‘ไลน์แมน วงใน’ ระหว่างเดือนมิ.ย.65-มิ.ย.66 “ร้านอาหารเปิดใหม่” ทะลุ 1 แสนร้าน “แซนวิช-อาหารจีน” เป็นเทรนด์มาแรง

ในปี 2023 ที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายเกือบ 100% ธุรกิจที่ฟื้นกลับมาก็คือ ร้านอาหาร โดย Insight จาก ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) พบว่าแค่ครึ่งปีแรกร้านอาหารเปิดใหม่ก็พุ่งทะลุ 1 แสนร้าน ไปแล้ว แต่แม้จะเปิดเยอะ ร้านที่อยู่รอดในช่วงปีแรกกลับมีแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น!

ร้านอาหารเปิดใหม่เยอะแต่เจ๊งเยอะกว่า

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ได้เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดร้านอาหารในช่วงเดือนมิ.ย.65 – มิ.ย.66 ว่า มีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นจาก 598,693 ร้าน เป็น 680,190 ร้าน เติบโตขึ้น 13.6% แสดงให้เห็นว่าพอวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย คนหันมาเปิดร้านอาหารกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร้านอาหารเปิดใหม่จะมีเยอะ แต่จำนวนร้านที่ปิดตัวก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยจากสถิติพบว่ามีร้านอาหารถึง 50% ที่ต้องปิดตัวลงภายในปีแรก และ 65% ปิดตัวลงภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ หากเจาะไปที่ ประเภทร้านอาหารที่กลับมา เติบโตมากที่สุดและเติบโตน้อยสุด 5 อันดับ บนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ได้แก่

  • อาหารเช้า โดยเฉพาะแซนด์วิช +34.2%
  • อาหารจีน +28%
  • สุกี้ยากี้ ชาบู +18.3%
  • ราเมน +14%
  • บาร์ +13.9%

ส่วน 5 ประเภทร้านอาหารที่การเติบโตชะลอตัวลง ได้แก่

  • Food Truck -63.8%
  • ข้าวต้มมื้อดึก -44.3%
  • พิซซ่า -39.2%
  • ซีฟู้ด/อาหารทะเล -36.1%
  • หมูกระทะ -31.7%

“ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่เปิดใหม่จะเป็นร้านเล็ก ๆ ยิ่งเมื่อมีบริการเดลิเวอรี ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านยิ่งทำให้เปิดร้านอาหารได้ง่าย ทำให้การแข่งขันมันสูง พอเขาลองเปิดแล้วพบว่าขายไม่ดีก็ปิดตัวลง อัตราการปิดกิจการในช่วงปีแรกจึงสูงอย่างที่เห็น” ยอด อธิบาย

ราคา วัตถุดิบ ข้อกังวลใหญ่สุด

จากการสำรวจความเห็นร้านอาหาร 1,230 แห่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 พบว่าปัญหาหนักใจที่สุด ได้แก่

  • ต้นทุนวัตถุดิบ 77%
  • ต้นทุนอื่น ๆ (ค่าเช่าที่, ค่าไฟ, ค่าน้ำ) 60%
  • จำนวนร้านคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น 57%
  • ลูกค้าใหม่ลดลง 47%
  • ลูกค้าประจำลดลง 45%
  • ค่าแรง 27%

ฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบจัดการร้านอาหาร FoodStory POS ของ LINE MAN Wongnai อธิบายว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ต้นทุนร้านอาหาร 25-30% จะมาจาก วัตถุดิบ มากที่สุด ตามด้วย ค่าแรง (20-25%), ค่าเช่าที่ (20-30%), ต้นทุนอื่น ๆ (10%) ที่เหลืออีก 10-20% คือ กำไร

ฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบจัดการร้านอาหาร FoodStory POS ของ LINE MAN Wongnai

Dine-in กลับมา หนึ่งในปัจจัยควบรวม Food Story

จากข้อมูลของร้านอาหารที่ใช้ Wongnai POS ยังพบว่ามูลค่าการซื้อขายรวม (GMV) ของยอดขายประเภทนั่งรับประทานที่ร้าน (Dine-in) กลับมามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดย ยอด ยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวทำให้ LINE MAN Wongnai ตัดสินใจที่ควบรวมกิจการกับ Food Story สตาร์ทอัพด้านโซลูชัน POS (Point of Sale) ที่บริษัทร่วมลงทุนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว

ซึ่งจากการควบรวมของ LINE MAN Wongnai กับ Food Story ทำให้บริษัทกลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด POS ผ่านการมีส่วนแบ่งตลาด 40% ด้วยจำนวนการใช้งานกว่า 55,000 ร้านค้า มีมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบราว 1.8 แสนล้านบาท ผ่านออร์เดอร์ที่สำเร็จ 636 ออร์เดอร์

“จริง ๆ เรามีคุยเรื่องควบรวมมากันหลายครั้งแรก แต่การที่ LINE MAN ควบรวมกับ Wongnai ก็ค่อนข้างใช้เวลา แล้วมาเจอโควิดอีก มาตอนนี้สถานการณ์คลี่คลาย ร้านอาหารกลับมาเติบโต การทานที่ร้านก็เกือบกลับมาเท่าปกติ เราเลยมองว่าถึงเวลาแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าดีลได้”

POS ตลาดหมื่นล้านที่ยังเติบโตได้

ร้านอาหารประมาณ 6 แสนร้าน ในไทย จะมีประมาณ 30% ที่ใช้ระบบ POS หรือประมาณ 150,000 ร้าน มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ดังนั้น ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะยังมีร้านอาหารที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอีกเยอะ ซึ่งการควบรวมของ LINE MAN Wongnai กับ Food Story จะยิ่งช่วยให้เจาะ ร้านอาหารขนาดกลาง (ร้านอาหารที่มีหลายสาขา หรือแฟรนไชส์) จากปัจจุบัน LINE MAN Wongnai จะเก่งในการเข้าถึงร้านรายย่อย ส่วน Food Story เน้นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ควบรวมกัน แต่จะไม่รีแบรนด์เป็นแบรนด์เดียวกัน เพราะ Food Story ถือเป็นแบรนด์ที่รู้จักอยู่แล้วโดยเฉพาะกับเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรีแบรนด์

“เราเชื่อว่าควบรวมแล้วจะทำให้เราเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะการทำร้านอาหารมันมีรายละเอียดเยอะ เราเชื่อว่าการรวมเข้าด้วยกันจะทำให้พัฒนาหลาย ๆ ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น โดยเฉพาะด้าน CRM เพราะเรามี Audience จากทั้ง LINE และ Wongnai ดังนั้น เรามีชาแนลดึงลูกค้ากลับมาได้ด้วย ไม่ใช่แค่เก็บดาต้าอย่างเดียว”