“คอนเทนเนอร์” ขาดตลาด “จีน” ขึ้นราคาสินค้าแก้หยวนแข็ง ทำธุรกิจแบกต้นทุนเพิ่ม

ตู้คอนเทนเนอร์
(Photo by Stephen Chernin/Getty Images)
ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เป็นประเด็นที่ส่งผลในเชิงลบ และบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เข้าไปในสหรัฐฯ จนทำให้มีตัวเลขเกินดุลกับทางสหรัฐฯ มหาศาล

จนส่งผลให้มีมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีน ซึ่งแน่นอนอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีฐานการผลิตในจีน ก็ถูกผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี และเริ่มปรับแผนธุรกิจย้ายฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทยและเวียดนาม มีศักยภาพที่สามารถรองรับการเข้ามาตั้งฐานผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม มียอดขายที่ดินเพิ่มจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ “น่ากลัว” เราจะเห็นว่า มีสินค้าจากประเทศจีนเริ่มเข้ามทำตลาด และส่งออกมายังประเทศไทยมากขึ้น หรือแม้แต่ธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในด้านโมเดิร์นเทรด ได้มีการหาโรงงานจากจีน เพื่อผลิตสินค้าตามแบบที่มีดีไซน์ตามที่ต้องการ (OEM) แล้วติดแบรนด์ของบริษัท

เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย หรือบางรายนำเข้ามาทำตลาด เช่น กระเบื้องปูพื้น และทางเดิน พื้นไม้เทียม หรือแม้แต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ก็ถูกนำมาขยายโอกาสทำตลาดในไทย เนื่องจากปัจจุบันมาตรฐานและคุณภาพของจีนปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคายังมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันกับคู่แข่งภายในประเทศ

ขณะที่ผลพวงเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กลายเป็นไวรัสล้างโลก ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวอย่างรุนแรง ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจของแต่ละประเทศ หรือแม้แต่ซัพพลายเชนต่างๆ ต้องประสบปัญหาในเรื่องการส่งออกสินค้า กระบวนการผลิตต้องลดลง ขณะที่ความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว

ล่าสุดมีประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับภาคธุรกิจ ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน โดยมีประเด็นเรื่องทางประเทศจีน หรือโรงงานผู้ผลิตสินค้า ต้องแก้สถานการณ์จากผลกระทบเรื่อง “เทรดวอร์” อีกระลอก เนื่องจากขณะนี้ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์มีความแข็งขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของประเทศจีน โดยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นปี 2563 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนถึง 24.1% หรือมีมูลค่าการนำเข้า 1,569,282 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้ารวม 6,502,406 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น ไทยมีมูลค่าการนำเข้า 869,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.4%

ผู้สื่อข่าวผู้จัดการรายวัน 360 ได้มีการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าตกแต่ง เช่น ธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจจำหน่ายกระเบื้อง และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผู้นำในธุรกิจโมเดิร์นเทรด ระบุในทิศทางเดียวกัน สินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมีการปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2563 แล้ว สินค้าบางประเภท เช่น กระเบื้อง ปรับขึ้นมา 3 เท่าตัว

นอกจากนี้แล้ว ที่ผ่านมาการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการล็อกดาวน์ของท่าเรือในบางประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต้องหยุดชะงัก ตู้ขนส่งสินค้าที่จะหมุนเวียนในระบบเกิดการสะดุด และติดขัดมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ COVID-19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่กลับพบว่าสินค้าบางประเภทยังคงมีความต้องการอยู่ เช่น ยอดค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมา หรือสินค้าที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ ไอที และโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้ความต้องการส่งตู้คอนเทนเนอร์จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประกอบกับประเทศรายใหญ่ เช่น จีน เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น และต้องเร่งส่งออกสินค้าในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ต้องถูกดึงไปยังประเทศจีน ซึ่งในแต่ละปีเฉพาะจีนมีความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 200 ล้านตู้

ข้อมูลจาก Shanghai Shipping Exchange ระบุว่า ต้นทุนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปี 63 จากเซี่ยงไฮ้ถึงสิงคโปร์อยู่ที่ 802 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,314 บาท อัตราเพิ่มขึ้นสูงถึง 370% จากที่เดือนก่อนหน้าราคาอยู่ที่ 170 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,153 บาท

แบกรับต้นทุนใหม่ กระทบปลูกสร้างบ้านลูกค้าในสัญญาเดิม

วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวถึงแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างภายในประเทศว่า โดยรวมยังไม่มีการปรับราคาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทางบริษัทรับสร้างบ้าน ยังคงใช้สินค้าวัสดุสินค้าภายในประเทศ แต่ก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง จากเรื่องที่รัฐบาลจีนต้องปรับแก้สถานการณ์เรื่องการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์แข็งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งเรื่องตัวเลขส่งออกและมูลค่าที่จะได้รับ เช่น 1 หยวน เท่ากับ 7.1316 ดอลลาร์ (29 พ.ค. 63) ล่าสุด อัตราค่ากลางสกุลเงินหยวนแตะที่ 6.4764 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ (11 ม.ค. 64)

วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

“เรื่องของการขาดแคลนตู้ขนส่งน่าจะเป็นประเด็นรอง เรากำลังเห็นท่าทีตอบโต้ของจีน คือ การปรับราคาขายสินค้าให้แพงขึ้น เพื่อรักษาผลตอบแทน เท่าที่ดูราคาขยับขึ้น 10% ทำให้กระทบไปทั่วโลก โดยสินค้าวัสดุก่อสร้างที่นำเข้าจากจีน จะเป็นกลุ่มวัสดุตกแต่ง อาทิ กระเบื้อง พื้นไม้ ไวนิล ไม้เทียม แม้จะแพงขึ้น แต่ยังเป็นสินค้าที่ถูกเมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศอื่นๆ แต่หากจีนขยับราคามากกว่านี้ อาจจะไม่เป็นผล เพราะจะทำให้เสียฐานลูกค้าได้”

จะมีผลกระทบต่อตลาดรับสร้างบ้านหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาช่วงของการทำสัญญากับลูกค้า หากเป็นสัญญาเดิมแต่วัสดุก่อสร้างที่ส่งมอบเป็นราคาใหม่ ก็ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงในส่วนนี้ไป

ลุ้น COVID-19 คลี่คลาย ลดแรงกดดันค่าขนส่ง

แหล่งข่าวในวงการวัสดุก่อสร้าง ให้มุมมองต่อเคสของราคาสินค้านำจากประเทศจีนที่สูงขึ้นว่า ส่วนใหญ่จะนำเข้าสินค้าวัสดุตกแต่ง วัสดุปูพื้น วัสดุปูผนัง ในระยะสั้น (3เดือน) ทางผู้นำเข้าต้องรับภาระต้นทุน เพราะความต้องการภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว การจะปรับราคาตามจากแหล่งผลิตจากภายนอกประเทศคงจะเป็นเรื่องยาก

และด้วยสภาพการแข่งขันที่สูง กลายเป็นกลไกที่ควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้ ในทางกลับกัน ผู้นำเข้าวัสดุสินค้าตกแต่ง ก็ต้องจัดรายการส่งเสริมการขาย เพื่อลดกำไรลง (มาร์จิ้น) แต่ในระยะกลางและยาว แนวโน้มผู้นำเข้าจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำเข้าเริ่มมีสัญญาณจะแจ้งราคาใหม่มาตั้งแต่ต้นปี แต่ถูกต่อต้านจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังฟื้นไม่ดี

หรือแม้แต่ต้นทุนการขนส่ง ก็ปรับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างไม่ได้ขยับขึ้นมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตยังพอมีมาร์จิ้นอยู่ แต่หากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มผ่อนคลายลง ต้นทุนค่าขนส่งอาจจะเบาลงได้

Photo : MAERSK

จากที่มีการพูดคุยกันว่า ค่าขนส่งทางเรือสูงขึ้น 4-5 เท่า ดังนั้นหากส่วนของค่าขนส่งเข้าสู่ภาวะปกติ ก็อาจจะมาชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้เช่นกัน สุดท้ายแล้วหากความต้องการซื้อในประเทศดีขึ้น เกิดดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จะเป็นกลไกทำให้สินค้าปรับราคาขึ้นได้

“เมื่อราคานำเข้าสูสีกับสินค้าในประเทศแล้ว ก็เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการหรือผู้ต้องการใช้สินค้า ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าจากจีน เนื่องจากเหตุผลหลักที่ซัพพลายเออร์นำเข้าจากจีนมาก็ด้วยเรื่องของราคา เมื่อเทียบกับคุณภาพที่เท่าๆ กัน และบวกกับค่าขนส่ง สินค้าจากจีนก็ยังขายได้ถูกกว่า

แต่ถ้าราคาใกล้เคียงกับในประเทศก็เลือกใช้ภายในดีกว่า แต่สินค้าจากจีนก็สามารถตอบสนองทำราคา และออกแบบ ได้ตามความต้องการของผู้นำจากไทย โมเดิร์นเทรด เช่น โฮมโปร บุญถาวร หรือแกรนด์โฮมมาร์ท จะส่งพนักงานไปประจำอยู่ที่ประเทศจีน เพื่อคอยควบคุมคุณภาพการผลิต และบริหารจัดการ ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน โรงงานผลิตกระเบื้องในไทยมีแค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น ทำให้โมเดิร์นเบนเข็มไปนำเข้าจากจีนแทน”

Source