ปี 2566 มีหลายโครงการพาณิชย์ของเอกชนที่กำลังจะสร้างเสร็จ และมีศักยภาพที่จะเป็น “แลนด์มาร์ก” ใหม่ของเมือง ทั้งโครงการศูนย์การค้า โรงแรม ออฟฟิศ บางส่วนเป็นเฟสแรกหรือเฟสต่อเนื่องของโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์เมืองไทย มีโครงการไหนบ้างไปดูกัน
(*เรียงตามลำดับเวลาที่คาดว่าจะเปิดบริการ)
1.โครงการ ICS – ไอคอนสยาม เฟส 2
โครงการ ICS เป็นเฟส 2 ของเมกะโปรเจ็กต์ “ไอคอนสยาม” ยังคงลงทุนโดยกลุ่มทุนเดิมคือ “สยามพิวรรธน์-แมกโนเลียฯ-ซีพี” ใช้งบลงทุน 4,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 5 ไร่ พื้นที่โครงการรวม 70,000 ตร.ม. (พื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเฟสแรก) ทำเลที่ตั้งอยู่ตรงข้ามเฟสแรกบนฝั่งถนนเจริญนคร เป็นฝั่งที่ไม่ติดริมแม่น้ำ
ฝั่ง ICS เองก็เป็นโครงการมิกซ์ยูสเช่นกัน ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- อาคารรีเทล 8 ชั้น
- อาคารสำนักงาน ไอซีเอสออฟฟิศทาวน์ ตั้งอยู่บนชั้น 6-8
- โรงแรมฮิลตัน การ์เด้น อินน์ กรุงเทพ ไอซีเอส เจริญนคร โรงแรม 3 ดาว สูง 19 ชั้น จำนวนห้องพัก 241 ห้อง
ในส่วนรีเทลที่ประกาศแบรนด์ผู้เช่าออกมาแล้ว เช่น
- ซูเปอร์มาร์เก็ต – โลตัส (คอนเซ็ปต์ใหม่แบบพรีเมียม)
- ร้านอาหาร – ซานตาเฟ่, เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ, Omu, Getfresh, Mos Burger, คริสปี้ ครีม, White Story, ปังสยาม, Fuku Matcha, O-li-no, Bake a Wish, ชาตรามือ
- Gadget – Garmin, Jaymart
- เสื้อผ้า เครื่องประดับ – Skechers, U.S.Polo, แว่นท็อปเจริญ, Seven Days Optic
- Health & Wellness – Siriraj H Solutions, Boots
- Beauty – Beautrium, Cute Press
- Home & Living – MR.DIY
ICS ประกาศฤกษ์เปิดบริการ “11 ม.ค. 2566” อย่างที่เห็นว่าตำแหน่งทางการตลาดและแบรนด์ที่มาลงพื้นที่เช่าจะมีความ “แมส” มากกว่า “จับต้องได้” กว่าเฟสแรกชัดเจน ก็จะทำให้พื้นที่ไอคอนสยามยิ่งดึงดูดทราฟฟิกได้หลากหลาย ยิ่งตอกย้ำความเป็นแลนด์มาร์กของฝั่งธนบุรี
2.One City Centre เพลินจิต
อาคารสำนักงาน One City Centre เพลินจิต เป็นโครงการจากการร่วมทุนของ บมจ.ไรมอนแลนด์ กับ Mitsubishi Estate จากญี่ปุ่น ใช้งบลงทุน 8,800 ล้านบาท สร้างอาคารที่จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของย่านเพลินจิต ณ แปลงที่ดินขนาด 6 ไร่ ติดกับอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เหตุที่บอกว่าจะเป็นแลนด์มาร์ก เพราะขณะนี้ตึกสร้างเสร็จแล้ว มีความสูง 61 ชั้น สูง 275 เมตร ซึ่งถือเป็นตึกอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในไทย (หากรวมอาคารทุกประเภท จะสูงเป็นอันดับ 5 ของไทย) และด้านบนรูฟท็อปของอาคารจะเป็นร้านอาหาร-บาร์ ทำให้เป็นตึกใหม่ในการขึ้นไปชมวิวเมืองในอนาคต
อีกส่วนที่สำคัญคือ One City Centre เว้นพื้นที่หน้าตึกสร้างเป็นสวนสีเขียว 3 ไร่ กลายเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่สำคัญคือเป็นปอดที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานได้แบบสาธารณะ ท่ามกลางตึกสูงมากมายในย่าน จุดนี้น่าจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของคนทำงานได้เลย
One City Centre จะเริ่มเปิดให้ผู้เช่าเข้าตกแต่งได้ในต้นปี 2566 และไม่นานหลังจากนั้นเราน่าจะได้เห็นพิธีเปิดตึกอย่างเป็นทางการ
3.วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ
โปรเจ็กต์พิเศษของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ศูนย์การค้านี้ดีไซน์ไม่เหมือนศูนย์การค้าทั่วไป เพราะจะเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์แนวราบที่มีการถมทรายเข้ามาในบริเวณโครงการ ทำให้เหมือนได้เดินอยู่บนชายหาดตลอดเวลา
เซ็นทรัลใช้งบลงทุน 3,000 ล้านบาท เนรมิตที่ดิน 13 ไร่บริเวณริมชายหาดวงศ์อมาตย์ เมืองพัทยา ให้เป็นมอลล์ชายหาดระดับลักชัวรี เน้นบรรยากาศธรรมชาติ แบ่งสัดส่วน 70% เป็นกลุ่มร้านอาหาร คาเฟ่ และอีก 30% เป็นร้านค้าปลีก พร้อมรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทานบรันช์ยามสายจนถึงปาร์ตี้แสงสียามค่ำ
ขณะนี้แบรนด์ที่มีการประกาศว่าจะมีในโครงการ ได้แก่ Siwilai City Club และ %Arabica และแบรนด์อื่นๆ ที่จะเข้ามาก็จะเน้นระดับไฮเอนด์เช่นกัน ซึ่งเซ็นทรัลเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับพัทยาให้มีสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับบนได้มากขึ้น
เดิมเซ็นทรัลประกาศว่า วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ จะเปิดตัวปลายปี 2565 แต่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโครงการยังคงมองหาผู้เช่า ก็เป็นไปได้ว่าไทม์ไลน์การเปิดน่าจะขยับไปเป็นปี 2566 แทน
4.One Bangkok เฟสแรก
อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ One Bangkok ลงทุนโดยสองบริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้แก่ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุ่มงบสำหรับทั้งโครงการไป 1.2 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ 104 ไร่
ที่ตั้งของโครงการอยู่หัวมุมแยกถนนพระราม 4 ตัดถนนวิทยุ ตรงข้ามสวนลุมพินี ภายในจะเป็นเมืองในตัวเองก็ว่าได้ เพราะมีอาคารสำนักงานถึง 5 อาคาร พื้นที่รีเทล 4 โซน โรงแรมอีก 5 แห่ง และคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี 3 อาคาร
ไทม์ไลน์การก่อสร้างนั้นวางแผนจะเปิดเฟสแรก ปี 2566 และเสร็จสิ้นทั้งโครงการปี 2569
เฟสแรกที่จะเปิดก่อนตามแผนคือ โรงแรม The Ritz-Carlton Bangkok และ โรงแรม Andaz One Bangkok เป็นสองตึกแรกที่จะเสร็จสิ้นก่อน
ส่วนไฮไลต์ของโครงการคือ “Signature Tower” ว่าที่อาคารที่สูงที่สุดในไทยแห่งใหม่ ด้วยความสูง 437 เมตร 92 ชั้น คาดว่าน่าจะสมบูรณ์ในปี 2569
5.The Emsphere
จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของ The EM DISTRICT ของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป คือศูนย์การค้า The Emsphere (ดิ เอ็มสเฟียร์) ที่กำลังเร่งการก่อสร้างอยู่ขณะนี้ ด้วยงบประมาณลงทุนที่อาจแตะถึง 16,000 ล้านบาท ปั้นพื้นที่บริเวณพร้อมพงษ์ให้เป็นย่านช้อปปิ้งระดับโลก
จากการแถลงข่าวล่าสุดเดือนตุลาคม 2565 เดอะมอลล์ระบุว่า The Emsphere ทำการก่อสร้างไปแล้ว 90% มั่นใจว่าจะเสร็จทันกำหนด เดือนธันวาคม 2566
The Emsphere นี้ทำเลจะอยู่ถัดจากสวนเบญจสิริ เนื้อที่ถึง 20 ไร่ มีพื้นที่อาคาร 200,000 ตร.ม. ใช้คอนเซ็ปต์ Hybrid New Entertain & Hang Out มีร้านอาหารที่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เป็นศูนย์การค้าแรกในไทยที่มี Beach Club มาตั้งอยู่ภายในห้างฯ เน้นความบันเทิงและนวัตกรรม
ไฮไลต์ผู้เช่าที่น่าสนใจที่เปิดเผยแล้ว เช่น IKEA City Store แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, EMLIVE ซึ่งเป็น World Class Arena 6,000 ที่นั่ง บริหารงานโดย AEG
ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างและจะทยอยพลิกโฉมเมืองในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่จะเปิดเฟสแรกต้นปี 2567, แบงค็อก มอลล์ ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการบางส่วนได้ในปี 2567, อควอทิค พัทยา ที่จะเริ่มเปิดปี 2567, One Bangkok ที่ยังเหลืออีกหลายเฟสจนถึงปี 2569 หรือโครงการเวิ้งนครเขษม ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ปี 2569 เช่นกัน