อัปเดตแผน MBK พลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดห้างฯ 40% ของศูนย์การค้าเตรียมปรับใหม่เพื่อดึงคนไทยมากขึ้น เปิดสารพัดแม่เหล็กสำคัญ ตั้งแต่ “ดองกิ” ที่จะเหมาชั้น 2 ของโตคิวเดิม เปิดแบบ 24 ชั่วโมง ฟากศูนย์การค้าชั้น 2 จะมีโซนแฮงก์เอาต์กินดื่ม อิซากายะ ข้าวต้มรอบดึก เพิ่มอาณาจักรไอทีอย่าง Advice, Mi, JD Central เปิดร้านรับยุค O2O พบกันไตรมาส 3 ปีนี้
MBK Center กำลังโยกย้ายปรับโซนนิ่งในศูนย์การค้าใหม่ มีโจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนศูนย์ฯ ให้เป็น “ห้างฯ ของคนรุ่นใหม่” สำหรับคนไทย โดยไม่ทิ้งชาวต่างชาติ ด้วยร้านค้าที่ดึงดูดมากกว่าเดิม
“สมพล ตรีภพนารถ” กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์ฯ อยู่ระหว่างปรับพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดบริการเมื่อ 36 ปีก่อน โดย 40% ของพื้นที่ขายรวม 84,000 ตร.ม. จะมีการเปลี่ยนแปลง คอนเซ็ปต์ใหม่เป็นคำตอบของการตีโจทย์ “ดึงคนไทยเดินห้างฯ” ให้มากขึ้น จากปกติก่อน COVID-19 มีชาวต่างชาติ 70% คนไทย 30% หลังจากนี้จะปรับสัดส่วนให้เป็น 50 : 50
สมพลกล่าวว่า แผนการปรับศูนย์ฯ เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยบริษัทเล็งเห็นว่าศูนย์ฯ ควรจะต้องดึงดูดคนไทยให้ได้มากกว่านี้ หลังจากรอบข้างมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นว่าที่ผ่านมา MBK มีการใช้ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” มีเธียเตอร์ BNK48 เข้ามาเปิด
จากแผนที่ได้ศึกษาไว้แล้ว ประกอบกับ “โตคิว” ต้องการถอนการลงทุนด้านรีเทลในไทย ทำให้มีโอกาสรวบพื้นที่ส่วนนี้ 4 ชั้น 12,000 ตร.ม. มาปรับปรุงใหม่พร้อมๆ กัน และครั้งนี้ MBK จะปล่อยเช่าเองทั้งหมด ต่างจากเดิมที่เป็นห้างสรรพสินค้ารายใดรายหนึ่งเช่ารวมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ยิ่งเห็นแผนการสร้างบรรยากาศใหม่ที่ชัดขึ้น
สรุปแผนของ MBK สมพลแจกแจงไล่ไปทีละชั้น จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ชั้น G – ฝั่งโตคิวเดิม จะมีร้านค้าแบรนด์ใหม่ลงทุนโดย ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) เหมาทั้งชั้นสินค้าเป็นกลุ่มแฟชัน ส่วนฝั่ง MBK โซนด้านหน้าติดถนนพญาไททั้งหมดจะเป็นร้านอาหาร โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่เปิดเผยได้แล้วคือร้าน “ป้อน” จะเข้ามาเปิดในโซน B ส่วนบริเวณ Tops Supermarket จะมีการขยายพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ใหญ่ขึ้น และปรับปรุงทางเข้าออกจุด drop-off ให้กว้างขวางขึ้น
ชั้น 2 – ฝั่งโตคิวเดิม จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต DON DON DONKI หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ดองกิ” ขนาด 3,000 ตร.ม. และเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในประเทศไทย ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซนร้านอาหารอีกเช่นกันแต่เน้นจับกลุ่มวัยทำงาน มีไฮไลต์เป็นโซนกินดื่ม พร้อมด้วยร้านข้าวต้มรอบดึกตอบโจทย์การแฮงก์เอาต์ นอกจากจะมีร้านอาหาร เช่น Tim Hortons, ฮองมิน, Shinkanzen Sushi, S&P ซึ่งสองร้านหลังจะเปิดยาวถึงตี 1
ชั้น 3 – ฝั่งโตคิวเดิม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาผู้เช่า โดยมีผู้เช่าติดต่อแล้วแยกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซน “ไทย-เทศ” ชั้นนี้จะร้านค้าขายของฝาก ของดีเมืองไทย
ชั้น 4 – ฝั่งโตคิวเดิมที่เคยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต จะกลายเป็นอาณาจักรไอที เพื่อให้ต่อเนื่องกับพื้้นที่ชั้น 4 ของ MBK ที่ทุกคนรู้จักดีว่าเป็นดินแดนมือถือ-แกดเจ็ต มีร้านใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น Advice, Mi, JD Central, CSC ส่วนพื้นที่ขายมือถือจะปรับจำนวนตู้ขายลง 50% เพื่อเพิ่มพื้นที่ร้านแต่ละห้องให้ใหญ่ขึ้น และทางเดินโปร่งขึ้น พร้อมคอนเฟิร์มว่า “ร้านขนมเบื้อง” ซิกเนเจอร์ MBK จะยังอยู่ที่ชั้นนี้
ชั้น 5 – พลิกโฉมใหม่หมดจด จากเคยเป็น Outlet กลายเป็น Learning Hub และโซนธุรกิจบริการ มีสถาบันกวดวิชาที่เซ็นสัญญาแล้ว 24 ราย (บางส่วนเปิดที่ชั้น 4 และ 6 ด้วย) นำโดย “ออนดีมานด์” ที่ใช้พื้นที่มากกว่า 2,000 ตร.ม. และอีกหลายแห่ง เช่น DA’VANCE, Positive Learning, EP Focus, The BTS, Sup’K, Monkey Monkey, Math Logik และชั้นนี้มี ศูนย์บริการพาสปอร์ต เปิดแล้ว รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น Kerry Express, ซ่อมคอมพิวเตอร์
ชั้น 6 – เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซและออฟฟิศ TTA Space by Draftboard ส่วนฝั่งฟู้ดคอร์ทและกลุ่มร้านอาหาร ยังคงไว้เช่นเดิม แต่จะมีการรีโนเวตให้สวยงามขึ้น
ชั้น 7 – โซนโรงหนัง SF และกิจกรรมความบันเทิง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 ร้าน Animate ตู้เกม โดยโรงหนัง SF จะมีการปรับโรงภาพยนตร์ VIP ใหม่
นอกจากมีร้านใหม่ลงจำนวนมากแล้ว MBK จะปรับสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มด้วย โดยมี “ลิฟต์แก้ว” ตัวใหม่บริเวณหน้าโตคิวเดิมวิ่งขึ้นลงชั้น 2-7 และจะปรับบันไดเลื่อนใหม่ 8 จุด ทั้งหมดนี้ใช้งบรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ไตรมาส 3 พร้อมเปิดตัว
สมพลกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เช่าเซ็นสัญญาแล้ว 80% และวางเป้าไตรมาส 3 ปีนี้จะเปิดตัวแบบแกรนด์โอเพนนิ่ง และร้านต่างๆ จะเปิดครบ 100% ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนกรณีผู้เช่าเดิม สมพลกล่าวว่า หากยังไม่หมดสัญญาบริษัทจะมีการเจรจาว่าขณะนี้ศูนย์ฯ ต้องรีโนเวตใหม่ มีการจัดโซนนิ่ง เช่น ร้านขายของฝาก ช้อปปิ้ง จะย้ายไปรวมบนชั้น 3 ผู้เช่าที่ยินดีย้ายห้องตามการจัดโซนนิ่งมีการย้ายไปแล้ว ส่วนผู้เช่าที่ไม่ต้องการย้ายจะยังอยู่ที่เดิมไปจนกว่าจะหมดสัญญา และขณะนี้ MBK ยังคงให้ส่วนลดค่าเช่า 70% เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สมพลยังระบุถึงบางร้านที่เป็นตำนานของ MBK เช่น กลุ่มร้านเฟอร์นิเจอร์บนชั้น 5 บางร้านยังต่อสัญญากับศูนย์ฯ หรือร้านอาหารฮองมินที่อยู่กับศูนย์ฯ มาหลายสิบปีก็ยังไปต่อ โดยยอมปรับย้ายไปอยู่บนชั้น 2 ที่จะเป็นโซนร้านอาหาร
ปี’64 เน้นคนไทย รอต่างชาติมาสมทบปีหน้า
“ปี’64 นี้จะยังเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 เพราะตามแผนจะเริ่มมีวัคซีนเข้ามา ทำให้คนมั่นใจในการใช้ชีวิต ดังนั้น ถ้าเราพลิกโฉมให้ทันไตรมาส 3 เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้” สมพลกล่าว “ส่วนต่างชาติเป็นปี’65 ที่น่าจะเริ่มเข้ามาได้ประมาณ 50% ของตัวเลขก่อนเกิด COVID-19 โดยเป็นการทำวัคซีนพาสปอร์ต แสดงตนว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจึงเข้ามาเที่ยวในไทยได้”
สมพลระบุว่า ก่อน COVID-19 มีทราฟฟิกเข้า MBK วันละ 80,000 คน แบ่งเป็นต่างชาติราว 50,000 คน และคนไทยราว 30,000 คน
แต่หลัง COVID-19 เกิดขึ้น ปัจจุบันลดเหลือทราฟฟิก 28,000-30,000 คน เพราะมีเฉพาะลูกค้าคนไทย เคยลงไปต่ำสุดคือวันละ 22,000 คน และเคยขึ้นมาดีที่สุดคือวันละ 40,000 คน เป็นช่วงก่อนจะเกิดการระบาดรอบใหม่และรัฐอนุญาตให้จัดอีเวนต์ได้
เมื่อปรับโฉมต่างๆ แล้ว ความคาดหวังคือต้องการดันยอดคนไทยไปถึงวันละ 50,000 คน และต่างชาติที่น่าจะกลับมาวันละ 50,000 คนได้อีกครั้งเมื่อเปิดประเทศ เพราะ MBK มีกลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์เข้ามาอยู่แล้ว และเชื่อว่าแม่เหล็กของ MBK ต่อชาวต่างชาติจะยังอยู่ จุดสำคัญนอกจากมาช้อปปิ้งแล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดีย อินโดนีเซียรับหิ้วมือถือมือสองจากชั้น 4 ที่จะกลับมาอีกครั้ง
ความคาดหวังเมื่อไทยเปิดประเทศได้เต็มที่อีกครั้ง MBK จะมีทราฟฟิกไปแตะวันละ 100,000 คน
ดองกิ-โซนกินดื่ม-กวดวิชา แม่เหล็กดึงคนไทย
จากการปรับเปลี่ยนทั้งหมด สมพลกล่าวว่า “ดองกิ” คือแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงคนได้ถึงวันละ 20,000 คน (เมื่อเปิดประเทศได้เต็มที่) ที่สำคัญก็คือคนไทยซึ่งรู้จักดองกิเป็นอย่างดี โดยดองกิสาขานี้จะใหญ่ที่สุด และจะชูจุดขายสินค้าสดนำเข้าจากญี่ปุ่นในราคาที่ถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่น
รวมถึงโซนกินดื่มบนชั้น 2 จะดึงคนทำงานได้จำนวนมาก หลักๆ คือกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศจากสำนักงาน SIAMSCAPE ฝั่งสยามสแควร์ (โบนันซ่าเดิม) ซึ่งกำลังก่อสร้าง และ MBK จะเชื่อมสะพานลอยตรงเข้าไปที่ตึกด้วย เมื่อดูจากจำนวนคนที่ใช้บริการ Groove เซ็นทรัลเวิลด์ขณะนี้ จุดนี้มีสิทธิ์ “ฮิต” สูงมาก
นอกจากนี้ยังมีโซนกวดวิชา แค่เพียงออนดีมานด์เจ้าเดียวคาดว่าจะมีนักเรียนเข้ามาวันละ 1,500 คน ยังไม่รวมอีก 23 สถาบัน ซึ่งตรงนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกประการคือ คอร์สเรียนหลายคอร์สเปิดสอนตั้งแต่เช้า ทำให้ร้านอาหารบางร้านสามารถจับจุดนี้และให้บริการเช้าได้
เมื่อมีทั้งแม่เหล็ก เช้าตรู่ ยามดึก และดองกิ 24 ชม. ทำให้ MBK จะเป็นศูนย์ฯ ที่แทบไม่มีเวลาหลับใหลเลยทีเดียว!