โดยตลาดบริการเรียกรถในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 4.60 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) สูงกว่า 9.38% ในช่วงเวลาคาดการณ์เลยทีเดียว
LINE MAN ลงสนามท้าชิงส่วนแบ่ง Ride Hailing
LINE MAN เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติไทยที่ให้บริการด้านการสั่งอาหาร (Food Delivery) เรียกรถโดยสาร (Ride Hailing) การส่งพัสดุ (Messenger) รวมถึงการสั่งของที่ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์ (Mart) ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2016 โดยบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ LINE MAN คือ บริการด้านการสั่งอาหาร
และด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการคมนาคม จากเดิมที่เคยเรียกใช้บริการแบบออฟไลน์ก็เปลี่ยนมาใช้บริการเรียกรถออนไลน์แทน และยังคงมีความต้องการใช้งานเรียกรถออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค
ทำให้ในปี 2018 LINE MAN ผุด “LINE MAN TAXI” บริการเรียกรถแท็กซี่ถูกกฏหมายที่ร่วมมือกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ ก่อนจะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังเขตอื่นๆ รวมถึงเขตปริมณฑล ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการนำรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาให้บริการ รวมถึงดำเนินการขอ license (ใบอนุญาตขับขี่) จากกรมขนส่งทางบก ในการนำรถบ้าน หรือ รถยนต์ส่วนบุคคล เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม จนกลายเป็น “LINE MAN Ride” บริการเรียกรถครบวงจร
นอกจากนั้น ปัจจัยด้านการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ที่ขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านการแข่งขันในปัจจุบันที่ในตลาดบริการเรียกรถออนไลน์มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดหลากหลายเจ้า แม้จะทำให้ตลาดฯ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมี Pain Point ในเรื่องของ ‘ราคาแพง’ และ ‘ความปลอดภัย’ ที่เป็นช่องว่างให้ LINE MAN เข้ามาชิงส่วนแบ่งด้วย ‘ราคาที่ถูกกว่าและมีปลอดภัย’ และมีการคาดว่า จะเติบโตจนมีขนาดราว 34,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัญหารถติดทำ “LINE MAN Bike” โตพุ่ง 390%
“ศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์” รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจบริการด้านออนดีมานด์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า บริการเรียกรถผ่านแอป กลายเป็นบริการที่มีความสำคัญต่อการเดินทางของคนอย่างมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานรวมของแอป LINE MAN ทั้งหมดมากกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน หลังจาก LINE MAN Ride ได้รับการอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบกอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2024 บริการ LINE MAN Ride มีอัตราการเติบโตขึ้นถึง 60% จากปี 2023 โดยประเภทรถที่ได้รับความนิยม ได้แก่ LINE MAN Eco (บริการที่มีทั้งรถแท็กซี และรถส่วนบุคคลคอยให้บริการ) , LINE MAN Bike (บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์) และ LINE MAN Taxi (บริการเรียกรถแท็กซี่) ตามลำดับ
แม้ว่า LINE MAN Taxi จะเปิดให้บริการมาก่อนหลายปี แต่ LINE MAN Eco และ LINE MAN Bike ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2023 กลับได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า โดย LINE MAN Bike มีอัตราการเติบโตถึง 390% เนื่องจากเป็นบริการที่เข้ามาตอบโจทย์การเดินทางในช่วงรถติด ส่วน LINE MAN Eco ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคโดยเฉพาะเพศหญิงที่มักเรียกใช้บริการเรียกรถฯ กันเป็นประจำ เนื่องจากมีโปรโมชั่นคูปองส่วนลดเยอะและมีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า
นอกจากเรื่องของ ‘ราคาถูกกว่าและความปลอดภัย’ LINE MAN Ride ยังมีฟีเจอร์เด่นที่เป็นจุดต่างจากคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ในตลาด คือ ฟีเจอร์ Toll Selection ที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถเจาะจงเลือกได้ว่าต้องการขึ้นทางด่วนหรือไม่ ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทาง ทำให้ผู้ใช้สามารถประเมินราคาและเวลาการเดินทางได้ ไม่ต้องเสียเวลาตกลงกับคนขับในขณะโดยสาร
มาพร้อม Chat Stickers ที่ผู้ใช้สามารถส่งสติกเกอร์ในการสื่อสารคนขับได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพิมพ์ข้อความ และบริการชำระเงินผ่าน QR Payment ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้
เล็งเพิ่ม “บริการเรียกรถในสนามบิน” และ “โมเดลรถ EV” ในแอป
นอกจากในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีความต้องการเรียกใช้บริการเรียกรถอย่างมากแล้ว บริเวณในเขตพื้นที่สนามบิน ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความต้องการเรียกใช้บริการเรียกรถอย่างมากเช่นกัน เพราะแม้จะมีรถบัสวิ่งผ่านเข้าไปรับผู้โดยสารก็จริง แต่ก็ต้องใช้เวลารอค่อนข้างนาน อีกทั้งไม่สะดวกสบาย หากผู้โดยสารมีสัมภาระเยอะ
หรือบริการแท็กซี่ที่แม้จะเปิดให้บริการในสนามบินตลอด 24 ชั่วโมง แต่ผู้โดยสารก็ต้องต้องกดบัตรคิวเพื่อรอรถ อีกทั้งมีการคิดค่าบริการเพิ่มจากมิเตอร์ ส่งผลให้ผู้โดยสารเสียเงินค่าโดยสารมากกว่าปกติ
จาก Pain Point ดังกล่าว ทำให้ยังมีช่องว่างที่ผู้ให้บริการเรียกรถยังสามารถเข้าไปเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคได้ LINE MAN จึงได้วางแผนเพิ่มบริการเรียกรถในสนามบิน รวมถึงแผนเพิ่มโมเดลรถ EV ในแอปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนที่ LINE MAN กำลังศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาระบบ
ทั้งนี้ LINE MAN ยังมีแผนจะเตรียมเสนอขายหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ภายในปี 2025 เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น ส่วนจะเข้าในเดือนไหนนั้น ต้องรอติดตามกันต่อไป
]]>
“ฌอน คิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TADA เล่าประวัติของแอปฯ ก่อนว่า แอปฯ นี้ก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันบริษัทขยายไปแล้ว 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่เข้ามาทำตลาด
บริษัทนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสตาร์ทอัปชื่อ “MVLLABS Group” ก่อตั้งโดย “เค วู” ร่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ทอัปมีการทำธุรกิจขาอื่นด้วย ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการขับเคลื่อน (Mobility) และการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า-รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ “ONiON” ซึ่งธุรกิจนี้มีความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยในการนำมาทดลองใช้งานด้วย
คิมอธิบายต่อว่า ความแตกต่างของ TADA ที่จะเข้ามาชิงตลาดไทยคือการใช้โมเดล “ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน”
TADA จะเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถ (ครั้งละ 20 บาท) ซึ่งเก็บกับฝั่งผู้โดยสาร ทำให้คนขับรถจะได้ค่าวิ่งรถเต็มจำนวน ไม่ถูกหักค่าคอมฯ และค่าธรรมเนียมใดๆ
ส่วนค่าโดยสารจะคิดตามกรอบของกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ทำให้ภาพรวมผู้โดยสารจะ “จ่ายน้อยกว่า” เมื่อเทียบกับแอปฯ เรียกรถเจ้าตลาดที่มีในไทยขณะนี้
ถ้าถามว่าแล้วแพลตฟอร์ม TADA จะได้อะไร? คำตอบคือ ได้เฉพาะค่าธรรมเนียมเรียกรถเท่านั้น ซึ่งคิมยืนยันว่าบริษัทสามารถ “อยู่รอดได้” เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ สร้างฐานผู้ใช้งาน ไม่ทุ่มตลาด และบริหารองค์กรให้พอเหมาะ
ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ ปัจจุบัน TADA เป็นแอปฯ เรียกรถอันดับ 2 ของตลาดเมื่อคิดตามจำนวนครั้งในการเรียก มีมาร์เก็ตแชร์คิดเป็น 20-25% ของตลาด และเป็นปริมาณที่ทำให้แอปฯ สามารถทำกำไรได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลา 5 ปี เพราะฉะนั้นในตลาดไทยก็เช่นกัน TADA จะเข้ามาเพื่อ “เล่นเกมยาว” แน่นอน
สรุปแล้ว TADA ต้องการจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ วิน-วิน-วิน ทั้ง 3 ฝ่าย คือ
สำหรับการขยายตัวของ TADA เริ่มแรกจะมีบริการเฉพาะในเขต “กรุงเทพฯ” ก่อน ก่อนจะขยายไปยังปริมณฑล จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ และ จ.ปทุมธานี เร็วๆ นี้
ส่วนการขยายไปต่างจังหวัด คิมระบุว่าจะมีแน่นอนภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นจังหวัดใด รวมถึงในอนาคต TADA จะเปิดระบบเรียกรถ “มอเตอร์ไซค์” เพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันแอปฯ มีรถให้เลือกทั้งหมด 4 ประเภท คือ แท็กซี่ 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคล 4 ที่นั่ง, รถส่วนบุคคลพรีเมียม และรถเอสยูวี
ในตลาดแอปฯ เรียกรถที่เป็น “เรดโอเชียน” นี้ คิมมองว่า TADA “ไม่ได้ตั้งเป้าจะเข้ามาเป็นที่ 1” เพราะตลาดนี้ถือว่ามีเจ้าตลาดใหญ่ครองอยู่ โดยคาดว่าเบอร์ 1 น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ส่วนเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งประมาณ 30% เหลือพื้นที่ให้เจ้าอื่นๆ น้อยมาก
ทำให้เป้าหมายของ TADA ไม่ต้องการจะเร่งตัวเองให้ขึ้นไปเป็นที่ 1 ซึ่งจะห่างไกลเกินไป ต้องการจะโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า
แม้ว่า TADA จะไม่เปิดเผยชื่อของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 แต่จากชื่อเสียงในตลาด เราสามารถอนุมานได้ว่า “เจ้าใหญ่” ของไทยปัจจุบันนี้ก็คือ “Grab” และ “LINE MAN” นั่นเอง
โดยช่วงปีที่ผ่านมาตลาดแอปฯ เรียกรถนับว่าคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีเจ้าใหม่จากกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง “Robinhood” เปิดตัวเข้าตลาดเรียกรถกับเขาด้วย หรือเจ้าเก่าที่ให้บริการมาพักใหญ่แล้ว เช่น “Bolt” และ “InDrive” ก็ขอเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียที
รวมถึงเจ้าใหญ่ก็มีการขยับ เช่น “LINE MAN” หลังจากมีเฉพาะแท็กซี่ในระบบมานาน ล่าสุดเริ่มรับรถบ้านเข้าสู่ระบบ เร่งโปรโมตเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม
ตลาดดูจะแข่งขันดุเดือด แต่ซีอีโอคิมแห่ง TADA มองบวกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจซึมเซาแบบนี้น่าจะเป็นผลดีกับแอปฯ ของเขามากขึ้น เพราะผู้โดยสารจะเริ่มมองหาทางเลือกที่จ่ายน้อยลงเพื่อรัดเข็มขัด มากกว่าจะติดกับแอปฯ เดิมที่ใช้ประจำ ทำให้ TADA มีโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้
]]>Bolt บริการเรียกรถโดยสาร เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “Bolt Ladies” ให้ผู้โดยสารหญิงสามารถเลือกเรียกรถเฉพาะที่เป็น “คนขับหญิง” เท่านั้นได้ โดยราคาโดยสารจะเท่ากับ Bolt ปกติ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ทั้งนี้ Positioning ตรวจสอบพบว่า Bolt มีตัวเลือกบริการที่ถูกที่สุดเรียกว่าแบบ Economy ซึ่งถูกกว่าปกติ 20-30% ทำให้การเลือก Bolt Ladies จะมีราคาสูงกว่าตัวเลือกถูกที่สุดที่แอปฯ Bolt มีให้เลือก
บริการนี้จะเป็นประโยชน์กับฝั่งคนขับหญิงด้วย เพราะถ้าหากคนขับหญิงพบว่าผู้โดยสารที่เรียกรถผ่านฟีเจอร์ Bolt Ladies เป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิงจริงตามที่กรอกประวัติ คนขับสามารถปฏิเสธงานได้โดยไม่เสียค่าปรับ
นอกจากนี้ Bolt ยังนำเสนอฟังก์ชัน ‘Share my ETA’ ในแอปพลิเคชันให้ผู้โดยสารกดคัดลอกลิงก์ส่งไปยังเพื่อนหรือญาติสนิท เพื่อให้บุคคลที่ไว้ใจติดตามการเดินทางของผู้โดยสารได้แบบเรียลไทม์ ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพื่อสร้างความสบายใจให้ผู้หญิงที่เดินทางคนเดียว
การเปิดฟีเจอร์ Bolt Ladies ครั้งนี้ เป็นไปได้ว่าเกิดจากแรงกดดันหลังผู้โดยสาร Bolt แจ้งความดำเนินคดีข่มขืนกับคนขับ Bolt ในพื้นที่เมืองพัทยา โดยผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม Positioning ได้สอบถามไปยังบริษัท Bolt ซึ่งระบุว่าบริษัททราบกรณีดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการสืบสวนพร้อมให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ และจะไม่อดทนต่อพฤติกรรมของคนขับในกรณีเช่นนี้
เหตุการณ์คดีข่มขืนดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงประมาณวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์เล่าเหตุการณ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2564 ทำให้เกิดกระแสฮือฮาในอินเทอร์เน็ตว่าบริการ Bolt อาจไม่ปลอดภัย หลายคนแสดงความกังวลและระบุว่าจะเลิกใช้แอปฯ นี้ (อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้จาก BrightTV)
Positioning จึงสอบถาม Bolt เพิ่มเติมเพื่อขอทราบขั้นตอนการตรวจสอบคนขับรถ โดยเฉพาะการตรวจประวัติอาชญากรรม ซึ่งบริษัท Bolt ชี้แจงมีการตรวจสอบเอกสารผู้สมัครขับรถ ได้แก่ ใบขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และบัตรประชาชน จากนั้นจะมีการอบรมมาตรฐานการขับขี่ โดยไม่ได้แจ้งว่ามีการตรวจประวัติอาชญากรรม
สำหรับ Bolt เข้ามาเปิดตัวในไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ปัจจุบันมีบริการอย่างเป็นทางการ 2 เมืองคือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ เชียงใหม่ ชูจุดเด่นราคาถูกกว่าบริการเรียกรถอื่น 20% บางกรณีอาจถูกกว่าแท็กซี่ปกติด้วย รวมถึงระยะแรกยังไม่เก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับรถ ขณะที่ระยะต่อไปจะเก็บเพียง 10-20% ซึ่งน้อยกว่าบริการเรียกรถอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การไม่มีระบบตรวจประวัติอาชญากรรมอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ไว้วางใจ เมื่อเทียบกับบริการอื่น เช่น Grab ซึ่งจะตรวจประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง 7 ปี หากมีคดีร้ายแรงติดตัว เช่น ฆาตกรรม ข่มขืน ปล้นทรัพย์ เมาสุราขณะขับรถ ยาเสพติด ฯลฯ จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ผ่านเกณฑ์ร่วมขับขี่ หรือแท็กซี่ปกติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกก็จะต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรมเช่นกัน
Bolt นั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในเอสโตเนีย ปัจจุบันบริการอยู่ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เปิดตัวในยุโรปและแอฟริกา ส่วนทวีปเอเชียนั้นมีบริการในไทย ศรีลังกา คาซัคสถาน อิรัก เลบานอน และซาอุดีอาระเบีย
]]>ล่าสุด โกเจ็ก ได้ตั้งชื่อบริการขึ้นมาใหม่ “เก็ท” (GET) ชื่อเรียกแอปพลิเคชันเรียกรถสาธารณะแบบออนดีมานด์ ที่จะเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะขยายไปสู่บริการอื่น ๆ โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของ โกเจ็ก (Go-Jek) ที่ขยายตลาดเข้าสู่ประเทศไทย
การเข้ามาทำตลาดในไทย โกเจ็ก พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เหมาะกับตลาดไทย และบริหารจัดการโดยทีมผู้ก่อตั้งคนไทยที่มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านเทคโนโลยี และมีความเข้าใจในความต้องการของทั้งผู้บริโภค คนขับ รวมถึงหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ
เป้าหมายของเก็ท คือ การเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภคคนไทยที่จะมาใช้บริการ โดยให้ความสำคัญกับคนขับในเรื่องการเพิ่มรายได้ และพาร์ตเนอร์ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐ
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก่อน “โกเจ็ก” ได้แถลงงบลงทุนรวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 16,000 ล้านบาท) เพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ “โกเจ็ก” ได้ทำการเพิ่มทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ อาทิ กูเกิล (Google), วอร์เบิร์ก พินคัส (Warburg Pincus), เคเคอาร์ (KKR), เทนเซ็นต์ (Tencent) และเหม่ยถวน–เตี้ยนผิง (Meituan-Dianping)
ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ “เก็ท” กล่าวว่า ‘โกเจ็ก’ ก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นบริษัทแรกของอินโดนีเซียได้สำเร็จ เพราะ ‘โกเจ็ก’ เชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้
‘เก็ท’ เองได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘โกเจ็ก’ ที่เริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นทุกวันจนชินตาให้กลับกลายเป็นโอกาสที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนในประเทศได้ ทีมงานของ ‘เก็ท’ ทุกคนต่างมีความเชื่อและความตั้งใจเดียวกันที่ต้องการจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับประเทศ
“ในฐานะคนไทยที่เกิดและโตในประเทศไทย เราจึงเข้าใจในมุมมองของผู้บริโภคเป็นอย่างดี และด้วยประสบการณ์ทำงานในธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค คนขับรถสาธารณะ รวมถึงธุรกิจรายย่อย
โดย “โกเจ็ก” ถือเป็นแพลตฟอร์มให้บริการแบบออนดีมานด์ด้วยบริการที่หลากหลาย อันดับหนึ่งจากประเทศอินโดนีเซีย และยังประสบความสำเร็จในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพาร์ตเนอร์คนขับกว่าหนึ่งล้านคน รวมถึงพาร์ตเนอร์ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 150,000 ราย
นาดีม มาคาริม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ “โกเจ็ก” กล่าวว่า รูปแบบธุรกิจของเราเป็นที่ยอมรับว่าประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย เพราะการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและพาร์ตเนอร์คนขับ เชื่อว่ารูปแบบธุรกิจนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่น ๆ ได้จริงเช่นกัน
โดยขณะนี้ “เก็ท” ได้เริ่มมีการพูดคุยกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ กลุ่มคนขับ และผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาให้พร้อมสำหรับการเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า.
]]>