ตลาดนัดรถไฟรัชดา” จำต้องปิดตัวลงเพราะพิษโควิด-19 ทำเอาแฟนคลับตลาดนัดต่างใจหายว่าอนาคตตลาดจะกลายเป็นแค่ตำนานหรือไม่

ไพโรจน์เล่าย้อนถึงความลำบากในช่วงนั้นว่าร้านค้าเปิดไม่ได้ คนไม่มาเดิน จนจำเป็นต้อง ‘คืนสัญญา’ ทางเอสพลานาด รัชดา เป็นโชคดีที่เจ้าของที่เช่าเข้าใจสถานการณ์และไม่เรียกปรับเงินจากการคืนสัญญาเช่าก่อนกำหนด

“ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ

หลังจากนั้นก็พักกิจการไปพักใหญ่ จนมีโอกาสเข้ามาเป็นข้อเสนอพื้นที่เช่าของกลุ่มจีแลนด์ ด้านหลังเซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งจะให้เช่าระยะสั้นเพียง 2 ปี

“ตอนนั้นเราเหมือนไม่ได้ทำอะไรมาเป็นปี แล้วที่ตรงนี้ได้ราคาน่าวัดดวง เป็นราคาที่ถ้าเราเจ็บก็เจ็บน้อย แล้วสัญญาเช่าระยะแค่ 2 ปี ถ้าเป็นช่วงปกติสั้นขนาดนี้เราคงไม่ทำ แต่พอเป็นภาวะโควิด-19 สัญญาระยะสั้นกลับกลายเป็นเหมาะสมเพราะสายป่านทุกคนก็สั้น เราก็เลยลองทำ” ไพโรจน์เปิดใจ

ที่ใหม่มาพร้อมชื่อใหม่ “จ๊อดแฟร์” ซึ่งมาจากชื่อฉายาที่เพื่อนเรียกไพโรจน์ว่า ‘ไอ้จ๊อด’ พร้อมเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ โลโก้ การตกแต่ง เปิดตัวครั้งแรกเดือนธันวาคม 2564

ตลาดจ๊อดแฟร์ หลังเซ็นทรัล พระราม 9

“เปิดมาก็ยังอยู่ท่ามกลางโควิด-19 นะ ช่วงแรกมีร้านเข้าแค่ 70% เอง ไม่เต็มพื้นที่” ไพโรจน์กล่าว แต่ตลาดก็ค่อยๆ ดีขึ้นพร้อมกับจังหวะของโรคระบาด “ผมว่าจ๊อดแฟร์เกิดได้เพราะมันเหมือนเราจุดพลุในที่ที่มันเงียบสนิท เรากล้าทำในช่วงที่ไม่มีใครกล้า”

ปัจจุบันจ๊อดแฟร์เป็นยิ่งกว่าพลุไปแล้ว เพราะลูกค้าเดินกันแน่นเอี้ยดทั้งคนไทยและต่างชาติ พร้อมสถิติจาก Grab การันตี โดยจ๊อดแฟร์นั้นเป็นสถานที่เที่ยวอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ ที่ลูกค้าต่างชาติเรียกรถ Grab ไปมากที่สุด เป็นรองก็แต่เพียงไอคอนสยามเท่านั้น

 

แกะสูตรปั้น “ตลาดนัดกลางคืน”

ประสบการณ์ของไพโรจน์และทีมงานปั้นตลาดนัดกลางคืนกันมากว่า 12 ปีแล้ว เริ่มจากแห่งแรกที่ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร ก่อนจะย้ายมา “ตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์” ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุด เนื้อที่ถึง 60 ไร่ (*สาขานี้ยังเปิดอยู่ เหลือสัญญาเช่าอีก 6-7 ปี) จากนั้นจึงเข้ากลางเมืองที่ตลาดนัดรถไฟ รัชดา และปิดท้ายที่จ๊อดแฟร์ พระราม 9

จากการทำงานทั้งหมด ทีมของไพโรจน์จึงมีเครือข่ายร้านค้าในมือราว 3,000-4,000 ร้าน คัดเกรดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับ B+ จนถึง A นับเป็นมือทองด้านการติดตลาดนัดของกรุงเทพฯ

ร้านค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องให้เขามากกว่าที่เราเก็บจากเขา

ปรัชญาของไพโรจน์ตลอดเส้นทางสายตลาดนัดคือ “ร้านค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องให้เขามากกว่าที่เราเก็บจากเขา” สะท้อนจากค่าเช่าที่เก็บวันละ 500 บาทต่อล็อกต่อวัน (ล็อกขนาด 2×2 เมตร) ไม่ว่าจะขายดีแค่ไหนก็ไม่ไปเก็บเพิ่ม บางร้านใช้เนื้อที่ 10 ล็อก ค่าเช่าวันละ 5,000 บาท แต่ทำยอดขายได้วันละ 500,000 บาท ก็คือสิ่งที่ได้กับร้านค้าเอง

สิ่งที่ “ให้” กับร้านค้าคืออะไร? Positioning กะเทาะสูตรจากไพโรจน์มาให้ดังนี้

1.ทำเล

ทำเลมาอันดับ 1 ในการสร้างตลาดนัด โดยไพโรจน์บอกตรงๆ ว่าเขาใช้ ‘สัญชาตญาณ’ ในการวัดว่าที่ไหนจะขายได้ เช่น ทำเลใหม่จ๊อดแฟร์ที่ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ มองแล้วมีคนเดินขวักไขว่สูงมาก และมีคนเดินทุกวัน

“ผมได้กลิ่นเงิน และน่าจะพาร้านค้าเราไปเก็บเงินจากย่านนี้ได้” ไพโรจน์สรุปแบบตรงไปตรงมา

2.สินค้าและหน้าร้าน

จุดสำคัญต่อมาก็คือของขายในตลาด นี่คือเรื่องสำคัญที่ไพโรจน์จะต้อง “คัด” ร้านที่ใช่มาอยู่รวมกัน ใช่ในที่นี้คือร้านต้อง “สวยด้วย อร่อยด้วย”

เพราะในโลกยุคใหม่จะพาคนไปที่ไหนได้ สินค้าและหน้าร้านค้าถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วต้องดึงดูดใจ แต่ไม่ใช่สวยอย่างเดียว หากเป็นของกินก็ต้องอร่อยจริงตรงปกถึงจะยั่งยืน

นอกจากคัดเลือกร้านเข้ามาแล้ว ไม่ใช่ว่าทีมจ๊อดแฟร์จะปล่อยให้ร้านดิ้นรนเอง เพราะจะมีทีมงานคอยดูแลร้านที่ยอดขายไม่ดี ทีมจะให้คำแนะนำในการปรับปรุงส่วนไหนที่จะทำให้ขายดีขึ้น

เขายังย้ำด้วยว่า สินค้าที่เข้ามาขายจะต้องเน้น “คนไทย” ก่อน ส่วนต่างชาติเขาจะตามมาเอง เพราะถ้าต่างชาติจะสนใจก็เพราะความเป็นตลาดสไตล์ไทยที่คนไทยเองก็นิยม

จ๊อดแฟร์
ตัวอย่างร้านค้าในจ๊อดแฟร์ ต้องมีการตกแต่งให้ดูดี
3.จัดพื้นที่ ทางเดิน ที่นั่ง

อีกจุดที่ไพโรจน์เน้นคือ “คนต้องเห็นคน” ความหมายคือ การมาเดินตลาดนัดไม่ใช่แค่มาหาซื้อของ แต่หลายคนมาเพื่อดูคนในตลาด

ดังนั้น การจัดผัง ทางเดิน ที่นั่ง ต้องเหมาะสม จำนวนที่นั่งต้องเพียงพอให้คนได้นั่งพักหรือทานอาหาร ขณะเดียวกันผังทางเดินก็ต้องทำให้รู้สึกว่าคนมาเยอะ บรรยากาศคึกคัก

จ๊อดแฟร์
“คนต้องเห็นคน” บรรยกาศต้องเห็นว่าคึกคัก
4.ศิลปะการตกแต่ง

เรื่องนี้เป็นหมัดเด็ดอีกอย่างของทีมตลาดรถไฟ เพราะหลายตลาดนัดไม่ได้ใส่ใจเรื่องศิลปะเท่ากับตลาดนี้ ดังที่เห็นว่าตลาดของไพโรจน์แต่ละแห่งจะมีคอนเซ็ปต์ มีธีม จัดทำโลโก้สวยๆ ตกแต่งบริเวณให้ดูดี เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องถ่ายรูป

ทั้งหมดคือเคล็ดวิชาที่มือทองปั้นตลาดนัดกลางคืนเผยไต๋ แถมยังแย้มด้วยว่าปีนี้ทีมจ๊อดแฟร์จะมีตลาดนัดใหม่อีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยจะเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ไม่เหมือนเดิม แต่ที่เหมือนเดิมคืออยู่ในทำเลทองใกล้สถานีรถไฟฟ้าแน่นอน!

ขอบคุณภาพจาก Facebook@JoddFairs

]]>
1418045
“จ๊อดแฟร์” เตรียมย้ายทำเลใหม่ ม.ค.67 ด้านหน้ามิกซ์ยูส “เพอร์เฟค” สถานี MRT ศูนย์วัฒฯ https://positioningmag.com/1417715 Thu, 02 Feb 2023 09:45:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417715 “จ๊อดแฟร์” ได้พื้นที่เช่าใหม่ใกล้ MRT ศูนย์วัฒฯ ผนึกกำลัง “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” เตรียมขึ้นมิกซ์ยูสอาคาร 12 ชั้น ผสมผสานทั้งสำนักงาน พื้นที่รีเทลในร่ม และแม่เหล็กหลัก “ตลาดนัดกลางคืน” จ๊อดแฟร์ที่จะย้ายมาจากทำเลเดิมด้านหลังเซ็นทรัลพระราม 9

“ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดรายละเอียดดีลผนึกกำลังกับ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารจ๊อดแฟร์และตลาดรถไฟ ในการพัฒนาที่ดินขนาด 13 ไร่ของเพอร์เฟค บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก ทำเล 100 เมตรจาก MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดกับบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า รัชดาภิเษก

โดยเพอร์เฟคซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิเช่าที่ดินผืนนี้และผู้ลงทุนโครงสร้างอาคาร จะลงงบลงทุนรวม 2,300 ล้านบาท หากรวมค่าเช่าที่ดินแล้ว มูลค่าโครงการนี้จะสูงถึง 7,000 ล้านบาท

โครงการจะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 12 ชั้น พื้นที่อาคาร 93,000 ตร.ม. แบ่งการใช้งาน ดังนี้

  • “สำนักงาน” 5 ชั้น 20,000 ตร.ม. (ใช้รองรับการย้ายสำนักงานใหญ่ของเครือเพอร์เฟคมาที่นี่ทั้งหมด)
  • “รีเทล” 3 ชั้น 25,000 ตร.ม.
  • “ที่จอดรถ” 4 ชั้น 33,000 ตร.ม. จอดรถได้ 750 คัน

และยังเหลือพื้นที่ด้านหน้าอาคารอีก 5.6 ไร่ ที่จะเป็นตลาดนัดกลางคืน “จ๊อดแฟร์” แห่งใหม่ ตอบรับกำลังซื้อย่านรัชดาฯ ซึ่งเป็นนิวซีบีดี แวดล้อมด้วยอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียม

ภาพเพอร์สเพคทีฟ จ๊อดแฟร์ใหม่ และอาคารมิกซ์ยูส 12 ชั้น

ไพโรจน์กล่าวต่อว่า ทีมงานจ๊อดแฟร์ทำสัญญาความร่วมมือระยะยาว 20 ปีกับเพอร์เฟค เป็นผู้บริหารส่วนรีเทลทั้งหมด คือทั้งร้านค้าในอาคาร 928 ห้อง และตลาดนัดกลางแจ้งด้านหน้าอีก 774 ห้อง

โดยส่วนตลาดนัดกลางคืนจะได้เริ่มเปิดบริการก่อนตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ต่อเนื่องกับการหมดสัญญาเช่าที่จ๊อดแฟร์เดิมบริเวณหลังเซ็นทรัลพระราม 9 ซึ่งจะหมดสิ้นเดือนธันวาคม 2566 (ทำสัญญากับกลุ่มจีแลนด์เพียง 2 ปี) ทำให้ผู้เช่าในตลาดเดิมกว่า 700 รายจะได้สิทธิจองล็อกในทำเลใหม่ก่อน

ขณะที่พื้นที่รีเทลในอาคารจะต้องรอการก่อสร้างของเพอร์เฟคก่อน ซึ่งไพโรจน์คาดว่าจะสร้างเสร็จและพร้อมบริการภายในปี 2567 ถือเป็นการกลับมาบริหารรีเทลแบบในอาคารอีกครั้ง หลังจากที่เคยบริหารมาแล้วเมื่อครั้งพัฒนาตลาดนัดรถไฟ จตุจักร

บรรยากาศรีเทลด้านในอาคาร

สำหรับธีมการออกแบบของรีเทลในอาคาร ไพโรจน์ฉายภาพว่าจะเป็นสไตล์โรงงานวินเทจ บรรยากาศเหมือนเดินในเชลซีมาร์เก็ต นิวยอร์ก คอนเซ็ปต์เป็นแหล่งรวมสินค้าและอาหารสตรีทฟู้ดเด็ดๆ

ส่วนตลาดนัดกลางแจ้งจะเป็นสไตล์แบบจ๊อดแฟร์เดิม สินค้ามีทั้งต้นไม้ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ของแต่งบ้าน งานคราฟท์ ฯลฯ แต่มีพื้นที่สวนและที่นั่งส่วนกลางมากขึ้น

จ๊อดแฟร์
ทำเล 100 เมตรจากทางออกรถไฟฟ้า MRT ศูนย์วัฒฯ

ทีมจ๊อดแฟร์นั้นถือเป็นผู้บริหารตลาดนัดกลางคืนมือฉมังของไทย ปัจจุบัน “จ๊อดแฟร์” ที่อยู่ด้านหลังเซ็นทรัล พระราม 9 นั้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต จากการสำรวจของ Grab เมื่อปี 2565 จ๊อดแฟร์เป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรียกรถไปมากที่สุด

ไพโรจน์ระบุว่า เครือข่ายร้านค้าในมือของจ๊อดแฟร์และตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ นั้นมีกว่า 3,000-4,000 ร้านค้า และทำเลนี้ถือเป็นย่านที่คึกคักมาก เมื่อใดที่เปิดจองล็อกเช่า เชื่อว่าจะจองหมดภายในไม่กี่วันแน่นอน

]]>
1417715
“เสี่ยตัน” เปิดตลาดนัดฟรี 3 จังหวัด ขายอาหารยันคอนโดฯ ช่วยคนเดือดร้อนจาก COVID-19 https://positioningmag.com/1280594 Tue, 26 May 2020 07:22:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280594 เสี่ยตัน อิชิตัน เปิดตลาด “ศอช.” – ศูนย์อำนวยพื้นที่ในการช้อปปิ้ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี และเชียงใหม่ ให้ผู้เดือดร้อนจาก COVID-19 เข้ามาจำหน่ายสินค้าฟรี ไม่คิดค่าแผง-น้ำไฟ มองวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา

“ตัน ภาสกรนที” หรือ ตัน อิชิตัน ร่วมกับ โน้ส-อุดม แต้พานิช และ เกรียงไกร กาญจนโภคิน แห่ง บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด ประกาศจัดโครงการช่วยเหลือสังคม นำตลาดนัด “ศอช.” – ศูนย์อำนวยพื้นที่ในการช้อปปิ้ง ที่เคยจัดในปี 2553 กลับมาอีกครั้งหนึ่งในนามตลาดนัด “ศอช.2”

โน้ส-อุดม และ ตัน ภาสกรนที ประกาศจัดตลาดนัดให้ผู้ที่เดือดร้อนจาก COVID-19 เปิดแผงฟรี

โดยปีนี้จะจัดทั้งหมด 3 แห่ง คือ อารีนา 10 ทองหล่อ กรุงเทพฯ, ตลาดนินจา อมตะ ชลบุรี และ โครงการวัน นิมมาน เชียงใหม่ พื้นที่รองรับพ่อค้าแม่ค้าที่อารีนา 10 ทองหล่อ 400 บูธ, ตลาดนินจา 2,000 บูธ และวัน นิมมาน 600 บูธ รวมพื้นที่ทั้งหมด 3,000 บูธ จัดระหว่างวันที่ 5-28 มิถุนายน 2563 ทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-22.00 น.

ที่สำคัญคือเป็นตลาดนัดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่คิดค่าแผงและค่าน้ำค่าไฟ เพียงกรอกใบสมัครแนะนำตัวและความเดือดร้อนที่ได้รับให้ทีมงานคัดเลือก

 

7 โซนช่วยคนประสบภัยเศรษฐกิจ

ภาพรวมตลาด ศอช.2 คล้ายกับงานเปิดท้ายขายของ ให้โอกาสคนตกงานหรือธุรกิจถูกปิดนำสินค้าเข้ามาขาย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนหนักจะมีโซนของตัวเอง ดังนี้

ตัวอย่างการแบ่งโซนในตลาด ศอช.2 อารีนา 10 ทองหล่อ

1.โซนสมบัติผลัดกันชม เปิดให้นำของมือสองมาขาย เช่น นาฬิกา รองเท้า เสื้อผ้า ถ้วยชาม ของเล่น
2.โซนโรงแรมสะท้อนใจ เนื่องจากบางจังหวัดเริ่มเปิดการท่องเที่ยวแล้วหรือกำลังจะเปิดเร็วๆ นี้ จึงต้องการให้กลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ นำแพ็กเกจมาขายล่วงหน้า หมุนเงินสดเข้าสู่ธุรกิจ
3.โซนสอยดาวน์ ผู้ประสบปัญหาการผ่อนสินค้าราคาสูง เช่น บ้าน คอนโดฯ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน หากผ่อนไม่ไหว สามารถมาเปิดขายต่อที่นี่
4.โซนนางฟ้าแลนดิ้ง* อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่พนักงานถูกเลย์ออฟจำนวนมาก จัดสรรโซนให้กลุ่มแอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบินมาขายสินค้า
5.โซนดาราพาณิชย์ กลุ่มดารานักแสดง นักร้อง นักดนตรี ประสบปัญหาไม่มีการจ้างงานหลายเดือน จึงเกิดโซนนี้ให้มาเลหลังเสื้อผ้าดารา
6.โซนแบรนด์เนมอัดอั้น* ช็อปแบรนด์เนมที่ไม่สามารถเปิดได้สามารถนำมาระบายสต็อกลด 50-90% และคาดว่าจะเป็นโซนดึงดูดคนเดินเข้ามาได้จำนวนมาก
7.โซนอาหารแก้เซ็ง อาหารตลาดนัดซื้อทานรองท้องหรือซื้อกลับบ้าน (ไม่มีที่นั่ง)
*มีเฉพาะพื้นที่ตลาดอารีนา 10 ทองหล่อ และวัน นิมมาน

วิธีการสมัคร ผู้ที่สนใจสามารถกรอกประวัติสมัครเปิดแผงที่ https://forms.gle/6oxTmqckBkw1p1kQ7 ระหว่างวันที่ 26-31 พฤษภาคมนี้ โดยตลาด ศอช.2 ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกจากผู้ที่เดือดร้อนตัวจริงก่อน และการหมุนเวียนเปลี่ยนพ่อค้าแม่ค้าลงแผงในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้ได้จำหน่ายสินค้ากันอย่างทั่วถึง

เลหลังคอนโดฯ-มอเตอร์ไซค์ แพ็กเกจท่องเที่ยว

“เสี่ยตัน” กล่าวถึงการจัดตลาดนัดนี้ว่า เชื่อว่าจะมีเงินสะพัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท โดยทั้ง 7 โซนมีความน่าสนใจ แต่มีที่ตันพูดถึงเป็นพิเศษเช่น

“โซนสอยดาวน์คาดว่าน่าจะมีคนนำจักรยาน มอเตอร์ไซค์ มาขายเยอะมาก เพราะช่วงที่ผ่านมาจักรยานฮิตแล้วซื้อกันไปเยอะ ถ้าเป็นตลาดในกรุงเทพฯ น่าจะเจอคนขายดาวน์คอนโดฯ เยอะมาก รวมถึงรถยนต์ด้วย” ตันกล่าว

โรงแรม ยู นิมมาน เชียงใหม่ ธุรกิจส่วนตัวของ ตัน ภาสกรนที อีกหนึ่งโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะเปิดทำการได้อีกครั้งวันที่ 1 ส.ค. 63

นอกจากนี้ โซนโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ตันกล่าวถึง เนื่องจากประสบวิกฤตอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยธุรกิจส่วนตัวของเสี่ยตันคือโรงแรม 2 แห่งในเชียงใหม่ และอีก 1 แห่งในปราณบุรี ต่างปิดทำการทั้งหมด

“เราก็ถือโอกาสนี้ให้โรงแรม-รีสอร์ตมาขายบัตรเข้าพักล่วงหน้าเพราะทุกคนอยากจะได้กระแสเงินสด เพราะถึงจะปิดโรงแรมไปค่าใช้จ่ายก็ยังอยู่ แล้วก็อยากชวนคนไทยทั้งประเทศให้ช่วยกันเที่ยวในประเทศด้วย อย่าหวังพึ่งต่างชาติ เพราะกว่าต่างชาติจะฟื้นกลับมาผมคิดว่าน่าจะเป็นกลางปีหน้า”

 

หนักที่สุดที่เคยเจอ

สำหรับวิกฤตครั้งนี้ ตันมองว่า “หนักที่สุด” ตั้งแต่ทำธุรกิจมา 40 ปี แม้ว่า บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป ธุรกิจเครื่องดื่มที่เป็นธุรกิจหลักของเขายังทำกำไรในช่วงไตรมาส 1/63 แต่ธุรกิจส่วนตัวอย่างโรงแรมต้องปิดทำการ และตลาดนัดมีการผ่อนผันไม่เก็บค่าเช่าแผงเพื่อช่วยผู้เช่า ทำให้เสียรายได้ส่วนนี้ไปหลักสิบล้านบาท

อีกทั้งมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวช้าเนื่องจากเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกพร้อมกันและส่งผลระยะยาว ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะจุด

ดังนั้น แม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่อยากเชิญชวนคนที่ยังไหวให้ช่วยเหลือเฉพาะหน้ากันไปก่อน พร้อมฝากบทเรียนต่อจากนี้สำหรับคนทำงานและคนทำธุรกิจ ต้องเก็บเงินออมไว้รองรับความเสี่ยง

“ครั้งนี้มันคือบทเรียนสำคัญของคนทั้งโลกเลย นั่นคือการลงทุนเกินตัวมันทำไม่ได้และต้องมีเงินออม ไม่ว่าจะทำงานอะไรต้องมีเงินออม” ตันกล่าวปิดท้าย 

]]>
1280594
คนไทยชอบ “ตลาดนัด” โซเชียล คอมเมิร์ซ จะขายได้ ยังไงก็ต้องมีออฟไลน์ https://positioningmag.com/1134316 Thu, 27 Jul 2017 03:58:33 +0000 http://positioningmag.com/?p=1134316 ถูกคาดการณ์ถึงบทบาทและการเติบโตของ อีคอมเมิร์ซ ในไทย ผู้บริโภคก็ให้การตอบรับที่ดีขึ้น ทั้งความรู้ความเข้าใจ รวมถึงเรื่องระบบอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ ทำให้มีแบรนด์อีคอมเมิร์ซจากต่างชาติยังคงเข้ามาตีตลาดในไทยต่อเนื่อง

หนึ่งในรูปแบบของอีคอมเมิร์ซที่มาแรงก็คือ โซเชียล คอมเมิร์ซ การซื้อของออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ ส่วนใหญ่เป็นโมเดลแบบ C2C เป็นผู้บริโภคซื้อขายกันเอง ในยุคนี้ได้มีการไลฟ์สดในการขายสินค้าแล้วด้วย และแตกออกเป็นกลุ่มสำหรับผู้ที่มีความสนใจในกลุ่มสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้ามือสอง สินค้าแม่และเด็ก กล้องถ่ายรูป เป็นต้น

สำหรับ “ขายดี (Kaidee)” หนึ่งแพลตฟอร์มซื้อ-ขายของออนไลน์ที่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน มีทั้งสินค้ามือหนึ่ง และมือสอง ได้ทำตลาดในไทยได้ 5 ปีกว่าแล้ว มีแนวโน้มในการเติบโตมากขึ้น พร้อมทั้งมีการแตกเมนต์ย่อยตามสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงๆ อย่างรถยนต์ในชื่อ RodKaidee

ทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kaidee กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเหล่านี้โตเพราะโดยพื้นฐานของคนไทยชอบช้อปปิ้ง “ตลาดนัด แหล่งรวมสินค้าเยอะๆ หลากหลายอย่าง ได้เจอพ่อค้าแม่ค้า ได้พูดคุย และได้ต่อราคาได้ แพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตลาดนัดออนไลน์ ในขณะที่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่างลาซาด้า และอื่นๆ ไม่สามารถทำได้

“แม้เวลานี้ผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทย เพราะยังคงมองเห็นโอกาสการเติบโตในไทยอีกมาก ซึ่งเทรนด์เวลานี้ คือการเป็น Omni Channel รวมทุกแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน และต้องมีพื้นที่ออฟไลน์ในการต่อยอดแบรนด์ให้ผู้บริโภครับรู้มากขึ้น”

ขายดี จึงมีอีเวนต์ Kaidee Swap Meet Market จัดขึ้นที่ห้างมาบุญครองในเดือนกันยายนนี้ เป็นตลาดนัดออฟไลน์รวมร้านค้ากว่า 60 ร้านมาขายของ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าขายดีมีของขายเยอะ ไม่ได้มีแค่ของเก่าเพียงอย่างเดียว เพราะขายดีก็ยังคงต้อง Educate ตลาดอยู่เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภค

นอกจากผุดตลาดนัดออฟไลน์แล้ว กลยุทธ์หลักในตอนนี้คือแตกแบรนด์ตามเซ็กเมนต์สินค้าต่างๆ ตามความนิยมของผู้บริโภค ได้เริ่มจากกลุ่มรถยนต์ในชื่อ RodKaidee เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการขายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 50% หรือ 15,000 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จากมูลค่าการขายทั้งหมด 30,000 ล้านบาท

การแตกซับแบรนด์ออกมาครั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคได้ค้นหาสะดวกมากขึ้น มีการแยกประเภทของรถที่ชัดเจน จากเดิมที่เป็นแค่แยกกลุ่มรถยนต์ออกมาอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้แยกประเภทรถ

จากสถิติของสินค้ากลุ่มรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ขายดีพบว่ามีการประกาศขายรถยนต์มากกว่า 80,000 คัน มีผู้ใช้เข้ามาใช้งาน 4.1 ล้านคน มีทราฟฟิกการเข้าชม 256 ล้านวิว/เดือน ในครึ่งปีแรกมีการขายรถไปได้แล้วกว่า 56,700 คัน เฉลี่ยวันละ 415 คัน แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ฮอนด้า, โตโยต้า, อีซูซุ, นิสสัน และมิตซูบิชิ

ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กับรถยนต์ก็คือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เตรียมแตกซับแบรนด์ออกในช่วงปลายปีนี้ เพื่อในการค้นที่ที่สะดวกมากขึ้น กลุ่มนี้มีมูลค่าการขายคิดเป็น 30% จากมูลค่ารวม หรือ 9,000 ล้านบาท มี 6,639 รายการที่ประกาศขายในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับภาพรวมทั้งหมดของขายดีในช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 มีมูลค่าการขายที่เกิดขึ้นบนขายดี 30,000 ล้านบาท มีประกาศขายมากกว่า 5 ล้านประกาศ มีสินค้าที่ขายได้กว่า 900,000 รายการ หมวดสินค้าที่มีคนลงขายมากที่สุด ได้แก่ มือถือ/แท็บเล็ต, อสังหาริมทรัพย์, รถยนต์, เสื้อผ้า และมอเตอร์ไซค์ คาดการณ์ครึ่งปีหลังจะเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่แล้วอีก 100%

รายได้ของขายดีมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน 60% บริการเสริมให้กับผู้ลงประกาศขายสินค้ามีการเลื่อนประกาศราคาตั้งแต่ 5-50 บาท และ Top Ads ให้ประกาศค้างอยู่ด้านบนสุดของเว็บไซต์ ราคาตั้งแต่ 50-400 บาท ส่วนอีก 40% เป็นค่าโฆษณาเป็นในรูปแบบของ Native Ads ที่จะเนียนๆ ไปกับประกาศ กำลังจะทำโฆษณาที่สนับสนุนวิดีโอด้วย

]]>
1134316