มิกซ์ยูส – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 25 Oct 2023 06:52:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 CPN เปิดตัวโครงการมิกซ์ยูส “เซ็นทรัล อุบล” ลงทุน 4,000 ล้าน มองจังหวัดใหญ่อันดับ 5 ของไทยมีศักยภาพ https://positioningmag.com/1449092 Wed, 25 Oct 2023 01:26:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449092 เซ็นทรัลพัฒนาเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้งบลงทุนมากถึง 4,000 ล้านบาท โดยมองว่าจังหวัดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศไทยนี้มีศักยภาพ สามารถรองรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย เพื่อนบ้านจากทั้งลาว กัมพูชา หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ได้เปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างเป็นทางการ โดยใช้งบลงทุนมากถึง 4,000 ล้าบาท บนพื้นที่ 67 ไร่ ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อุบล คอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ อุบล โรงแรม Centara Ubon รวมถึง ศูนย์ประชุมภายใต้ชื่อ “อุบลฮอลล์”

มองอุบลฯ เป็นเมืองมีศักยภาพของอีสานใต้

สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ Head of Hotel Development บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า “การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสเซ็นทรัล อุบล เป็นความตั้งใจในการทำตามพันธสัญญาของเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งการเข้ามาพัฒนาธุรกิจของบริษัทช่วยส่งเสริมศักยภาพของจังหวัดในทุก ๆ ด้าน ยกระดับทั้งเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวของภูมิภาคอีสานตอนใต้

ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน นอกจากนี้พื้นที่ของจังหวัดยังติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ซึ่งผู้บริหารของ CPN มองว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้พื้นที่บริเวณโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวที่ CPN ได้ลงทุนไว้ บริษัทยังมองถึงเป้าหมายในการสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ให้กับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์จังหวัด

ผู้บริหารหญิงของ CPN รายนี้ยังมองถึง Business Leisure สามารถทำงานและท่องเที่ยวไปด้วย ส่งผลให้ลูกค้าอยู่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีนานขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัดด้วย

สุริยา ปิ่นรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานปฏิบัติการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (ซ้าย) / สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ Head of Hotel Development บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (ขวา)

ผลักดันอุบลฯ ให้เป็นเมือง MICE City

สุรางค์ ยังได้กล่าวถึง การผลักดันให้อุบลราชธานีเป็นเมืองที่มีความพร้อมและศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมเชิงธุรกิจ เช่น การจัดประชุม ฯลฯ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ MICE City

เธอได้กล่าวว่าปัจจุบันห้องสัมมนาของโรงแรม Centara Ubon ได้ผ่านคุณสมบัติการประเมินของสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) แล้ว เพียงแต่แค่จุคนไม่ได้มากเท่า ทางด้านของศูนย์ประชุมอุบลฮอลล์รอผ่านการประเมินก่อน

สุริยา ปิ่นรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานปฏิบัติการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายบริหารทรัพย์สินบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวว่ายังเป็น Landmark ในการจัดงานต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีด้วย โดยศูนย์ประชุมอุบลฮอลล์ สามารถจัดงานต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ

โดยหลังจากนี้ศูนย์ประชุมอุบลฮอลล์จะมีเรื่อง Synnergy กับทางฝั่งโรงแรม Centara ด้วย อย่างเช่นในด้านของการจัดเลี้ยงอาหาร และมีการคุยไว้กับหลากหลายหน่วยงานในจังหวัดให้มาจัดงานในศูนย์ประชุมดังกล่าวมากขึ้น

โรงแรม Centara Ubon จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของโครงการมิกซ์ยูส

สุรางค์ ยังได้เล่าถึงขั้นตอนการปั้นโครงการมิกซ์ยูสของ CPN ที่อุบลราชธานีว่าเริ่มต้นด้วยการเปิดนศูนย์การค้าในปี 2013 ปัจจุบันบริษัทได้ดึงร้านค้าชื่อดังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Uniqlo และแบรนด์ชื่อดังต่าง ๆ มาเปิดที่นี่ มีลูกค้ามาใช้บริการเฉลี่ย 27,000-28,000 คนต่อวัน ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,800 บาทต่อคน ซึ่งใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร

ขณะที่คอนโดมิเนียม ESCENT Ubon สร้างเสร็จในปี 2020 ด้วยความสูง 14 ชั้น ก็ได้จำหน่ายหมดจนปิดโครงการเฟสแรกไปแล้ว

Head of Hotel Development ของ CPN ได้กล่าวว่า เมื่อผลตอบรับของคอนโดมิเนียมดีมาก บริษัทจึงสร้างโรงแรมเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของโครงการมิกซ์ยูส โดยการเปิดโรงแรมโดยใช้แบรนด์ Centara เพราะเป็น Full Service ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากกว่า ซึ่งในส่วนโรงแรมนั้นได้เปิดบริการไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีห้องพักทั้งสิ้น 160 ห้อง

แม้จำนวนห้องพักของโรงแรมจะน้อย แต่เธอได้ให้มุมมองว่าการทำโรงแรมขึ้นมานั้นสิ่งอำนวยความสะดวกจะต้องสอดคล้องกับคนที่มาพัก และจะทำให้ดีก่อน โดยปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าเป็นชาวไทยมากถึง 86% และที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 14% นำโดยสหรัฐอเมริกา และลาวตามลำดับ และในช่วงที่ผ่านมาโรงแรมยังได้ต้อนรับรับชาวญี่ปุ่นที่มาถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย

Centara Ubon ปัจจุบันมีอัตรารายวันเฉลี่ย (ADR) ที่ 1,850 บาท และในปีหน้า สุรางค์มองว่าเป้าดังกล่าวจะค่อยปรับขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าที่เข้าพัก ซึ่งเป็นไปตามกลไกตามตลาด บางทีอาจได้กลุ่มลูกค้าใหญ่ที่ราคาเฉลี่ยอาจลดลง แต่ได้จำนวนผู้เข้าพักมากขึ้น

ผสานความเป็นท้องถิ่น

Head of Hotel Development ของ CPN ยังได้กล่าวถึงการผสมผสานความเป็นอีสานเข้าไปยังการออกแบบของตัวโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มี Daybed พักได้มากกว่า 2 คน แตกต่างจากโรงแรมทั่วไป เน้นความเป็นครอบครัว

ขณะเดียวกันก็ใช้เอกลักษณ์ความเป็นอีสาน รวมถึงการใช้วัสดุในท้องถิ่นในการตกแต่งห้องพัก หรือโซนล็อบบี้ของโรงแรม รวมถึงเมนูอาหารที่ทางโรงแรมได้ใช้วัตถุดิบขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น หมูยอ กุนเชียง ก๋วยจั๊บญวน มาประกอบในเมนูของห้องอาหารด้วย

นอกจากนี้ในตัวโรงแรมเองยังมีการนำ God Father แบรนด์ร้านกาแฟชื่อดังในท้องถิ่นมาเปิดสาขาในตัวโรงแรมด้วย

สุรางค์ ได้กล่าวว่าปัจจุบันอัตราการเฉลี่ยเข้าพักอยู่ที่ราว ๆ 70% ซึ่งเธอพอใจกับตัวเลขดังกล่าว ถ้าหากได้ผลตอบรับดีอาจมีการศึกษาขยายตัวโรงแรม รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ในหลังจากนี้

]]>
1449092
“5 เมกะมิกซ์ยูส” ของ “เซ็นทรัล” นับหนึ่งที่ “Dusit Central Park” เตรียมนับสองต่อที่ “เซ็นทรัล พหลโยธิน” https://positioningmag.com/1447617 Tue, 10 Oct 2023 11:41:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447617 ก่อนหน้านี้ “เซ็นทรัลพัฒนา” ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ ในรอบ 5 ปีข้างหน้าจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 135,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และโรงแรม รวมถึง 200 โครงการ ทั้งในไทยและอาเซียน

ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แนวคิดการลงทุนแบบ “มิกซ์ยูส” มีศูนย์การค้าเป็นจุดศูนย์กลาง ตามด้วยโรงแรม ออฟฟิศ บ้าน/คอนโดฯ ที่จะสร้างทราฟฟิกให้ศูนย์การค้า ขณะเดียวกันศูนย์การค้าก็สร้างคุณค่าให้กับโครงการในมิกซ์ยูสเดียวกัน ได้ขึ้นชื่อว่าทำเล “ติดห้างฯ”

===

ไฮไลต์ในแผนการลงทุนนี้ จะมีโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า “เมกะมิกซ์ยูส” 5 แห่งของเซ็นทรัลอยู่ด้วย

ทั้ง 5 แห่งจะเป็นมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่พิเศษขั้นต่ำ 350,000 ตารางเมตร และใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อแห่ง โดยอาจจะเป็นการลงทุนเองทั้งหมดหรือเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมทุนก็ได้ แต่ทุกโครงการจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

สำหรับแห่งแรกเปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือโครงการ “Dusit Central Park” ที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าร่วมทุนกับกลุ่มดุสิตธานี เป็นโครงการยักษ์มูลค่ารวมกว่า 46,000 ล้านบาท

ในโครงการมีทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และออฟฟิศ ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนารับผิดชอบดูแลส่วนโครงการรีเทลและออฟฟิศ มีการประกาศชื่อแบรนด์แล้วว่า จะใช้ชื่อศูนย์การค้า “Central Park” และอาคารสำนักงานชื่อ “Central Park Offices”

ส่วนแห่งที่สอง “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ยอมรับแล้วว่าก็คือ “เซ็นทรัล พหลโยธิน” ที่เริ่มลงเสาเข็มไปแล้ว แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียดว่าภายในโครงการจะมีองค์ประกอบใดบ้าง

===

เซ็นทรัล พหลโยธิน ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 48 ไร่ ตรงข้ามแดนเนรมิตเก่า (ปัจจุบันเป็นตลาดจ๊อดแฟร์)

ด้วยความที่ทำเลห่างจากเซ็นทรัล ลาดพร้าวเพียง 500 เมตรเท่านั้น ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเซ็นทรัลพัฒนาจะไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินเซ็นทรัล ลาดพร้าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อย้ายร้านทั้งหมดมายังเซ็นทรัล พหลโยธินหรือไม่

ทางซีอีโอวัลยาจึงขอย้ำอีกครั้งว่า “เซ็นทรัลต้องการต่อสัญญา” ที่ดินแปลงนี้กับ รฟท. เพียงแต่ทุกอย่างยังขึ้นอยู่กับการเจรจา

และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร โครงการเซ็นทรัล พหลโยธินจะเดินหน้าต่อไปและสร้างเป็นเมกะมิกซ์ยูสไปตามแผน เพราะเซ็นทรัลพัฒนาประเมินแล้วว่าทำเลนี้ “มี 2 แห่งก็ได้” เพราะดีมานด์สูงมาก

“เราอยู่มานานใน Cashment Area ของกรุงเทพฯ โซนเหนือ เรารู้ว่ามีอีกหลายแบรนด์ที่อยากเข้าศูนย์ฯ​ แต่พื้นที่ไม่พอแล้ว” วัลยากล่าว

ถ้าการเจรจาต่อสัญญาที่ดินของเซ็นทรัลกับ รฟท. สำเร็จ อนาคตเราจะได้เห็นมิกซ์ยูสแห่งแรกของเซ็นทรัลอย่าง “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” ซึ่งมีทั้งห้างฯ ออฟฟิศ และโรงแรม ประกบเข้ากับเมกะมิกซ์ยูสใหม่ล่าสุดที่ “เซ็นทรัล พหลโยธิน”

===

วัลยากล่าวเสริมถึงแผนในระยะใกล้นี้ด้วยว่า ปี 2567 จะมีการรีโนเวตใหญ่ (Major Renovation) ศูนย์การค้า 3 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล บางนา, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

ส่วนแผนการลงทุนล่าสุด มีการประกาศศูนย์การค้า 2 แห่งใหม่ที่เซ็นทรัลพัฒนาจะลงทุนแล้ว ได้แก่ “โรบินสันไลฟ์สไตล์ นครพนม” งบลงทุน 2,000 ล้านบาท และ “โรบินสันไลฟ์สไตล์ หนองคาย” งบลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุน 135,000 ล้านบาทในรอบ 5 ปีที่กล่าวข้างต้น

]]>
1447617
“เซ็นทรัล จันทบุรี” กับยุทธศาสตร์สร้างเมืองให้ “เมืองรอง” ของเซ็นทรัลพัฒนา https://positioningmag.com/1387077 Mon, 30 May 2022 08:35:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1387077 เปิดทำการไปแล้วเรียบร้อยสำหรับ “เซ็นทรัล จันทบุรี” ศูนย์การค้าลำดับที่ 37 ของเซ็นทรัลพัฒนา และเป็นโครงการมิกซ์ยูสครบวงจรแห่งแรกของจังหวัด สานต่อโรดแมปบุกเมืองรองของเซ็นทรัลพัฒนา อะไรคือจุดที่ทำให้เซ็นทรัลฯ สนใจในตัวจันทบุรี จังหวัดที่มี GDP อันดับ 14 ของประเทศ

ยุทธศาสตร์บุกเมืองรอง

แต่ไหนแต่ไรเราจะได้เห็นแผนการเปิดตัวศูนย์การค้าในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลเคชั่นสุดแสนจะทำเลทอง เนื่องจากในกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่แออัดแล้ว ผู้เล่นต่างๆ ล้วนหันไปมองพื้นที่ต่างจังหวัดกันมากขึ้น ต่างมองทำเลหัวเมืองใหญ หรือเมืองท่องเที่ยวกันทั้งสิ้น เนื่องจากสามารถการันตีเรื่องของทราฟฟิกคนใช้บริการ และกำลังซื้อได้ชัดเจน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)” ได้ขยายสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับครีเอตฟอร์แมตใหม่ๆ เพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับสภาพตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนไปด้วย จึงได้เห็นโมเดลใหม่ๆ ทั้งเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เป็นแบบ Semi-outdoor หรือจะเป็นเซ็นทรัล เวสต์เกต (บางใหญ่) ที่วางจุดยืนให้เป็น Super Regional Mall แห่งใหญ่ของทางกรุงเทพฯ ตะวันตก

เซ็นทรัล จันทบุรี

แต่ยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั่นก็คือการบุกตลาดต่างจังหวัด ในอดีต CPN ได้ไปเปิดตลาดที่ต่างจังหวัดมาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นหัวเมืองใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่, ขอนแก่น, อุดรธานี, พัทยา, สมุย, ระยอง และหาดใหญ่ เป็นต้น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้เริ่มบุกจังหวัดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น นครศรีธรรมราช, มหาชัย, ลำปาง และนครราชสีมา เป็นต้น

กลับมาในช่วง 2-3 ปีมานี้ CPN วางโรดแมปอย่างชัดเจน ในการบุกทำเล “เมืองรอง” เป็นคำจัดกัดความของจังหวัดที่เป็นทางผ่าน หรือไม่ใช่เมืองหลักในการท่องเที่ยวมากนัก แต่เทรนด์ในช่วงหลายปีมานี้คนไทยก็เริ่มให้ความสนใจในการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อ 2562 ทาง CPN ได้กางแผนการลงทุนระยะสั้นช่วง 3 ปี มูลค่า 22,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งในนั้นเป็นการเปิดศูนย์การค้าใหม่ 3 แห่ง เป็นการบุกตลาดเมืองรองทั้งหมด ได้แก่

  • เซ็นทรัล ศรีราชา มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท พื้นที่โครงการ 71,000 ตารางเมตร พื้นที่รวม 27 ไร่ เปิดทำการเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564
  • เซ็นทรัล อยุธยา มูลค่าโครงการ 6,200 ล้านบาท พื้นที่โครงการ 68,000 ตารางเมตร พื้นที่รวม 47 ไร่ เปิดทำการเมื่อวันนี้ 30 พ.ย. 2564
  • เซ็นทรัล จันทบุรี มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท พื้นที่โครงการ 75,953 ตารางเมตร พื้นที่รวม 46 ไร่ เปิดทำการเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565

ทั้ง 3 โครงการเป็นรูปแบบ “มิกซ์ยูส” ทั้งหมด ที่จะประกอบไปด้วยศูนย์การค้า, โรงแรม, ที่พักอาศัย และอาคารสำนักงาน เป็นความต้องการที่จะสร้างเมืองใหม่โดยเฉพาะ เรียกว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้ต้องการสร้างแต่ศูนย์การค้า แต่ต้องการสร้างศูนย์รวมของผู้คนในละแวกนั้น จึงต้องการสร้างเมืองแบบกลายๆ

กำลังซื้อ “ชัด” ไลฟ์สไตล์ดี

“กำลังซื้อชัด ไลฟ์สไตล์ดี จีดีพีอันดับ 14 ของประเทศ” คือคำจำกัดความแบบคร่าวๆ ของเหตุผลที่ทาง “เซ็นทรัลพัฒนา” เลือกปักเสาเข็มที่ใจกลางเมืองจังหวัดจันทบุรี และเริ่มเปิดทำการเป็นสาขาล่าสุดแบบสดๆ ร้อนๆ

แม้ที่จังหวัดจันทบุรีจะมี “โรบินสัน” ที่เป็นอีกหนึ่งยูนิตในเครือเดียวกันอยู่แล้ว แต่ CPN ก็ยังที่จะเลือกมาเปิดเป็นศูนย์การค้า เพราะมีโมเดลที่แตกต่างกัน โรบินสันได้มาเริ่มปูทางในพื้นที่กว่า 15 ปีแล้ว เป็นโมเดลดีพาร์ทเมนต์สโตร์ แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นโมเดลโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

central chan เซ็นทรัล จันทบุรี

โดยปกติแล้ว Position ของเซ็นทรัล กับโรบินสันจะมีความแตกต่างกัน เซ็นทรัลจะให้ความเป็นคนเมือง จับกลุ่มที่มีกำลังซื้อหน่อยๆ มีเคาน์เตอร์แบรนด์ แบรนด์เนม ส่วนโรบินสันจะจับกลุ่มชานเมือง และต่างจังหวัด มีแบรนด์ หรือสินค้าที่ราคาเข้าถึงได้

แต่ในช่วงหลังทั้ง 2 แบรนด์นี้ได้ใช้พลังความเป็นพี่น้องกันในเครือกันพอสมควร CPN เองก็ศึกษาข้อมูลจากการที่โรบินสันไปกรุยทางเอาไว้ อีกทั้งยังมีดาต้าจาก The 1 ทำให้รู้ข้อมูลกำลังซื้อต่างๆ หลายครั้งก็มีโอกาสได้เห็นการสลับแบรนด์กันของโรบินสัน และเซ็นทรัล ยกตัวอย่างที่ “เมกาบางนา” เพื่อต้องการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า

ที่จันทบุรีก็เช่นเดียวกัน แม้โรบินสันจะอยู่ห่างจากเซ็นทรัลไม่เกิน 2 กิโลเมตร แต่ทาง CPN เชื่อว่าจะไม่แย่งลูกค้ากัน มีข้อมูลการศึกษาพบว่าจังหวัดนี้มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก ถ้าดูในแง่ตัวเลขมี GDP ถึง 240,000 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศ

central chan เซ็นทรัล จันทบุรี

ทาง CPN ใช้คำว่า “กำลังซื้อชัด” ไม่ได้ใช้คำว่า “กำลังซื้อสูง” เนื่องจากว่าคนในจันทบุรีมีรายได้มั่นคงจากทั้งสวนผลไม้ เป็นเมืองแห่งผลไม้เมืองร้อนของโลก และเป็นแหล่งค้าพลอย และอัญมณีแห่งใหญ่ของประเทศ คำว่ากำลังซื้อชัดเลยรวมทั้งการมีกำลังซื้อสูง และกำลังซื้อมั่นคงไปในทีเดียว

เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เล่าว่า

“ภาพรวมของคนในภาคตะวันออกโดยรวมดี มีทั้งโรงงาน พืชผลการเกษตร รายได้หลักมาจากสวนผลไม้ และอัญมณี เลยทำให้คนในพื้นที่จันทบุรีมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็น Middle to Wealth & Business Successor ของจังหวัด”

เซ็นทรัล จันทบุรีจับกลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากกว่า 1.8 ล้านคน รวมประชากรในจันทบุรี, ตราด, ปราจีนบุรี และสระแก้ว รวมถึงจับกลุ่มชายแดน โดยเฉพาะคนมีกำลังซื้อสูงจากกัมพูชาก็นิยมมาช้อปปิ้ง และ Medical tour ในจันทบุรี

central chan เซ็นทรัล จันทบุรี

ติดใจ Semi-outdoor เพิ่มพื้นที่สีเขียว

กลยุทธ์ในการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ของ CPN ไม่ได้ต้องการแค่เปิดศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป จะเห็นได้จากในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ รูปแบบการดีไซน์ หรือโมเดลต่างๆ มีความแปลกใหม่ หรือต่อยอดจากความสำเร็จจากสาขาเดิม

หนึ่งในโมเดลที่ CPN ค่อนข้างจะภาคภูมิใจเป็นพิเศษก็คือ Semi-outdoor หรือศูนย์การค้าแบบมอลล์ส่วนหนึ่ง และ Open air ส่วนหนึ่ง ได้เริ่มโมเดลนี้แห่งแรกที่ “เซ็นทรัล อีสต์วิลล์” (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เปิดทำการเมื่อเดือน ต.ค. 2558

central chan เซ็นทรัล จันทบุรี

โมเดลนี้รับกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้อย่างดี มีจุดเด่นที่เอาใจ “ทาสสัตว์เลี้ยง” ด้วยการสามารถพาน้องๆ มาเดินในศูนย์ด้วยได้ พร้อมกับมีพื้นที่ให้ออกกำลังกาย จากนั้นได้เริ่มขยายโมเดลนี้ไปที่เซ็นทรัล ศรีราชา เริ่มเปิดทำการเมื่อ ต.ค. 2564 รวมไปถึงโครงการใหม่อย่าง “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” (ราชพฤกษ์) ที่จะใช้โมเดลนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากการเป็นศูนย์การค้าแบบ Semi-outdoor แล้ว CPN ยังสร้างที่นี่เพื่อเป็น Center of Well-Being ให้กับเมืองจันท์ วางเป้าหมายเป็นมากกว่าศูนย์การค้า ด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ 4 ไร่ เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะให้กับเมือง ประกอบด้วย Running Track, จุดจอดจักรยาน, เครื่องออกกำลังกาย, Social Park, Family&Pet Playground, Café และยังเป็นโครงการแรกในต่างจังหวัดที่ทำ Completed Sport Destination ด้วยพื้นที่ Multi-Purpose กว่า 4,000 ตร.ม.

ต่อจิ๊กซอว์ EEC

เป็นที่ชัดเจนว่ากลยุทธ์ของ CPN ในการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ ส่วนใหญ่จะต้องเป็นแบบ “มิกซ์ยูส” เป็นการสร้างเมืองขนาดย่อม เพื่อสร้าง Butterfly Effect ให้แก่เมืองนั้นๆ

เซ็นทรัล จันทบุรีจะประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า Semi-Outdoor, โรงแรม, โครงการที่อยู่อาศัย และคอนเวนชั่นฮอลล์ ถือว่าเป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกในจังหวัด และปักหมุดเป็นมิกซ์ยูสครบวงจรที่สุดในภาคตะวันออก

central chan เซ็นทรัล จันทบุรี

ความสำคัญของการเปิดโครงการแบบมิกซ์ยูสก็คือ การรองรับการเป็น MICE Hub ของ EEC ในอนาคต อีกทั้งที่นี่ยังเป็นคอนเวนชั่นฮอลล์ หรือศูนย์ประชุมแห่งแรกในจังหวัด ก่อนหน้านี้การจัดงานต่างๆ จะเน้นจัดตามโรงแรม จึงเป็นโอกาสในการต้อนรับงานใหญ่ๆ

อีกทั้งที่เซ็นทรัล จันทบุรียังเป็นการต่อจิ๊กซอว์โครกงารตอบรับ EEC ให้ครบถ้วนมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ CPN ได้เปิดโครงการในโซนนี้มาแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ชลบุรี, เซ็นทรัล พัทยา 2 แห่ง, เซ็นทรัล ศรีราชา และเซ็นทรัล ระยอง จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวได้

สำหรับการเปิดทำการเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา เซ็นทรัล จันทบุรีมีทราฟฟิกผู้ใช้บริการสูงถึง 60,000 คน แต่มีการตั้งเป้าในทราฟฟิกในวันธรรมดาอยู่ที่ 30,000 คน/วัน

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1387077
CPN เดินหน้าเปิด “เซ็นทรัลศรีราชา” ตามแผน ห้างฯ Semi-Outdoor แห่งแรกนอกกทม. https://positioningmag.com/1346846 Mon, 16 Aug 2021 07:37:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346846 เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เดินหน้าโครงการมิกซ์ยูสตามแผน เตรียมเปิดศูนย์การค้า “เซ็นทรัล ศรีราชา” 27 ต.ค. 64 นี้ กลายเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ครบครัน และใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ดีไซน์แบบ Semi-Outdoor ใกล้ชิดธรรมชาติ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โดยเซ็นทรัล ศรีราชา จะเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ครบครัน และใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก บนพื้นที่ทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดใจกลางเมืองที่พร้อมรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางของ EEC และ New S Curve ในอนาคต พร้อมมอบประสบการณ์ในบรรยากาศแบบ Semi-Outdoor ใกล้ชิดธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ศรีราชา

central siracha

ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า

“เซ็นทรัลพัฒนามุ่งมั่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เราไม่เคยหยุดการลงทุนพัฒนาโครงการแม้จะเผชิญวิกฤตใดๆ ก็ตาม โดยตลอด 40 ปีที่ผ่านมาการลงทุนขยายโครงการต่างๆ ของเราทั่วประเทศ ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับท้องถิ่น เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้าง Local Wealth ในทุกๆ จังหวัด ทั้งการเพิ่มการจ้างงาน ขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับท้องถิ่น รวมถึงการที่เรายึดหลัก Community at Heart เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกชุมชน และส่งเสริมกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์มาโดยตลอด”

central siracha

สำหรับโครงการเซ็นทรัล ศรีราชา พร้อมเปิดในปลายปีนี้ โดยได้กำหนดวันเปิดอย่างเป็นทางการเป็นวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เนื่องจากบริษัทฯ มีความห่วงใยในสถานการณ์โควิดในขณะนี้ รวมถึงให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และพันธมิตรร้านค้าทุกคน เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับชาวศรีราชาร่วมกัน

โครงการเซ็นทรัล ศรีราชา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Innovation Oasis: ล้ำอย่างลงตัว” ประกอบด้วยศูนย์การค้ารูปแบบ Semi-Outdoor แห่งแรกนอกกรุงเทพฯ, คอนเวนชั่นฮอลล์, โรงแรม, เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์, อาคารสำนักงาน และ Education Center

central siracha

โดดเด่นด้วย Semi-Outdoor Format ซึ่งเป็น Success Model จากเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ที่ถูกออกแบบให้ผสมผสานความเป็นธรรมชาติให้เข้าถึงในทุกพื้นที่ทั้ง Indoor และ Outdoor อาทิ Outdoor Walking Street พบ Giant Green Space กว่า 2,800 ตร.ม., ประกอบด้วย Playground, Food Street, Pet Park

และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย Eco-Friendly Mall ใส่ใจการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ พร้อมจัดการพลังงานอย่างเป็นเลิศด้วย Giant Green Wall, Solar Rooftop นำพลังงานกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิด Zero Waste เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์ ตอบรับไลฟ์สไตล์ด้วย Thematic Lifestyle Mall สร้าง Seamless Shopping Journey ที่ผสมผสานบรรยากาศ Homey Ambience อย่างลงตัว

]]>
1346846
พร้อมบุกตลาด! “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” อสังหาฯ ครบวงจรรายแรกของประเทศ จัดทัพเตรียมขึ้นแท่น Top 3 ในปี 2566 https://positioningmag.com/1302899 Fri, 23 Oct 2020 04:00:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302899

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” จัดกระบวนทัพ ลุยตลาดอสังหาฯ รวบ 3 กลุ่มธุรกิจครอบคลุมประเภทที่อยู่อาศัย-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม ไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียว รวมสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำระดับ Top 3 ของธุรกิจอสังหาฯ ไทย ในปี 2566 ด้วยกลยุทธ์ One Platform…อสังหาฯ ครบวงจร แพลตฟอร์มที่ยั่งยืน”

หลังการจัดโครงสร้างบริษัทฯ เพื่อรวมทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจศักยภาพสูงให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันสำเร็จ ในที่สุด “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ก็พร้อมรุกตลาดในฐานะผู้นำกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์หลากหลาย ครบวงจรรายแรกในตลาดประเทศไทย โดยมี “ธนพล ศิริธนชัย” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงสู่ความยั่งยืน

ธนพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นและการสยายปีกลงทุนในไทยของกลุ่ม “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ว่า เมื่อปี 2556 กลุ่มทีซีซี ของตระกูล สิริวัฒนภักดี ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ Fraser and Neave (F&N) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจหลายประเภท ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งในภายหลังได้แยกกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกจาก F&N และใช้ชื่อ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด โดยมี “ปณต สิริวัฒนภักดี” ขึ้นเป็นกรุ๊ปซีอีโอ (Group CEO) โดยเป็นผู้วางกลยุทธ์รวมถึงทิศทางการบริหารงานที่สร้างสินทรัพย์ให้เติบโตจากเริ่มต้นที่ 3 แสนล้านบาท เป็น 9 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ขยายการลงทุนเข้ามายังในประเทศไทย ในปี 2560 โดยปักหมุดลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสชั้นนำ ประกอบด้วยพื้นที่ออฟฟิศ โรงแรม รีเทล มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และ ในปี 2562 ได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไทคอน และรีแบรนด์เป็น “บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (FPT)” ต่อมาในปี 2563 ได้ควบรวมกิจการของ “บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์” เสร็จสิ้น ทำให้พอร์ตอสังหาฯ ของบริษัทเติบโตครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทเพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท

3 กลุ่มธุรกิจศักยภาพ สร้างสมดุลฝ่าวิกฤต

จากการรวบรวมธุรกิจทั้งหมดมาอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้พอร์ตอสังหาฯ ของบริษัทในปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 1 แสนล้านบาท (ไม่รวมการลงทุนโครงการ One Bangkok) และทำให้การลงทุนมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้

1. ที่อยู่อาศัย – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม”

บริษัทฯ จะยังคงพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์เดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคย เช่น โกลเด้นทาวน์ โกลเด้นนีโอ โกลเด้นซิตี้ เดอะแกรนด์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มธุรกิจนี้ ทำรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) ไปแล้ว 1.11 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีโครงการกว่า 59 โครงการ ครอบคลุมกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

 

2. อุตสาหกรรม – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล”

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าทั้งแบบพร้อมให้เช่า (Ready-Built) และแบบสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) ในทำเลยุทธศาสตร์กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ รวมพื้นที่ให้เช่า 3 ล้านตร.ม. ทำรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) แล้ว 1.7 พันล้านบาท

3. พาณิชยกรรม – ผ่านกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” ปัจจุบันมีอาคารสำนักงานและมิกซ์ยูส 5 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ โครงการสามย่านมิตรทาวน์, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคารสาทรสแควร์, ปาร์คเวนเชอร์ และอาคารโกลเด้นแลนด์ รวมพื้นที่บริหาร 2.4 แสนตร.ม.

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ 1,100 ห้อง อาทิ โรงแรมดับเบิ้ล ยู กรุงเทพ, โรงแรมโมเดน่า และ ดิ แอสคอท สาทร แบงคอก เป็นต้น สร้างรายได้ 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย. 2563) กว่า 1.2 พันล้านบาท

 

เหตุผลที่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย มีการลงทุนหลากหลาย จนกลายเป็นบริษัทแรกในไทยที่มีการลงทุนอสังหาฯ แบบครบวงจรและให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มธุรกิจนี้ ธนพลให้เหตุผลว่า การลงทุนลักษณะนี้มีข้อดี 3 ประการคือ

1) เพิ่มความสามารถในการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ด้วยการบริหารสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีลูกค้าหลายกลุ่ม

2) ส่งเสริมการประสานงานร่วมกัน (Synergy) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจศักยภาพสูงของทุกกลุ่มด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจน ได้ประโยชน์จาก Economy of Scale ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น

3) สร้างความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ท้าทาย (Resilience) ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัทฯ

แพลตฟอร์มเดียวกันสู่การสร้างแบรนด์ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย”

หลังจากรวมทุกกลุ่มธุรกิจเป็นหนึ่งเดียว จะทำให้เฟรเซอร์สทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน และสอดคล้องกัน โดยธนพลวางกลยุทธ์ One Platform ที่ทำให้บริษัทฯสามารถให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครอบคลุมตรงโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า โดยการรวมกันบนแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่บริษัทฯ เพราะจะมีรายได้จากหลายช่องทาง และรายได้ประจำ (Recurring Income) เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทฯสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะดำเนินตามแผน ONE-TO-THREE ซึ่งหมายถึง “ONE platform TOwards being a trusted brand and the top THREE in all asset classes” หรือ การรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวด้วยแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับ Top 3 ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในปี 2566

ธนพลกล่าวว่า แต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องและคาดว่าในปี 2566 มูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 5-10%

ด้านสัดส่วนรายได้ปัจจุบันมาจากที่อยู่อาศัย 75-80% และมาจากอสังหาฯ เพื่อเช่า (อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม) 20-25% แต่ในอนาคตมองว่าจะผลักดันให้รายได้อสังหาฯ เพื่อเช่าเพิ่มขึ้นเป็น 30% เพื่อสร้างความสมดุลในพอร์ตให้มากขึ้น

“แต่ละกลุ่มธุรกิจยังมีโอกาส กลุ่มที่อยู่อาศัยแม้จะมีคู่แข่งแต่ยังมีดีมานด์ในตลาด ด้านธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ายังมีแนวโน้มเติบโตสูงมากเพราะการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซและ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตต้องการกระจายสต็อกสินค้าไว้หลายประเทศ ส่วนโครงการพาณิชยกรรม เช่น อาคารสำนักงาน แม้จะมีการปรับไปทำงานแบบ Work from Home บ้าง แต่บริษัทจำนวนมาก ยังคงต้องการใช้พื้นที่สำนักงาน เพียงแต่ปรับรูปแบบการใช้งานไปไปในลักษณะของ Hot Desk มากขึ้นเท่านั้น” ธนพลกล่าว

 

 

]]>
1302899
ส่องร้านค้าดังเปิดแห่งแรก-บริการ 24 ชั่วโมง “สามย่านมิตรทาวน์” เจาะไลฟ์สไตล์สายฟู้ด-เด็กเรียน https://positioningmag.com/1247157 Sat, 21 Sep 2019 06:14:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1247157 ได้ฤกษ์เปิดบิ๊กโปรเจกต์ “มิกซ์ยูส” 9,000 ล้านบาท “สามย่านมิตรทาวน์” บนทำเลหัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 อย่างเป็นทางการกันไปเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”

พื้นที่รีเทล ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เป็นหนึ่งในโซนไฮไลต์กับอาคารสูง 6 ชั้น มีพื้นที่เช่า 36,000 ตารางเมตร จุดเด่นของโครงการคือมีร้านค้าเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง รวมพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร

แหล่งเช็กอินสายฟู้ด-เด็กเรียน

ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า โครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” ตั้งอยู่บนที่ดิน 14 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 220,000 ตารางเมตร มี 3 ส่วนหลัก คือโรงแรม Triple Y 102 ห้อง ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ ก.ค. ที่ผ่านมา, ส่วนที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม Triple Y Resident 516 ห้อง อาคารสำนักงาน “มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์” และพื้นที่ค้าปลีก คอนเซ็ปต์ Urban Life Library หรือ “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้” ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สายฟู้ดและสายโนวเลจด์ยุคใหม่

โซนศูนย์การค้า มีร้านค้าแบรนด์ดังเปิดคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น “แห่งแรก” และโซนเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ตอบสนองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา สายฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัป

ร้านเปิดแห่งแรก

Mei wei wan noodle เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อสูตรไต้หวัน เป็นร้านที่ลงทุนและพัฒนาแบรนด์ใหม่โดย “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” ร่วมกับพันธมิตรชาวไต้หวัน โดยมีเชฟชาวไต้หวันเป็นผู้พัฒนาสูตรก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ราคาเฉลี่ย 275 บาท

Mei wei wan noodle

To Kio Jo ร้านไก่ทอด โต คิว โจ จากเกาหลี

Appron Walk เป็นศูนย์รวมอุปกรณ์เครื่องครัว หลากหลายแบรนด์ และจำหน่ายวัตถุดิบในการทำอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัด COOKING CLASS เอาใจคนรักการทำอาหาร

Din’s แบรนด์ใหม่ในเครือเซ็นกรุ๊ป เป็นร้านอาหารสไตล์จีนที่มีลูกเล่นใหม่ๆ แตกต่างไปจากร้านอาหารในเครือเซ็นกรุ๊ป

Tim Hortons ร้านกาแฟและอาหารจานด่วน (Fast Food Restaurant) ชื่อดังจากประเทศแคนนาดา ที่เห็นโอกาสการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มกาแฟในเมืองไทยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทยังเติบโตได้อีก

Tim Hortons

SAMYAN CO-OP สามย่าน โค-ออป เป็นโค เลิร์นนิ่ง สเปซ รูปแบบใหม่ ที่สามารถเข้าใช้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ห้องประชุม ห้องจัดกิจกรรมต่างๆ มีจำนวนที่นั่งรวมกันมากถึง 500 ที่นั่ง ปลั๊กไฟ และสัญญาณ Wi-Fi รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

Celebrity Fitness เป็นสตูดิโอออกกำลังกายที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายอายุ 21 – 35 ปี ประกอบไปด้วย จักรยาน คลาส อุปกรณ์คาร์ดิโอ ฟรีเวท และอุปกรณ์การสร้างกล้ามเนื้อ

Yi Fang ร้านยิฟางเป็นร้านชานมไต้หวัน นอกจากชานมแล้วยังมีชาผลไม้ที่ได้รับความนิยมที่สุดในไต้หวันอีกด้วย

Fast Rehab สหคลินิกกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ฟาสท์รีแฮบ (Fast Rehab) ดำเนินการโดย บริษัท ไท ควอลิตี้ แวร์ จำกัด ให้บริการรักษาทางกายภาพบำบัดในกลุ่มผู้มีอาการปวดทุกเพศทุกวัย กลุ่มผู้บาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา และการฟื้นฟูผู้สูงอายุหรือผู้มีข้อจำกัดทางกายต่างๆ

Medium & More อุปกรณ์ศิลปะ งานประดิษฐ์ รวมถึงสินค้าแปลกใหม่จากทุกมุมโลก บริการสลักชื่อ และปั้มตัวอักษรหรือลวดลายเงิน ทองลงบนวัสดุหนัง

SAMYAN FOOD Legends by MBK เป็นศูนย์อาหารสตรีท ฟู้ดที่รวบรวมร้านอาหารระดับตำนานชั้นนำในสามย่าน สะพานเหลือง และเยาวราชแห่งแรกของเมืองไทยมาให้ลูกค้าได้เลือกรับประทานมากกว่า 10 ร้าน เช่น เพ้งคั่วไก่ ทูเดย์สเต็ก ไฮเช็งลูกชิ้นปลา ก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้นายเล้า ต้มเลือดหมูนายยิ๊ง ข้าวแกงนายอู๋ ขนมหวานเช็งซิมอี๊ โป่วเทียมเฮง และข้าวขาหมูตรอกซุง เป็นต้น

Byeokje เป็นร้านอาหารเกาหลีประเภทปิ้งย่าง Ya Kun Coffee & Toast เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศสิงคโปร์ Yama ร้านชานมไข่มุกจากประเทศไต้หวัน

ร้านเปิด 24 ชั่วโมง

Big C Food Place “บิ๊กซี ฟู้ด เพลส” จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นจำหน่ายอาหารสดสัดส่วน 50% ของสินค้าที่ขายทั้งหมด และอีก 50% เป็นกลุ่มสินค้าประเภทอาหารแห้ง

Starbucks สาขาสามย่านมิตรทาวน์ เปิดให้บริการ 2 ชั้น

ก๋วยเตี่ยวเรือพระนคร เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีเมนูก๋วยเตี๋ยวเรือราคาประหยัด ทั้งก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกหมู

Shabushi buffet ชาบูชิเป็นอาหารญี่ปุ่นประเภทหม้อไฟ คล้ายสุกี้ยากี้ มีส่วนผสมต่างๆ เช่น ผัก เนื้อหั่นบางๆ และอาหารทะเล โดยการปรุงจะนำวัตถุต่างๆ เหล่านี้จุ่มแช่ลงในน้ำเดือด หรือน้ำซุป และปล่อยทิ้งไว้สักพัก แล้วรับประทานโดยจุ่มลงในซอส

KFC สาขาสามย่านมิตรทาวน์ใช้ชื่อเต็มว่า Kentucky Fried Chicken เพื่อย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของร้าน ให้เข้ากับสถานที่ย่านเมืองเก่า ในคอนเซ็ปต์ 1 OF A KIND ภายในร้านมีบริการ Self-ordering kiosk และเปิดโชว์กระบวนการประกอบอาหารผ่าน Open kitchen

Swensens เป็นร้านไอศกรีมสัญชาติอเมริกาที่จะเข้ามาเปิดให้บริการภายในโซน 24 ชั่วโมง ของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์เป็นสาขาแรก และมีการตกแต่งร้านภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

White story เป็นร้านเบเกอรี่แนว French Pastry และอาหารสไตล์อิตาเลียนโฮมเมด มีเมนูเด่น คือ สปาเกตตี้เบคอนกรอบพริกระเบิด บริการ 24 ชั่วโมงเป็นสาขาแรก และเป็นสาขาใจกลางเมืองแห่งเดียวที่ให้บริการทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และบริการอาหารแบบ take away

ร้านคอนเซ็ปต์ใหม่

Muji เป็นร้านจำหน่ายเครื่องเขียน เสื้อผ้า อาหาร และอุปกรณ์เครื่องครัว สาขาสามย่านมิตรทาวน์ มีบริการ Cafe & Meal Muji เป็นแห่งแรกในประเทศไทย จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม ทั้งมื้อหนัก ของว่าง และขนมหวาน ที่ยังคงความเป็น MUJI นั่นคือ ความเรียบง่าย หรือ Minimal Style และมีจุดขายคือ เมนูอาหารที่ทำจากผักหลากหลายชนิด และวัตถุดิบธรรมชาติ

AKA อากะ เป็นร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นในรูปแบบบุฟเฟ่ต์พรีเมียม ซีฟู้ด หมู เนื้อ และเครื่องเคียง รับประทานได้ 90 นาที นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเมนูบุฟเฟ่ต์ซาซิมาเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

Zen Box เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการทั้งในรูปแบบนั่งทานในร้านและ Grab & Go โดยในส่วนของสาขาสามย่านมิตรทาวน์จะมีความแตกต่างจากสาขาไบเทคบางนาทั้งในด้านของเมนู ราคา และรูปแบบร้าน

]]>
1247157
“แอสเสท เวิรด์” จัดทัพธุรกิจรีเทล ผ่าโมเดลปั้นมิกซ์ยูส “เอเชียทีค-ประตูน้ำ-พัทยา” https://positioningmag.com/1243292 Wed, 21 Aug 2019 08:02:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1243292 กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในมือ “แอสเสท เวิรด์” เครือทีซีซี กรุ๊ป ธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีพื้นที่กว่า 6 แสนตร.ม. กลุ่ม Retail and Wholesale มีกว่า 10 โครงการ พื้นที่รวม 3.4 แสนตร.ม. และกลุ่มอาคารสำนักงาน 4 โครงการ พื้นที่รวม 2.7 แสนตร.ม.

ตะวันนา บางกะปิ

พื้นที่รีเทลของ AWC เรียกว่าอยู่ใน “ทำเลทอง” กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เป็นจุดขาย สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ช้อปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี้มาร์เก็ต โครงการเด่น เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า กลุ่มรีเทลแต่ละโครงการมีเอกลักษณ์ รูปแบบและการสร้างแบรนด์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ช่วงที่ผ่านมากลุ่มรีเทลยังเติบโตได้ 7.9% สูงกว่าจีพีดี ส่วนช้อปปิ้ง อยู่ที่ 5.8% สะท้อนให้เห็นโอกาสการเติบโตของอสังหาฯ ในฝั่งค้าปลีกของ AWC

ปั้นเวิ้งนาครเขษม 2 หมื่นล้าน

ตามแผนธุรกิจชอง AWC เงินที่ระดมทุนจากการ IPO จะนำไปซื้อสินทรัพย์ อาทิ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ โดยทางทีซีซีฯ ให้สิทธิ์ AWC ในการซื้อสินทรัพย์ รวมถึงแปลง เวิ้งนาครเขษม หรือ นครเขษม ซึ่งอยู่เส้นถนนเยาวราช เป็นหนึ่งใน 20 สินทรัพย์ที่จะเข้าไปซื้อ และจะนำมาปรับปรุงโดยยึดหลักการคงความเป็นสถาปัตยกรรมเดิมไว้ และมีจุดไฮไลต์ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิว คาดว่ามูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ Barbell Strategy ถือเป็นการสร้างสมดุลระหว่างโครงการหลากหลายประเภทเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เฟสแรกใช้พื้นที่แล้ว 96%

จึงมีแผนเพิ่มพื้นที่รีเทลอีก 40,000 ตร.ม. รวมถึงจะมีการก่อสร้างโรงแรมแบรนด์ “แมริออท” เพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้ามา

เอเชียทีค

พร้อมทั้ง “รีแบรนด์” ธุรกิจรีเทลครั้งใหญ่ โดย “เอเชียทีค” จะเป็นแฟลกชิพ แห่งแรก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว ส่วน พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และ พันทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน จะปรับเพื่อรองรับแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่อง Eat Play Chill และ Shop

Pantip งามวงศ์วาน

ขยายมิกซ์ยูส “ประตูน้ำ”

ขณะเดียวกัน จะมีการแตกซับแบรนด์ไอที “พันธุ์ทิพย์” ไปตามศูนย์การค้าต่างๆ ส่วน พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ซึ่งเป็นแปลงที่ใหญ่เนื้อที่ 14 ไร่ใจกลางซีบีดี ในอนาคตกำลังศึกษาถึงความคุ้มค่าในที่ดินผืนดังกล่าว ที่จะต้องถูกพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในระยะ 4 – 5 ปีข้างหน้า ด้วยรูปแบบ “มิกซ์ยูส” ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ค้าปลีกกว่า 170,000 ตร.ม. จากปัจจุบันมีประมาณ 69,000 ตร.ม. เน้นเรื่อง F&B and Attractions ส่วน “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” จะยกระดับให้เป็น “เกตเวย์” นางวัลลภา กล่าว

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากโครงการหลากหลายประเภท กว่า 90% บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเอง (ฟรีโฮลด์) ในระยะ 20 – 30 ปีข้างหน้าทรัพย์สินจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 

อีกโปรเจกต์มิกซ์ยูสที่เตรียมพัฒนาอยู่ที่ “พัทยา” มีอสังหาฯ หลากหลายรูปแบบทั้ง รีเทล โรงแรมที่จะมีมากกว่า 1 อาคาร เป็นแผนพัฒนาต่อเนื่อง 4 – 5 ปี วงเงินลงทุนสูง 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดในบางส่วนตั้งแต่ปี 2566.

GATEWAY บางซื่อ

source

]]>
1243292
ส่อง “ที่สุด” มาสเตอร์แพลนมิกซ์ยูส 1.2 แสนล้าน One Bangkok ปั้นแลนด์มาร์คโลก เปิดเฟสแรกปี 2566 https://positioningmag.com/1241028 Wed, 31 Jul 2019 12:02:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1241028 ทีซีซี กรุ๊ป” อาณาจักรธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีประกาศเปิดตัวบิ๊กโปรเจกต์ One Bangkok (วัน แบงค็อก) ครั้งแรกในปี 2560 ภายใต้การลงทุนของบริษัทในเครือทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย)” ร่วมทุนกับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ถือเป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่รวบรวมความเป็นที่สุดระดับประเทศ  

มิกซ์ยูสใหญ่ที่สุดในไทย

“วัน แบงค็อก” ได้เผยโฉม “มาสเตอร์แพลน” โครงการที่สร้างสถิติ “ที่สุด” ของประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ “ที่ดิน” ก่อสร้างโครงการบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเดิม หรือทำเลทองบริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 เนื้อที่ 104 ไร่ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ให้สิทธิ์เช่าที่ดิน 60 ปี มูลค่าการลงทุนโครงการ 1.2 แสนล้านบาท พื้นที่รวม 1.83 ล้านตร.ม.

ถือเป็นโครงการอสังหาฯ รูปแบบ “มิกซ์ยูสใหญ่ที่สุด” ในประเทศไทย วางเป้าเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก

โครงการจัดสรร พื้นที่สีเขียว 50 ไร่ จากพื้นที่รวม 104 ไร่ ออกแบบเป็นพื้นที่โล่งเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ Civic Plaza กว่า 10,000 ตารางเมตร พื้นที่รีเทลและไลฟ์สไตล์บริเวณส่วนล่างของตึก เป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงระดับนานาชาติและงานเทศกาลต่างๆ

อาคารสูงที่สุดในอาเซียน

หนึ่งในอาคารของ “วัน แบงค็อก” คือ Signature Tower สูง 430 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็น 1 ใน 10 อาคารสูงที่สุดในอาเซียน และสูงสุดที่สุดในประเทศไทยแทนอาคารมหานคร ที่ครองสถิติในขณะนี้ และเป็นหนึ่งในเดสทิเนชั่นชมวิวแบบพาโนราม่าของกรุงเทพฯ

วัน แบงค็อก ถือเป็น “แลนด์มาร์ค” ครบวงจรระดับโลกแห่งใหม่ ดึงดูดบริษัทชั้นนำ นักท่องเที่ยว และคนไทยด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ พื้นที่รีเทลชั้นนำ โรงแรมระดับลักชัวรี่ ที่พักอาศัย และพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม

พื้นที่สำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร 5 แสนตร.ม.

ทำเลทองใจกลางเมืองแห่งนี้ วางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่ ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิของอาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร รวมกันกว่า 500,000 ตร.ม. รองรับบุคลากรขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ 500 บริษัท จำนวนกว่า 50,000 คน อาคารออกแบบตามมาตรฐาน LEED และ WELL

รีเทล 4 โซน พื้นที่ 1.8 แสนตร.ม.

สำหรับพื้นที่รีเทล 4 โซน ที่มีความแตกต่างกันและเชื่อมต่อถึงกันด้วยร้านค้าและร้านอาหารกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตร.ม. สร้างประสบการณ์รีเทลแปลกใหม่และแตกต่าง ภายในที่แห่งเดียว ถือเป็นครั้งแรกของกรุงเทพฯ

5 โรงแรมครบทุกเซ็กเมนต์

บิ๊กโปรเจกต์ “วัน แบงค็อก” มีโรงแรม 5 แห่ง โดยทั้งหมดจะเป็น “แบรนด์ใหม่” สำหรับกรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับบูทีคโฮเทล โรงแรมเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ รวมกว่า 1,100 ห้อง โดยโรงแรมลักชัวรี่แห่งแรกคือ The Ritz-Carlton Bangkok เปิดให้บริการในปี 2566

สำหรับโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ใช้งบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ชั้น 1 ถึงชั้น 25 ของอาคารสูง 50 ชั้น ความสูงโดยรวม 250 เมตร ประกอบด้วยห้องพัก 259 ห้อง, ห้องชุดสวีท 32 ห้องและห้อง Ritz-Carlton Suite 1 ห้อง

เรสซิเดนท์หรู 3 อาคาร

ส่วนที่พักอาศัยในโครงการ วัน แบงค็อก มี 3 อาคาร บริเวณทิศเหนือ เห็นวิวจากฝั่งถนนวิทยุและฝั่งสวนลุมพินีแบบพาโนรามา โดยมีอาคารที่พักอาศัยระดับอัลตร้า ลักชัวรี่ และลักชัวรี่

พื้นที่เรสซิเดนท์ โครงการแรกจะตั้งอยู่เหนือโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ประกอบด้วยห้องที่ตกแต่งอย่างหรูหราขนาด 2 – 4 ห้องนอน จำนวน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้นที่ 130 ตร.ม. เปิดตัวและขายช่วงต้นปี 2563 การก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2566

เดินทางเข้าออก 6 จุด คนเข้า 2 แสนคนต่อวัน

“มาสเตอร์แพลน” การเข้าถึงและการเดินทางไปยังโครงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ทางเข้าออกรอบโครงการถึง 6 จุด จากฝั่งถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 รวมถึงทางเชื่อมตรงกับทางด่วน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ

โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT วันธรรมดาอยู่ที่ 1 ล้านคน ที่สามารถเข้ามายังโครงการ คาดการผู้เข้ามาใช้บริการในโครงการวันละ 200,000 คน

ในโครงการมีศูนย์ข้อมูล (District Command Centre) และเซ็นเซอร์กว่า 250,000 ตัว

ปณต สิริวัฒนภักดี

“วัน แบงค็อก” เสริมแกร่งทำเลพระราม 4

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ยืนยันว่า บิ๊กโปรเจกต์ “วัน แบงค็อก” พร้อมเปิดเฟสแรก ด้วยอาคาร The Ritz-Carlton, Bangkok และเรสซิเดนท์ 110 ห้อง ในปี 2566 และทั้งโครงการวัน แบงค็อก จะสมบูรณ์ในปี 2569 ปัจจุบันยังยืนยันกำหนดการเดิมและงบลงทุนเดิมที่ 1.2 แสนล้านบาท

การเปิดตัวของวัน แบงค็อก ยังเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพย่านธุรกิจ “พระราม 4” ให้แข็งแกร่ง โดยมีโครงการของ ทีซีซี กรุ๊ป อยู่ในย่านนี้ 5 โครงการ คือ The PARQ (เดอะ ปาร์ค), อาคาร FYI Center, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, สามย่านมิตรทาวน์ และ วัน แบงค็อก

บิ๊กโปรเจกต์ “วัน แบงค็อก” นี้ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธาน ทีซีซี กรุ๊ป ได้ให้วิสัยทัศน์ไว้ว่า “คือการสร้างสรรค์สถานที่ที่ผู้คนจะตกหลุมรักและอยากมาใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ในที่แห่งนี้ ทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ รู้สึกว่าที่นี่ คือ ส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของกรุงเทพฯ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะกลายเป็นแลนด์มาร์คระดับโลกที่ยกระดับ ภาพลักษณ์ที่ดีงามของกรุงเทพฯ และประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นสง่าบนเวทีโลก”

]]>
1241028
“สิงห์ เอสเตท” สนใจลุย “มิกซ์ยูส” ที่เมียนมาและเวียดนาม ต่อจิ๊กซอว์ Global Holding Company https://positioningmag.com/1236020 Mon, 24 Jun 2019 11:57:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1236020 ภายใต้ธุรกิจของบุญรอดบริวเวอรี่ไม่ได้มีแค่กลุ่มเครื่องดื่มและอาหารเท่านั้น แต่เมื่อ 5 ปีก่อนได้สนใจในการทำธุรกิจด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ก่อตั้ง สิงห์ เอสเตทโดยวางธุรกิจออกเป็น 3 ขาหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก, ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่พักอาศัย

ที่ผ่านมามีการลงทุนนับ “หมื่นล้าน” ล้านบาทมาทุกปีจนมาถึงในปี 2019 “นริศ เชยกลิ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บอกว่าจะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวดอกผลที่ลงทุนลงแรงไป

จนถึงตอนนี้ สิงห์ เอสเตท มียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ในปี 2019 และที่เหลือในปี 2020 สำหรับในปีนี้คาดว่าจะเริ่มสามารถรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ

ทั้ง The ESSE Asoke ที่เหลือการโอนอีกราว 10% ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุน และ The ESSE at Singha Complex จะเริ่มโอนให้กับลูกค้าตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และยังมี Santiburi the Residences ที่ขายไป 6 หลังจากทั้งหมด 26 หลัง

“ถึงแม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีการปรับตัวจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้าน แต่ สิงห์ เอสเตท ยังคงเดินหน้าลงทุนและพัฒนาโครงการตามแผนที่วางไว้ โดยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ พร้อมรับความท้าทายของตลาดอสังหา”

ในปีนี้ได้เตรียมงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้ให้ถึง 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2020 สำหรับไตรมาส 1 ของปี 2019 รายได้รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท สูงขึ้นมากกว่า 160% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าและ มีกำไรสุทธิ 293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%

แผนในครึ่งปีนี้นอกเหนือจากเตรียมแยกธุรกิจโรงแรมเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)” ในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก มีอาคารสำนักงาน Oasis บนถนนวิภาวดี-รังสิต มีทั้งหมด 36 ชั้น มีพื้นที่ให้เช่า (NLA) ประมาณ 53,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 3,695 ล้านบาท

คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีจะแล้วเสร็จในปีช่วงครึ่งปีหลัง 2021 อาคารแห่งนี้ สิงห์ เอสเตท วางแผนที่จะทำเป็นสำนักงานใหญ่ของตัวเอง แต่ขณะนี้นริศ” เผยว่ามีบริษัทขนาดใหญ่ของไทย ได้สนใจที่จะเช่าทั้งตึกแต่ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุย

ด้านธุรกิจที่พักอาศัยจะมีการโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ ซอยรางน้ำ โดยมีมูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท อยู่ในเซ็กเมนต์ Luxury แต่จะใช้แบรนด์ใหม่ซึ่งจะเป็นรองจากแบรนด์ The ESSE ตาดเปิดไตรมาส 3

นอกจากนี้ยังมี The ESSE at Singha Complex ที่เก็บไว้ 2 ชั้น หรือคิดเป็นพื้นที่ 10% ของทั้งหมด ประมาณ 22 ห้อง โดยจะนับมาตกแตกใหม่และเปิดขายในราคา 300,000 บาทต่อตารางเมตร แพงขึ้นจากช่วงเปิดตัว 40,000 บาท วางแผนเปิดขายให้กับบริษัทที่มาเช่าใน Singha Complex ที่ต้องการที่พักไว้เป็นสวัสดิการ

ขณะเดียวกันสิงห์ เอสเตทจากเป้าหมายที่วางไว้จะเป็นโกลบอล โฮลดิ้ง คัมปานี (Global Holding Company) ผ่านกลยุทธ์การขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และการสร้างแบรนด์ในระดับพรีเมียม ล่าสุดมีความสนใจที่จะไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ โดยช่วงแรกมองเมียนมาและเวียดนามไว้

สำหรับในเมียนมาได้เข้าไปดูบ้างแล้ว เนื่องจากนักธุรกิจรายใหญ่ที่ทำเกี่ยวกับเหมืองหยกและทับทิม ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมทุนกับสิงห์ เอสเตท เบื้องต้น นริศ” ระบุว่า กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ถ้าไปทำจริงคงจะอยู่ในรูปแบบ มิกซ์ยูสในระดับพรีเมียม เพราะนักธุรกิจที่ชวนมีที่ดินในกรุงย่างกุ้งอยู่แล้ว แต่หากทำจริงคงต้องซื้อเพิ่มซึ่งที่ดินก็ไม่ถูกเกือบล้านบาทต่อตารางวา

ความน่าสนใจของเมียนมาอยู่ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ประชากรส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 27 ปี นั้นหมายความว่ากลุ่มหลักเป็นวัยทำงาน ขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียมยังมีไม่มาก จึงมีโอกาสให้เข้าไปลงทุน

]]>
1236020
“ดุสิตธานี” แตกธุรกิจอาหารปั้นแบรนด์ “ของไทย” 3 ปี ดันรายได้พันล้าน ติดใจมิกซ์ยูสควง “อนันดา” เปิดอีก 2-3 โปรเจกต์ https://positioningmag.com/1230882 Tue, 21 May 2019 23:05:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1230882 ภายใต้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในการทำธุรกิจ (Diversify) ของกลุ่มดุสิตธานี เพื่อโอกาสเติบโต กระจายความเสี่ยง และสร้างความสมดุลรายได้ จากปัจจุบันสัดส่วน 80% มาจากธุรกิจโรงแรม หนึ่งในเรือธง ดุสิตธานีมองไปที่ “ธุรกิจอาหาร” ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมและโอกาสการลงทุนใน “มิกซ์ยูส” เพิ่มเติม ปีนี้อาจเห็นอีก 2-3 โครงการ

การปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาโปรเจกต์มิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดิน 23 ไร่ หัวมุมถนนสีลมและพระราม 4  ร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มูลค่า 37,700 ล้านบาท ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2567 โดยส่วนของโรงแรม “ดุสิตธานี กรุงเทพ” โฉมใหม่ ขนาด 250 ห้อง ความสูง 39 ชั้น จะเปิดให้บริการเป็นลำดับแรกในต้นปี 2565

แต่การปิดโรงแรมดุสิต กรุงเทพ ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างใหม่ 3-4 ปี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ปีละ 700-800 ล้านบาท กลุ่มดุสิตธานีจึงต้องเดินหน้าสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ทดแทน พร้อมตอบกลยุทธ์ Diversify ที่ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการศึกษา โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม (มิกซ์ยูส) ธุรกิจอาหาร และธุรกิจอื่นๆ

รุกธุรกิจอาหารโรงงานผลิต-เคเทอริ่ง

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขยายการลงทุนธุรกิจอาหาร ที่ผ่านมา ดุสิตธานีได้จัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยถือหุ้นสัดส่วน 99.99% เพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหาร ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของดุสิตธานี และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต รวมทั้งสร้าง Synergy กับธุรกิจเดิม

“วิสัยทัศน์ของ ดุสิต ฟู้ดส์ คือ การนำอาหารไทยและอาหารในภูมิภาคเอเชียออกสู่โลก (Bring Asia to the World) การนำความเป็นไทยไปสู่โลกนั้น เป็นจุดยืนของกลุ่มบริษัทดุสิตธานีตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนอาหารเอเชียนั้นก็เพราะเรามี Foot Print ของธุรกิจโรงแรมในทวีปเอเชียเป็นหลักที่สามารถต่อยอดกันได้”

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

การขยายธุรกิจอาหาร “ดุสิต ฟู้ดส์” เริ่มตั้งแต่ มี.ค. 2561 ได้เข้าไปลงทุนมูลค่า 663 ล้านบาท ในบริษัท เอ็นอาร์อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือ NRIP ถือหุ้น 26% ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารในจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินธุรกิจมากว่า 25 ปี ผลิตสินค้าส่งออก 25 ประเทศทั่วโลก ให้กับแบรนด์ต่างๆ กว่า 50 แบรนด์ ผลิตสินค้าได้หลากหลายกว่า 1,000 SKU รายได้เกือบทั้งหมดมาจากการส่งออกต่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น NRIP ยังได้วางยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ที่เกิดจากแบรนด์ของตนเอง ที่มีอยู่ 5 แบรนด์ เช่น Lee, ไทยดีไลท์ และสร้างใหม่อีก 1 แบรนด์ในปีนี้ เพื่อขยายตลาดรีเทลในประเทศไทย ซึ่ง NRIP วางแผนทำ IPO เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะยื่นไฟลิ่งในปีนี้ นั่นเท่ากับว่า ดุสิตธานีจะมีแหล่งรายได้หลักจาก NRIP

ช่วงต้นปีนี้เดือน ม.ค. 2562 ดุสิตธานีได้เข้าไปลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด หรือ ECC ซึ่งเป็นผู้นำให้บริการผลิตอาหาร (Catering) ให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยกว่า 30 แห่ง โดยเข้าไปถือหุ้น 50% และจะเพิ่มเป็น 70% ในต้นปี 2563 รวมมูลค่าการลงทุน 613 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวมองโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มตลาดธุรกิจการศึกษาและตลาดอื่นๆ ด้วยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงแรมดุสิตธานีที่มีอยู่ในหลายประเทศ

ปั้นแบรนด์อาหาร “ของไทย” เจาะฟู้ดเซอร์วิส

สเต็ปรุกธุรกิจอาหารของดุสิตฟู้ดส์ปีนี้ ได้สร้างแบรนด์อาหาร “ของไทย” (KHONG THAI) ที่สื่อถึง “ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเอกลักษณ์จากประเทศไทย” เริ่มจากกลุ่มเครื่องแกง ready to cook 4 เมนู คือ แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น และก๋วยเตี๋ยวแขก และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซอสพริก ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว น้ำปลา ปี 2563 วางแผนเพิ่มสินค้าให้ได้ 20 SKU สินค้าแบรนด์ “ของไทย” ใช้โรงงานผลิตของ NRIP ที่ดุสิตธานีเข้าไปร่วมถือหุ้น เป็นการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำโรงงานผลิตถึงปลายน้ำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

เจตน์ โศภิษฐพ์งศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดแบรนด์ “ของไทย” สร้างความแตกต่างจากตลาดเครื่องแกง โดยได้ร่วมมือกับ “เดวิด ทอมป์สัน” (David Thompson) เชฟชาวออสเตรเลีย ที่ศึกษาคุณค่าและเรื่องราวของอาหารไทยมายาวนาน และทำให้ร้านอาหารไทยที่เขาทำงานเป็นพ่อครัว ไม่ว่าจะที่ต่างประเทศหรือในประเทศไทยได้รับ มิชลินสตาร์ เช่น ร้านอาหาร Nahm (น้ำ) ของไทย โดยเชฟเดวิดทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์เมนูอาหารแบรนด์ “ของไทย” ที่จะเน้นทำตลาดส่งออกเป็นหลัก 90% เริ่มจากตลาดสหรัฐ

เจตน์ โศภิษฐพ์งศธร

อเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และรู้จักอาหารไทยดี โดยจะทำตลาดในกลุ่มเป้าหมายพ่อครัวและผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร หรือการให้บริการทางการทำอาหาร (Food Service) เฉพาะตลาดสหรัฐฯ น่าจะเห็นรายได้ 40-50 ล้านบาทต่อปี ภายใน 5 ปีแตะ 100 ล้านบาท โดยจะขยายตลาดส่งออกในยุโรป อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ไปพร้อมกัน จะเปิดตัวแบรนด์ “ของไทย” ในงาน THAIFEX – World of Food Asia 2019 วันที่ 28 พ.ค. – 1 มิ.ย. เป็นครั้งแรก

นอกจากทำตลาดส่งออกแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงรสแบรนด์ “ของไทย” จะถูกนำไปใช้ในโรงแรมปรุงอาหารในโรงแรมต่างประเทศที่ดุสิตธานีเข้าไปลงทุนและบริหาร เพื่อให้ได้อาหารที่มีรสชาติและมาตรฐานเดียวกัน

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ธุรกิจอาหารของ ดุสิต ฟู้ดส์ ยังมองตลาดอาหารในเอเชียที่มีความโดดเด่นเช่นกัน มีแผนที่จะร่วมมือกับ “เชฟ” ที่มีชื่อเสียงด้านอาหารของแต่ละชาติ เพื่อพัฒนาแบรนด์และเมนูใหม่ๆ ออกมากทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปี 64 ดุสิต ฟู้ดส์ รายได้ 1,000 ล้าน

ศุภจี กล่าวว่าธุรกิจอาหาร ปีนี้จะทำรายได้ราว 400 ล้านบาท และภายในปี 2564 จะมีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท เป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่เข้ามาทดแทนรายได้จากการปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ประกอบกับแผนการเปิดโรงแรมใหม่ทุกปี ปีละ 10-12 แห่ง ทั้งการร่วมลงทุนและเข้าไปรับจ้างบริหารโรงแรมในไทยและต่างประเทศ จะทำให้กลุ่มดุสิตธานียังเติบโตได้ที่ระดับ 8-10% พร้อมมองโอกาสการลงทุนใหม่ๆ

ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ดุสิตธานีเตรียมเปิดให้บริการ “บ้านดุสิตธานี” โดยได้ทำสัญญาเช่า 5 ปี บ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี บนที่ดินขนาดเกือบ 5 ไร่ในซอยศาลาแดง เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเป็นจุดหมายใหม่ของนักชิมและนักท่องเที่ยวที่คิดถึงโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในช่วงที่กำลังก่อสร้างใหม่ ด้วยการนำบริการต่างๆ ที่เคยเป็นซิกเนเจอร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เช่น ห้องอาหารไทยเบญจรงค์ ห้องอาหารเวียดนามเธียนดอง ร้านเบเกอรี่ ดุสิต กูร์เมต์ บริการซักรีด และพื้นที่จัดเลี้ยง มาเปิดให้บริการที่ “บ้านดุสิตธานี”

ลงขันอนันดาบุก“มิกซ์ยูส” อีก 2-3 โปรเจกต์

อีกหนึ่งธุรกิจที่กลุ่มดุสิตธานี Diversify ไปแล้ว คือ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม (มิกซ์ยูส) โปรเจกต์แรกร่วมกับ “ซีพีเอ็น” ลงทุนโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่า 37,700 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2567 ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจ คือ โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน

ปีนี้ดุสิตธานีมีแผนจะลงทุนโครงการมิกซ์ยูสอีก 2-3 โปรเจกต์ หนึ่งในนี้คือโครงการที่ร่วมทุนกับ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ซึ่งเป็นเข้ามาลงทุนถือหุ้นดุสิตธานี 5% มูลค่ารวม 510 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.พ. 2562 โดยเป็นการเข้ามาลงทุนระยะยาว และใช้จุดแข็งของทั้ง 2 บริษัท สร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ทั้งโรงแรมและที่พักอาศัย รวมทั้งจะมีการลงทุนมิกซ์ยูสร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

รายได้จากธุรกิจมิกซ์ยูสที่ร่วมกับ ซีพีเอ็น จะเริ่มเห็นตั้งแต่ปี 2566 แต่โครงการมิกซ์ยูส 2-3 โครงการที่จะลงทุนในปีนี้ จะมีบางโปรเจกต์เริ่มมีรายได้เข้ามาก่อนปี 2566

การ Diversify ธุรกิจกลุ่มอาหารและมิกซ์ยูส จะทำให้สัดส่วนรายได้ของกลุ่มดุสิตธานีเปลี่ยนไป จาก ปี 2561 ที่มีรายได้ 5,565 ล้านบาท มาจากโรงแรม 83.2%, การศึกษา 7.6% และ อื่นๆ 9.2% ตั้งแต่ปีนี้จะเริ่มมีรายได้จากธุรกิจอาหารเข้ามาอีกกลุ่ม

โดยในปี 2564 สัดส่วนรายได้จะมาจากโรงแรม 70% อาหาร 15% การศึกษาและอื่นๆ 15%

]]>
1230882