ธุรกิจเครื่องดื่ม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 29 Apr 2022 08:15:13 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ภารกิจใหม่ TCP ก้าวสู่ยอดขาย “9 หมื่นล้าน” ใน 3 ปี ส่งแบรนด์บุกนอกให้มากกว่า “กระทิงแดง” https://positioningmag.com/1383438 Fri, 29 Apr 2022 08:04:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383438
  • กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเป้าหมายใหม่ ก้าวสู่ยอดขาย “9 หมื่นล้าน” ภายใน 3 ปี (2565-67) เติบโต 2 เท่าตัว ดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ Fulfilling, Growing และ Caring
  • เพิ่มพอร์ตสินค้าทั้งกลุ่ม Energy Drink และ Non-Energy Drink รุกตลาดต่างประเทศ โดยจะผลักดันแบรนด์อื่นนอกเหนือจาก “กระทิงแดง” (RedBull) ให้มากขึ้น
  • ตั้งงบลงทุน 12,000 ล้านบาท ลุยสร้างโรงงานใหม่ในจีน เพิ่มกำลังการผลิต ใช้เทคโนโลยีใหม่ลดต้นทุน
  • เป้าด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2567
  • ย้อนไปเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ “กระทิงแดง” ทำการรวมกลุ่มแบรนด์ในเครือให้อยู่ภายใต้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” และมีการตั้งเป้าหมายที่ ‘aggressive’ อย่างมาก ต้องการจะเพิ่มยอดขายจากกว่า 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น ขึ้นไปเป็น 3 เท่าตัว แตะ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2565

    แต่ใครจะคาดถึงว่าระหว่างทางจะเผชิญวิกฤตร่วมกับทั้งโลก ตั้งแต่โรคระบาด COVID-19 สงครามความขัดแย้ง นำมาสู่ค่าพลังงานพุ่ง และเงินเฟ้อ ทำให้การเร่งตัวของ TCP ไม่เป็นดั่งใจนึก แต่ก็ยังเติบโตได้ดีจนปี 2564 ปิดยอดขายที่เกือบ 45,000 ล้านบาท

    TCP 9 หมื่นล้าน
    “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

    หลังผ่านช่วงวิกฤต ในที่สุดบริษัทพร้อมจะลุยเต็มที่อีกครั้งโดย “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเป้าหมายใหม่กับภารกิจ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ต้องการทำยอดขาย 90,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (2565-67) เติบโตเป็น 2 เท่าตัว โดยมีกลยุทธ์ที่จะใช้ 3 ด้าน คือ

    1. Fulfilling ปลุกพลังแบรนด์สินค้า
    2. Growing ปลุกพลังธุรกิจเติบโต
    3. Caring ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม

     

    ไม่ทิ้ง “กระทิงแดง” แต่ “แบรนด์ใหม่” ก็ต้องไปสู่ตลาดโลก

    กลยุทธ์แรกที่จะปลุกพลังแบรนด์สินค้า ในรอบ 3 ปี TCP จะมีการออกสินค้าใหม่ ดังนี้

    • “แบรนด์กระทิงแดง” จะเปิดสินค้าใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 SKUs โดยจะสร้างความน่าตื่นเต้น ใหม่ทั้งด้านรสชาติ ส่วนผสม จุดขาย ภาพลักษณ์สร้างความทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เกิดความพรีเมียมในตลาด
    • “แบรนด์ใหม่” จะเปิดตัวใหม่อย่างน้อย 5 แบรนด์ โดยมุ่งเน้นในกลุ่ม Health & Wellness เพราะเป็นเทรนด์ของโลก
    แบรนด์ใหม่ โปรดักส์แบบใหม่ที่ออกมาทดลองตลาด ด้านซ้ายคือ “Hopster” เครื่องดื่มกลิ่นฮอปไม่มีแอลกอฮอล์ และขวาคือ “มายด์เบอรี่” เครื่องดื่มเยลลี่บำรุงความจำ

    ปัจจุบันกลุ่ม TCP ยังมี ‘ฮีโร่ โปรดักส์’ เป็นกลุ่ม Energy Drink อยู่ แบรนด์อย่าง กระทิงแดง (RedBull), เรดดี้, โสมพลัส, วอริเออร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของยอดขายรวม ขณะที่ Non-Energy Drink เช่น กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ สปอนเซอร์ กลุ่มฟังก์ชันนอลดริงก์ แมนซั่ม และ ไฮ่! x DHC กลุ่มชา เพียวริคุ หรือขนมขบเคี้ยว ซันสแนค ยังคิดเป็นเพียง 15% ในพอร์ต

    โดยเฉพาะ “กระทิงแดง” ที่เป็นที่รู้จักและแทบจะเป็นแบรนด์เดียวที่ทำยอดขายในต่างประเทศได้ แต่แผนใหม่ 3 ปีจากนี้บริษัทต้องการจะดันสินค้าอื่นให้โตในต่างประเทศได้เหมือนกัน

    “เราคิดว่าเราสามารถผลักดันให้แบรนด์อื่นประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้เหมือนกัน เราไม่ควรติดยึดกับกระทิงแดงตัวเดียว”

    สราวุฒิเล็งเป้าหมายแบรนด์ที่จะดันไว้ที่ “สปอนเซอร์” กำลังทดลองตลาดว่าจะตอบรับกับชื่อแบรนด์นี้แค่ไหน โดยเห็นโอกาสทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่หากไม่เวิร์กจริงๆ ก็พร้อมที่จะปั้นแบรนด์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของตลาด เหมือนอย่าง “วอริเออร์” ที่เข้าไปชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนามได้ 5%

    “เราคิดว่าเราสามารถผลักดันให้แบรนด์อื่นประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้เหมือนกัน เราไม่ควรติดยึดกับกระทิงแดงตัวเดียว” สราวุฒิกล่าว

    แบรนด์สปอนเซอร์ เครื่องดื่มที่มีโอกาสผลักดันเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

     

    ลงทุน 12,000 ล้าน กันงบ 60% ตั้งโรงงานจีน

    กลยุทธ์ที่สองคือการลงทุนเพื่อเติบโต 3 ปีนี้ TCP จะลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น

    • 60% ใช้ในการลงทุนโรงงานแห่งใหม่ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน
    • 20% ใช้เพิ่มกำลังผลิตโรงงานเดิม
    • 20% ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ ใช้ระบบออโตเมชันเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มฟังก์ชันรักษาสิ่งแวดล้อม

    โปรเจ็กต์ใหญ่ที่สำคัญคือการตั้งโรงงานจีนนี้เอง โดยสราวุฒิท้าวความก่อนว่าแต่เดิม “กระทิงแดง” มีจอยต์เวนเจอร์สัญญา 20 ปีกับพาร์ทเนอร์ชาวจีน แต่เมื่อสัญญาหมดลง และพาร์ทเนอร์รายใหม่ไม่ราบรื่น ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าบริหารเองทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2561

    TCP 9 หมื่นล้าน
    พิธีวางรากฐานโรงงานแห่งใหม่กระทิงแดง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

    จากเดิมที่มีโรงงานแห่งเดียวบนเกาะไห่หนาน บวกกับการจ้างโรงงาน OEM จีน 4 แห่ง ไม่เพียงพอตอบสนองตลาดจีนอีกต่อไป จึงมีโครงการสร้าง โรงงานแห่งที่ 2 มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 1,100 ล้านหยวน กำลังผลิต 1,400 ล้านกระป๋องต่อปี เริ่มสร้างแล้วในมณฑลเสฉวน เพราะเป็นพื้นที่ที่สินค้าขายดี และรัฐบาลสนับสนุน อำนวยความสะดวก

    ตลาดจีนมีความสำคัญกับ TCP มาก เพราะขนาดตลาดใหญ่ เศรษฐกิจเติบโต มีโอกาสรออยู่สูง สราวุฒิประเมินว่าบริษัทต้อง ‘เพิ่มกำลังผลิตอีก 2 เท่า’ ถึงจะพอรองรับ และเชื่อว่าอนาคตจีนจะเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของกลุ่ม (ปัจจุบันอันดับ 1 คือไทย ตามด้วยเวียดนาม และจีน)

     

    เป้ารักษ์โลก ลดคาร์บอน รีไซเคิล คืนแหล่งน้ำ

    สุดท้ายคือการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสราวุฒิกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ ‘รอไม่ได้อีกแล้ว’ และต้องการให้เห็นว่ากลุ่ม TCP ทำจริง ไม่ได้ตั้งโครงการเพื่อใส่ไว้ในรายงานประจำปี เป้าหมายที่จะทำทั้งหมด ได้แก่

    • ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
    • ต้องการเป็น Circular Economy ภายในปี 2567 บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มจะรีไซเคิลได้ 100% โดยเริ่มทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และองค์กรระดับโลกแล้วเพื่อเปลี่ยนทั้งซัพพลายเชน
    • ต้องการเป็นบริษัท Water Net Positive ภายในปี 2573 เนื่องจากบริษัทมีการใช้น้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตมาก ดังนั้น บริษัทจะคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้ได้มากกว่าที่ดึงมาใช้ผลิต โดยจะช่วยผ่านการรักษาอนุรักษ์น้ำตามธรรมชาติ

    ทั้งหมดคือแผนและเป้าของ TCP ซึ่งสราวุฒิมองว่ายังเป็นแผนที่ ‘aggressive’ เช่นเคย ยังคงท้าทาย แต่มองเห็นความเป็นไปได้ ท่ามกลางปัจจัยลบที่กระหน่ำอยู่ในโลกขณะนี้

    “ถ้าเราตอบว่าเรามั่นใจกับสถานการณ์ภายนอกคือเราโกหก แต่เรามั่นใจกับแผนของเรา มีการพูดคุยกับซัพพลายเชนให้โตไปพร้อมกับเราได้ ปูพื้นวัฒนธรรมการทำงานของคนในองค์กรให้ตอบรับกับโลกยุคหลัง COVID-19 เราไม่ได้มั่นใจ 90-100% เหมือนในสมัยก่อนแล้วค่อยลงทุน เราต้องเดินต่อไป เพราะโลกทุกวันนี้คือการต้องลองทำไปก่อน” สราวุฒิกล่าวปิดท้าย

    ]]>
    1383438
    ผู้บริโภคไม่ยึดติดแบรนด์ สินค้าไม่โดนถูกเทเร็ว “เซ็ปเป้” ชี้โอกาสเป็นของธุรกิจเครื่องดื่มขนาดกลาง-เล็ก https://positioningmag.com/1231097 Wed, 22 May 2019 23:05:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1231097 ธุรกิจวันนี้นอกจากจะถูก Disrupt จากเทคโนโลยีแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ไม่มี Brand Loyalty เหมือนในอดีต พร้อมลองของใหม่

    ในอุตสาหกรรม “อาหารและเครื่องดื่ม” ต้องเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ จะเลือกสินค้าที่ตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นกลุ่มที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์ ต้องการลองสินค้าใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา กลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ต่างๆ ในวันนี้ จึงต้องโฟกัสไปที่การพัฒนาสินค้า ออกมาเอาใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

    อเนก ลาภสุขสถิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก “ผู้เล่น” ที่เติบโตสูงอยู่ในกลุ่มขนาดกลางและเล็กมากกว่าบริษัทระดับโกลบอล เพราะมีความคล่องตัวในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ตามเทรนด์ผู้บริโภคที่ต้องการ “ลองของใหม่” ได้อย่างรวดเร็ว

     

    ในอดีตผู้บริโภคเลือกแบรนด์ที่มั่นใจ แต่ในยุคที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา แม้เป็นแบรนด์ใหม่ ผู้บริโภคก็มีช่องทางหาข้อมูลสินค้าได้เอง การเป็นแบรนด์เก่า หรือแบรนด์ใหม่ จึงไม่ใช่ปัจจัยตัดสิน แต่อยู่ที่สินค้าหากโดนใจ ก็พร้อมลองของใหม่

    อเนก ลาภสุขสถิต

    สินค้าไม่โดน วงจรชีวิตจบเร็ว

    หากย้อนไปสัก 7 – 8 ปีก่อน สินค้าแต่ละประเภท จะมีวาไรตี้ของ SKU ไม่มาก วงจรชีวิตของสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ “ยอดขายไม่วิ่ง” หรือ “ไม่โดนใจผู้บริโภค” อาจจะยังอยู่ในตลาดหรือบนชั้นวางได้อีก 2 – 3 ปี แต่ช่วง 1 – 2 ปีนี้ต้องบอกว่าทุกอย่าง “เร็วมาก” หากเข้าข่าย “แป้ก” จบชีวิตภายใน 5 – 6 เดือนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม บนชั้นวางจะมีวาไรตี้ของสินค้าจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงเร็ว

    กลยุทธ์การทำตลาดของ “เซ็ปเป้” จึงต้องมุ่งไปที่พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาตลอด ปัจจุบันมี 7 – 8 แบรนด์หลัก มีสินค้ากว่า 1,000 SKU ที่ทำตลาดทั้งไทยและส่งออก 91 ประเทศ โดยชูความหลากหลายของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มวันนี้ แต่ละประเภทจะมีทั้งแบบ น้ำ เจลลี่ แบบเม็ด บาร์ เพื่อตอบสนองความสะดวกในการรับประทานของแต่ละกลุ่มและสถานการณ์

    ปกติแต่ละปีจะเปิดตัวสินค้าใหม่เฉลี่ย 13 – 14 SKU ปีที่ผ่านมามีสินค้าใหม่ 16 – 17 SKU เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลาย ปีนี้จะวางสินค้าใหม่ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มราว 20 SKU ส่วนสินค้าที่ต้องออกจากตลาดมีเพียงปีละ 1 – 2 SKU เท่านั้น

    ปิยจิต รักอริยะพงศ์

    จับมือสารพัดพันธมิตรเข็นสินค้าลงตลาด

    ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เซ็ปเป้” วางตัวเป็นองค์กรด้านนวัตกรรม จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายทั้งระดับโลกและท้องถิ่น ที่เปิดตัวไปแล้ว คือ ความร่วมมือระหว่าง SAPPE และ Danone จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ดานอน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรจเจส” เพื่อร่วมกันทำตลาด B’lue เครื่องดื่มผสมวิตามินเซ็ปเป้ ดูแลการผลิตและกระจายสินค้าในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

    ปีที่ผ่านมาได้จัดตั้ง SAPPE INNO STUDIO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เปิดรับไอเดียและพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับพันธมิตร 4 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ, SME, เกษตรกร และพนักงาน เพื่อนำไอเดียมาพัฒนาเป็นสินค้า

    ปัจจุบันได้สร้างแบรนด์สินค้าใหม่จาก SAPPE INNO STUDIO แล้ว 3 แบรนด์ คือ Chim Dii สแน็กคางกุ้ง ซึ่งพัฒนาร่วมกับ SME ผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์คางกุ้ง Okusno ที่ทำตลาดในประเทศไทย ส่วนแบรนด์ ChimDii จะทำตลาดต่างประเทศผ่านเครือข่ายร้านค้ากว่า 2.9 แสนจุดขาย ใน 91 ประเทศที่เซ็ปเป้ ทำตลาดอยู่

    แบรนด์ Maxtive ทำงานร่วมกับเกษตรกร ที่ทำหน้าที่ซัพพลาย “กล้วยหอมทอง” เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมอาหารให้พลังงาน ทำตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ และแบรนด์ Shootz เครื่องดื่มให้พลังงาน ซึ่งเป็นไอเดียจากพนักงานของเซ็ปเป้ สำหรับพนักงานที่เสนอไอเดียหากพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายสินค้าแบรนดังกล่าวเป็นวลา 1 ปี

    ปัจจุบัน SAPPE INNO STUDIO มีโปรเจกต์ที่จะพัฒนาสินค้าและแบรนด์ใหม่อยู่ในมือที่เตรียมออกมาทำตลาดต่อเนื่องในช่วง 3 ปีนี้ โดยแต่ละปีจะมีแบรนด์ใหม่ 3 – 4 แบรนด์

    ด้านผลประกอบการปีนี้ยังมั่นใจเติบโตได้ 30% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 2,886 ล้านบาท สัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 60% และในไทย 40% ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม (Functional Drink) กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ (Juice Drink) กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผงพร้อมชงเพื่อสุขภาพและความงาม (Functional Powder) กลุ่มเครื่องดื่มปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม (Other RTD Segment) และกลุ่มขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ (Healthier Snack)

    ส่อง 6 เทรนด์เครื่องดื่ม

    เทรนด์เครื่องดื่มในตลาดโลก ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค มี 6 เทรนด์

    1. ฟังก์ชันนอลดริ้งก์ (Hyper Personalized Functionality) ด้านสุขภาพและความงาม
    2. วัตถุดิบจากพืช (Plant-Based) เป็นเทรนด์ที่เกาะกระแสการดูแลสุขภาพและใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ
    3. สีสันจากธรรมชาติ (Color and Nostalgia) เครื่องดื่มที่มีลูกเล่นจากสีสันพืชผักธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน ฟักทอง
    4. ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Globally-Inspired Flavors) เป็นแหล่งผลิตที่มี storytelling เช่น แหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติดีที่สุดในโลก หรือแหล่งผลิตกล้วยหอมทองรสชาติดี
    5. มีชิ้นเนื้อของวัตถุดิบเป็นส่วนผสม (Texture) เครื่องดื่มที่ใส่ชิ้นเนื้อผสม เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการดื่ม
    6. กระบวนการผลิตที่ดูแลสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบออร์แกนิก (Sustainability) การทำธุรกิจที่ใส่ใจสังคมชุมชนและเติบโตอย่างยั่งยืน
    ]]>
    1231097
    ยุคนี้ต้องไม่มีแค่น้ำอัดลม! กางแผนเป๊ปซี่ ควงซันโทรี่ แตกพอร์ตขยายแนวรบ https://positioningmag.com/1186052 Tue, 04 Sep 2018 01:00:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1186052 เรื่อง : Thanatkit

    ธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมต้องเผชิญกับความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ

    ดังนั้นยุทธศาสตร์ต่อไปของเป๊ปซี่ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) หรือ SPBT” ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง ระหว่างเป๊ปซี่ โคจากอเมริกา และซันโทรี่จากญี่ปุ่น ภายใช้ชื่อบริษัทใหม่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) หรือ SPBT” ด้วยทุนจดทะเบียน 19,680 ล้านบาท จึงต้องเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในมือเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค

    โอเมอร์ มาลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บอกถึงวิสัยทัศน์ในปี 2018 – 2019) ภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจ 5 ข้อ

    1. สร้างองค์กรที่แข็งเกร่งในตลาดเครื่องดื่มของไทย ที่มีมูลค่า 154,000 ล้านบาท1
    2. สร้างโอกาสการเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นทั้งในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่น
    3. ขยายพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งซันโทรี่ค่อนข้างชำนาญในด้านนี้ โดยเฉพาะเพิ่มสัดส่วนของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 100 แคลอรีต่อปริมาตร 12 ออนซ์ ให้ได้ 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอภายในปี 2568
    4. ผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้รวดเร็ว และสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพได้รวดเร็ว
    5. สร้างโอกาสให้พนักงาน และเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ อีกกว่า 40 ตำแหน่ง พร้อมกับวางแผนพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฝึกอบรมกว่า 157 หลังสูตร จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรม 12,465 ชั่วโมง และมีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในการจัดการฝึกอบรมแก่พนักงาน

    สิ่งที่ SPBT ต้องการมุ่งเน้น คือ การสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยการขยายพอร์ตเครื่องดื่มเพื่อความสดชื่นทุกชนิด ทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ ชาและกาแฟพร้อมดื่ม น้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำผลไม้ รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ในอนาคต ผลิตภัณฑ์ล่าสุดของ SPBT คือ มิรินด้า มิกซ์อิท เครื่องดื่มน้ำอัดลมสองกลิ่นผลไม้ในขวดเดียว เพื่อตอบสนองเทรนด์ของวัยรุ่น และผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพไปพร้อมๆ กัน ด้วยสูตรน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. และได้รับตราสัญลักษณ์

    ดังนั้นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือการเพิ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 100 แคลอรีต่อปริมาตร 12 ออนซ์ ให้ได้ 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอ ภายใน 2025 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 10 ปี (2016 – 2025)

    ที่ผ่านมา SPBT ได้ทยอยวางตลาดสินค้าเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลง อาทิ เครื่องดื่มอควาฟิน่า วิตซ่ามิรินด้า มิกซ์อิท, เป๊ปซี่ แมกซ์ เทสต์ (ปราศจากน้ำตาล), ชาเขียวลิปตัน กลิ่นมะม่วงใบเตย และเซเว่นอัพ โลว์ชูการ์ และเตรียมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย

    เหตุผลหลักที่ทำให้ SPBT ต้องวางยุทธศาสตร์เช่นนี้มาจาก ข้อมูลของผู้บริโภคชาวไทยที่ว่า 37% ของประชากรทั้งหมดออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 68% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ให้ความสำคัญกับอาหารบำรุงสุขภาพ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าผู้บริโภคชาวไทยในวันนี้อินกับ เทรนด์รักสุขภาพมากแค่ไหน

    แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่ออาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานเป็นหลัก โดยเฉพาะ น้ำอัดลม ที่ต้องปรับตัวเองให้รับกับพฤิตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

    ผู้บริโภคเวลาจะเลือกทานอะไรจะใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ฝั่งของเป๊ปซี่เองก็ได้พยายามหาสินค้าเข้ามาเสริม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในเรื่องสุขภาพ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มีน้ำตาลต่ำ น้ำตาล 0% หรือแม้กระทั่งน้ำแร่ เป๊ปซี่ก็จะนำเข้ามา ซึ่งเป็นการผสานกับกลุ่มซันโทรี่ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจร่วมลงทุนกับซันโทรี่ ด้วยซันโทรี่มีความเข้มแข็งและถนัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

    2 เหตุผลทำธุรกิจให้สำเร็จ

    โอเมอร์ มองว่า ประเทศไทยเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวของกลุ่มคนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดเครื่องดื่มมีการเติบโตและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่แตกต่างและสมดุลรวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค จึงเชื่อมั่นว่า SPBT จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มและตลาดน้ำอัดลมได้อย่างแน่นอน

    ดังนั้นการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วย 2 ข้อ คือ

    1. ต้องรู้ว่าผู้บริโภคชอบอะไร ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นการใส่ใจเรียนรู้ข้อมูลของผู้บริโภคในเรื่องของความพึงพอใจเป็นสิ่งที่สำคัญ
    2. การมีแบรนด์ที่แข็งแรง ซึ่งสิ่งที่จะมายืนยันประกอบด้วย 2 ข้อคือ คุณภาพของสินค้า และความไว้วางใจ หรือความผูกพันของผู้บริโภค

    สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือ R&D การวิจัยและพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การผลิตที่ได้มาตรฐาน และกระบวนการจัดจำหน่ายเพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าผู้บริโภคจะมีสินค้าในทุกที่ที่ต้องการในตลาด

    รู้จักซันโทรี่และเป๊ปซี่โค

    ก่อนหน้าที่จะเข้าจะตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันในเมืองไทย ทั้งคู่ได้ทำธุรกิจร่วมกันมาแล้ว 35 ปี ในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน เวียดนาม

    สำหรับซันโทรี่ เป็นธุรกิจเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งเมื่อปี 1899 ปัจจุบันมีบริษัทในเครือทั่วโลก 312 แห่ง มีพนักงานในเครือทั้งหมด 37,745 คน ปี 2017 มีรายได้รวม 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 57%, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 33% และอื่นๆ 10%

    ส่วนเป๊ปซี่โคบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2017 มีรายได้รวมกว่า 63,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี 22 แบรนด์ ที่สร้างยอดขายปลีกต่อปี 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมากกว่า 30 แบรนด์ ที่สร้างยอดขายปลีกต่อปีอยู่ระหว่าง 250 – 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังมีบริษัทในเครือทั่วโลก 200 ประเทศ กับพนักงานในเครือทั้งหมด 260,000 คน

    ในเมืองไทยเป๊ปซี่ได้เข้ามาทำธุรกิจ 65 ปีแล้ว ช่วงแรกได้ให้บริษัทเสริมสุขเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย จากนั้นในปี 2555 ได้ปรับกลยุทธ์ หันมาผลิตและทำตลาดเอง โดยช่วง 6 ปีมานี้ได้ลงทุน 775 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสร้างโรงงาน 2 แห่ง 12 ไลน์ผลิตที่ระยองและสระบุรี

    ปัจจุบันมีพันธมิตรในการกระจายสินค้า 25 ราย, จุดส่งสินค้า (Drop Point) 68 จุด, เป็นพันธมิตรกับ DHL ในด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า ซึ่งมีรถส่งสินค้ากว่า 200 คัน ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 470,000 แห่งทั่วประเทศ

    ในภาพรวมตลาดน้ำอัดลม 54,900 ล้านบาท เป๊ปซี่มีส่วนแบ่ง 34% ในบรรจุภัณฑ์แบบไม่ต้องคืนขวด (ทั้งขวดพีอีทีและกระป๋อง) เฉพาะน้ำดำมีแบ่งการตลาด 45% ในบรรจุภัณฑ์แบบไม่ต้องคืนขวด.

    ]]>
    1186052
    น้ำดื่มเดือด “อควาฟิน่า” ส่งนางงาม “มารีญา” พรีเซ็นเตอร์” สู้ศึก 2 น้องนาย-เจ้านาย หวังชิงท็อป 5 น้ำดื่ม 3 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1161452 Tue, 13 Mar 2018 09:15:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161452 หลังจากปล่อยให้คู่แข่งตลาดน้ำดื่มเปิดศึกช่วงชิงตลาดมาตั้งแต่ต้นปี โดยค่ายคริสตัลมีพรีเซ็นเตอร์หนุ่มคนดังอย่าง “น้องนาย-ณภัทร เสียงสมบุญ” สร้างการรับรู้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ส่วนค่ายสิงห์มีเจ้านาย-จินเจษฎ์ วรรธนะสิน มาเป็นตัวแทนให้กับแบรนด์ เพื่อเปิดเกมตลาดใหม่ให้กระหึ่มไปทั้งออนไลน์และออฟไลน์มาแล้ว  

    มาถึงคิว อควาฟิน่า แบรนด์น้ำดื่มและน้ำแร่ของ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างเป๊ปซี่และซันโทรี่มาสด ๆ ร้อน ก็ขอสู้ศึกน้ำดื่ม ด้วยการส่ง มารีญา พูลเลิศลาภ” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2017 มาพรีเซ็นเตอร์คนแรก 

    สมชัย เกตุชัยโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด มองว่า หลังจากประเมินแล้วว่าในปีที่ผ่านมา (2560) ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทยยังอ่อนตัว โดยมีอัตราการเติบโตที่ติดลบประมาณ 3%1 (ข้อมูลนีลเส็น ประเทศไทย) เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ยังทรงตัว รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณฝนสูงกว่าปกติ

    แต่ถึงอย่างนั้น ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด (Packaged Water) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านบาทยังคงเป็น 1 ใน 3 ของแคทิกอรี่หลักที่มีการเติบโตสูงที่สุด โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 0.7%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

    โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำแร่ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 12% ของตลาดน้ำดื่มโดยรวมนั้น มีอัตราการเติบโตสูงถึง 8%เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงแบรนด์ ‘อควาฟิน่า มิเนเรล’

    เนื่องจากผู้บริโภคยุคนี้หันมาใส่ใจในสุขภาพและการเลือกบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดน้ำแร่มูลค่า 4,000 ล้านบาท5 เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายนั้น น้ำแร่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 9%ในขณะที่น้ำดื่มเติบโตเพียง 3%เท่านั้น

    อควาฟิน่า มิเนเรล เองหลังจากเข้าทำตลาดในช่องทางดังกล่าวแล้วครึ่งปีก็เห็นผล ติดอันดับท็อป 5 น้ำแร่ขายดีที่สุดในร้านสะดวกซื้อ

    นอกจากนี้ การแข่งขันตลาดน้ำดื่มก็ดุเดือดมาตั้งแต่ต้นปี โดยผู้เล่นรายหลักเริ่มทำกิจกรรมการตลาดเพื่อต้อนรับหน้าร้อนซึ่งมาเร็วกว่าปกติ นับตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์

    อควาฟิน่า จึงต้องส่งแคมเปญใหม่ ‘อควาฟิน่า สะอาด ใส ได้คุณภาพ’ ออกมา ภายใต้โมเดลการตลาดที่ใกล้เคียงกันกับคู่แข่ง คือ ใช้พรีเซ็นเตอร์คนดังมาเป็นตัวแทน เพื่อสร้างความจดจำและสื่อถึงคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ สวยดูดีทั้งภายในและภายนอก

    ควบคู่กับแมสเสจของการเป็น “น้ำดื่ม” ระดับโลกที่ผ่าน 7 ขั้นตอนเทคโนโลยีการกรองด้วยนวัตกรรมไฮโดร เซเว่น (HydRO-7™) ปี 2017

    แคมเปญนี้ จะใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท ในกิจกรรมการตลาดของทั้งน้ำดื่มและน้ำแร่ธรรมชาติ ผ่านภาพยนตร์โฆษณารวมทั้งการใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายในร้านค้าทั้งช่องทางโมเดิร์นเทรดและเทรดดิชันนอลเทรดอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลักดันให้แบรนด์อควาฟิน่าเป็นหนึ่งในห้าแบรนด์น้ำดื่มยอดนิยมได้ภายในปีนี้

    1-7อ้างอิงข้อมูล บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด

    ]]>
    1161452
    “ซาเบโก” จิ๊กซอว์ “ไทยเบฟ” เปลี่ยนเกมผู้ตาม สู่ผู้นำเบียร์อาเซียน (มีคลิป) https://positioningmag.com/1158384 Thu, 22 Feb 2018 23:15:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1158384 การซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ “ไทยเบฟ” ใช้ในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอาเซียน และล่าสุดไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2561 (ปีงบประมาณเริ่ม ต.ค. 60 – ก.ย. 61) บริษัทเพิ่งสรุปการซื้อกิจการทั้งหมด 4 ดีล มูลค่า 2 แสนล้านบาท ได้แก่

    1. ซื้อหุ้น 53.59% ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) มูลค่า 156,000 ล้านบาท
    2. ซื้อหุ้น 75% ของบริษัท Grand Royal Group ผู้ผลิตสุรารายใหญ่สุดของเมียนมา มูลค่า 25,000 ล้านบาท
    3. ซื้อแฟรนไชส์ ร้าน KFC จำนวน 252 สาขา มูลค่า 11,400 ล้านบาท
    4. ซื้อหุ้น 76% ในกิจการร้านอาหารไทยประเภท HOT POT ของ บริษัท Spice of Asia จำนวน 10 สาขา จาก 4 แบรนด์ เช่น Chilli Thai Restaurant, Eat Pot ฯ  มูลค่า 115 ล้านบาท
    5. หลังจากนี้ไป สิ่งที่จะดำเนินการ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า บริษัทจะระดมออกหุ้นกู้ (บอนด์) เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นมูลค่า 2 แสนล้านบาท

    รายละเอียดการออกหุ้นกู้จะดำเนินการทั้งสิ้น 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยเดือนมีนาคมนี้จะออกหุ้นกู้ก้อนแรกมูลค่า 50,000 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4

    แม้บริทมีแผนออกหุ้นกู้ 4 ครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องทำครบ เพราะบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดอิสระ (Free cash flow) ประมาณ 30,000 ล้านบาท สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระหนี้ได้ด้วย   

    การบริการจัดการด้านการเงินถือเป็นกลยุทธ์สำคัญมากของไทยเบฟ และทาง “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ย้ำให้วินัยทางการเงิน เพราะในแต่ละปี บริษัทมีการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยให้หนี้สินต่อทุน (D/E) สูง อาจทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงได้

    ++ ซื้อกิจการดันมาร์เก็ตแคปพุ่ง

    นอกจากนี้ หลังได้ 4 กิจการมาอยู่ใต้ไทยเบฟ ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ของบริษัทขยายตัวมากขึ้น จากข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ไทยเบฟมีมาร์เก็คแคปราว 500,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมกับมาร์เก็ตแคปของบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) มูลค่าราว 82,000 ล้านบาท และบริษัท ซาเบโก ที่บริษัทเพิ่งเข้าไปถือหุ้น

    อย่างไรก็ตาม การที่มาร์เก็ตแคปของไทยเบฟพุ่งขึ้น ส่งผลให้การเทียบชั้นกับบริษัทเครื่องดื่มในภูมิภาค “เอเชีย” เห็นชัดเจนมากขึ้น ว่าบริษัทจากประเทศไหนใหญ่กว่ากัน เพราะที่ผ่านมามีข้อมูลช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “คู่แข่ง” สำคัญในเอเชีย คือ คิริน อาซาฮี ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มจากญี่ปุ่น และซานมิเกล เบอร์ 1 เบียร์ของฟิลิปปินส์ ล้วนมีมาร์เก็ตแคปไล่เลี่ยกัน

    ++ ซาเบโก “จิ๊กซอว์” พลิกไทยเบฟขึ้นเบอร์ 1 เบียร์อาเซียน

    “ฐาปน” ยังเล่าด้วยว่า หลังการซื้อกิจการในปีที่ผ่านมา “ซาเบโก” คือพันธมิตรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับไทยเบฟสูงสุด เพราะช่วยให้พอร์ตโฟลิโอเบียร์ของทั้ง 2 บริษัทขึ้นเป็น “ผู้นำตลาดเบียร์” ในภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จากปลายปี 2560 เบียร์ช้างเป็น “ผู้ตาม” อันดับ 6 มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 9% เท่านั้น

    ทั้งนี้ ซาเบโกมีแบรนด์เบียร์ที่เป็นเรือธง คือ ไซ่ง่อนเบียร์ และแบรนด์ 333 ซึ่งเป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาด 46% ในตลาดเบียร์เวียดนาม และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 17% ในระดับอาเซียน

    เมื่อรวมแบรนด์เบียร์ของซาเบโกและแบรนด์ช้าง ทำให้เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเป็น 26% ซึ่งถือว่าเราคือผู้เล่นรายใหญ่สุดในอาเซียน

    สำหรับภาพรวมตลาดเบียร์ในอาเซียนมีมูลค่าในเชิงปริมาณกว่า 9,000 ล้านลิตร และ ณ สิ้นปี 2560 จากการรวบรวมผลประกอบการของบริษัทในตลาด ข้อมูลจากยูโรมินิเตอร์และนิเคอิ อาเซียนรีวิว พบว่า บริษัทต่างๆ มีส่วนแบ่งทางการตลาดดังนี้

    • อันดับ 1 คือซานมิเกล จากฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งทางการตลาด 19%
    • ซาเบโก เวียดนาม 17%
    • ไฮเนเก้น เนเธอร์แลนด์ 14%
    • สิงห์ ของบุญรอดบริเวอรี่ 13%
    • คาร์ลสเบิร์กของเดนมาร์ก 12%
    • ช้าง 9%
    • ฮาเบโก เวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาด 7%

    ++ โจทย์หนักนอนแอลกอฮอล์

    ในการซื้อ 4 กิจการปีที่แล้ว มี 2 กิจการคือซาเบโก เวียดนาม และ Grand Royal Group เมียนมา เป็น “ตัวแปร” สำคัญทำให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเบฟมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 78% ลดสัดส่วนรายได้กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้ลดลงเหลือ 22% จากเดิมสัดส่วนรายได้ทั้ง 2 กลุ่มขยับใกล้เข้ากันมากขึ้นที่ 55% ต่อ 45% และใกล้จะถึงเป้าหมายตามวิชั่น 2020 ที่ไทยเบฟต้องการเห็นสัดส่วนรายได้จากทั้ง 2 กลุ่มเท่ากันที่ 50%

    สถานการณ์ดังกล่าว กลายเป็นงานหนักของกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ชาเขียว น้ำอัดลม ต้องสปีดรายได้ให้ไปถึง 50% ใหม่

    “ก่อนนี้กลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทำรายได้เกือบครึ่งแล้วนะ มาตามแผนอยู่แล้ว พอมีซาเบโก และวิสกี้เมียนมา นอนแอลกอฮอล์จึงลดลง แต่เรายังโฟกัสให้นอนแอลกอฮอล์โต จึงเป็นภาระที่ต้องผลักดันธุรกิจต่อไป”

    ++ อาศัยพลังโลคัลแชมเปี้ยนสานภาค 2 วิชั่น 2020

    ไทยเบฟกำหนดวิชั่น 2020 เมื่ปลายปี 2014 หรือ พ.ศ. 2558 เมื่อมาถึงปี 2561 ถือเป็น “ครึ่งทาง” และเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของวิชั่นแล้ว โดย 3 ปีจากนี้ไป “ฐาปน” จะให้ความสำคัญกับ 3 กลยุทธ์ จากทั้งหมด 5 กลยุทธ์ เพื่อขยายตลาด ได้แก่ 1.สร้างตราสินค้าให้โดนใจ (Brands) จะต้องมีกิจกรรมการตลาดให้ครบทุกช่องทางออนแอร์ ออนไลน์ ออนกราวน์ 2.การขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง (Reach) หาทางให้สินค้าเข้าถึงตลาด และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด และ 3.ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) สร้าง WAR Team การออกไปทำงานในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

    ส่วนอีก 2 กลยุทธ์ คือการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Growth) ทั้งรายได้และกำไร ผลงานไทยเบฟทำออกมาได้ดีพอตัว และความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์ (Diversify) มีสินค้าตั้งแต่นมถั่วเหลืองราคา 10 บาท ไปจนถึงซิงเกิลมอลต์ราคาหลักเกือบแสนบาท สินค้าในพอร์ตโฟลิโอมีครบทั้งเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ และขายในหลายประเทศ “ฐาปน” บอกว่าข้อนี้บริษัททำได้อย่างดี

    ทว่า การได้พันธมิตร 2 รายใหม่ ซาเบโก และแกรนด์รอยัล จะยิ่งทำให้ 5 กลยุทธ์ของไทยเบฟแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

    “การเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับโลคัลแชมเปี้ยนในประเทศเขา เป็นการทำให้พอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟหลากหลายขึ้น ช่วยย้ำให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าไปต๊อกแต๊ก แล้วฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่เราเข้าไปเพื่อทำงานให้จริงจัง สร้างประโยชน์ผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น”

    ++ เวียดนาม เมียนมา ขุมทรัพย์เบียร์-เหล้า

    ไทยเบฟมีสินค้าส่งออกและทำหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่ถ้ามองเฉพาะอาเซียน บริษัทให้ความมสำคัญกับตลาด 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มุ่งไปที่ตลาดเบียร์ เพราะมีขนาด 4,400 ล้านลิตร ใหญ่กว่าไทย 2 เท่า ประชากรกว่า 92 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ บริษัทสามารถหาโอกาสสร้างการเติบโตได้ระยะยาว

    เมียนมา บริษัทโฟกัสที่ตลาดเหล้า เพราะเป็นตลาดใหญ่ เมื่อเทียบกับเบียร์มีมูลค่าเพียง 100 กว่าล้านลิตรเท่านั้น มีขนาดประชากร 52 ล้านคน จึงอาศัยจุดแข็งของแกรนด์รอยัล ที่เป็นผู้นำตลาดวิสกี้ ยอดขาย 60 ล้านลิตรต่อปี และเป็นแบรนด์ติดท็อป 50 ของทำเนียบแบรนด์สุราชั้นนำของโลกด้วย 

    “เราโฟกัสอาเซียน เพราะเป็นตลาดใหม่ หรือ Emerging Market ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วสุดในโลก อย่างเวียดนามจีดีพีโต 7% ยิ่งรวมโอกาสทางการค้าจากอาเซียนบวก 3 บวก 6 บวก 9 จะกินตลาดได้กว่าครึ่งโลก”

    ++ ขยายเคเอฟซี 50 สาขา ใน 2 ปี

    อย่างไรก็ตาม หลังซื้อกิจการร้านเคเอฟซี จะเห็นการต่อยอดธุรกิจด้วยการขยาย 50 สาขาใน 2 ปี แบ่งเป็น 20 สาขาในปีนี้ และอีก 30 สาขาในปีหน้า ส่วน Spice Of Asia มีการขยายแบรนด์เสือไต้เสริมพอร์ต

    ++ ไตรมาส 1 โกยกำไร 3,000 ล้านบาท

    21 กุมภาพันธ์ 2561 ไทยเบฟได้รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระบุว่า บริษัททำรายได้กว่า 45,600 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,000 ล้านบาท ส่วน 4 กิจการที่ซื้อมามีการรับรู้รายได้ 3 บริษัท ได้แก่ แกรนด์รอยัล มีรายได้ ตุลาคม – ธันวาคม 2560 ประมาณ 1,822 ล้านบาท กำไร 455 ล้านบาท, เคเอฟซี มีรายได้ ธันวาคม 600 ล้านบาท ส่วนร้านอาหารบริษัท Spice of Asia รายได้ ตุลาคม – ธันวาคม 2560 ประมาณ 37 ล้านบาท กำไรประมาณ 4 ล้านบาท

    ส่วนซาเบโก ยังไม่รับรู้รายได้ แต่บริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแล้ว 52 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายได้อยู่ที่ 48,000 ล้านบาท กำไร 7,200 ล้านบาท.

    ]]>
    1158384
    เป๊ปซี่โค ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หันจับมือ “ซันโทรี่” ตั้ง บ.ร่วมทุนลุยธุรกิจเครื่องดื่มในไทย https://positioningmag.com/1145206 Thu, 02 Nov 2017 07:33:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1145206 จากซ้ายไปขวา : นายทากายูกิ ซานโน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจบริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด; นายเชคก้า มันด์เลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด; นายปริญญา กิจจาธนพันธ์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอินโดจีนเป๊ปซี่โค อิงค์; นายโอเมอร์ มาลิค กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มประเทศไทย เป๊ปซี่โค อิงค์

    นับเป็นการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของ “เป๊ปซี่” อีกครั้ง หลังจากดึงเอาการผลิตและทำตลาดจากเสริมสุขมาทำเอง ครั้งนี้เป๊ปซี่ เลิกลุยเดี่ยว หันมาจับมือตั้งบริษัทร่วมทุน ”ซันโทรี่” บิ๊กเครื่องดื่มจากญี่ปุ่น ลุยธุรกิจเครืองดื่มทั้ง ผลิต-จำหน่าย-ทำตลาด ร่วมกัน

    “เป๊ปซี่โค อิงค์” ประกาศปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย ด้วยการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด ผู้นำระดับโลกในธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อมุ่งดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์แบบครบวงจรในประเทศไทยร่วมกัน

    จับมือลุยธุรกิจเครื่องดื่ม 

    การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ มองว่า จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครื่องดื่มของเป๊ปซี่โคในไทย ทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับทั้งสองบริษัทในอนาคต โดยปัจจุบันทั้งคู่จะใช้ “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ร่วมกัน ในการพัฒนาสินค้าใหม่และการขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่มต่างๆ ในเครือซันโทรี่ด้วย

    ตั้งบริษัทร่วมทุน ซันโทรี่ถือ 51% เป๊ปซี่ 49%

    ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเฟรชเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเป๊ปซี่โคที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด” โดยซันโทรี่จะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ในขณะที่เป๊ปซี่โคจะถือหุ้นส่วนที่เหลือร้อยละ 49 และคณะผู้บริหารของทั้งซันโทรี่และเป๊ปซี่โคจะดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับทั้งสองบริษัท

    เคยร่วมมือกันมาแล้วในหลายประเทศ

    ที่ผ่านมาซันโทรี่และเป๊ปซี่โคถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมาอย่างยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร่วมกันมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รวมถึงเวียดนาม

    ไทย 1 ในประเทศยุทธศาสตร์ของซันโทรี่

    เชคก้า มันด์เลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย จำกัด กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์สำหรับซันโทรี่ ที่มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง ประกอบกับประชากรที่มีอายุน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

    เมืองไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง โดยที่ผ่านมาเป๊ปซี่โคได้วางรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีระบบการผลิตและการกระจายสินค้า และมีพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ชั้นนำ รวมทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพ

    ซันโทรี่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นในอนาคตอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเสนอพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มที่หลากหลายในอนาคต

    ที่ผ่านมา ซันโทรี่ ให้น้ำหนักกับการขยายธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก โดยได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตัดสินใจขยายการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว โดยซันโทรี่ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ซุปไก่สกัดและรังนกแท้ BRAND’S® ในประเทศไทย (ซื้อหุ้นและเปลี่ยนชื่อองค์กรในช่วงต้นปี) และยังมีพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ Lucozade® เครื่องดื่มน้ำผลไม้ Ribena® เครื่องดื่มอัดลมรสมะนาวผสมวิตามินซี CC Lemon® ชาพร้อมดื่ม TeaPlus® เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงค์ GoodMood® และกาแฟกระป๋อง MYCAFE®

    เป๊ปซี่ ได้เวลาต้องปรับ

    อเดล การาซ ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของเป๊ปซี่โค กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่สำคัญของเป๊ปซี่โคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป๊ปซี่ได้ดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงได้ปรับตัวและมองหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในแต่ละตลาด ซึ่งเรามั่นใจว่าการร่วมทุนกับซันโทรี่ในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และช่วยสร้างรากฐานให้ธุรกิจเครื่องดื่มของเป๊ปซี่โคในประเทศไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

    ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555 – 2559) เป๊ปซี่โคได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยด้วยมูลค่ากว่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งในธุรกิจอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งรวมไปถึงการเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ในปี พ.ศ. 2555 และโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งที่สอง ที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค จังหวัดสระบุรี ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) เพื่อต้องการความได้เปรียบในการรุกตลาดเครื่องดื่ม ทั้งยังเป็นการรองรับการขยายพอร์ตโฟลิโอในระยะยาว

    โอนธุรกิจเสร็จครึ่งปี 61

    โดยขณะนี้เป๊ปซี่โคและซันโทรี่อยู่ระหว่างการดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายเพื่อถ่ายโอนการดำเนินธุรกิจไปสู่บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอร์เรจ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า (พ.ศ. 2561) ซึ่งภายหลังการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เป๊ปซี่โคจะยังคงดูแลรับผิดชอบกิจกรรมด้านการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มน้ำอัดลม “เป๊ปซี่” “มิรินด้า” “เซเว่น-อัพ” ชาพร้อมดื่ม “ลิปตัน” เครื่องดื่มเกลือแร่ “เกเตอเรด” และน้ำดื่ม “อควาฟิน่า” รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ของแบรนด์เครื่องดื่มในเครือเป๊ปซี่โคในอนาคต

    เป๊ปซี่คงธุรกิจอาหาร-ขนม

    ในส่วนของธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว เป๊ปซี่โคยังคงดำเนินธุรกิจดังกล่าวในเมืองไทยด้วยตัวเองเหมือนเช่นเดิมโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับซันโทรี่แต่อย่างใด โดยปัจจุบันเป๊ปซี่โคเป็นผู้นำตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 34,000 ล้านบาท ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ขนมขึ้นรูป “ตะวัน” และ “ซันไบทส์” และยังคงมุ่งมั่นสานต่อการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการเกษตร การพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนด้านการกระจายสินค้า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยต่อไป.

    ]]>
    1145206