ธนจิรากรุ๊ป – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 06 Mar 2024 09:05:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 แผนธุรกิจ “ธนจิรา” ปี 2567 เตรียมนำเข้าแบรนด์แฟชั่นบิ๊กเนมจาก “ญี่ปุ่น” จ่อส่ง “HARNN” ลุยตลาด “จีน” เต็มตัว https://positioningmag.com/1465320 Wed, 06 Mar 2024 07:33:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1465320 “ธนจิรา” กางแผนปี 2567 จัดโครงสร้างองค์กรแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% แบรนด์ใหม่ปีนี้เตรียมนำเข้าแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ระดับ Top 8 ของ “ญี่ปุ่น” และเปิดร้านอาหาร “Street Burger” อีกหนึ่งร้านในเครือ Gordon Ramsey ขณะที่สินค้าแบรนด์ “HARNN” จ่อเข้าไปทำตลาด “จีน” เต็มตัว ผ่านการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์จีน สร้างระบบขายแบบ Multi-Tier Franchise System

หลังจาก บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 พร้อมแล้วที่จะสยายปีกต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นำทัพโดย “ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TAN ขณะที่แบรนด์ในเครือมีการจัดธุรกิจเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ : Pandora เครื่องประดับเงินจากเดนมาร์ก, Cath Kidston สินค้าไลฟ์สไตล์แนวโมเดิร์นวินเทจจากอังกฤษ
  • กลุ่มธุรกิจแฟชั่น : Marimekko แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าและของใช้จากฟินแลนด์, GANNI แบรนด์แฟชั่นสไตล์ smart luxury จากแถบสแกนดิเนเวีย
  • กลุ่มธุรกิจความงามและสุขภาพ : HARNN สินค้าบอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา ร้านสปา, Vuudh เครื่องหอมไทยสไตล์ร่วมสมัย
  • กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม : ร้านอาหารจากเครือเซเลบริตี้เชฟ Gordon Ramsey ได้แก่ Bread Street Kitchen & Bar, Street Pizza และ Street Burger รวมถึงร้านอาหารแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Marimekko Café และ Cath Kidston Tearoom
ธนจิรา
รวมพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ในเครือธนจิรา

ธนพงษ์กล่าวว่า บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อแยกการบริหารให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละกลุ่มธุรกิจอาศัยความรู้ความเข้าใจในการบริหารกิจการและทำการตลาดสินค้าที่ต่างกัน

หลังจัดกลุ่มแล้ว ทำให้สัดส่วนรายได้เมื่อปี 2566 จะแบ่งตามกลุ่มธุรกิจ คือ 61% กลุ่มไลฟ์สไตล์ 19% กลุ่มแฟชั่น 19% กลุ่มความงามและสุขภาพ และ 1% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 นี้บริษัทมีแผนจะบุกหนักในกลุ่มแฟชั่นและกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นจากการเปิดแบรนด์ใหม่ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้สิ้นปีนี้เปลี่ยนไป คือ 51% กลุ่มไลฟ์สไตล์ 23% กลุ่มแฟชั่น 19% กลุ่มความงามและสุขภาพ และ 7% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้ธนจิรามีการกระจายพอร์ตที่สมดุลมากขึ้น

ธนพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2566 ธนจิราทำรายได้ 1,415 ล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อนหน้า และทำกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท เติบโต 33% จากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 20% ซึ่งจะมาจากทั้งกลยุทธ์การเปิดแบรนด์ใหม่และสาขาใหม่ของแบรนด์เดิม รวมถึงการเพิ่มยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ด้วย

 

จ่อเปิดแบรนด์แฟชั่นบิ๊กเนมจาก “ญี่ปุ่น” และร้านใหม่ของ Gordon Ramsey

กลยุทธ์การเปิดแบรนด์ใหม่ของธนจิราปี 2567 ในกลุ่มธุรกิจแฟชั่นจะมีการนำเข้า 1 แบรนด์ใหม่จาก “ญี่ปุ่น” เตรียมเปิดช็อปที่เอ็มสเฟียร์เดือนพฤษภาคมนี้

ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก แต่แบรนด์ดังกล่าวเป็นแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และทำรายได้เป็นอันดับ 8 ของตลาดแฟชั่นในญี่ปุ่น มีสินค้าหลากหลายตั้งแต่แฟชั่นสตรีทแวร์จนถึงระดับไฮเอนด์ รวมถึงการเลือกขยายสาขามายังประเทศไทย ถือเป็นการเข้าตลาดต่างประเทศแห่งใหม่ในรอบสิบปีของแบรนด์นี้ หลังจากเคยขยายสาขาไปยังไต้หวันมาแล้ว

ธนจิรามองเทรนด์แฟชั่นปัจจุบันของคนรุ่นใหม่มีกระแสนิยมแนวสตรีทแวร์มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าสินค้าแฟชั่นกลุ่มสตรีทแวร์จะโตเป็นเท่าตัวภายในปี 2571 ทำให้แบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่นนี้น่าสนใจในการนำเข้ามาขยายฐานลูกค้า

Bread Street Kitchen & Bar ธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของธนจิรา เปิดตัวเดือนธันวาคม 2566

ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปีนี้จะมีการเปิดร้าน “Street Burger” เป็นอีกหนึ่งร้านในเครือของ Gordon Ramsey ที่บริษัทดีลไว้แล้ว โดยจะเป็นร้านสไตล์ Casual Dining แต่เป็นเบอร์เกอร์ที่ใช้วัตถุดิบพรีเมียมและกรรมวิธีพิถีพิถัน เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวและนิวเจนเป็นหลัก Street Burger วางแผนจะเปิดทั้งหมด 3 สาขาภายในสิ้นปี 2567

 

ส่งแบรนด์ “HARNN” ลุย “จีน” เต็มตัว

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญคือการขยายตลาดของ “HARNN” ธนพงษ์ระบุว่าขณะนี้บริษัทกำลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้า HARNN เข้าสู่ประเทศจีนในลักษณะ B2B หลังจากชิมลางทำตลาดอีคอมเมิร์ซบน Tmall ของจีนส่งขายแบบ B2C มาหลายปีและพบว่ามีดีมานด์จริง

ระบบการขายของ HARNN ในจีนจะใช้ระบบ Multi-Tier Franchise System โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จีนรายนี้ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาเครือข่ายผู้กระจายสินค้าในแต่ละมณฑลของจีน ให้สิทธิกระจายสินค้าแยกเป็นแต่ละมณฑล เพื่อให้สินค้าได้กระจายโดยผู้ที่เชี่ยวชาญตลาดนั้นๆ และไปถึงมือลูกค้าปลายทาง ขณะที่บริษัท JV ของธนจิราและพาร์ทเนอร์จีนจะได้จำหน่ายสินค้าเป็นลอตใหญ่ ขายในลักษณะ B2B

ผลิตภัณฑ์แบรนด์ HARNN

“จีนเป็นตลาดปราบเซียนเพราะตลาดมีขนาดใหญ่มาก” ธนพงษ์กล่าว “แต่เป้าหมายสูงสุดของเราคือต้องการครอบคลุมให้ทั่วประเทศจีน จึงต้องหาโมเดลธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้สินค้ากระจายแบบมีประสิทธิภาพจริงๆ”

ขณะนี้ HARNN อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตด้านอาหารและยาของจีน คาดจะได้รับอนุญาตภายในไตรมาส 2 นี้ และจะเริ่มส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ธนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของ HARNN ในไทย 40% เป็นคนไทย และ 60% เป็นนักท่องเที่ยว และกลุ่มต่างชาติส่วนใหญ่ที่ซื้อคือ “คนจีน” อยู่แล้ว ทำให้แบรนด์น่าจะไปได้ดีในตลาดจีน เชื่อว่าภายใน 3 ปี รายได้ของ HARNN ในจีนจะวิ่งแซงหน้ารายได้ที่ขายในไทยได้

 

ภาพรวมเปิดเพิ่ม 23 สาขา หาโอกาสใน “ต่างจังหวัด” มากขึ้น

สรุปภาพรวมทั้งเครือของ TAN ปีนี้จะเปิดเพิ่ม 23 สาขา รวมทั้งแบรนด์ใหม่และแบรนด์เดิมในพอร์ต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทุกแบรนด์จะมีการขยายสาขาทั้งหมด

ทีมผู้บริหาร บมจ. ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น

ไฮไลต์หนึ่งที่น่าสนใจคือการออก “ต่างจังหวัด” ของธนจิราที่จะเห็นมากขึ้นในปีนี้ โดย Pandora จะไปเปิดที่เซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี ขณะที่ Marimekko จะเปิดช็อปที่เซ็นทรัล ภูเก็ต

ธนพงษ์แย้มเป้าหมายในปี 2568 ด้วยว่าน่าจะได้เห็นการนำเข้าแบรนด์เครื่องสำอางจากญี่ปุ่น 1 แบรนด์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา เห็นได้ว่าธนจิราเป็น ‘Lifestyle Company’ การนำเข้าสินค้ามีความหลากหลายประเภทมาก ขอเพียงอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ตลาดเปิดได้ไม่จำกัดประเภทสินค้า

]]>
1465320
เปิดจักรวาล “Marimekko” ผ่านประสบการณ์ใน “คาเฟ่” กลยุทธ์จาก “ธนจิรา” ที่ช่วยพาแบรนด์สู่ SEA https://positioningmag.com/1438786 Mon, 24 Jul 2023 09:37:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438786 ปี 2558 “ธนจิรา กรุ๊ป” ใช้หมัดเด็ดแจ้งเกิดแบรนด์ “Marimekko” ได้จากกลยุทธ์​ “ถุงผ้า” กระทั่งในปี 2565 ธนจิรายกระดับการส่งเสริมแบรนด์ไปอีกขั้น โดยผลักดันให้เกิด “Marimekko Kafé” แห่งแรกในโลกขึ้นที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ส่งแบรนด์สุดน่ารักเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยของคนไทย และกำลังจะยกโมเดลนี้ไปใช้ในอีกประเทศหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน ถ้าเราไปเดินเล่นในสยามสแควร์จะได้เห็นวัยรุ่นตั้งแต่วัยมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนไปถึงคนทำงานกลุ่ม first jobber หอบหิ้ว “ถุงผ้าลายดอก” สีสันสดใสเดินกันเต็มสยาม ถุงผ้าสุดฮิตนั้นมาจากร้าน “Marimekko” (มารีเมกโกะ) แบรนด์ใหม่ในไทยแต่เป็นแบรนด์เก่าแก่ของฟินแลนด์ที่ “ธนจิรา กรุ๊ป” เป็นผู้ได้รับสิทธินำเข้า

“ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป เล่าย้อนความเป็นมาว่า การเลือก “ถุงผ้า” มาเป็น ‘must-have item’ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทแม่ แต่เป็นการวางแผนทางการตลาดของธนจิราเอง

“เราพยายามตีโจทย์ความเป็น Marimekko ที่เด่นด้านลายพิมพ์สนุกสนานให้คนไทยได้เข้าใจก่อน โดยเราเริ่มจากสินค้าราคาไม่แพงมากเพื่อให้คนไทยเห็นแบรนด์ จึงเลือกเป็นถุงผ้าพิมพ์ลาย” ธนพงษ์กล่าว

Marimekko
ถุงผ้าของ Marimekko ไอเทมสร้างกระแสในช่วงแบรนด์เข้าไทยใหม่ๆ

ที่จริงต้นตำรับ Marimekko ในฟินแลนด์เป็นแบรนด์ที่เด่นเรื่องของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่นถือเป็นเรื่องที่ตามมา แต่ในไทยธนจิรามองว่าคนไทย ณ ช่วงเวลานั้นสนใจด้านแฟชั่นมากกว่า จึงเลือกหมวดเสื้อผ้ามาเป็นสินค้าเรือธงในการทำตลาด

ถุงผ้าลายดอกอุนิกโกะของ Marimekko กลายเป็นสินค้ายอดฮิตได้จริงๆ จากความโดดเด่นของลายพิมพ์ที่เห็นที่ไหนก็จำได้ และธนจิรายังกระตุ้นการทำการตลาดแบบบอกต่อด้วยพลังแห่ง User-Generated Content (UGC) ใครที่ได้เป็นเจ้าของต่างก็ถ่ายรูปเจ้าถุงผ้าสุดน่ารักนี้ลงโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดกระแสในหมู่วัยรุ่น และกลายเป็นประตูเบิกทางไปสู่ของชิ้นอื่นๆ ในร้าน

 

“คาเฟ่” เปิดใจให้ Marimekko ไปอยู่ในบ้าน

หลังจากปักหมุดในไทยได้สำเร็จ ขั้นต่อมาที่ธนจิรา กรุ๊ปผลักดันคือ “การเชื่อมโยง Marimekko บนโต๊ะอาหาร” เพราะอย่างที่บอกไปว่า แบรนด์นี้ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า-กระเป๋าซึ่งฮิตในไทย แต่มีของใช้ในบ้านอีกหลายอย่าง เช่น ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หมอนอิง

เมื่อกลางปี 2565 ธนจิรา กรุ๊ป จึงเปิด “Marimekko Kafé” ขึ้นที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นลักษณะ pop-up café ที่มีที่นั่งพร้อมให้คนมาสัมผัสประสบการณ์ข้าวของเครื่องใช้ของแบรนด์ และตกแต่งด้วยบรรยากาศแบบสแกนดิเนเวียเพื่อตอกย้ำความเป็นฟินแลนด์ (ไม่ใช่ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคมักเข้าใจผิด!)

Marimekko Kafé สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

“Marimekko Kafé” แห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกในโลก โดยทางธนจิราเป็นผู้นำเสนอไอเดียกับบริษัทแม่ด้วยตนเอง เพราะต้องการจะตอบโจทย์ของประเทศไทยได้ดีขึ้น

“เราจะเป็นธุรกิจที่ทำแค่ซื้อมาขายไปไม่ได้ เราต้องเพิ่มความเข้าใจในแบรนด์ แบรนด์ถึงจะมีคุณค่า ต้องทำให้ลูกค้าพอใจมากๆ ที่จะซื้อ พอใจที่จะเก็บรักษาแบรนด์นี้ไว้ในบ้านของเขา” ธนพงษ์กล่าว “เราจึงเลือกเปิดเป็นคาเฟ่ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์เลี้ยงฉลองวันเกิดคนในครอบครัวไปจนถึงอีเวนต์ธุรกิจ ร้านอาหารจะเป็นมิติที่ทำให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น”

เราจะเป็นธุรกิจที่ทำแค่ซื้อมาขายไปไม่ได้ เราต้องเพิ่มความเข้าใจในแบรนด์ แบรนด์ถึงจะมีคุณค่า ต้องทำให้ลูกค้าพอใจมากๆ ที่จะซื้อ พอใจที่จะเก็บรักษาแบรนด์นี้ไว้ในบ้านของเขา

กลยุทธ์ของธนจิราที่ใช้กับ Marimekko เป็นวิธีที่แบรนด์เนมระดับโลกหลายแบรนด์เคยใช้มาแล้ว เช่น Café Dior ในกรุงโซล หรือ Le Café V ของ Louis Vuitton ในโอซาก้า แบรนด์เหล่านี้ต่างใช้ร้านอาหารเป็นพื้นที่นำเสนอวิถีและไอเดียคอนเซ็ปต์ของแบรนด์นั้นๆ และเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้คนได้เข้ามารู้จักแบรนด์

ธนพงษ์กล่าวต่อว่า 1 ปีที่เปิด “Marimekko Kafé” สาขาแรก ผลปรากฏว่าสินค้ากลุ่ม Home Collection เติบโต ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ ปัจจุบันยอดขายของแบรนด์ในไทยมีสัดส่วนมาจากเสื้อผ้า Ready-to-wear มากที่สุด 49% รองมาเป็นกระเป๋าและเครื่องประดับ 30% ตามด้วยเครื่องใช้ในบ้านหรือ Home Collection ที่มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% แล้ว

 

ขยายเป็น “ร้านอาหาร” ที่เอ็มโพเรียม

จากความสำเร็จของสาขาแรก ปี 2566 ธนพงษ์จึงประกาศการเปิดสาขาที่สองที่ “เอ็มโพเรียม” โดยครั้งนี้ยกระดับเป็นร้านอาหาร สามารถมาทานเป็นมื้ออาหารหลักได้ จากเดิมเน้นเป็นเครื่องดื่มและขนม รวมถึงเป็นการผนวกร้านอาหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร้านขายสินค้าเลย จากเดิมเป็น pop-up ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน

Marimekko Kafe สาขาดิ เอ็มโพเรียม

ธนพงษ์กล่าวว่า โมเดลการประกบร้านอาหารเข้ากับร้านขายสินค้า เป็นไปได้ที่จะเปิดในสาขาอื่นๆ อีกแต่จะต้องได้พื้นที่อย่างน้อย 200 ตารางเมตรจากทางศูนย์การค้า ดังนั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ปัจจุบัน Marimekko มีทั้งหมด 13 สาขาในไทย มีสาขาในต่างจังหวัดสาขาเดียวที่ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ Marimekko จะเปิดสาขาที่ 14 ที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ แต่จะปรับเป็นสโตร์ขนาดเล็ก 60 ตารางเมตร ซึ่งลงจำหน่ายสินค้ากลุ่มยอดฮิตเป็นหลัก (ไม่มีคาเฟ่)

 

ยกโมเดล “ไลฟ์สไตล์” เข้าสู่ SEA

จากกลยุทธ์ทั้งหมดที่ธนจิรากรุยทางทำให้ขณะนี้ Marimekko ประเทศไทย สามารถทำยอดขายและมีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่น เอาชนะประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอื่นๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้

Marimekko Kafe
อาหารสไตล์สแกนดิเนเวียฟิวชันกับอาหารไทย

เหตุนี้ธนจิรา กรุ๊ปจึงได้รับความไว้วางใจรับสิทธิจัดจำหน่ายแบรนด์ Marimekko ในอีกประเทศหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็น “สิงคโปร์” อีกหนึ่งประเทศกำลังซื้อสูงในแถบนี้ และเตรียมจะประกาศอย่างเป็นทางการในไตรมาส 4

ธนพงษ์กล่าวว่า รูปแบบร้านที่เป็นไลฟ์สไตล์ผสมผสานระหว่างร้านขายสินค้าที่เน้นแฟชั่นนำเข้ากับร้านอาหาร จะเป็นฟอร์แมตร้านที่นำไปใช้ขยายตัวใน SEA เพราะมองว่าน่าจะเข้ากับไลฟ์สไตล์คนภูมิภาคนี้ซึ่งมีความชื่นชอบและการใช้ชีวิตคล้ายกัน

“ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป และ “แพรวไพลิน เอมอักษร” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ บริษัท ธนจิรา โฮม

กลยุทธ์ร้านอาหารนำทางเข้าหาแบรนด์ไม่ได้ใช้กับ Marimekko แบรนด์เดียวในเครือของธนจิรา ปีนี้ธนจิรา กรุ๊ปเพิ่งจะเปิด “Cath Kidston Tea Room” ขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ด้วย เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ธนจิราได้รับสิทธิจัดจำหน่าย และต้องการจะสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้คุ้นเคยกันมากขึ้น

ปี 2565 ธนจิรา กรุ๊ป ทำรายได้ไปกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ยังไม่สามารถเปิดเผยหรือคาดการณ์เป้ารายได้ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยธนจิรา กรุ๊ปเป็นผู้นำเข้าแบรนด์ดัง ได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเป็นเจ้าของแบรนด์ผ่านการควบรวมกิจการ คือ HARRN (หาญ) และ VUUDH (วุฒิ)

]]>
1438786
ซื้อเพื่อโต ! ธนจิรากรุ๊ป เทคโอเวอร์ “แคท คิดสตัน ประเทศไทย” แบรนด์แฟชั่น ดันรายได้ 1,800 ล้านบาท https://positioningmag.com/1132934 Fri, 14 Jul 2017 23:00:28 +0000 http://positioningmag.com/?p=1132934 เป็นอีกหนึ่งในการเคลื่อนไหวของธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์” แฟชั่น ซื้อเพื่อโต เมื่อ “ธนจิรากรุ๊ป” เทคโอเวอร์ แคท คิดสตัน ประเทศไทย แบรนด์แฟชั่นวินเทจ หวังดันรายได้ 1,800 ล้านบาท เตรียมปิดดีลซื้ออีก1 กิจการ ก่อนดันเข้าตลาดหุ้นในอีก 3 ปี

อภิชัย ผลโกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากต่างประเทศ เปิดเผยถึง การที่บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการ แคท คิดสตัน ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น โดยเป็นการซื้อหุ้น 100% และได้เริ่มดำเนินการเข้าบริหารตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป้าหมายของการซื้อกิจการครั้งนี้ เพื่อดันยอดขายรวมให้เป็นตามเป้าหมายปี 2563 ที่ตั้งไว้ 1,800 ล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มบริษัทจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 107% เมื่อเทียบกับปี 2559 และจะมียอดขาย 1,100 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งนับได้ว่าเป็นรายได้ที่สูงสุดในประวัติการณ์หลังจากก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2553

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้ “เพิ่ม” กลยุทธ์การเติบโต นอกจากการสร้างและขยายแบรนด์ที่บริหารอยู่ มาเป็นการ “เข้าควบรวมกิจการของผู้เล่นเดิมในตลาด โดยบริษัทที่ต้องการซื้อ จะต้องมียอดขายต่อปีมากกว่า 300 ล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโต รวมทั้งมีโอกาสในการขยายสาขาที่ดี และมีสัดส่วนของกำไรขั้นต้นที่ใกล้เคียงกับแบรนด์อื่นๆ ในพอร์ตที่บริษัทบริหารอยู่

ทั้งนี้ ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น มุ่งเน้นทำตลาด “แบรนด์ไลฟ์สไตล์” ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนที่ใช้ชีวิตในเมือง โดยในปี 60 ได้ตั้งงบประมาณในการทำตลาดมากกว่า 30 ล้านบาท สำหรับแบรนด์ แพนดอร่า สินค้าไลฟ์สไตล์ จิวเวลรี่ และอีกกว่า 15 ล้านบาท ใช้กับแบรนด์ที่เหลือ

ทางด้าน ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ธนจิรา กล่าวเสริมว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด โดยมีสาขาเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากจำนวน 35 สาขา ในปัจจุบันเป็น 70 สาขา และบริษัทยังมีแผนเพิ่มจำนวนสาขารวมของแบรนด์ที่บริหารอยู่ทั้งหมด 5 แบรนด์ เป็น 100 สาขา ภายในปี 2563

ได้แบรนด์ แคท คิดสตัน ขยายตลาดพรีเมียมแมส

นอกจากนี้ ยังเป็นการกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพารายได้หลักจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และช่วยขยายกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการได้แบรนด์ แคท คิดสตัน มาทำตลาด ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ผู้บริโภคกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) ที่ใหญ่กว่าจากฐานลูกค้าเดิม บริษัทจะอยู่ในกลุ่ม มิดลักซูรี่ (Mid Luxury) และพรีเมียม (Premium) เท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากเข้าซื้อกิจการ บริษัทจะเร่งทำการตลาดที่แบรนด์ แคท คิดสตัน และเพิ่มงบประมาณพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานขาย โดยคาดว่ายอดขายร้านเดิม (Same Store Sales) จะมีอัตราเพิ่มขึ้น15% จากที่เคยติดลบในปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยดีลการซื้อกิจการจะยังเดินหน้าต่อ โดยยังตั้งเป้าหมายปิดดีลซื้อกิจการให้ได้อีกอย่างน้อยอีก 1 ดีล โดยรายได้รวมคาดว่าจะแตะ 1,800 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทวางแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

สำหรับ บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่นแบรนด์ดังและเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ เช่น แพนดอร่า (PANDORA) แบรนด์เครื่องประดับจากประเทศเดนมาร์ก, มารีเมกโกะ (MARIMEKKO) แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากประเทศฟินแลนด์ และโจนาธาน แอดเลอร์ (JONATHAN ADLER) แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลักซูรี่จากนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตและจำหน่ายแบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรี่เพชรแท้ “ทิลด้า” (TILDA) และล่าสุดได้แบรนด์ “แคท คิดสตัน” (CATH KIDSTON) แบรนด์ไลฟ์สไตล์โมเดินวินเทจ จากประเทศอังกฤษ

]]>
1132934