ศูนย์กระจายสินค้า – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 26 Oct 2021 07:38:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เรื่องน่ารู้ของ ‘กองทรัสต์ WHART’ เพิ่มทุนครั้งที่ 6 ลงทุนเพิ่มเติม 5.55 พันล้านกับ ‘ทำเลทอง’ โลจิสติกส์เมืองไทย https://positioningmag.com/1358105 Tue, 26 Oct 2021 11:00:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358105

‘อีคอมเมิร์ซ’ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดความนิยมยิ่งพุ่งพรวด เมื่อผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครั้งใหญ่ บรรดาบริษัทขนส่งต่างเเข่งขันกันดุเดือด เพื่อชิงความเป็นเจ้าตลาด

เเน่นอนว่า ‘ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า’ ก็เติบโตตามไปด้วย จากความต้องการพื้นที่ในการเก็บสินค้าที่มากขึ้นจากเเต่ก่อน เเละยิ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพ ก็ช่วยส่งเสริมให้สินค้าส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว มีข้อได้เปรียบทางธุรกิจมากขึ้น

ล่าสุดกับการเพิ่มทุนครั้งที่ 6 มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 5.55 พันล้านบาทของ ‘กองทรัสต์ WHARTเพื่อเข้าลงทุน 3 โครงการ ในทรัพย์สินบนทำเลจุดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ โดยมีผู้เช่าที่เป็นบริษัทชั้นนำอย่าง Alibaba Group , Shopee XPress เเละทีดีตะวันแดง

นับเป็นความเคลื่อนไหวในตลาดที่น่าจับตามอง วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก กองทรัสต์ WHART กับการลงทุนในทำเลทองโลจิสติกส์เมืองไทยให้มากขึ้นกัน


รู้จัก กองทรัสต์ WHART

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) เป็นกองทรัสต์ที่มุ่งลงทุนในทรัพย์สินประเภท ‘คลังสินค้าและโรงงาน’ ที่มีมาตรฐานระดับสากลในรูปแบบ Built-to-Suit และ Ready-Built บนทำเลโลจิสติกส์ที่สำคัญ เช่น ถนนบางนา-ตราด , วังน้อย เเละพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เมื่อมองโดยภาพรวมเเล้ว จุดเเข็งที่เห็นได้ชัดของกองทรัสต์ WHART คือการเป็นหนึ่งในผู้นำ REIT ในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ อย่างออฟฟิศ ค้าปลีก โรงแรม ดังนั้นจึงมีความเสี่ยง ‘Downside Riskต่ำกว่า

ปัจจุบันกองทรัสต์ WHART มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 31 โครงการ พื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 1,398,352 ตรม. โดยภายหลังการเพิ่มทุนครั้งที่ 6 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะทำให้กองทรัสต์มีทรัพย์สินเพิ่มเติมเป็น 34 โครงการ พื้นที่เช่าอาคารรวมถึง 1,582,681 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนทำเลสำคัญๆ ของประเทศไทย


ปัจจัยสำคัญ : อัตราการเช่า- สัญญาระยะยาว- ธุรกิจที่โตขึ้นเรื่อยๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ ‘ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า’ เติบโตได้อย่างมั่นคง นั่นก็คือการมี ‘อัตราการเช่าสูงและผู้เช่ามีสัญญาระยะยาว’

โดยกองทรัสต์ WHART มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยในระดับสูงประมาณร้อยละ 90 ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย และมีอายุสัญญาเช่าที่ผู้เช่าคลังสินค้าเฉลี่ย (WALE) หลังการลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้ อยู่ในระดับสูงถึง 3.5 ปี

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าโครงการที่กองทรัสต์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นประเภท BuilttoSuit (BTS) จึงมีสัญญาเช่าของผู้เช่าที่ค่อนข้างยาว โดยอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยของทรัพย์สินที่กองทรัสต์จะลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้อยู่ที่ 10.7 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น การมีผู้เช่าพื้นที่โครงการต่างๆ ของกองทรัสต์ WHART ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ จากหลายสัญชาติและหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น E-Commerce, FMCG เเละ Logistics ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจเติบโตสูง เเละได้รับผลกระทบ ‘เชิงบวก’ จากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้กองทรัสต์  WHART ยังสามารถจ่ายผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ นับเป็น ‘ทางเลือก’ การลงทุนสำหรับนักลงทุนที่สนใจกอง REIT ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การที่มีสัญญาเช่าส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาว เเละผู้เช่าพื้นที่ของกองทรัสต์เป็นผู้เช่าในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องเเละมีชื่อเสียง มีฐานลูกค้าจำนวนมหาศาลในไทย รวมไปถึงมีความหลากหลายทางธุรกิจ นับเป็นการ ‘กระจายความเสี่ยง’ ไม่กระจุกตัวหรือพึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในยามนี้ที่เศรษฐกิจโลกผันผวน

เพิ่มทุนครั้งที่ 6 กับ 3 ทำเลทองโลจิสติกส์

สำหรับการเพิ่มทุนของกองทรัสต์ WHART ครั้งที่ 6 นี้ จะออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ใหม่ จำนวนไม่เกิน 385.90 ล้านหน่วย เพื่อลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติม มูลค่ารวมไม่เกิน 5,549.72 ล้านบาท

โดยทรัพย์สินที่กองทรัสต์ WHART กำลังจะเข้าไปลงทุนนั้น จะเน้นไปที่ความโดดเด่นในด้านทำเลศักยภาพที่เป็น ‘จุดยุทธศาสตร์’ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนในระยะยาว

เเบ่งเป็นโครงการคลังสินค้าประเภท Built-to-Suit จำนวน 2 โครงการ และโครงการประเภท Ready-Built อีก 1 โครงการ โดยมีพื้นที่เช่าอาคารรวม 3 โครงการ ประมาณ 184,329 ตารางเมตร ซึ่งมีผู้เช่า ได้แก่ Alibaba Group, Shopee Xpress และ ทีดี ตะวันแดง มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

1.โครงการ WHA Mega Logistics Center (วังน้อย 62)

ตั้งอยู่ที่ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 24,150 ตารางเมตร และพื้นที่เช่าหลังคารวมประมาณ 23,205 ตารางเมตร

จุดเด่นของทำเลบริเวณอำเภอวังน้อย คือเป็นแหล่งของศูนย์กระจายสินค้าหลักสู่กรุงเทพฯ รวมถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ 3 ในบริเวณอำเภอวังน้อยที่กองทรัสต์ได้เข้าลงทุน อีกทั้งปัจจุบันโครงการในบริเวณนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (ต.ค.64)

2.โครงการ WHA Mega Logistics Center (ถนนบางนา-ตราด กม. 23 โปรเจค 3)

ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 30,040 ตารางเมตร จุดเด่นของทำเลบริเวณถนนบางนา-ตราด คือเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ เนื่องจากใกล้กับกรุงเทพชั้นในและท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังสามารถออกสู่ถนนสายหลักที่สำคัญต่าง ๆ ได้สะดวก


3.โครงการ WHA ECommerce Park

ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่บนพื้นที่ EEC และโครงการนี้ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์บางปะกง ด้วยเช่นกัน โดยมีพื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 130,139 ตารางเมตร

จุดเด่นของทำเลบริเวณอำเภอบางปะกง คือการตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC และมีระยะทางที่ใกล้กับกรุงเทพฯ จึงมีความสะดวกในการเดินทางและขนส่ง กระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆ ได้รวดเร็ว


หนุนทรัพย์สินแตะ 4.8 หมื่นล้าน

หลังการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินหลักในครั้งนี้ จะส่งผลให้กองทรัสต์  WHART มีมูลค่าทรัพย์สินรวมแตะที่ระดับกว่า 48,000 ล้านบาท (จากเดิมอยู่ที่ระดับ 42,639 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้กองทรัสต์ WHART เป็นกองทรัสต์ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมมากที่สุดในกองทรัสต์ประเภทอุตสาหกรรมในประเทศไทย

และจะมีพื้นที่เช่าภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นจาก 1.40 ล้านตารางเมตรเป็น 1.58 ล้านตารางเมตร คงความเป็นผู้นำของกองทรัสต์ประเภทศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงาน

มีการประเมินว่า ภายหลังการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม กองทรัสต์ WHART จะสามารถจ่ายประโยชน์ตอบแทนได้ไม่ด้อยกว่าเดิม โดยประมาณการจ่ายประโยชน์ตอบแทนและเงินลดทุนอ้างอิงงบกำไรขาดทุนและการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตามสถานการณ์สมมุติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 0.80 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 0.79 บาทต่อหน่วยก่อนการเพิ่มทุนครั้งนี้


จองซื้อได้เมื่อไหร่ ?

สำหรับระยะเวลาการเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนครั้งนี้ ผู้ถือหน่วยเดิมที่มีสิทธิ จะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. 2564 เเละสำหรับประชาชนทั่วไป* จะอยู่ในช่วงวันที่ 16-19 พ.ย. 2564

โดยผู้ถือหน่วยเดิมที่มีสิทธิ จะจองซื้อที่ราคาเสนอขายสูงสุด ซึ่งจะมีการคืนส่วนต่างหากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่า ส่วนประชาชนทั่วไป จะจองซื้อที่ราคาเสนอขายสุดท้าย โดยราคาเสนอขายสุดท้ายกำหนดโดยกระบวนการ bookbuilding

ด้านช่องทางการจองซื้อ ทำได้ง่ายๆ ผ่าน K-My Invest  https://www.kasikornbank.com/kmyinvest และสาขาของธนาคารกสิกรไทย

ผู้สนใจลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทรัสต์ WHART เพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th หรือ www.whareit.com

* การจัดสรรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่าย

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

]]>
1358105
“สื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงใจ” วิธีกู้สถานการณ์โควิด-19 ของบริษัทขนส่งพัสดุ https://positioningmag.com/1345061 Wed, 04 Aug 2021 06:00:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345061

สถานการณ์ Covid-19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับหลากหลายธุรกิจในประเทศไทย หากเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวแน่นอนว่าคงไม่สามารถไปต่อได้ในสถานการณ์นี้ ขณะที่ธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับ E-commerce นั้นในช่วงแรกยังไม่ได้เผชิญกับวิกฤต Covid-19 สักเท่าไรและไม่ว่าจะมากี่ระลอก ก็ยังคงเติบโตสวนกระแส แต่เมื่อมาถึงระลอก 4 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องและส่งผลในหลายอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนส่งอันเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ E-Commerce ที่ปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าเป็น อุตสาหกรรมที่เติบโตมากที่สุดในประเทศ โดยรายการของ Global Digital Stat 2021 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นรายงานว่าการช้อปออนไลน์ของคนไทยนั้นเติบโตถึง 83.6 เปอร์เซนต์ซึ่งเป็นอันดับ 3 ของโลก

และด้วยสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนเดินทางไปไหนไม่ได้ ต้องสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ หากมองในด้านบวกวิกฤตนี้ดันให้ยอดส่งพัสดุของผู้เล่นหลายรายได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว หากอีกด้านกลับมีตัวแปรที่หลายคนไม่คาดคิดเกิดขึ้น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นต้นมาเราจะเห็นได้ว่ากระแสของภาคขนส่งได้รับผลกระทบ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องข้อจำกัดในการวิ่งรถ การกำหนดพื้นที่สีแดงส่งผลในเรื่องการเดินทางมากพอสมควร และที่สำคัญพนักงานส่งพัสดุติดเชื้อมากขึ้น 

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้การขนส่งพัสดุของหลายเจ้าต้องหยุดชะงัก และอาจจะไม่ใช่เพียงบริษัทขนส่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่ผลกระทบนี้ยังส่งต่อไปยังกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ รวมถึงผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ขยายตัวกันเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันกับบริษัทขนส่งพัสดุเองก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อแรงงานในระดับปฏิบัติการขาดหายไปจากศูนย์กระจายพัสดุเนื่องจากต้องกักตัวเพราะมีผู้ติดเชื้อในสถานที่ทำงาน

ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาที่ทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าคงไม่มีใครเคยเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ไม่มีกรณีตัวอย่างให้ศึกษา เมื่อเป็นเช่นนั้นการแก้ไขปัญหาก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารขององค์กร ว่าจะมีแผนสำรองในการบริหารจัดการอย่างไร โดยก่อนหน้านี้มีผลสำรวจน่าสนใจจาก Live Agent ที่ระบุความพึงพอใจของนักช้อปออนไลน์ไทยต่อการตอบรับของผู้ให้บริการหรือร้านค้าออนไลน์ ในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาซึ่งผลสำรวจนั้นระบุว่า ภาษาที่ใช้ ความเข้าใจในสินค้าหรือบริการ และการดูแลเอาใจใส่ เป็น 3 ลำดับแรกที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการได้

ซึ่งวิธีการดังกล่าวหากนำมาปรับใช้ในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นของบริษัทส่งพัสดุ ดูจะเป็นทางออกที่น่าสนใจไม่น้อย และเท่าที่เห็นบริษัทส่งพัสดุเจ้าใหญ่อย่างแฟลช เอ็กซ์เพรส ที่กำลังเจอกับวิกฤติโควิด – 19 ได้ออกมาแก้ไขปัญหา ด้วยการแสดงถึงความเข้าใจในสินค้าหรือบริการของตนเองอย่างชัดเจน ผ่านจดหมายเปิดผนึกของ ซีอีโอ ที่ชื่อคมสันต์ ลี ทำให้แฟลชกลายเป็นเจ้าแรกที่ออกมาฟังเสียงของลูกค้า เพราะรู้ดีว่าหากเกิดความล่าช้าจะส่งผลอะไรต่อผู้ใช้บริการบ้าง

รายละเอียดของจดหมายดังกล่าวไม่เพียงแต่ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น หากแต่ยังขอโทษและแสดงความเห็นใจพนักงานในระดับปฏิบัติการที่ได้รับผลกระทบ ยิ่งไปกว่านั้นการประกาศรับผิดชอบด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าที่สูงถึง 200 ล้านบาท ทำให้ภาพของแฟลชที่ก่อนหน้านี้สะบักสะบอมจากเสียงบ่นของลูกค้า ได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้นมาก

เมื่อการสื่อสารจากผู้นำองค์กรชัดเจน ทำให้การวิธีการแก้ไขปัญหาของแฟลช เอ็กซ์เพรสยิ่งชัดเจน เมื่อฝ่ายบริหารฟังเสียงของลูกค้าและไม่ได้ปล่อยผ่าน ผลตอบรับที่ได้คือกลุ่มแม่ค้าออนไลน์ที่ได้รับความเสียหายและได้รับเงินชดเชย เข้ามาโพสต์ขอบคุณในเฟซบุ๊กของแฟลช เป็นการสร้าง Engagement เชิงบวกให้กับแฟลช ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาแต่ได้ผลเกินคาด


ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยการรับพนักงานเพิ่มเพื่อทดแทนจำนวนพนักงานที่ขาดหายในช่วงโควิด-19 และมาตรการรักษาความสะอาดและปลอดภัยภายในสถานที่ปฏิบัติงาน การเพิ่มกฎระเบียบที่ลดความแออัดภายในสถานที่ เว้นระยะห่างในการทำงาน ไม่ใช่แค่เพื่อให้พัสดุถึงที่หมายโดยปลอดภัย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมไปถึงปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง และใช้ศูนย์กระจายสินค้าอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบเพื่อแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ด้วยสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้การจัดส่งพัสดุมีความล่าช้าจากเดิมไปบ้าง หากแต่พัสดุยังคงเดินทางไปยังจุดหมายได้ และคนทำงานก็สามารถปฏิบัติหน้าที่แบบไม่ขาดตอน

วิธีการกู้สถานการณ์ของ แฟลช เอ็กซ์เพรส นับเป็นกรณีศึกษาที่จะเป็นบทเรียนให้แก่ผู้เล่นรายอื่นในตลาด ความไม่ซับซ้อนของการสื่อสาร แสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาจากการประกาศของแม่ทัพใหญ่อย่าง CEO นับได้ว่าสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้ากลับมาได้ไม่น้อย ที่สำคัญเรายังคงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังมีลูกค้าอีกเกินกว่า 80% ยังคงรอใช้บริการด้วยกลยุทธ์ราคา และ Performance ที่นับว่าเป็นต่อกว่าเอกชนเจ้าอื่น จากนี้การสื่อสารอย่างจริงใจกับลูกค้าจะกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนเดินคู่ไปกับแบรนด์ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มีแค่คำขอโทษที่สวยหรู แต่การที่ยอมรับความผิดพลาด สื่อสารอย่างจริงใจ ทำให้ธุรกิจสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นได้จากลูกค้าเป็นอย่างดี

]]>
1345061
ความไวคือปีศาจ! Lazada ลงทุน 1 พันล้านสร้าง “ศูนย์คัดแยกสินค้า” ติดสปีดจัดส่งเหลือ 0.8 วัน https://positioningmag.com/1256777 Thu, 12 Dec 2019 16:20:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1256777 แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส นอกจากจะวัดกันเรื่องคุณภาพสินค้า ราคาที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความประทับใจให้ทั้งผู้ซื้อผู้ขายคือ “ความเร็วในการจัดส่ง” โดย Lazada เลือกกลยุทธ์สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ด้วยตนเองผ่านบริษัทลูก LEL Express ล่าสุดลงทุนเกือบ 1 พันล้าน ขยายฐานทัพ “ศูนย์คัดแยกสินค้า” ย่านสุขสวัสดิ์ รองรับการคัดแยกพัสดุได้สูงสุด 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง จัดส่งถึงมือลูกค้ากทม.ภายใน 0.8 วัน หวังปูทางอนาคตขยับเป็น Same-Day Delivery

ปัจจุบันการจัดส่งของ Lazada แบ่งสัดส่วนตามจำนวนชิ้นพัสดุ 65% นั้นจัดส่งโดยบริษัทภายนอก (Third Party) เช่น Kerry, DHL, CJX แต่ที่เหลือ 35% จะเข้าระบบจัดส่งของ LEL Express บริษัทลูกที่ Lazada ตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยหวังว่าอัตราส่วนนี้จะขยับขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

“สุทธิโรจน์ ทรัพย์สมบัติ” ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์คัดแยกสินค้า ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันระบบและทีมงานของ LEL ขยายตัวขึ้นโดยมีความสามารถในการจัดการพัสดุดังนี้

  • รถรับส่งพัสดุ 2,335 คัน
  • รับสินค้าจากร้านค้า (First-Mile) มาที่ศูนย์คัดแยกสินค้าได้เฉลี่ย 140,000 ชิ้นต่อวัน
  • ศูนย์คัดแยกสินค้าสามารถรองรับได้สูงสุด 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง
  • จัดส่งสินค้าให้ผู้รับ (Last-Mile) ทำได้เฉลี่ย 100,000 ชิ้นต่อวัน
  • ฮับกระจายสินค้า (DC) ขนาดใหญ่ 50 แห่ง (ในกทม.และปริมณฑล 30 แห่ง ต่างจังหวัด 20 แห่ง) และฮับขนาดเล็กอีก 7 แห่ง
การเติบโตของ LEL Express ในช่วง 4 ปีแรก

ลงทุน “ศูนย์คัดแยกสินค้า” แห่งใหม่ 1 พันล้าน

ไฮไลต์ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ทำให้ LEL เพิ่มกำลังการจัดส่งได้มากขึ้น มาจากการเปิด ศูนย์คัดแยกสินค้า แห่งใหม่ย่านสุขสวัสดิ์ (ย้ายจากจุดเดิมย่านปู่เจ้าสมิงพราย) เปิดทำการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562

ศูนย์ฯ นี้มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิม 8 เท่า คือ 24,624 ตร.ม. และมีการใช้เทคโนโลยีสายพานคัดแยกใหม่ๆ เช่น Tilt Tray, Wave Sorter, Shoes Sorter ทำให้รองรับพัสดุได้มากกว่าเดิม 3 เท่าคือสูงสุดที่ 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง เป็นศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada ที่ใหญ่ที่สุดเทียบกับศูนย์ฯ อื่นของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ขนาดพื้นที่และกำลังการรองรับพัสดุของศูนย์คัดแยกสินค้า LEL ที่ปู่เจ้าสมิงพรายกับที่ใหม่ย่านสุขสวัสดิ์

ศูนย์คัดแยกสินค้าสุขสวัสดิ์ลงทุนไปเกือบ 1 พันล้านบาทสำหรับเฟสแรก ใช้พื้นที่ไปแล้ว 60% ซึ่งสุทธิโรจน์กล่าวว่า ยังสามารถขยายไลน์คัดแยกสินค้าได้อีก หากใช้เต็มพื้นที่จะรองรับได้สูงสุด 96,000 ชิ้นต่อชั่วโมง

ศูนย์คัดแยกสินค้า
ศูนย์คัดแยกสินค้า Lazada

นอกจากจะรับของได้มากแล้ว ยังทำความเร็วการจัดส่งจากผู้ขายถึงผู้รับเร็วขึ้นเป็น 0.8 วัน (*เฉพาะการจัดส่งใน กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงทางภาคตะวันออก และร้านค้าผู้ขายต้องบรรจุและส่งของให้พนักงานภายในเวลา 12.00 น.) ซึ่งสุทธิโรจน์ชี้ว่า หากเปรียบเทียบกับการให้ Third Party บริหารจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน และเชื่อว่ามาร์เก็ตเพลซอื่นๆ ยังต้องใช้เวลามากกว่า 1 วันในการจัดส่ง สะท้อนว่า หน่วยงาน LEL มีความจำเป็นกับ Lazada ในการบริการจัดส่งที่รวดเร็วทันใจ

ศูนย์คัดแยกสินค้า
เทคโนโลยี Tilt Tray ช่วยแยกสินค้าอัตโนมัติ

“ข้อดีอื่นนอกจากความเร็ว คือ เมื่อเป็นหน่วยงานของเราเองทำให้คุมเรื่องบริการได้ สามารถควบคุมให้คนรับของจากผู้ขายและส่งของให้ผู้ซื้อมีมารยาทที่ดี ตลอดกระบวนการมีการดูแลพัสดุไม่ให้บุบหักเสียหาย” สุทธิโรจน์กล่าว

ปี 2563 เพิ่มฮับอีก 10 แห่ง เร่งความเร็วเป็น 0.7 วัน

ดังที่กล่าวไปว่า LEL ต้องการขยายต่อเนื่อง ลดการพึ่งพิงระบบโลจิสติกส์ของ Third Party ซึ่งหากดูจากฮับกระจายสินค้าและศูนย์คัดแยกสินค้าขณะนี้ LEL ยังปักหลักในกทม.เป็นหลัก จึงยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ สุทธิโรจน์กล่าวว่า ปีหน้านี้ LEL จึงวางแผนเปิดฮับเพิ่มอีก 10 แห่งโดยยังไม่เปิดเผยเขตพื้นที่หรือจังหวัด แต่การตั้งฮับจะเลือกจากจุดที่มีการสั่งซื้อของจำนวนมาก คุ้มค่าที่จะลงทุน

ขณะที่ความเร็ว ตั้งเป้าหมายจะปรับระบบให้ไวขึ้นเป็นการส่งถึงมือภายใน 0.7 วัน (*ตามเงื่อนไขพื้นที่จัดส่งข้างต้น) ส่วนต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ยังมีเป้าหมายส่งถึงมือภายใน 2 วัน

สุทธิโรจน์ ทรัพย์สมบัติ ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์คัดแยกสินค้า ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย

ส่วนการขยายไลน์ในศูนย์คัดแยกสินค้านั้นยังไม่มีแผน เพราะปัจจุบันใช้กำลังคัดแยกสินค้าเฉลี่ย 22,000 ชิ้นต่อชั่วโมง จึงยังเหลือพื้นที่เพียงพอสำหรับปีหน้า

สุทธิโรจน์บอกว่า เป้าหมายระยะยาวของโลจิสติกส์ ต้องการจะปรับเวลาให้เหลือ 0.5 วัน เท่ากับเป็นการส่งแบบ Same-Day Delivery สั่งเช้าได้เย็น แต่ทั้งนี้ จะต้องขอความร่วมมือกับร้านค้าให้หยิบและแพ็กของส่งตามเวลาที่กำหนดจึงจะสำเร็จ

ระบบของ LEL Express ขณะนี้ยังรับบริการเฉพาะสินค้า Lazada เท่านั้น แต่อนาคตข้างหน้าหากระบบจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีกำลังเหลือสำหรับรับงานภายนอก เราอาจเห็นหน่วยธุรกิจนี้ลุกขึ้นมาแข่งกับ Kerry หรือ DHL ก็ได้!

]]>
1256777