“อิเกีย สุขุมวิท” เหมาชั้น 3 ของ Emsphere ของครบเหมือนสาขาใหญ่ เตรียมเปิดปลายปี 66

อิเกีย สุขุมวิท
“อิเกีย” (IKEA) แถลงรายละเอียดสาขาใหม่ “The Emsphere สุขุมวิท” สาขาแบบ ‘City Store’ แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ 12,000 ตร.ม. เหมาทั้งชั้น 3 ของศูนย์การค้า โชว์รูมลงของครบเหมือนสาขาใหญ่ มาร์เก็ตฮอลล์ของแต่งบ้านครบ หิ้วกลับได้เลย ร้านอาหาร-คาเฟ่วิวสวนเบญจสิริ พร้อมเปิดปลายปี 2566

หลังจากมีแย้มๆ ออกมาบ้างแล้วว่าสาขาที่ 4 ของ “อิเกีย” (IKEA) จะอยู่ใน The Emsphere ศูนย์การค้าใหม่ของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ล่าสุด “ลิโอนี่ ฮอสกิ้น” ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม และ “ศิรินทร์ อาศน์ศิลารัตน์” ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย สุขุมวิท แถลงเปิดรายละเอียดของสาขาในย่านสุขุมวิท จะเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบรับกับกระแสอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

รายละเอียดสาขานี้จะเป็นอิเกียแบบ City Store สาขาแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของ The Emsphere พร้อมพงษ์ โดยเหมาทั้งชั้นพื้นที่ 12,000 ตร.ม. ภายในมีฟังก์ชันที่แทบจะเหมือนกับสาขาในย่านชานเมือง คือ

  • โชว์รูมสินค้าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ 2,500 รายการ (ครบเท่ากับสาขาใหญ่)
  • พื้นที่มาร์เก็ตฮอลล์ สินค้าชิ้นเล็ก กลุ่มตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน 4,500-5,000 รายการ
  • แผนกออกแบบตกแต่งห้อง
  • พื้นที่ร้านอาหาร วิวสวนเบญจสิริ
  • ที่จอดรถจุด Pick up สินค้า
อิเกีย สุขุมวิท
แผนที่ อิเกีย สุขุมวิท จะเปิดบนศูนย์การค้า The Emsphere

ลิโอนี่กล่าวว่า สิ่งที่ต่างไปของสาขานี้คือ ไม่มีคลังสินค้าของตนเอง จะใช้วิธีโลจิสติกส์สินค้ากลุ่มสินค้าชิ้นเล็กจากสาขาบางใหญ่มาเติมสต็อก ส่วนการสั่งสินค้าชิ้นใหญ่เพื่อเดลิเวอรีไปส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน จะส่งออร์เดอร์ให้สาขาบางนาเป็นผู้จัดส่ง

 

City Store หดไซส์เพื่อมาอยู่ใกล้ลูกค้า

โมเดล City Store แบบนี้ “ท้าทาย” มากกับอิเกีย เพราะโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของอิเกียคือการหาทำเลชานเมืองซึ่งต้นทุนถูกกว่าและได้พื้นที่ใหญ่จนมีคลังสินค้าในที่เดียวกันได้ รวมกับการให้ลูกค้า ‘Self-Service’ หยิบของจากคลังสินค้าเอง เพื่อประหยัดต้นทุนแรงงาน ซึ่งทำให้อิเกียสามารถขายสินค้าได้ในราคาต่ำมาตลอด

อิเกีย
อิเกีย บางนา (Photo : Shutterstock)

แต่เมื่อเป็นโมเดล City Store ก็จะต้องมีการขนส่งสินค้าเข้ามาบ่อยครั้งเพื่อเติมสต็อก และจะต้องมีบริการหยิบของและเดลิเวอรีกันมากขึ้น

แล้วทำไมอิเกียจะต้องสร้างโมเดลร้านแบบนี้ขึ้นมา? ลิโอนี่กล่าวว่า เกิดจากเมื่อช่วงปี 2017-2018 บริษัทเล็งเห็นแล้วว่ากระแสอีคอมเมิร์ซกำลังมาแรง “แต่ในฐานะร้านเฟอร์นิเจอร์ ลูกค้าของเรายังต้องการมา ‘จับสัมผัสและทดลองสินค้า’ (touch & try) ก่อนจะไปสั่งออนไลน์”

อิเกียแบบ City Store สาขาแรกที่ปารีส (Photo: IKEA)

อิเกียจึงคิดว่าควรจะมีโมเดลร้านที่ทำให้ลูกค้าได้มาดูสินค้าตัวจริงในพื้นที่กลางเมืองซึ่งไม่ต้องใช้เวลาเดินทางมาก ทำให้ลูกค้าสามารถแวะมาได้บ่อยขึ้น จากนั้นลูกค้าสามารถสั่งสินค้าไปส่งที่บ้าน หรือจะสั่งและมารับเองก็ได้ (Click & Collect)

โมเดล City Store จึงเปิดสาขาแรกที่ปารีส ในปี 2019 และมีการเปิดเพิ่มอีกในเมืองต่างๆ เรื่อยมา เช่น เวียนนา ลอนดอน สต็อกโฮล์ม เซี่ยงไฮ้ โดยลิโอนี่กล่าวเสริมด้วยว่า ทางอิเกียเองก็ยังสำรวจรูปแบบและไซส์ที่เหมาะสมของ City Store อยู่ อย่างสาขาสุขุมวิทนี้จะเป็น City Store ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ไม่นับสาขาฮ่องกง เพราะถือว่าเป็นดินแดนที่เป็นเมืองทั้งเกาะ ไม่มีชานเมือง)

 

ชิงส่วนแบ่งตลาดกลางเมืองขึ้นเป็น 10%

สาขาสุขุมวิทนี้ ลิโอนี่มองว่าจะมีผู้มาเยี่ยมชมแตะ 4 ล้านคนต่อปี เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยโดยรอบถึง 300,000 ครัวเรือน มีดีมานด์สูงมาก

ปัจจุบันสาขาใหญ่ของอิเกียในไทยจะมี 2 แห่งคือ อิเกีย บางนา (44,000 ตร.ม.) และ อิเกีย บางใหญ่ (50,278 ตร.ม.) โดยสาขาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือบางนา ซึ่งสามารถชิงมาร์เก็ตแชร์คนสมุทรปราการได้ถึง 10% รวมถึงเป็นแหล่งที่ปกติแล้วคนสุขุมวิทจะเดินทางออกไปซื้อด้วย

อย่างไรก็ตาม อิเกียก็ยังมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเฟอร์นิเจอร์กรุงเทพฯ เพียง 5% จึงเชื่อว่าการนำสาขามาใกล้ลูกค้ามากขึ้น จะทำให้ได้ส่วนแบ่งตลาดกลางกรุงเพิ่มเป็น 10%

 

3 จังหวัดที่อาจได้เปิดเพิ่ม: เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต

เมื่อมีโมเดลแบบ City Store ทำให้การขยายสาขาไปในต่างจังหวัดดูจะเป็นไปได้มากกว่าเดิม เพราะใช้งบลงทุนน้อยกว่าการไปแบบสาขาใหญ่จัดเต็มพร้อมคลังสินค้าที่ต้องลงทุนก่อสร้าง แต่การเปิดสาขาเล็กจะเป็นการเช่าพื้นที่

อิเกีย สุขุมวิท
(จากซ้าย) “ลิโอนี่ ฮอสกิ้น” ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม และ “ศิรินทร์ อาศน์ศิลารัตน์” ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย สุขุมวิท

ลิโอนี่ระบุว่า จังหวัดที่มีความเป็นไปได้ในระยะยาวคือ เชียงใหม่ โคราช และภูเก็ต เพราะถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ตามความมุ่งหวังของอิเกียที่จะครอบคลุมให้ได้ทุกภาค (แม้ว่าการสั่งซื้อออนไลน์จะจัดส่งได้ทั่วประเทศ แต่ดังที่กล่าวไปว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากจะชมของก่อน)

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจาก COVID-19 ทำให้ยังฟันธงไม่ได้ว่าแต่ละสาขาต่างจังหวัดนั้นจะมาเมื่อไหร่ แต่ที่เป็นไปได้ที่สุดคือ “ภูเก็ต”

“ภูเก็ตน่าสนใจมากเพราะฟื้นตัวเร็วจากการท่องเที่ยว และเรามีสาขาประเภท Pick-up point อยู่แล้ว พื้นที่เล็กๆ ประมาณ 2,000 ตร.ม. เท่านั้น แต่ปรากฏว่าคนภูเก็ตชอบเรามาก ทำให้สาขานี้เริ่มจะมีความไฮบริด ไม่ใช่แค่จุดรับสินค้าที่สั่งออนไลน์ แต่สามารถขายของได้” ลิโอนี่กล่าว

อิเกีย ภูเก็ต สาขาขนาดเล็กพื้นที่กว่า 2,000 ตร.ม. แต่ได้รับความนิยมสูง

การเปิด City Store ของอิเกียยังมาพร้อมกับการทำราคาส่งเดลิเวอรีให้ถูกลงด้วย โดยเริ่มมาตั้งแต่มกราคม 2565 ที่ราคาจัดส่งต่างๆ ปรับลดหรือมีโปรโมชัน เช่น ค่าส่งพัสดุสินค้าชิ้นเล็กน้ำหนักไม่เกิน 24 กิโลกรัม ค่าส่งเหมา 99 บาท, ค่าส่งสินค้าชิ้นใหญ่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เริ่มต้น 290 บาท จากปกติ 570 บาท, ค่าส่งสินค้าชิ้นใหญ่ไปโคราชลดเหลือ 590 บาท จากสมัยก่อนราคา 2,000+ บาท

 

อิเกีย สาขาที่ 5 จะมาหรือไม่?

สรุปแล้วอิเกียกำลังจะมีครบ 4 สาขา คือ บางนา บางใหญ่ ภูเก็ต และสุขุมวิท แล้วจะมีสาขาที่ 5 หรือไม่ หลังจากมีข่าวมากมายของอิเกียกับพาร์ทเนอร์หลายบริษัท

ศิรินทร์กล่าวถึงข่าวก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์ว่าอิเกียจะเปิดสาขากับเซ็นทรัล พระราม 2 ขณะนี้อิเกียยังอยู่ระหว่างเจรจา ยังเป็นการให้ความสนใจ แต่ยังไม่มีการตกลงกันอย่างเป็นทางการ

รวมถึงข่าวสาขาโซนเหนือของกรุงเทพฯ ด้วย ลิโอนี่ตอบแบบกว้างๆ ว่าอิเกียมีความสนใจโซนเหนือของกรุงเทพฯ แต่ขอไม่ระบุว่าจะเป็นที่ดินใด กับพาร์ทเนอร์รายใด โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดก็ปี 2568 เพราะต้องการให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้มากกว่านี้ก่อน