ลีวายส์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Apr 2024 08:32:46 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Levi’s ขายตรง! อัปเดตเกมเดนิมพันล้าน ผ่านฝีมือนายหญิง “มิเชลล์ แกส” https://positioningmag.com/1470592 Thu, 25 Apr 2024 06:59:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470592 ต้องบันทึกว่าเมษายน 2567 เป็นช่วงเวลาที่บริษัท Levi Strauss บริษัทแม่ของ Levi’s กลายเป็นข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์มากกว่า 3 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องสะท้อนความเป็นไปในสมรภูมิเดนิมโลกอย่างที่ไม่ได้เห็นกันง่าย ๆ ในรอบหลายปี

เรื่องแรกคือมูลค่าหุ้นบริษัทแม่ Levi’s นั้นพุ่งพรวด 18% หลังจากประกาศยอดขายเพิ่มขึ้นบนกระแสยีนส์ทรงหลวมที่ทำให้ผู้คนพร้อมใจควักกระเป๋าซื้อกางเกงใหม่แทนกางเกงสกินนี่ขาเล็กที่มีในตู้ ขณะที่เรื่องที่ 2 คือบริษัทยีนส์แห่งนี้สามารถเปลี่ยนสัดส่วนการขายเดนิมจากที่เคยเป็นในช่วงหลายปีก่อน ด้วยการสร้างรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของการขายตรงถึงผู้บริโภคผ่านตลาดออนไลน์และหน้าร้านของตัวเอง เป็นการพลิกจากที่ยอดส่วนใหญ่มาจากการซื้อส่งเป็นล็อตใหญ่ โดยห้างสรรพสินค้าที่เคยเป็นตัวกลางขายปลีกให้ผู้บริโภค

และเรื่องสุดท้าย คือการได้แรงกระตุ้นแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 171 ปีด้วยพลังจากศิลปินสาวตัวแม่อย่าง Beyoncé ซึ่งนำชื่อแบรนด์ Levi’s มาเติม i เพิ่มอีกตัว มาตั้งเป็นชื่อเพลง “LEVII’S JEANS” ในอัลบัมใหม่ “Cowboy Carter” ที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม

Levi Strauss
(Photo by Spencer Platt/Getty Images)

เมื่อถูกกล่าวถึงหลายเรื่องเช่นนี้ สปอตไลท์ธุรกิจยีนส์โลกจึงไปอยู่ที่ต้นสังกัดอย่าง Levi Strauss โดย มิเชลล์ แกส (Michelle Gass) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Levi Strauss กล่าวระหว่างการแถลงผลประกอบการของบริษัทว่าวันนี้ Levi’s มีร้านค้าของตัวเองประมาณ 500 แห่งทั่วโลก ซึ่งกำลังรองรับชาวเดนิมที่เริ่มซื้อยีนส์โดยตรงจาก Levi’s

Levi’s ลุยโมเดล DTC

CEO นายหญิง Levi’s ระบุว่าเห็นความแข็งแกร่งในธุรกิจขายตรงถึงผู้บริโภคหรือ DTC (Direct to Consumer) เนื่องจากยอดขาย DTC นั้นเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มของบริษัท ซึ่งเฉพาะ Levi’s นั้นกำลังทำยอดขาย DTC เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ผ่านทางตลาดออนไลน์และหน้าร้านของตัวเอง

ข้อมูลนี้สะท้อนว่า Levi’s กำลังได้ประโยชน์จากช่องทาง DTC ซึ่งสวนทางกับการต้องพึ่งพาผู้ซื้อเหมาสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายปลีก เช่นห้าง Macy’s และ Kohl’s ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของหลายแบรนด์ในสหรัฐฯ โดยสัดส่วน 48% นั้นเพิ่มขึ้นจาก 42% ที่ Levi’s เคยทำได้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงขึ้น 25% เมื่อเทียบเป็นรายปี

สำหรับปี 2024 ข้อมูลล่าสุดจากธุรกิจ DTC แสดงให้ Levi’s เห็นเทรนด์ที่ผู้หญิงกำลังซื้อกระโปรงยีนส์ จั๊มสูท และกางเกงยีนส์เอวต่ำ-ทรงบูทคัทเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฝั่งผู้ชายก็ซื้อกางเกงยีนส์ทรงหลวมมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งแม้ Gass จะไม่ได้ยืนยันว่าเพลงใหม่ของ Beyonce อย่าง “Levii’s Jeans” จะฮิตจนทำให้แบรนด์ Levi’s ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีก แต่ทั้งหมดสะท้อนว่าผู้ผลิตยีนส์รายใหญ่ก็ทำได้ดีกว่าความคาดหมาย โดย Levi’s รายงานยอดขายรวมไตรมาสล่าสุด 1,560 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.26 เซนต์ต่อหุ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ 1,540 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.21 เซนต์ต่อหุ้น

Levi Strauss

ก่อนหน้านี้ Levi’s รายงานผลประกอบการขาดทุน 10.6 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก ปีงบประมาณก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการยุติแบรนด์ลูกอย่าง Denizen และการลดจำนวนพนักงาน 10%-15% เพื่อแก้ไขโครงสร้างต้นทุน ทำให้ Levi’s มีค่าใช้จ่ายการปรับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับค่าชดเชยพนักงาน อย่างไรก็ตาม Levi’s มองแนวโน้มปีงบประมาณ 2024 ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจลดลงเพราะอัตราเงินเฟ้อ แต่คาดว่ายอดขายทั้งปีของบริษัทจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1%-3% โดยผลกำไรมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 1.17-1.27 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งนอกเหนือจากปัจจุบันที่
Levi’s มีร้านค้าประมาณ 500 แห่งทั่วโลก บริษัทวางแผนที่จะเปิดร้านค้าใหม่ในเอเชีย รวมถึงร้านเรือธงแห่งใหม่ในปารีส เพื่อต้อนรับมหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024

นายหญิงถูกจับตา

จริงอยู่ที่การเปลี่ยนมาทำรายได้จากการขายตรงมากขึ้นนั้นเป็นประโยชน์ต่อผลกำไรของ Levi’s แต่ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ Levi’s กับคู่ค้าขายส่ง รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคู่ค้าเหล่านั้น ภาวะนี้ทำให้ซีอีโอ Michelle Gass ถูกตั้งคำถามถึงนโยบายในอนาคต ว่า Levi’s จะเลือกเดินในทางที่ให้ผลดีกับตัวเองมากขึ้นหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนนี้ทำให้ Levi’s สามารถควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้มากขึ้นในวันที่จำนวนห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่กำลังหดตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางอนาคตเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ Macy’s ซึ่งเป็นพันธมิตรค้าส่งรายใหญ่ของ Levi’s ได้ประกาศแผนปิดร้านค้า 150 แห่ง เนื่องจากนักลงทุนมีแผนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักแทนการดำเนินธุรกิจค้าปลีก จุดนี้ Michelle Gass ซึ่งเพิ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารให้ Levi’s ราว 2 เดือน นั้นยืนยันว่าการขายส่งยังคงเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ของ Levi’s ขณะที่โมเดลขายตรงไปยังผู้บริโภคนั้นเป็นเพียงส่วนชดเชยความเสียหายจากการปิดร้านของห้างในสหรัฐฯ เท่านั้น

เบื้องต้น Michelle Gass หยอดคำหวานว่าได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในธุรกิจค้าส่งซึ่งเป็น “ลูกค้าคนสำคัญ” ของ Levi’s โดยเชื่อว่า Levi’s มีความสำคัญต่อผู้ค้า และผู้ค้าก็มีความสำคัญต่อ Levi’s เช่นกัน ทั้งหมดนี้ Gass ย้ำว่าในเชิงกลยุทธ์แล้ว การขายส่งสินค้าล็อตใหญ่ให้ผู้ค้าปลีกถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Levi’s ในการขยายการเข้าถึงผู้บริโภค โดยบอกว่าแม้จะมีแรงกดดัน แต่ผู้ค้าเหล่านี้ให้บริการผู้บริโภคหลายล้านคน ดังนั้นจึงยังมีโอกาสอีกมากที่จะขับเคลื่อนส่วนแบ่งการตลาดภายในช่องทางนี้

Levi Strauss

สิ่งที่ Gass กล่าวนั้นสวนทางกับที่ก่อนหน้านี้ Levi’s เคยประกาศนโยบายดันให้ยอดขายตรงถึงผู้บริโภคคิดเป็น 55% ของยอดขายรวม โดยหากตัวเลขดังกล่าวสามารถสูงขึ้นได้อีก บริษัทก็จะเดินหน้าเต็มที่ อย่างไรก็ตาม Gass กล่าวว่า Levi’s กำลังทำงานอย่างใกล้ชิด กับลูกค้าขายส่งรายสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าแบรนด์จะปรากฏตัวในช่องทางและวิธีที่ดีที่สุด

มุมมองของ Gass ในการบริหาร Levi’s นั้นน่าจับตา เพราะประวัติการทำงาน 30 ปีในวงการรีเทลที่ไม่ธรรมดาของ Gass ซึ่งถือว่ามีความเชี่ยวชาญงานในอุตสากรรมสินค้าคอนซูเมอร์สูง ก่อนหน้านี้ Gass เคยร่ายมนต์การตลาดจน Frappuccino ฮิตติดลมบนมาแล้วที่ Starbucks จากนั้นก็เคยมีบทบาทขยายอาณาจักรห้าง Kohl’s ให้เป็นผู้ค้า Omnichannel โดยคว้าดีลระยะยาวกับเชนค้าปลีกสินค้าบิวตี้อย่าง Sephora ซึ่งเป็นหนึ่งในดีลสร้างชื่อของ Kohl’s ในช่วงเวลาที่ Gass รับหน้าที่เป็น CEO

ปัจจุบัน Michelle Gass กำลังรับหน้าที่ “งานในฝัน” ของเธอในฐานะ CEO ของ Levi Strauss ผู้ผลิตยีนส์อายุ 171 ปีที่มอบกางเกงยีนส์ริมแดง 501 ให้โลกได้สวมใส่ อย่างไรก็ตาม การบ้านชิ้นโตของ Gass คือการพา Levi’s ให้อยู่รอดท่ามกลางรายได้จากการขายส่งยีนส์ทั่วโลกของ Levi’s ที่ลดลง 9% ผลจากความผันผวนในยุโรปซึ่ง Gass ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ Levi’s ในไตรมาสนี้อยู่ในภาวะ “ยากลำบาก”

ในภาพรวม Gass ไม่ได้ท้อ แต่มั่นใจว่าการขายส่งในยุโรปช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นเพราะนวัตกรรมและแฟชั่นที่ Levi’s นำเสนอ จุดนี้สะท้อนได้ว่า Levi’s กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ค้าปลีกที่ทำสิ่งอื่นได้มากกว่าการขายกางเกงยีนส์ ทั้งการนำเสนอกระโปรง ชุดเดรส และเสื้อให้มากขึ้น

ที่สุดแล้ว โลกกำลังรอลุ้นว่า Gass จะปฎิวัติให้ Levi’s ขึ้นเป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ด้านเดนิม เหมือนอย่างที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จหรือไม่? ซึ่งหาก Levi’s ทิ้งภาพการเป็นแค่บริษัทบลูยีนส์ไปได้ เกมเดนิมพันล้านของ Levi’s จะส่งแรงสะเทือน ตลาดค้าปลีกครั้งใหญ่แน่นอน.

ที่มา: Cnbc 1, Cnbc 2, Defenseworld, Fox Business

]]>
1470592
ยุคใหม่ “ลีวายส์” เตรียมขยายเพิ่มอีก 20 สาขา ครบรอบ 150 ปี “รุ่น 501” บุกวัยรุ่นผ่านดนตรี “ฮิปฮอป” https://positioningmag.com/1420367 Wed, 22 Feb 2023 15:40:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420367 “ลีวายส์” ในไทยเปลี่ยนสู่ยุคใหม่หลังบริษัทแม่เข้ามาบริหารงานเอง ล้างไพ่ปิดสาขาเดิมทั้งหมดและระดมเปิดใหม่ครบ 130 สาขา ปี 2566 นี้จะขยายเพิ่มอีก 20 สาขา กลยุทธ์เน้นกลุ่มผู้หญิงและวัยรุ่นเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น โดยปีนี้เป็นปีฉลองครบรอบ 150 ปียีนส์ “รุ่น 501” ในตำนาน แบรนด์จึงเตรียมบุกแนะนำตัวกับคนรุ่นใหม่ผ่านเทศกาลดนตรี “ฮิปฮอป” ระดับโลก

ความเดิมตอนที่แล้วของ “ลีวายส์” (Levi’s) มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน เพราะเป็นปีที่แบรนด์หมดสัญญาที่แต่งตั้ง DKSH เป็นตัวแทนจำหน่ายมานานถึง 25 ปี และเริ่มเข้ามาบริหารเองโดยตรงตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

การเข้ามาทำเองของบริษัทแม่ ทำให้ลีวายส์มีการล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด ปิดบริการสาขาเดิมทั่วประเทศ และเปิดสาขาใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ร้านที่ออกแบบใหม่ ซึ่งสาขาใหม่เหล่านี้อาจจะเปิดในศูนย์การค้าแห่งเดิมก็ได้ และอาจจะเปิดซ้ำในทำเลเดิมของศูนย์ฯ ถ้าบริษัทพิจารณาว่ายังเป็นจุดที่เหมาะสม

“ซาเมียร์ กุล” ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย บริษัท ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันลีวายส์มีสาขาทั้งหมด 130 สาขา แบ่งเป็น 101 สาขาแบบ Wholesale (สาขาแบบ shop in shop ในห้างสรรพสินค้า), 22 สาขาแบบ Mainline Store (สาขาในศูนย์การค้า) และ 7 สาขาแบบ Outlet ตามดิวตี้ฟรี

ลีวายส์ Levi's
“ซาเมียร์ กุล” ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย บริษัท ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค จำกัด ภายในร้านลีวายส์สาขาไอคอนสยาม

ทั้งหมดตกแต่งในสไตล์ NextGen Indigo ที่เปิดรับลูกค้าทุกกลุ่มเพศและวัยมากขึ้น มีภาพตกแต่งที่ให้แรงบันดาลใจในการมิกซ์ แอนด์ แมตช์ และเปลี่ยนกลุ่มสินค้าให้หลากหลาย มีวางจำหน่ายเสื้อผ้าที่ไม่ใช่ยีนส์ (non-denim) เช่น เสื้อยืด กางเกงชิโน หมวก กระเป๋า ฯลฯ

สำหรับเป้าหมายปีนี้ ลีวายส์จะเปิดเพิ่มอีก 20 สาขา โดยทั้งหมดจะเป็นรูปแบบ Mainline Store ในศูนย์การค้า เพราะช่วงนี้แบรนด์ต้องการจะสื่อสารกับลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งร้านค้าขนาดใหญ่รูปแบบนี้ทำให้ลีวายส์ตกแต่งร้านได้เต็มที่ สะท้อนตัวตนได้มากกว่า shop in shop

 

เดินหน้ากลยุทธ์ดึงลูกค้า “วัยรุ่น-ผู้หญิง” เพิ่มขึ้น

จากกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ว่าจะต้องดึงลูกค้า “วัยรุ่น” อายุ 18-30 ปีมากขึ้น และกลุ่ม “ผู้หญิง” ให้มากกว่าเดิม ซาเมียร์อัปเดตว่าลีวายส์เดินหน้าไปได้ตามแผน

โดยส่วนของลูกค้าวัยรุ่น ลีวายส์โหมทำตลาดผ่านออนไลน์และ KOL พร้อมกับเปิดการจำหน่ายออนไลน์ 4 แพลตฟอร์ม คือ Levi.co.th, Lazada, Shopee และ Central Online รวมถึงมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่เน้นกลุ่มวัยรุ่น

ลีวายส์ Levi's
ตัวอย่างสินค้าเอาใจผู้หญิง มีกางเกงเอวสูง กางเกงยีนส์ขาด และกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่ยีนส์

ส่วนลูกค้ากลุ่มผู้หญิงนั้น ลีวายส์เพิ่มสินค้ากลุ่ม SilverTab มากขึ้น กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ไม่ใช่ยีนส์ทั้งชิ้น เพิ่มตัวเลือกให้ผู้หญิงแต่งกาย และกลุ่มยีนส์เริ่มมีแบบที่ถูกใจผู้หญิงสายแฟชั่นมากกว่า เช่น แบบเอวสูง, ยีนส์ขาด

ในกลุ่มวัยรุ่นนั้นยังประเมินไม่ได้ว่ามีสัดส่วนลูกค้ามากแค่ไหน แต่กลุ่มผู้หญิงนั้นเริ่มเข้ามาแล้ว 13% ของยอดขาย สะท้อนว่าลีวายส์กำลังค่อยๆ ได้ลูกค้าใหม่ตามเป้าหมาย

 

ครบรอบ 150 ปียีนส์ “รุ่น 501”

ปีนี้จะเป็นปีที่ลีวายส์โหมการตลาดผ่านสินค้าเรือธงคือ “รุ่น 501” ยีนส์ในตำนานที่มีมานาน 150 ปี ในกลุ่มลูกค้าวัย 30 ปีขึ้นไปจะยังรู้จักและเข้าใจความ ‘เท่’ ของยีนส์รุ่นนี้ เพราะเป็นกางเกงที่คนดังสวมใส่

แต่ในกลุ่มต่ำกว่า 30 ปี ปีนี้จะเป็นปีที่สื่อสารพลังของรุ่น 501 โดยยังใช้กลยุทธ์เดิมคือการเชื่อมโยงถึงลูกค้าด้วย “วัฒนธรรมดนตรี” แค่เพียงเปลี่ยนจากดนตรีร็อกที่เป็นกระแสหลักในอดีต มาเป็นดนตรีอย่าง “ฮิปฮอป” ที่ฮิตมากในยุคนี้

ยีนส์รุ่น 501 รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 150 ปีของกางเกงยีนส์ในตำนาน

ทำให้ปีนี้ลีวายส์เข้าไปเป็นสปอนเซอร์งาน “Rolling Loud Thailand 2023” เทศกาลดนตรีฮิปฮอป ที่จะจัดระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้ที่เมืองพัทยา ถือเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลกและจะมีการจัดแค่ 2 แห่งในเอเชียคือที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

 

ปีนี้เตรียมรับมือตลาดซบ อาจโตเพียง 1.5-2%

ด้านภาพรวมตลาดของ “ลีวายส์” ปี 2565 ทั่วโลกมียอดขายเติบโต 11% (ไม่รวมแบรนด์อื่นๆ ในเครือบริษัท) และตลาดที่เติบโตดีคือกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา

ส่วนคาดการณ์ตลาดปี 2566 ทั่วโลกของลีวายส์ บริษัทแม่คาดว่าจะโตเพียง 1.5-2% เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไม่อำนวย และยังมีความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวน ไปจนถึงซัพพลายเชนที่ค่อนข้างขาดแคลนด้วย ทำให้ปีนี้น่าจะโตน้อยกว่าปีก่อนมาก

อย่างไรก็ตาม ลีวายส์จะไม่ลงไปทำสงครามราคา เพราะเป็นแบรนด์ที่จับตลาดพรีเมียม ในทางตรงข้าม สำหรับลีวายส์ ประเทศไทยนั้นน่าจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มรุ่นพิเศษเข้ามามากยิ่งขึ้น เพราะเห็นเทรนด์ตลาดกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ยีนส์และนักสะสมที่รออยู่

]]>
1420367
ไม่ต้องใช้กรรไกร Levi’s “ใช้คอมพ์ยิงเลเซอร์” ตัดกางเกงยีนส์ลดขั้นตอนทำงาน https://positioningmag.com/1160003 Mon, 05 Mar 2018 05:52:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1160003 ไม่ต้องให้คนถือกรรไกรตัดแพทเทิร์นกางเกงเองแล้ว วันนี้แบรนด์ดัง “ลีวายส์” (Levi’s) ประกาศแผนใช้คอมพิวเตอร์ยิงเลเซอร์ตัดกางเกงยีนส์ทุกตัวในอนาคต โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ช่วยลดขั้นตอนการใช้แรงงานตัดเย็บยีนส์จากสูงสุด 18-24 ขั้นตอน เหลือเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น แถมยังมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าด้วย

ลีวายส์เปิดตัวเทคนิกการตัดกางเกงยีนส์ระบบดิจิทัลที่ใช้เลเซอร์ในการสร้างสรรค์กางเกงยีนส์แทนแรงงานคน โดยตั้งชื่อเรียกโครงการนี้ว่า FLX ย่อมาจาก Future-Led Execution

จุดเด่นของระบบเทคนิกคือการตัดสารเคมีอันตรายออกจากระบบ และลดขั้นตอนการใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งหากคำนวณจนถึงช่วงเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตยีนส์ พบว่าจากที่มีขั้นตอนระหว่าง 18 ถึง 24 ขั้น ระบบนี้จะลดขั้นตอนการผลิตลงเหลือเพียง 3 ขั้นตอน โดยลีวายส์วางแผนที่จะขยายระบบตัดยีนส์ดิจิทัล นำไปใช้งานในทุกกระบวนการผลิตของบริษัท

ลีวายส์ชี้ว่าขั้นตอนแรกที่ต้องทำในกระบวนการผลิตใหม่ คือการถ่ายภาพยีนส์แล้วนำไปลากเส้นวาดแพทเทิร์นในรูปที่ระบบเลเซอร์สามารถทำงานได้ ดังนั้นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเดิมนานกว่า 8-12 นาทีด้วยแรงงานคน ขณะนี้ ลีวายส์สามารถดำเนินการด้วยเลเซอร์ในเวลา 90 วินาทีเท่านั้น

บาร์ต ไซต์ส (Bart Sights) รองประธานด้านนวัตกรรมเทคนิคของ ลีวายส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนานวัตกรรมที่ศูนย์ยูเรก้า (Eureka lab) ระบุว่าระบบเลเซอร์จะใช้แสงอินฟราเรดเพื่อกรีดผ้ายีนส์ที่ชั้นบนสุดของผิวยีนส์ กลายเป็นเส้นโครงร่างบางเบาที่คมกริบแนบเนียน

ลีวายส์บอกอีกว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเสื้อผ้าใช้มือและกระบวนการทางเคมีเพื่อสร้างแพทเทิร์นบนผ้า จุดนี้ทำให้บริษัทมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจ “การปลดปล่อยสารเคมีอันตรายเป็นศูนย์” ให้ได้ในปี 2020 โดยจะลดจำนวนสารเคมีที่ใช้นับพันรายการ มาเป็นหลักสิบรายการในระหว่างกระบวนการตกแต่งผ้ายีนส์ด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์นี้

ที่น่าสนใจคือ นักออกแบบของลีวายส์จะใช้เครื่องมือสร้างภาพใหม่บนแท็บเล็ตเครื่องจิ๋ว เพื่อสร้างรูปแบบและการตกแต่งกางเกงยีนส์ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นยีนส์ต้นแบบขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้นักออกแบบสามารถปรับแต่งสีและควบคุมการออกแบบรอยหยัก รอยขาด และชายผ้ายีนได้ อย่างไรก็ตาม ลีวายส์ชี้ว่าเทคนิคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และห้องทดลองยูเรก้าของลีวายส์เคยแถลงข่าวว่ากำลังพยายามนำเทคโนโลยีกราฟิก 3 มิติ มาใช้ในกระบวนการผลิตยีนส์ที่สมจริงมากขึ้น แต่ต้นแบบยีนส์ที่เคยได้จากเทคโนโลยีเก่ายังคงจำเป็นต้องใช้สารเคมี และแรงงานคนในการสร้างลวดลายฉีกขาดอยู่

ทั้งหมดนี้ ลีวายส์ระบุว่าเครื่องมือดิจิทัลใหม่จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตลงราวครึ่งหนึ่ง จากหลักเดือน มาเป็นสัปดาห์ และอาจเร็วขึ้นสู่หลักไม่กี่วัน โดยไฟล์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้จะสามารถส่งไปยังเครื่องยิงเลเซอร์อื่นเพื่อสร้างต้นแบบ หรืออาจส่งไปยังเวนเดอร์ผู้ผลิตเพื่อการผลิตล็อตใหญ่ เบื้องต้นลีวายส์คาดการณ์ว่าจะสามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้เต็มร้อยในปี 2020

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้เลเซอร์ในการออกแบบเสื้อผ้า ปีที่แล้ว อาดิดาส (Adidas) เปิดให้ลูกค้าออกแบบเสื้อกันหนาวโดยใช้เลเซอร์สแกนร่างกาย รวมถึงระบบเซ็นเซอร์อื่นที่ร้านค้าชั่วคราว (ป็อปอัพ) ในกรุงเบอร์ลิน ขณะที่นักออกแบบในอุตสาหกรรมอื่นใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เพื่อสร้างสิ่งทอและเครื่องประดับจิวเวลรี.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000021977

]]>
1160003
เสื้ออัจฉริยะมาแล้ว ! กูเกิล – ลีวายส์ วางขายพุธนี้ https://positioningmag.com/1141141 Tue, 26 Sep 2017 03:52:47 +0000 http://positioningmag.com/?p=1141141 หากยังจำได้ กูเกิล (Google) เคยโชว์ผลงานการพัฒนาเสื้อแจ็กเก็ตที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในงาน Google I/O เมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดผลงานนั้นพร้อมแล้วสำหรับการจำหน่ายจริง โดยมีกำหนดออกวางตลาดอย่างเป็นทางการในวันพุธที่จะถึงนี้

ชื่อของแจ็กเก็ตที่กูเกิลและลีวายส์ (Levi’s) พัฒนาร่วมกันนั้นคือ Commuter Trucker Jacket ซึ่งเป็นเสื้อที่ผู้สวมสามารถสั่งการได้หลาย ๆ อย่าง เช่น เปิดหรือปิดเพลงได้ รวมถึงอ่านข้อความที่ส่งเข้ามาได้ สอบถามเส้นทางได้ผ่านการแตะที่บริเวณแขนเสื้อ ฯลฯ

ความสามารถดังกล่าวมาจากการผสานเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวได้นั้นถูกผสานลงไปในเนื้อผ้าบริเวณข้อมือของแจ็กเก็ต และเชื่อมต่อแบบไร้สายกับสมาร์ทโฟนของผู้สวมผ่านแท็กอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ฝังอยู่บริเวณแขนเสื้อ โดยแท็กดังกล่าวนี้จะเป็นตัวแจ้งเตือนให้ผู้สวมทราบว่ามีสายโทรศัพท์เข้า หรือมีข้อความเข้ามาได้สองทาง นั่นคือผ่านระบบสัมผัส และไฟเตือน

ในฝั่งของผู้ใช้งานนั้นก็สามารถปรับแต่งท่าทางที่เราต้องการใช้ในการตอบโต้กับระบบเสื้อได้ตามต้องการ เช่นว่าเมื่อมีสายเข้า เราต้องการรับสายจะทำอย่างไร หรือถ้าจะขอเส้นทางจากระบบ ต้องแตะตรงไหน 

โดยเสื้อดังกล่าวรองรับการทำงานได้ทั้ง iOS และแอนดรอยด์ ส่วนเวลาซักนั้นก็ไม่มีปัญหา เพราะเพียงนำแท็กออกจากบริเวณข้อมือ ก็สามารถนำเสื้อไปซักได้ตามปกติ ไม่ต่างจากเสื้อผ้าทั่วไป

อย่างไรก็ดี ได้มีการเปรียบเทียบถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในเสื้อแจ็กเก็ตดังกล่าวกับความสามารถอื่น ๆ เช่น หูฟังแอร์พ็อด (AirPods) ของแอปเปิล (Apple) ที่สามารถเรียก Siri ขึ้นมาช่วยทำงานต่าง ๆ ได้เช่นกัน แถมไม่ต้องใช้มือแตะไปมาแบบเสื้อแจ็กเก็ตของกูเกิลกับลีวายส์นี้อีกด้วย

โดยเฉพาะท่าทางในการสั่งงานเสื้อแจ็กเก็ตขณะขี่จักรยาน ซึ่งอาจค่อนข้างยากสำหรับคนที่ขี่จักรยานไม่เก่งเพราะจะต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งมาแตะที่บริเวณข้อมืออีกข้างหนึ่งสำหรับสั่งงานให้เสื้อทำสิ่งต่าง ๆ ให้ 

ราคาขายที่ 350 เหรียญสหรัฐก็เช่นกัน มันเป็นราคาขายที่ถูกมองว่าอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่จะได้รับ (ประมาณ 11,500 บาท)

ความเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ เสื้อแจ็กเก็ตจากลีวายส์ตัวนี้อาจไม่ได้หวังสูงมากนักในแง่ยอดขาย แต่อาจเป็นการเปิดตัวเพื่อบอกกับตลาดว่าสามารถพัฒนาเสื้อในลักษณะนี้ได้ หรือเป็นเสื้อเวอร์ชันทดลองเพื่อดูว่าผู้สวมมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการมีเทคโนโลยีผสานอยู่ในเนื้อผ้า

ที่มา : mgronline.com/Cyberbiz/detail/9600000098348

]]>
1141141