ธุรกิจสินเชื่อ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Jan 2023 13:59:07 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ถึงคิว “พาราไดซ์ พาร์ค” รีโนเวตใหญ่ ธุรกิจการเงินจะเป็น “หัวจักร” ทำกำไรให้ MBK https://positioningmag.com/1416497 Tue, 24 Jan 2023 12:46:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416497
  • แผนปี 2566 ของกลุ่ม MBK กับ 8 กลุ่มธุรกิจในมือ ไฮไลต์ปีนี้จะมีการรีโนเวตใหญ่ “พาราไดซ์ พาร์ค” ให้เป็นฮับด้านเวลเนส-สุขภาพ เจาะกำลังซื้อผู้สูงวัย
  • จับตากลุ่มธุรกิจการเงิน “ลีสซิ่ง” เป็นหัวจักรใหม่ในการทำกำไรหลังโควิด-19 แม้มีปัจจัยประกาศ สคบ. เป็นปัจจัยลบ
  • มองรายได้รวมปีนี้มีโอกาสกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนเกิดโรคระบาด)
  • ภาพจำของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK คือธุรกิจศูนย์การค้า แต่ที่จริงบริษัทนี้ทำธุรกิจหลากหลายถึง 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้า, โรงแรม, สนามกอล์ฟ, ที่อยู่อาศัย, อาหาร (ข้าวมาบุญครองและฟู้ดคอร์ท), การเงิน (สินเชื่อ), ลานประมูลรถยนต์และจักรยานยนต์ และศูนย์สนับสนุนองค์กร

    ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจของ MBK ที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว คือ ศูนย์การค้า โรงแรม และสนามกอล์ฟบางแห่ง ได้รับผลกระทบหนักและต้องปรับตัวสูง เช่น ศูนย์การค้า MBK Center ที่ต้องเร่งรีโนเวตและปรับสัดส่วนร้านค้าให้ดึงคนไทยเข้ามาแทนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป หรือโรงแรมบางแห่งต้องปรับมาเป็นฮอสพิเทล ปรับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็นชาวไทย

    8 กลุ่มธุรกิจในเครือ MBK

    อย่างไรก็ตาม ปี 2566 นี้ถือเป็นปีที่ MBK จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากการเปิดประเทศ มีความหวังว่าจะกลับไปทำรายได้ได้เท่ากับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

    พร้อมกับการเดินหน้าสู่ยุคหลังโรคระบาด MBK ยังมีการแต่งตั้งซีอีโอใหม่ “วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 รับตำแหน่งต่อจาก “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ซึ่งปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งฐานะกรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร ช่วยดูแลนโยบายในภาพใหญ่ให้กับบริษัท

    (ซ้าย) “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” กรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร และ (ขวา) “วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

    สำหรับวิจักษณ์นั้นถือเป็นลูกหม้อที่ทำงานใกล้ชิดในเครือมาหลายทศวรรษ ตำแหน่งภายใน บมจ.เอ็ม บี เค อาจจะมีชื่อมาเพียงปีเศษ แต่วิจักษณ์เริ่มงานกับเครือนี้มาตั้งแต่ยุคหลังต้มยำกุ้งกับบทบาทกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด เมื่อปี 2543 และต่อมาทำงานเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ในปี 2553 เห็นได้ว่าเติบโตในสายธุรกิจการเงินมาตลอด

     

    ปีนี้ถึงคิว “พาราไดซ์ พาร์ค” รีโนเวตใหญ่รับผู้สูงวัย

    ไฮไลต์การลงทุนปี 2566 ของกลุ่ม MBK คือแผนการรีโนเวตศูนย์การค้า “พาราไดซ์ พาร์ค” หลังจากได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินอีก 20 ปีกับ บริษัท เอส.เอส.เรียล (สวนหลวง) จำกัด ไปเรียบร้อย โดยจะใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มลงมือแล้ว

    พาราไดซ์ พาร์ค รีโนเวต
    ภาพเพอร์สเพคทีฟการรีโนเวต พาราไดซ์ พาร์ค

    พาราไดซ์ พาร์ค ยุคใหม่วางธีมการรีโนเวตให้เป็นฮับด้านเวลเนสและสุขภาพ เน้นภายในศูนย์ฯ จะปรับสัดส่วนร้านค้าใหม่ให้เป็นแหล่งสุขภาพ เช่น ร้านอาหารวีแกน, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์, ศูนย์จำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์, คลินิกเฉพาะทาง เป็นต้น ส่วนเสรีมาร์เก็ตที่เป็นแม่เหล็กหลักก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

    “คนเดินศูนย์ฯ นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอยู่แล้ว ซึ่งวัยนี้เขาต้องการอะไรที่ไม่เหมือนวัยอื่น” สุเวทย์กล่าว “ไตรมาส 3 จะได้เห็นโฉมใหม่ ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ของพาราไดซ์ พาร์ค”

    พาราไดซ์ พาร์ค รีโนเวต

    ส่วนการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจของ MBK เช่น

    • เดินหน้าลงทุนเฟสต่อเนื่องในโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น Riverdale District อาณาจักรสนามกอล์ฟและมารีน่าท่าจอดเรือใน จ.ปทุมธานี โดยมีที่ดินรวม 1,500 ไร่ รวมถึงจะมีการซื้อแลนด์แบงก์เพิ่มเติม ทั้งหมดตั้งงบลงทุนประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท
    • รีโนเวตศูนย์การค้า 2 แห่ง คือ เดอะ ไนน์ พระราม 9 ซึ่งเป็นการปรับปรุงตามรอบ และ MBK Center ที่เป็นการรีโนเวตต่อเนื่องใกล้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งหมดใช้งบลงทุนราว 100-200 ล้านบาท
    • รีโนเวตเฟส 3 ของโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ส่วนห้องพักขนาดใหญ่ระดับ Executive ซึ่งจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท

     

    MBK Center เกือบเสร็จสมบูรณ์ ดึงคนไทยได้ตามเป้า

    สำหรับโปรเจ็กต์ใหญ่ MBK Center ที่เริ่มรีโนเวตมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เป้าหมายเพื่อปรับโฉมและเปลี่ยนสัดส่วนร้านค้าให้ดึง “คนไทย” มากขึ้น วิจักษณ์ระบุว่า ขณะนี้เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีผู้เช่าพื้นที่เกิน 90%

    โดยปีนี้จะยังมีพันธมิตรรายใหญ่รายใหม่เข้ามาคือ ARTPIA จากเกาหลีใต้ เป็น Entertainment Show ที่ใช้เทคโนโลยีรังสรรค์ภาพ แสง สี เสียง กลิ่น สร้างความสนุกสนานประสบการณ์แบบใหม่ให้ผู้ชม ซึ่งจะเข้ามาเปิดที่ชั้น 6 ของศูนย์ฯ

    ส่วนพื้นที่ที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาผู้เช่าคือพื้นที่ชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นไอที มือถือ กล้อง ยังมีบางส่วนที่กำลังออกแบบหาผู้เช่าที่เหมาะสมกับตลาดไอทียุคนี้

    MBK Center โฉมใหม่

    วิจักษณ์กล่าวด้วยว่า หลังรีโนเวตแล้วศูนย์ฯ สามารถดึงคนไทยมาได้ตามเป้าหมาย ปัจจุบันมีทราฟฟิกกลับไปแตะ 80,000 คนต่อวันเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว และเป็นคนไทยเกิน 50% จากเดิมจะมีต่างชาติเดินมากกว่า

    แม่เหล็กสำคัญที่ดึงคนไทยมาได้คือโซนร้านอาหารชั้น 2 ซึ่งมีหลายร้านเปิด 24 ชั่วโมง และอีกหลายร้านที่เปิดจนถึงดึกหรือรุ่งเช้า เช่น สุกี้ตี๋น้อย รวมถึง “ดองกิ” ก็เป็นจุดดึงดูดสำคัญเช่นกัน ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในยุคนี้คือคนทำงานที่ต้องการมาแฮงก์เอาต์กันหลังเลิกงาน

     

    “การเงิน” ธุรกิจหัวจักรใหม่ในการทำกำไร

    หากเปิดงบการเงิน 9 เดือนแรกปี 2565 ในหมวดกำไรจากการดำเนินงาน จะเห็นว่าธุรกิจ “การเงิน” กลายเป็นกลุ่มที่ทำกำไรสูงสุด โดยทำกำไรไป 498 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่ม “อสังหาริมทรัพย์” มีกำไร 141 ล้านบาท ตามด้วย “ประมูลรถ” ที่มีกำไร 137 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอย่างศูนย์การค้าและโรงแรมนั้นยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ขาดทุน

    ปี 2566 นี้ศูนย์การค้าและโรงแรมน่าจะได้ฟื้นตัวกลับมา แต่วิจักษณ์มองว่า ยุคหลังโรคระบาดของ MBK น่าจะสลับหัวจักรมาที่กลุ่ม “การเงิน” เพราะถึงแม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากศูนย์การค้า แต่ถ้าวัดกันที่กำไร ธุรกิจการเงินมีอัตราทำกำไรสูงกว่า

    ธุรกิจการเงินหลักในกลุ่มนี้คือสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ “ที ลีสซิ่ง” ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทรุกเข้าตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น และกำลังวางแผนเพิ่มโปรดักส์ “สินเชื่อส่วนบุคคล” พ่วงเข้าไป เนื่องจากดาต้าเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่บริษัทมีจะทำให้บริษัทเสนอสินเชื่อส่วนบุคคลได้แม่นยำขึ้น

    ธุรกิจนี้เจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน จากประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยกรณีของรถจักรยานยนต์กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี วิจักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้บริษัทจะต้องเข้มงวดในการคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น เพราะปกติอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้ทำให้ลีสซิ่งสามารถยอมให้เกิดหนี้เสียได้มาก แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลงก็จะต้องควบคุมปริมาณหนี้เสีย

    อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนดังกล่าวก็ไม่ทำให้โอกาสในตลาดสินเชื่อน่าสนใจน้อยลง ในระยะยาวน่าจะได้เห็น MBK มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ออกมาอีก และเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นในเครือด้วย เช่น ลานประมูลรถยนต์ แอพเพิล ออคชั่น

    สุเวทย์กล่าวสรุปถึงความคาดหวังรายได้ของบริษัทในปี 2566 เชื่อว่าอาจจะทำได้ใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งปีนั้นบริษัทมีรายได้ถึง 11,431 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 2,799 ล้านบาท

    ]]>
    1416497
    อ่าน 5 ข้อ ทำความเข้าใจธุรกิจ “เงินติดล้อ” ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้น TIDLOR https://positioningmag.com/1328451 Tue, 20 Apr 2021 13:09:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328451 การระดมทุนครั้งใหญ่ของเงินติดล้อดึงความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยได้ไม่น้อยทีเดียว หลังเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เคาะราคาที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น เเละเปิดจองแบบ ‘Small Lot First’ ตามรอยหุ้น ‘OR’ ที่มียอดจองซื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เเต่กรณีของเงินติดล้อจะเเตกต่างไปอย่างไร ต้องติดตาม

    บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TIDLOR’ ให้เปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย ในวันที่ 22-26 เมษายน 2564

    จากนั้น TIDLOR จะประกาศราคา IPO และผลการจัดสรรหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปอย่างเป็นทางการวันที่ 28 เมษายน เเละจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 10 พฤษภาคม

    สำหรับการเเจกจ่ายหุ้นเเบบ Small Lot First นั้นจะเป็นการเเจกจ่ายหุ้นให้ทั่วถึงผู้จองซื้อทุกคน ขั้นต่ำ 1,000 หุ้นในราคาเสนอขายสุงสุดที่ 36.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 36,500 บาท

    จากราคาเสนอขายหุ้น IPO เบื้องต้นที่ 34-36.50 บาท คาดว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนราว 35,480-38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย จ่อติดอันดับใน SET50 ทันที 

    ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาธุรกิจนั้นๆ ให้รอบคอบ วันนี้ Positioning รวบรวมพื้นฐานธุรกิจ ความท้าทาย กลยุทธ์การเติบโต เเผนลงทุนต่อไป เเละรายละเอียดในการจองซื้อหุ้นของ ‘TIDLOR’ ไว้ดังนี้

    รู้จักธุรกิจ ‘เงินติดล้อ’ 

    ย้อนกลับไปเมื่อปี 2523 ครอบครัวเเก้วบุตตาเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในชื่อบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัดเพื่อเจาะลูกค้าเกษตรกรที่ไม่เข้าถึงเเหล่งเงินทุน

    จากนั้นกิจการดำเนินไปได้ด้วยดี จนปี 2534 สามารถขยายธุรกิจออกไปในจังหวัดอื่นๆ ราว 130 สาขา เเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

    ต่อมาในปี 2550 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ AIG Consumer Finance Group, Inc (AIG) จากสหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการเเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัดเเละปรับโครงสร้างธุรกิจ รีเเบรนด์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในนามศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ

    หลังขายกิจการไปเพียงหนึ่งปี (2551) ครอบครัวเเก้วบุตตาผู้ก่อตั้งศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อก็จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเดียวกัน ในชื่อศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972’ โดยใช้ชื่อแบรนด์ศรีสวัสดิ์ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD นั่นเอง

    ขณะเดียวกันในช่วงปี 2551 สหรัฐฯ เจอวิกฤตซับไพรม์ AIG จึงต้องขายหุ้น 100% ของศรีสวัสดิ์ให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา’ (BAY) เเละต่อมาในปี 2559 บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) เข้าซื้อหุ้น 50% จาก BAY เเละตอนนั้นมีการเพิ่มสาขาเป็นกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

    ในปี 2561 บริษัทตัดสินใจตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออกไป เพื่อป้องกันการสับสนกับคู่เเข่งเเละมุ่งปั้นเเบรนด์เงินติดล้อ’ ให้มีชื่อติดตลาด ปัจจุบันธุรกิจของเงินติดล้อ เเบ่งออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่

    1.ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 

    เงินติดล้อ เป็นผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรถสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยรายได้รวมในปี 2563 กว่า 83% มาจาก ‘ดอกเบี้ยสินเชื่อ’ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งกลุ่มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์-รถยนต์ส่วนบุคคล เเละบัตรกดเงินสด

    ล่าสุดมีสาขา 1,076 แห่ง ครอบคลุม 74 จังหวัด ตัวแทนขายมากกว่า 5,000 ราย พนักงานขายทางโทรศัพท์ 500 ราย ดีลเลอร์รถบรรทุกมือสอง 400 ราย เเละผ่านสาขาของ BAY อีก 680 แห่ง (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563) รวมไปถึงการให้บริการในทุกช่องทางออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ แอปพลิเคชันเงินติดล้อ ไลน์เเละเพจเฟซบุ๊ก ฯลฯ

    2.ธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัย

    เเม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 3 ปี เเต่ก็มีเเนวโน้มทำรายได้ให้บริษัทได้ดี ด้วยการครองมาร์เก็ตเเชร์ที่ 2% เป็นอันดับ 3 ในตลาดนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย มีผลิตภัณฑ์ทั้งประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันโรคมะเร็ง ฯลฯ โดยมีบริษัทประกันภัยพันธมิตร 18 ราย

    ในปี 2562-2563 เบี้ยประกันวินาศภัยที่จัดเก็บได้มีอัตราเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาพรวมเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งตลาด 12.5 เท่า

    โดยฐานลูกค้าของเงินติดล้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด

    รายได้เเละกำไรของ TIDLOR

    • ปี 2561 รายได้ 7,569 ล้านบาท กำไร 1,306 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 37,049.4 ล้านบาท
    • ปี 2562 รายได้ 9,458 ล้านบาท กำไร 2,202 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 45,277.3 ล้านบาท
    • ปี 2563 รายได้ 10,559 ล้านบาท กำไร 2,416 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.9% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 48,568 ล้านบาท

    วีรภัทร์ วิริยะโกวิทยา ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.เงินติดล้อ ระบุว่า บริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ 36%

    โดยธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของ TIDLOR มีการเติบโตต่อเนื่อง มียอดสินเชื่อคงค้างปีที่ผ่านมา 5.13 หมื่นล้านบาท จาก 3.97 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่ผ่านมา

    สำหรับโครงสร้างรายได้ปี 2563 มีสัดส่วนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืม คิดเป็นสัดส่วน 71% รายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 11% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นสัดส่วน 17%

    คาดการณ์ว่ารายได้จากดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมและบริการรวมในปีนี้จะอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อน และคาดกำไรสุทธิราว 3.45 พันล้านบาท เติบโต 15% ส่งผลให้มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 เท่ากับ 16%

    ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นแรงผลักดันมูลค่าและการเติบโตที่สำคัญ โดยมีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยปี 2563 ที่ระดับ 4.01 พันล้านบาท จาก 1.917 พันล้านบาท ในปี 2561

    กางเเผน 3 ปี : ขยายสาขา-ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 

    วัตถุประสงค์ในการเปิดขายหุ้น IPO ให้ประชาชนครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มทุนสำหรับการขยายธุรกิจ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้สิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างเงินทุน

    ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ เผยถึงเเผนธุรกิจต่อไปว่า จะมีการขยายสาขาอีก 500 แห่งให้ได้ภายในปี 2566 ครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มตัวแทนและพนักงานขายทางโทรศัพท์ ขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินและเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานต่างๆ สู่ดิจิทัล

    นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมองหาโอกาสเติบโตจากการ ‘ควบรวมธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการ’ ในเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ทั้งในประเทศและตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน

    “บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่รายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยรายย่อย จะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปี”

    ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

    จัด Small Lot First ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น

    หุ้นสามัญ TIDLOR ที่จะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แบ่งออกเป็น

    • เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเงินติดล้อ จำนวนไม่เกิน 210,816,700 หุ้น
    • เสนอขายหุ้นสามัญเดิม โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวนไม่เกิน 284,144,300 หุ้น
    • เสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 412,467,600 หุ้น

    สำหรับนักลงทุนรายย่อย TIDLOR จัดสรรหุ้นไว้ 46.5 ล้านหุ้น หรือมูลค่าราว 1,700 ล้านบาท เปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจจองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2564 ไปจนถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 (ในระยะเวลาดังกล่าวจองได้ตลอด 24 ชั่วโมง)

    ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น จ่ายเงินที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 36.50 บาท ด้วยเงิน 36,500 บาท (ไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง) ผ่านช่องทางออนไลน์ ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่

    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
    • และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่

    โดยจะมีประกาศผลผ่านทาง www.settrade.com ในวันที่ 28 เม.ย. เเละจะเข้าเปิดเทรดวันแรก 10 พฤษภาคม 2564

    ในกรณีที่ราคาเสนอขาย IPO สุดท้ายต่ำกว่า 36.50 บาทต่อหุ้น นักลงทุนที่จองซื้อแต่ละรายจะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคา 36.50 บาทต่อหุ้น กับราคาเสนอขายสุดท้าย

    (อ่านรายละเอียดและหนังสือชี้ชวนของเงินติดล้อได้ ที่นี่ )

    ทั้งนี้ การจัดสรรเเบบ Small Lot First นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินเเล้วทุกคนจะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น จากนั้นมีการจัดสรรหุ้นรอบละ 100 หุ้นต่อรายไปเรื่อย ๆ จนกว่าหุ้นทั้งหมดที่ออกจำหน่ายจะจัดสรรจนหมด โดยเศษที่เหลือในรอบสุดท้ายนั้นจะมีการแจกจ่ายโดยโปรแกรมสุ่ม

    ต้องจับตา ‘ความเสี่ยง’ อะไรบ้าง ? 

    จากบทวิเคราะห์ของ MGR Online ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหุ้น TIDLOR คือ ค่า P/E หุ้นของบริษัท โดยหากพิจารณากำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563) ที่ 2.41 พันล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2.31 พันล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 212.95 ล้าน หุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 32.60-35.00 เท่า

    โดยความเสี่ยงในธุรกิจของ TIDLOR ก็มีเช่น P/E ของหุ้นถือว่าสูงหากพิจารณากับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อย่าง MTC ที่ระดับ 26.63 เท่า ส่วน SAWAD ที่ระดับ 24.90 เท่า และมีที่สูงกว่า TIDLOR คือ SAK ที่ระดับ 40.29 เท่า และ TQM ที่ระดับ 54.91 เท่า

    ด้านภาพรวมธุรกิจของบริษัทถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ทั้งธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย แม้จะส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่สูง แต่ความเสี่ยงสำคัญของบริษัทคือ ‘กลุ่มลูกค้า’ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัท ทำให้บางส่วนมีรายได้หรือเงินหมุนเวียนที่ไม่แน่นอน และบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารได้ ทำให้อาจไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้กู้และความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยง

    ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ และดำรงการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถติดตามทวงหนี้สินเชื่อค้างชำระได้

    Photo : Shutterstock

    ในช่วงต้นปี 2564 ทริสเรทติ้งประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ระดับ A- ของ TIDLOR สืบเนื่องมาจากประกาศของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการออกและจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกและการนำหุ้นสามัญของ TIDLOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการระดมทุนและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่งบการเงินของบริษัททำให้มีเครดิตพินิจแนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” หมายถึงสถานการณ์ด้านเครดิตดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลทั้งในทางบวกและลบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท หรืออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวอาจคงอยู่ในระดับเดิมเท่ากับในช่วงก่อนการประกาศเครดิตพินิจก็ได้ เพราะคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมากสุดไม่ต่ำกว่า 30% จาก 50%

    ในขณะที่ Siam Asia Credit Access Pte Ltd (SACA) จะลดการถือหุ้นมากสุดไม่ต่ำกว่า 25% จาก 50% หลังจากที่หุ้นของบริษัทมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แม้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ SACA จะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากบริษัทจดทะเบียน และในระยะปานกลาง ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีความประสงค์ที่จะคงระดับการถือหุ้นให้ไม่ต่ำกว่า 30% แม้ว่าจะผ่านระยะเวลาห้ามจำหน่ายหุ้นไปแล้วก็ตาม

    อ่านฉบับเต็ม : “เงินติดล้อ” แม้แกร่งแต่เสี่ยง ธุรกิจแข่งขันสูง-กลุ่มลูกค้าน่าห่วง

     

    ที่มา : sec.or.thngerntidlor.com , tidlorinvestor , MGR Online

     

    ]]>
    1328451
    เปิดบิ๊กดีล JMART & KB เเบงก์เกาหลี นำกลยุทธ์ “ศิลปิน KPOP” เจาะสินเชื่อเเฟนคลับไทย https://positioningmag.com/1276373 Thu, 30 Apr 2020 13:00:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276373 เเม้ในยามที่ธุรกิจกำลังสู้กับวิกฤต COVID-19 ยังมีดีลใหญ่มาสะเทือนวงการสินเชื่อไทย เมื่อ JMART เปิดทางให้ KB Kookmin Card กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของเกาหลีใต้ ลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “JFINTECH” ได้เงินก้อนโต 3,000 ล้านต่อยอดธุรกิจ เตรียมใช้กลยุทธ์นำ “ศิลปิน KPOP” เจาะสินเชื่อเเฟนคลับเเละคนรุ่นใหม่ไทยที่กำลังเติบโตสูง

    เบื้องหลังดีลใหญ่ JMART & KB

    ที่มาของการร่วมทุนครั้งนี้ KB Kookmin Card  ผู้ให้บริการบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ มีฐานลูกค้าจำนวน 34 ล้านราย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KB Financial Group ได้ขยายลงทุนมายังอาเซียน

    โดยเริ่มลงทุนธุรกิจ Non-Bank เน้นสินเชื่อส่วนบุคคลใน กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนามเเละอินโดนีเซียก่อน จากนั้นต้องการขยับมาไทย เพื่อตั้งให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเริ่มมองหาพันธมิตรกลุ่มธุรกิจนี้ โดยมี EY(Ernst & Young) บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกเป็นผู้ประสานงาน

    อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากหาพาร์ตเนอร์ในไทยมาร่วม 2 ปีก็ได้ตัดสินใจเลือก JFINTECH เเละทำการศึกษาร่วมกันกว่า 1 ปีครึ่งก่อนจะสำเร็จเเละแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา

    โดยจะดำเนินการผ่านการเพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทย่อย ด้วยมูลค่า 650 ล้านบาท เป็นการเพิ่มทุนเป็น 1,112,851,210 บาท แบ่งเป็น ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน และโอนหุ้นเดิมให้อีก 1 หุ้น รวมจำนวนหุ้นทั้งหมด 55,631,431 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท ซึ่ง JMART และบริษัทในเครือ JMT จะสละสิทธิ์การจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน JFINTECH

    ดังนั้นการร่วมทุนครั้งนี้ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ JMART ใน JFINTECH เหลือ 44.2% จากเดิม 90.2% ขณะที่ JMT ถือครองหุ้นในสัดส่วน 4.8% จากเดิม 9.8% ส่วน KB Kookmin Card จะถือครองหุ้น 49.99%

    เบื้องต้นคาดว่า KB จะได้เข้าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.ปีนี้ เเละเดินหน้า “เเผนต่อไป” โดยการหาสินเชื่ออื่นมาทดแทนสัญญากู้ยืมเงินผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดยอดเงินกู้ ณ สิ้นปี 2562 รวม 3,012.5 ล้านบาท เป็นยอดเงินกู้ของบริษัท จำนวน 2,717.5 ล้านบาท และยอดเงินกู้ของ JMT จำนวน 295 ล้านบาท

    “ดีลครั้งนี้จะทำให้กลุ่ม JMART ได้เงินคืนรวม 3,012.5 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้น”


    ปั้น JFINTECH เป็น Top 5 ธุรกิจสินเชื่อ-บัตรเครดิตในไทย

    ผู้บริหาร JMART บอกว่า การร่วมทุนครั้งนี้ได้รับผลประโยชน์กันเเบบ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย โดย JFINTECH จะได้นำเอาความรู้และเทคโนโลยีทางการเงินของ KB เข้ามาเสริมให้กับกลุ่มบริษัทในระยะยาว ขณะที่ความแข็งแกร่งในเครือข่ายของ JFINTECH ที่มีความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น ก็จะเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ทำให้ KB ขยายธุรกิจต่อไปได้หลายมิติในอาเซียน

    “JFINTECH” ตั้งเป้าจะเป็น 1 ใน 5 ผู้นำธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิตในประเทศไทย โดยในช่วง 1-2 ปีแรกจะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในบริษัท พร้อมปล่อยสินเชื่อ จากนั้นช่วงปีที่ 3-4 จะเข้าไปเจาะตลาดบัตรเครดิต เเละเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล รุกการตลาดเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไทย ส่วนช่วงปีที่ 5 เป็นต้นไป จะเป็นการสร้างการเติบโตเเละทำกำไรมากขึ้น”

     

    โดยกลุ่ม JMART คาดว่าหลังการร่วมทุนเเล้วเสร็จจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในเฟสเเรก ราว 650 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าผู้คนจะต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

    รุกการตลาด “ศิลปิน KPOP” เจาะสินเชื่อเเฟนคลับ-คนรุ่นใหม่  

    เหล่าธนาคารในเกาหลีใต้ กำลังเเข่งขันกันดุเดือด ด้วยการนำ “ศิลปิน KPOP” มาเพิ่มยอดผู้ใช้เเละออกขายผลิตภัณฑ์ดีไซน์พิเศษกันคึกคัก KB Kookmin Card ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นธนาคารใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ ด้วยเป็นสปอนเซอร์ให้บอยเเบนด์ชื่อดังที่มีฐานเเฟนคลับทั่วโลกอย่าง “BTS” (Bangtan Sonyeondan)

    โดย KB มีการทำตลาดทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ที่เข้มข้น เน้นเจาะกลุ่มตลาดคนรุ่นใหม่ที่เป็น “Young Generation”

    จุดเเข็งด้านการตลาดไอดอลนี้ ทำให้กลุ่ม JMART มองว่าเป็นโอกาสที่จะนำมาต่อยอดในไทย ซึ่งกระเเส KPOP กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก มีฐานเเฟนคลับเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย มีกำลังซื้อเเละมีการใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์สูง จึงเป็นลูกค้าที่เหมาะเเก่การปล่อยสินเชื่อเเละบัตรเครดิต

    ก่อนหน้านี้วงการธนาคารไทย ก็มีการนำศิลปิน KPOP มาทำตลาดเจาะกลุ่ม New Gen ที่มีกว่า 10 ล้านคนในไทยมาเเล้ว อย่างโปรเจกต์ใหญ่ KBankxBLACKPINK ของกสิกรไทยร่วมกับเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง BLACKPINK ในคอนเซ็ปต์ #แค่เชื่อก็เป็นได้ ปล่อยโปรดักต์แรกเป็นบัตรเดบิตคอลเลคชั่นพิเศษที่ตั้งเป้ายอดบัตรถึง 1 ล้านใบ

    อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นศิลปินวง BTS หรือวงอื่นๆ มาอยู่บนบัตรของ JFINTECH ก็เป็นได้ เพราะมีฐานเเฟนคลับในไทย “เยอะมาก” อย่างไรก็ตามเเต่..ก็ต้องคอยลุ้นกันต่อไป

    พับเเผนขยาย Jaymart Mobile – ธุรกิจทวงหนี้ยังสดใส 

    ย้อนกลับมาคุยกันถึงธุรกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุดในกลุ่ม JMART นั่นก็คือร้านขายมือถือเพราะ COVID-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันไปช้อปสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เเละมีกำลังซื้อลดลง ชะลอการใช้จ่าย

    “ในปีนี้ Jaymart Mobile คงไม่ขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าเพิ่มเติม เเละอาจปรับลดจำนวนสาขาลงด้วย”

    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในเครืออย่าง Singer ยังมีโอกาสขยายการเติบโตได้อีก เพราะไม่ต้องอยู่ในห้าง เเละจะเข้ามาเสริมช่องทางการขายของ Jaymart Mobile ได้

    ขณะเดียวกัน JMART ก็ยังมีธุรกิจดาวรุ่งอยู่ในมือ เเม้ต้องเผชิญเศรษฐกิจฝืดเคือง นั่นคือ “ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ” ของบริษัทในเครืออย่าง JMT ยังเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้สะสมในปัจจุบันอยู่ที่ 177,000 ล้านบาท และสามารถทยอยรับรู้รายได้จากกระแสเงินสด (Cash collection) ที่สามารถเก็บเข้ามาได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี

    “ในสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้มีเเนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้น จึงตั้งเป้าใช้งบลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปีนี้ที่ 4,500 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน” สุทธิรักษ์ ตรัย
    ชิรอาภรณ์ ซีอีโอของ JMT ระบุ

    สำหรับภาพรวมธุรกิจ เเม่ทัพของ JMART ยืนยันว่าปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดอีกปีหนึ่งของบริษัท จากปีที่แล้วที่ทำกำไรได้สูงสุด ปีนี้ก็น่าจะทำสถิติกำไรสูงสุดได้อีกปีหนึ่ง โดยยังคงตั้งเป้าการเติบโตของกำไรไว้ที่ 25% รายได้เติบโต 10% เเม้จะยอมรับว่าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เเต่ยังบริหารจัดการต้นทุนเเละค่าใช้จ่ายได้ดี จึงคาดว่าจะยังคงทำได้ตามเป้า เเละสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

     

    ]]>
    1276373
    ปล่อยสินเชื่อผ่านไลน์ได้แล้วนะ กสิกรไทย ร่วมทุน LINE ตั้ง “บริษัท กสิกรไลน์” https://positioningmag.com/1202676 Thu, 13 Dec 2018 01:00:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1202676 เมื่อโจทย์ใหญ่ของธนาคารยุคนี้ ต้องรับมือกับโลกยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ทำให้ธนาคารต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ การร่วมมือ “แพลตฟอร์ม” ออนไลน์ ที่มีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่

    จึงเป็นที่มาความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย Grab แอปเรียกรถ ที่ครองตลาดในไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท เพื่อให้ลูกค้า Grab สามารถชำระเงินผ่านแอปของกสิกรไทย และยังปล่อยกู้ให้คนขับรถ Grab

    ล่าสุด บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมทุนกับ บริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียลเอเชีย ในเครือ LINE จัดตั้ง “บริษัท กสิกรไลน์” เพื่อให้บริการ “โซเชียลแบงกิ้ง”

    เป้าหมายของทั้งคู่ คือการนำเสนอบริการธนาคารให้กับผู้ใช้ของ LINE ที่มีมากถึง 44 ล้านคนในประเทศไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟนและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนโลกดิจิทัลได้ทันที เช่น สมัครใช้บริการของธนาคาร การโอนเงิน และการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่รวดเร็ว

    “ภารกิจที่สำคัญของบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด คือ การขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ และสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกิจสินเชื่อ เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำด้านธุรกิจให้บริการสินเชื่อภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งธนาคารกสิกรไทย และ LINE จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทรัพยากรต่างๆ ระหว่างสององค์กรด้วย” พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

    ยอง อึน คิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย เปิดเผยว่า

    บริษัท กสิกรไลน์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนที่มุ่งเน้นการขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ และสร้างรายได้จากธุรกิจสินเชื่อ โดยตั้งเป้าเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านบริการสินเชื่อที่มีนวัตกรรมล้ำหน้าที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย และ LINE ได้แต่งตั้งทีมงานเฉพาะกิจที่มาร่วมกันทำงานในช่วงแรกของการจัดตั้งบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด และอยู่ในระหว่างการเฟ้นหาบุคลากรมาทำงานในบริษัทดังกล่าว.

    ]]>
    1202676