ธุรกิจค้าส่ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 27 Oct 2023 04:24:46 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มาแล้ว! GO Wholesale สาขาแรกที่ “ศรีนครินทร์” ขอเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้ลูกค้าทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ https://positioningmag.com/1449402 Thu, 26 Oct 2023 09:42:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449402 หลังประกาศร่วมสมรภูมิค้าส่งไปเมื่อเดือนก่อน ในที่สุด “GO Wholesale” พร้อมเผยโฉมสาขาแรกแล้วที่ “ศรีนครินทร์” วาง 3 กุญแจสำคัญในการเอาชนะเจ้าตลาดเก่าด้วย “บริการ” “สินค้าหลากหลาย” และ “ชำระเงินสะดวก” ตอบโจทย์ลูกค้าตั้งแต่รายเล็ก เช่น สตรีทฟู้ด โชห่วย ไปจนถึงรายใหญ่ เช่น เชนร้านอาหาร เครือโรงแรม

“GO Wholesale” (โก โฮลเซลล์) กำหนดดีเดย์วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ในการเปิดตัวสาขาแรกที่ “ศรีนครินทร์” ทำเลด้านหน้าไทวัสดุ ศรีนครินทร์ โดยใช้พื้นที่เดิมที่เครือ CRC มีอยู่แล้ว

นับว่าเป็นการเริ่มสงครามท้าชิง “แม็คโคร” เจ้าตลาดค้าส่งเก่าแก่ โดยสาขาแรกนี้อยู่ห่างจากแม็คโคร ศรีนครินทร์มาประมาณ 5 กิโลเมตร ทางฝั่งแม็คโครเองก็ไม่อยู่เฉย มีการรีโนเวตสาขาศรีนครินทร์ใหม่และเลือกเปิดตัวห้างฯ ปรับปรุงใหม่ในวันเดียวกับที่ GO Wholesale เปิดสาขาแบบ ‘วัดใจ’ ลูกค้ากันไปเลย

GO Wholesale
บรรยากาศภายใน GO Wholesale สาขาศรีนครินทร์

“ตลาดใหญ่พอที่จะมีผู้เล่นมากกว่า 1 ราย” สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด กล่าว “เท่าที่เราเซอร์เวย์ลูกค้าเขาก็บอกว่า ‘ดี อยากมีทางเลือก’ เราเลยตั้งสโลแกนว่าเราจะมาเป็น ‘The New Choice for All’ คือเป็นทางเลือกใหม่ที่สด ใหญ่ ดี ให้กับลูกค้าทุกแบบ”

 

เน้นแผนก “ของสด” มีครบทุกอย่าง

ภายใน GO Wholesale สาขาแรก เปิดเป็นรูปแบบห้างฯ ขนาดใหญ่ พื้นที่ถึง 7,000 ตารางเมตร โดยเน้นของสด 50% ของแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภค 50% รวมแล้ว 20,000 SKUs ที่มีจำหน่าย

กลุ่มสินค้าไฮไลต์ที่ทางบริษัทนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นของสดและของแห้งสำหรับทำอาหารที่มีทั้งจากแหล่งผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผักผลไม้, อาหารทะเล, เนื้อสัตว์, อาหารแช่แข็ง, เนย นม ชีส, เบเกอรี, ซอสปรุงรส

GO Wholesale
แผนกอาหารทะเลสด

โดยสินค้าของสดแต่ละชนิดจะมีให้เลือก ‘pack size’ ที่หลากหลาย เช่น “ผัก” จะมีทั้งแบบยังไม่ตัดแต่ง ตัดแต่งเป็นถุงใหญ่ ตัดแต่งเป็นถุงเล็ก หรือ “เนื้อหมู” มีแบบชิ้นใหญ่ยังไม่ตัดแต่ง และแบบตัดแต่งพร้อมทำอาหารได้เลย

รวมถึงบางแผนกจะมีบริการตัดแต่งเนื้อสัตว์ตามแบบและขนาดที่ลูกค้าต้องการ เช่น แผนกอาหารทะเล สามารถสั่งแล่ปลาได้ หรือแผนกเนื้อวัวดรายเอจ ก็สั่งดรายและหั่นชิ้นขนาดตามต้องการได้

แผนกผัก มีขายทั้งแบบตัดแต่งและไม่ตัดแต่ง

สุชาดากล่าวว่า จากการสำรวจลูกค้ามีความหลากหลายมาก ทำให้ GO Wholesale ต้องการตอบสนองให้ได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับสตรีทฟู้ด ซื้อสินค้าหั่นเสร็จเป็นแพ็กเล็กๆ เพื่อขายวันต่อวัน จนถึงร้านอาหารใหญ่สามารถดีลสั่งซื้อทำส่งให้ได้

 

ขอแข่งด้วยสินค้า บริการ และการชำระเงิน

ด้านจุดแข็งที่จะมาท้าชิงตลาดกับคู่แข่ง สุชาดาระบุว่าจะสู้ด้วย

1.สินค้าครบ หลากหลาย มีหลาย pack size ให้เลือก

2.การบริการ ประสบการณ์แบบใหม่ที่น่าประทับใจ

3.การชำระเงิน รับชำระทุกรูปแบบ รับบัตรเครดิตทุกธนาคาร, โอนเงินผ่าน QR code, Alipay และ WeChat Pay (*เครดิตชำระเงิน จะรับพิจารณาเฉพาะลูกค้ารายใหญ่และอนุมัติเป็นกรณีไป)

GO Wholesale

สำหรับ “สงครามราคา” นั้นสุชาดามองว่าจะไม่เน้นการแข่งลดราคามากนัก แต่จะเน้นความคุ้มค่า ซื้อสินค้าคุณภาพเกรดเอ ด้วยราคาเกรดบี

“เราคงรับประกันไม่ได้ว่าเราจะถูกที่สุด แต่เราจะทำให้วิน-วินกับทุกฝ่าย คือลูกค้าผู้ประกอบการได้ต้นทุนสินค้าที่เหมาะสม ซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้เราต้องได้กำไรและชื่นชอบที่จะทำการค้ากับเรา และเราเองก็อยู่ได้ด้วย” สุชาดากล่าว

แผนกเบเกอรี

 

เป้าสิ้นปี’66 ดึงสมาชิก 20,000 ราย

เป้าหมายของปี 2566 สุชาดายังย้ำแผนเดิมคือ จะมีการระดมเปิด GO Wholesale ให้ครบ 4 สาขา โดยสาขาต่อไปคือ “เชียงใหม่” เปิดตัวเดือนพฤศจิกายนนี้ ตามด้วย “อมตะนคร” และ “พัทยาใต้” จะเปิดในเดือนธันวาคม

สุชาดาคาดว่า GO Wholesale จะมีสมาชิก 20,000-30,000 รายภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่เป้าระยะยาวต้องการเปิดเฉลี่ยเดือนละ 1 สาขา ทำให้ภายใน 5 ปี จะมีสาขาประมาณ 40-50 สาขา

“เราต้องการลงสาขาอย่างน้อย 1 สาขาต่อ 1 จังหวัด ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งลงสาขาได้มากกว่านั้นอยู่แล้ว” สุชาดากล่าว

]]>
1449402
โฮเรก้า สแควร์ VS แม็คโคร บนสมรภูมิค้าส่งของสองเจ้าสัว “เจริญ-ธนินท์” https://positioningmag.com/1140438 Wed, 20 Sep 2017 22:55:33 +0000 http://positioningmag.com/?p=1140438 “โฮเรก้า สแควร์” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ลูกชายคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ

จัดเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าและบริการที่เข้ามาสนับสนุนพอร์ตธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของตระกูลสิริวัฒนภักดีให้แข็งแรงขึ้น นอกจากจะรองรับตลาดโรงแรม 2 – 4 ดาว (HO-tel) ร้านอาหาร (RE-staurant) ร้านกาแฟ (CA-fe) และธุรกิจจัดเลี้ยงแล้ว ยังคอยสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้ธุรกิจในเครืออีกด้วย

ปณต สิริวัฒนภักดี โฮเรก้า สแควร์

บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ได้เปิดตัว โฮเรก้า สแควร์ แอท ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ ริมถนนรัชดาภิเษก อย่างเป็นทางการ ใช้งบลงทุน 350 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ชั้น 3 – ชั้น 5 ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ค้าส่ง ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร

ศูนย์ค้าส่งเฉพาะทางแห่งนี้ มีพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้าทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 14 หมวดหมู่หลัก ที่เกี่ยวข้องกับ 1. Bedding & Furniture 2. Porcelain & Glasswear 3. Coffee & Bakery 4. Electonic & Appliance 5. Cooking School 6. Amenity 7. Lighting 8. Hotel Supply 9. Utensil 10. Packaging 11. Software & POS 12. Consultant 13. Kitchen Equipment และ 14. Uniform

ที่ผ่านมาโฮเรก้าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล จากการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ที่เป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยปี 2559 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.51 ล้านล้านบาท ธุรกิจโรงแรมและที่พัก นำมาเป็นอันดับ 1 ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 4.48 แสนล้านบาท รวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการท่องเที่ยว

เคยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจโฮเรก้าในไทยมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 5.27 แสนล้านบาท ธุรกิจร้านอาหาร 3.85 แสนล้านบาท ธุรกิจกาแฟ เบเกอรี ไอศกรีม และบริการจัดเลี้ยง 6.2 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโต 10-20%

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด กล่าวจุดยืนของโฮเรก้า สแควร์ ว่าจะ เน้นค้าส่งในแวดวงธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน เราขายของล็อตใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ขายแยกชิ้น

แต่ต้องยอมรับว่าโฮเรก้า สแควร์ เข้ามาปักธงธุรกิจค้าส่งในเซกเมนต์เดียวกับห้างแม็คโคร โดยโฮเรก้าฯ จะวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นศูนย์ค้าส่งเฉพาะทาง (niche market) เน้นจำหน่ายของชิ้นใหญ่ อย่าง เตียงและเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งร้าน วัสดุสิ้นเปลือง ครอบคลุมงานที่ปรึกษาและการวางระบบ

ขณะที่ตำแหน่งทางการตลาดของแม็คโคร จะกินแนวรอบด้าน (mass market) ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ตกแต่งร้าน และอาหารสด

ภารกิจหลักของโฮเรก้า สแควร์ คือการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติมาเจรจาการค้า ขณะเดียวกันก็ให้โฮเรก้า สแควร์เป็นเวทีกลาง นำสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก ผลักดันให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อธุรกิจจากไทยไปอาเซียน และเติบโตในระดับเอเชียต่อไป

โดยบริษัท อินเตอร์ โฮเรก้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ จะเป็นผู้เชื่อมโยงคู่ค้าทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยกัน ด้วยการต่อสายพันธมิตรที่จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย เอามาสร้างความแตกต่างให้ลูกค้า

ทีซีซี แอสเซ็ทส์ กำหนดให้ทั้งสามโครงการที่อยู่ในความดูแล เป็นยุทธศาสตร์การค้าบนถนนรัชดาภิเษก ได้แก่ โครงการ ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์โครงการ เดอะสตรีท รัชดา และโครงการ ซี-อาเซียน (C-ASEAN) โดยโครงการทั้งหมดจะเชื่อมถึงกันด้วยทางเดินขนาดใหญ่ที่ต่างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กันและกัน

ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ เป็นออฟฟิศให้เช่า มีคนทำงานอยู่มากมาย ซี-อาเซียนก็อยู่อีกปีกของอาคาร ขณะที่เดอะสตรีท รัชดา เป็นแหล่งชอปปิ้งรองรับไลฟ์สไตล์คนเมือง

ดังนั้น การเปิดตัวโฮเรก้า สแควร์ จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในย่าน รัชดาภิเษก เพื่อปั้นให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ในระดับอาเชียน ดึงเอาผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจ และนำสินค้าของไทยไปขายต่างประเทศ แล้วยังทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งของกลุ่มเบียร์ช้าง ครบเครื่องมากยิ่งขึ้น

ทางด้าน “แม็คโคร” เจ้าตลาดเดิม หลังเข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจเครือซีพี ภายใต้การดูแลของเซเว่น-อีเลฟเว่น ก็เดินหน้าให้ความสำคัญกับธุรกิจโฮเรก้ามากขึ้น ทั้งการขยายสาขารูปแบบเดิมไปในต่างจังหวัด และที่บุกหนักในปีนี้ คือ จะใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท ขยายสาขาในรูปแบบ ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เพิ่มเติมอีก 7 แห่ง

โมเดลธุรกิจฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป จะมีขนาดเล็กกว่าสาขาแบบดั้งเดิม โดยแม็คโครพยายามเข้าไปยึดพื้นที่ชุมชนที่มีร้านอาหารหนาแน่น และไปอยู่ในย่านที่มีศูนย์การค้าขนาดเล็กแบบคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอาหารน้อยใหญ่

ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เน้นวางจำหน่ายเฉพาะอาหารสด วัตถุดิบประกอบอาหาร และอุปกรณ์ทำอาหาร มีขนาดพื้นที่ 1,000-3,000 ตารางเมตร และจะไม่ขายสินค้าทั่วไปแบบโชห่วย

เป้าหมายของการขยาย ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป

1. ต้องการติดสปีดในการขยายสาขา เพราะศูนย์ค้าส่งแบบดั้งเดิม Cash & Carry ที่ขายส่งสินค้าทุกอย่างสำหรับร้านค้าโชห่วย และร้านอาหาร ใช้พื้นที่มากเฉลี่ย 10,000 ตารางเมตร ยิ่งนานวันยิ่งหาทำเลยาก การทำขนาดให้เล็กลงทำให้ขยายได้มากขึ้น แทรกซึมไปในพื้นที่ชุมชนได้ง่าย

2. ลูกค้ากลุ่มร้านอาหารหรือธุรกิจโฮเรก้ามีการเติบโตสูง เพราะคนยุคนี้ชอบประกอบธุรกิจส่วนตัวทั้งร้านอาหาร เบเกอรี และร้านกาแฟ แม็คโครจึงพยายามเจาะกลุ่มนี้มากขึ้น โดยปกติแล้วลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของแม็คโครเช่นกัน มีสัดส่วน 30% รองจากลูกค้าร้านโชห่วยที่มีสัดส่วน 50% และอื่นๆ อีก 20% เป็นกลุ่มบริการ โรงงาน ปั๊มน้ำมัน และรถทัวร์ เป็นต้น

ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เปรียบเหมือนร้านสะดวกซื้อแบบค้าส่งวัตถุดิบของกลุ่มร้านอาหาร พฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้จะเข้าร้านถี่แต่มียอดการใช้จ่ายไม่สูง เน้นอาหารสดวันต่อวัน ทำเลที่ตั้งจะเน้นในชุมชน แหล่งที่มีร้านอาหารตั้งอยู่เป็นจำนวนมากประเภทเป็นตึกแถวเรียงต่อกันก็มี ส่วนลูกค้าร้านโชห่วยจะมาที่ร้านไม่ถี่ แต่ซื้อจำนวนมากๆ เพราะจะได้คุ้มค่ารถ ทำเลที่ตั้งจึงเน้นเดินทางสะดวก

ภาพรวมจำนวนสาขาทั้งหมดของแม็คโครสิ้นปี 2559 มีทั้งหมด 115 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นรูปแบบคลาสสิก 76 สาขา ฟูดเซอร์วิส 17 สาขา อีโค พลัส 11 สาขา แม็คโคร ฟูดชอป 3 สาขา และร้านสยามโฟรเซ่น 8 สาขา

ดังนั้น การก้าวเข้ามาของโฮเรก้า สแควร์ในตลาดห้างค้าส่ง จึงมีหลายเซกเมนต์ที่คาบเกี่ยวกันกับแม็คโคร ทั้งธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอรี ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก รวมถึงบูติก โฮเทล ความท้าทายของโฮเรก้า สแควร์สำหรับตลาดในประเทศ คือ จะยึดกลุ่มลูกค้าตลาดบนอย่างเหนียวแน่นไว้ได้อย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด

ขณะที่ในเมื่อแม็คโครเองก็พยายามโฟกัสเป้าหมายมาที่กลุ่มธุรกิจโฮเรก้ามากขึ้น ข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนทำให้มีโอกาสอย่างมากที่แม็คโครอาจหันมาอัปเกรดสินค้าในกลุ่มโฮเรก้า เพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าของตัวเอง ดังนั้น ในอนาคตช่องว่างสำหรับตลาดโฮเรก้าสำหรับห้างค้าส่งซึ่งเป็นตัวแทนของสองเจ้าสัว “เจริญ” และ “ธนินท์” อาจหดแคบลง จนกลายเป็นการเผชิญหน้าในสักวัน

โฮเรก้า สแควร์พยายามฉีกตัวเองออกจากการแข่งขัน ด้วยการกำหนด 3 กลยุทธ์เพื่อให้ตัวเองสามารถเติบโตและแข่งขันได้ คือ

1. การกำหนดให้โฮเรก้า สแควร์เป็นแลนด์มาร์กธุรกิจโฮเรก้าแห่งแรกในไทย ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

2. การจัดงานแสดงสินค้าและบริการสำหรับผู้ประกอบการ (Business to Business : B2B) ระดับนานาชาติ โดยจัดครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสนใจมาออกร้าน 80 คูหา มีผู้เข้าเยี่ยมชม 5,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อต่างประเทศ 20% จากประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สร้างมูลค่าเงินสะพัด 30 ล้านบาท ที่เหลืออีก 80% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปในประเทศ

3. การขยายตัวไปสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งยังอยู่ในช่วงพัฒนา

ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ระบุว่า โอกาสทางธุรกิจของโฮเรก้า    สแควร์ จากการปักธงว่าเป็นแห่งแรก จะสามารถดึงกำลังซื้อที่เคยกระจายตัวอยู่หลายที่ เช่น ถ้าอยากได้ของประเภทนี้ต้องไปเจเจ ถ้าอยากได้สินค้ากลุ่มนี้ต้องไปแพลทตินั่ม หรือสินค้าหลายชนิดก็ต้องไปซื้อยกลังที่สำเพ็ง ซึ่งเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ

การเปิดเป็นศูนย์รวม โฮเรก้าพร้อมบริการให้คำปรึกษาธุรกิจ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ขณะที่โฮเรก้า สแควร์เองก็มีโอกาสได้ลูกค้าที่กระจัดกระจายดึงเอามาเป็นฐานประจำ

เรากำหนดกลยุทธ์ราคาสินค้าที่เน้นคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ถ้าลูกค้าอยากได้อะไร แล้วเรายังไม่มี เราจะหาให้ เป็นรูปแบบการให้บริการครบวงจรจริงๆ

ลัดดา กล่าว

ภาพรวมกลุ่มธุรกิจโฮเรก้าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่า โรงแรมและร้านอาหารมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.5% โดยรายได้จากการท่องเที่ยว 6.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% และนักท่องเที่ยวในประเทศ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกจาก อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และอาเซียน เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้ภาพรวมธุรกิจโฮเรก้ามีแนวโน้มว่าจะทำรายได้สูง 1.96-2 ล้านล้านบาท

โฮเรก้าจึงเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ที่กลุ่มเบียร์ช้างไม่อาจปล่อยมือได้ และเครือซีพีก็คงไม่พลาดงานเลี้ยงนี้เช่นกัน

]]>
1140438