แกรี่ ฮาร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ฝ่ายธุรกิจค้าปลีกบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทบีเจซี เปิดเผยว่า
“บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาปอยเปต ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เดินหน้าขยายตลาดค้าปลีกในประเทศอาเซียน ล่าสุดเปิด “มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโป” ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากมองเห็นโอกาสกำลังซื้อสูงจากการขยายตัว และการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ในประเทศกัมพูชามีแนวโน้มเติบโต”
สำหรับ มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโป ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ถนนชวาหระลาล เนห์รู บูเลอวาร์ด มีการช้อปปิ้งแบบ omni-channel นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง เพื่อรองรับความต้องการประชาชนกัมพูชาในแหล่งชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงได้สัมผัสสินค้าไทย
บิ๊กซี สนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศกัมพูชาเข้ามาจัดจำหน่ายในมินิบิ๊กซีประมาณ 20% และยังคงจัดหาเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน
บิ๊กซี วางแผนขยายอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายหลักที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการค้ามีประชากรจำนวน 2 ล้านคน จากประชากร 15.2 ล้านคนในประเทศ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมตลอดจนความคล้ายคลึงกันในรสนิยมระหว่างกัมพูชาและไทย โอกาสของสินค้าไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ของบิ๊กซี อาทิ บิ๊กซี แบรนด์, แฮปปี้ ไพร์ส และเบสิโค ที่นักท่องเที่ยวต่างชอบและนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก
]]>“แกรี่ ฮาร์ดี้” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สายงานต่างประเทศ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า บีเจซีมีแผนจะนำแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนามกลับมาใช้ หลังสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ที่ให้กับเครือเซ็นทรัลใช้ในเวียดนามกำลังจะหมดลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเครือเซ็นทรัลเองกำลังปั้นแบรนด์ใหม่ทดแทนในชื่อ Go! (โก!)
โดยแผนเบื้องต้นในการใช้แบรนด์บิ๊กซีที่เวียดนาม บีเจซีต้องการเปิดห้างค้าปลีกรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างฯ มินิ บิ๊กซี เป็นหลัก
“ส่วนเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต จะยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแบรนด์ เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจลักษณะของเอ็มเอ็มฯ แล้วว่าเป็นห้างค้าปลีกค้าส่ง” แกรี่กล่าว
ปัจจุบัน บีเจซีมีแบรนด์ค้าปลีก 2 แบรนด์ในเวียดนามคือ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 18 สาขาในกรุงโฮจิมินห์ และกำลังจะเปิดอีก 1 สาขาที่ฮานอยภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงแบรนด์ร้านสะดวกซื้อบีส์ มาร์ท ซึ่งมี 107 สาขา ทั้งหมดอยู่ในกรุงฮานอย
ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.บิ๊กซีฯ อีกรายให้ความเห็นว่า สิทธิในแบรนด์ที่บีเจซีให้เซ็นทรัลเช่าใช้ที่เวียดนาม ที่จริงแล้วบีเจซียังสามารถนำมาใช้เปิดห้างค้าปลีกและบริหารเองได้ แต่บริษัทไม่ทำ เพราะถ้าหากใช้แบรนด์เดียวกันแต่มีแนวทางการบริหารต่างกันอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ ดังนั้นบริษัทจึงรอให้หมดสัญญาเช่ากันก่อนแล้วค่อยวางแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์บิ๊กซีต่อไป
ด้านความเคลื่อนไหวฝั่ง เครือเซ็นทรัล ตั้งแต่ปลายปี 2561 เซ็นทรัลประกาศสร้างแบรนด์ใหม่ในนาม Go! เพื่อทดแทนแบรนด์บิ๊กซีที่ใช้อยู่ โดยเปิดตัวในคอนเซ็ปต์ กิน-ช้อป-เที่ยว ที่เดียวจบ และตั้งใจจะทยอยเปลี่ยนแบรนด์ไปจนครบ 35 สาขาของบิ๊กซี เวียดนาม ภายในปี 2564
เครือเซ็นทรัลยังเตรียมงบลงทุนอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายห้างค้าปลีกต่างๆ อีก 500 แห่ง ภายใน 5 ปีข้างหน้าด้วย
ตลาดเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหอมหวานของการทำธุรกิจค้าปลีก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน เกือบ 70% เป็นประชากรวัยทำงาน และประมาณ 34% เป็นประชากรที่อาศัยในเขตเมืองซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 2,385 เหรียญสหรัฐ ต่อคนต่อปี (ราว 71,550 บาท) เศรษฐกิจประเทศเวียดนามยังเติบโตเฉลี่ย 8% และเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำให้ภาคการผลิตตัดสินใจย้ายฐานมาที่นี่จำนวนมาก อนาคตเวียดนามจึงมีความน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Kantar เปิดเผยว่า ธุรกิจโมเดิร์นเทรดของเวียดนามเติบโตช้ากว่าที่คาด ณ ปี 2560 โมเดิร์นเทรดมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดค้าปลีกเวียดนามเพียง 17% ค่อนข้างน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียซึ่งโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วน 52% ของตลาดรวม เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามยังนิยมช่องทางดั้งเดิม (ร้านชำและตลาดสด) เพราะมีความเชื่อมั่น อาศัยความไว้ใจ และมองว่าร้านค้าเหล่านี้ไม่กระตุ้นให้พวกเขาซื้อของไม่จำเป็นกลับบ้านไปด้วย
แต่ Kantar วิเคราะห์ว่า ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงคือโมเดิร์นเทรดที่มีโอกาสสูงสุดเพราะกลายเป็นแหล่งพบปะของวัยรุ่นเวียดนาม และทำเลสอดคล้องกับตลาดเวียดนาม ประเทศที่ 96% ของประชากรมีมอเตอร์ไซค์ ทำให้ต้องการที่จอดรถไม่ใหญ่แต่ต้องไปถึงได้สะดวก
]]>
“บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี หนึ่งในอาณาจักรธุรกิจของทีซีซีกรุ๊ป เพิ่งเปิดสาขาใหม่อย่างเป็นทางการที่ตำบลปอยเปต เมืองชายแดนติดกับ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยเปิดเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่อาคารรวม 8,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท ถือเป็นสาขาแรกของบิ๊กซีที่ลงทุนในกัมพูชา
ความสนใจของบิ๊กซีที่ขยายสู่กัมพูชา “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า เกิดจากบริษัทเล็งเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่โตปีละ 7% และคนกัมพูชาในปอยเปตข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าในบิ๊กซี อรัญประเทศเป็นประจำ จำนวนประชากรในตำบลปอยเปตและจังหวัดบันเตียเมียนเจยเองก็หนาแน่นพอที่บิ๊กซีจะลงสาขาได้
สาขาแรกที่ปอยเปตนี้ บิ๊กซีประมาณการณ์ยอดขายเบื้องต้นวันละ 1 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 จะทำยอดขายได้ 365 ล้านบาท และเติบโต 5-6% ต่อเนื่อง 3 ปี
ด้าน “แกรี่ ฮาร์ดี้” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สายงานต่างประเทศ บมจ.บิ๊กซีฯ เสริมว่า บริษัทกำลังศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เบื้องต้นพบว่าประชากรกัมพูชานั้น “เด็กกว่า” คนไทย โดยอยู่ในวัย 20 กลางๆ ขณะที่ไทยอยู่ในวัย 35-45 ปี ทำให้สินค้าจะปรับมาจำหน่ายกลุ่มขนมและเสื้อผ้าวัยรุ่น และกำลังพิจารณาขยายเวลาปิดทำการอีก 1 ชั่วโมงเป็น 23.00 น. เพราะพฤติกรรมคนกัมพูชามีเวลาช้อปปิ้งช่วงเย็นตั้งแต่หลัง 5 โมง คึกคักมากที่สุดในช่วงค่ำถึงดึก
กัมพูชาเป็นประเทศที่ 3 นอกประเทศไทยที่ เครือทีซีซี ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าไปลงทุนห้างค้าปลีก และเป็นประเทศแรกที่ใช้แบรนด์นี้ตั้งแต่ต้น โดยที่ผ่านมา ในลาวจะใช้ กลุ่มบีเจซี รุกตลาด มีการเจวีกับ เอ็มพ้อยท์มาร์ท และเพิ่งเปลี่ยนชื่อสาขาทั้ง 44 สาขาเป็นมินิ บิ๊กซีทั้งหมด ส่วนเวียดนามนั้นเป็นอีกบริษัทในเครือทีซีซีที่เข้าไป ขณะนี้มี 2 แบรนด์คือ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 18 สาขา เป็นห้างค้าส่งขนาดใหญ่ และ บีส์ มาร์ท 107 สาขา เป็นร้านสะดวกซื้อ (สิทธิแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนามอยู่ในมือเครือเซ็นทรัล)
อัศวินฉายภาพว่า ประเทศเพื่อนบ้านไทยต่างมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ได้แก่ เวียดนาม จีดีพีโตปีละ 8-10% กัมพูชาโตปีละ 7% และลาวโตปีละ 5-7% ทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุน
ด้านแกรี่กล่าวว่า บีเจซีและทีซีซีวางงบปี 2563 ไว้อย่างน้อย 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนห้างค้าปลีกใน 3 ประเทศ แบ่งตามประเทศดังนี้
นอกจากนี้ กลุ่มบีเจซีเพิ่งเปิดสำนักงานใหญ่ใน เมียนมา เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้งสินค้า และจะต่อยอดไปสู่การหาพื้นที่เปิดห้างค้าปลีกเพิ่ม
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ปี 2562 นี้บิ๊กซีลงทุนเปิดสาขาเพิ่มแบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 1 สาขา มินิ บิ๊กซี 300 สาขา และร้านขายยาเพรียว 5 สาขา
ปี 2563 บิ๊กซีจะลงทุนราว 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนห้างสาขาใหม่ราว 5,500 ล้านบาท และงบไอทีวางระบบแอปพลิเคชั่น-บิ๊กดาต้าของบริษัท 500 ล้านบาท โดยบริษัทจะ เน้นเปิดสาขามินิ บิ๊กซีอีก 300-400 สาขา ซึ่งจะรุกตลาดหัวเมืองใหญ่มากขึ้น รวมถึงมี ไฮเปอร์มาร์เก็ตใหม่อีก 5-7 สาขา อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนนี้นับว่าลดลงจากช่วง 2-3 ปีก่อนที่บิ๊กซีเคยลงทุนปีละกว่า 8,000 ล้านบาท
“การลงทุนก็ลดลงบ้างในไทย” อัศวินกล่าว “แต่เรายังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่ลดลงเป็นเพราะเราเน้นเปิดมินิ บิ๊กซีซึ่งสาขาเล็กแบบนี้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า”
สำหรับยอดขายบิ๊กซีปี 2562 ค่อนข้าง ‘หืดจับ’ อัศวินมองว่าอาจจะไม่ถึงเป้าเติบโต 5-6% จากรายได้ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังตลาดค่อนข้างฝืดตามสภาวะเศรษฐกิจ
อัศวินกล่าวปิดท้าย
]]>
หลังเขาเป็นหัวเรือใหญ่ในดีลประวัติศาสตร์ของ “บีเจซี” กับการเข้าซื้อกิจการ “บิ๊กซี” มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อปี 2559
ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใน 2 สถานะ สถานะแรกคือ “ซีอีโอเลือดใหม่” ที่เข้ามากุมบังเหียนบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ชื่อที่คุ้นหูในทุกวันนี้
กับสถานะที่สองเป็นเขยเล็กของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” โดยเขาแต่งกับ “ฐาปณี” น้องนุชสุดท้องของ “เจ้าสัวเจริญ” กับ “คุณหญิงวรรณา”
ถือเป็น “บิ๊กสองเด้ง” ของผู้ชายตัวเล็ก ที่ชีวิตนี้ไม่ใหญ่ไม่ได้แล้ว
ในเวลาต่อมายิ่งได้มาเป็นซีอีโอและเอ็มดีห้างค้าปลีกบิ๊กซี นี่ถือเป็น “แลนด์สเคปความบิ๊ก” ส่วนต่อขยายของผู้นำรุ่นใหม่คนนี้
อัศวินเข้ามาบริหารบิ๊กซีได้ 2 ปีเศษ หลังได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ก.ย. 2559 ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของบิ๊กซีจาก “ห้างเกรดตก” เพราะความระอุเดือดของการแข่งขัน มาเป็น “ห้างทำเกรด” โดยอาศัยทุกสรรพกำลังที่บีเจซีมี เอามาสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
สิ่งที่ลูกค้าสัมผัสได้ว่าบิ๊กซีเริ่มส่งสัญญาณไปในทางที่ดี คือ การปรับปรุงแผนกอาหารสดลดบทบาทคนกลาง เน้นความใหม่สดจากฟาร์มจนถึงพื้นที่ค้าปลีก การรักษาความสะอาดของสถานที่ และการสร้างประสบการณ์การจับจ่ายที่ดีเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทีมผู้บริหารบิ๊กซีจะทุ่มสุดตัวเพื่อให้บิ๊กซีกลับมาท็อปฟอร์ม “อัศวิน” ก็ยืนยันว่า การยกเครื่องบิ๊กซีถือเป็นภารกิจต่อเนื่อง และเขาไม่มีวันโอเคง่ายๆ ว่า บิ๊กซีอยู่ตัวแล้ว
เขยเล็กอย่างเขาก็เลยต้องฟุตเวิร์กตลอด
อัศวินประเมินรายได้ในภาพรวมของบีเจซีปี 2561 นี้ ยังคงเติบโตตามเป้า 5% และมีตัวเลขกำไร 2 หลัก ขณะที่ยุทธศาสตร์การเคลื่อนตัวของบิ๊กซีในปี 2562 จะเน้นสร้างความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองที่มีรอยต่อติดกับชายแดน ทั้งเหนือ ใต้ และอีสาน เพื่อเชื่อมต่อการค้ากับตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของกลุ่มบีเจซี
“ตอนนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรามีบิ๊กซีสาขาขนาดใหญ่ 50 แห่ง และไม่สามารถเปิดสาขาได้อีกแล้ว เราจึงเบนเข็มมาเน้นพื้นที่ค้าปลีกรายภาค เพราะมันจะชัดเจน และรู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร เราต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในภาคนั้นๆ ทั้งอำเภอหลักอำเภอรอง อย่างการเปิดสาขาล่าสุดที่เชียงราย 2 ก็เป็นการยึดสมรภูมิภาคเหนือ ด้วยสาขาขนาดใหญ่ 5,000 ตร.ม. เราเชื่อมั่นในเศรษฐกิจภูมิภาค และเชียงรายก็เป็นจุดเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ จีน ลาว กัมพูชา เมียนมา ไว้ด้วยกัน” อัศวินกล่าว
แต่ละปีบิ๊กซีจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในการขยายสาขา และเดินหน้าขยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มาไกลเกินจุดเดือด ปัจจุบันบิ๊กซีมีสาขาทุกรูปแบบรวมกัน 1,500 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 1,000 แห่ง และต่างประเทศ 500 แห่ง
ภายหลังจากวางจุดยืนธุรกิจว่าเป็นห้างคนไทย บิ๊กซีก็พยายามสร้างมาตรฐานการจับจ่ายให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ โดยวางกลยุทธ์ดึงคนให้มาจับจ่ายในบิ๊กซีด้วยการสร้างประสบการณ์ และการใช้ชีวิตของลูกค้าคนไทย อยู่ดีกินดี สินค้ามีคุณภาพปลอดสารพิษ
“อะไรที่คนกรุงเทพฯ ได้ทานอะไรดีๆ ช้อปปิ้งดีๆ ก็จะนำมาอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น และขยายตลาดไปกลุ่มเสื้อผ้า เราอยากให้คนไทยทั้งหมดได้แต่งตัวดูดี ในราคาที่คุ้มค่า ทำให้คนไทยดูดี ไม่เชยอย่างที่แล้วมา”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “คนเล็กต้องใหญ่” กับภารกิจบิ๊กๆ ของห้างค้าปลีกไม่เล็ก ที่เรียกตัวเองว่า “บิ๊กซี” พี่ใหญ่แห่งพอร์ตธุรกิจ “บีเจซี”.
]]>