พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ไม่ได้เลือกตัดสินใจซื้อสินค้าจากช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “ออฟไลน์” หรือ “ออนไลน์” แต่เลือกช่องทางที่สะดวก ณ เวลาที่ต้องการซื้อ “Omni Channel” จึงเป็นกลยุทธ์ที่กลุ่มค้าปลีกหยิบมาเป็นยุทธศาสตร์สร้างแพลตฟอร์มช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้บรรลุเป้าหมายอยู่ที่ “โลจิสติกส์”
ธุรกิจค้าปลีกอายุ 72 ปี เซ็นทรัล รีเทล (Central Retail) ประกาศยุทธศาสตร์ New Central New Retail เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อก้าวสู่ค้าปลีกไร้พรมแดน พัฒนา “Omni channel Platform” สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งให้ลูกค้ายุคดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ
อี-โลจิสติกส์ หนุน “ออมนิ แชนแนล”
ปิยะพงษ์ ธัญญศรีสังข์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่าการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม “ออมนิ แชนแนล” ที่ตอบโจทย์การซื้อสินค้าทั้งสโตร์และออนไลน์ “ศูนย์กระจายสินค้า” (DC) และระบบโลจิสติกส์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งสินค้าทั้งการเติมสินค้าที่สโตร์และส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม
ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดขายสินค้าผ่านช่องทาง ออมนิ แชนแนล ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ของเซ็นทรัล รีเทล มีอัตราเติบโตสูง ทั้งกลุ่มแฟชั่น เติบโต 104% กลุ่มฮาร์ดไลน์ เติบโต 50% และกลุ่มฟู้ด เติบโต 26%
จากเทรนด์การขยายตัวผ่านช่องทางออมนิ แชนแนล “เซ็นทรัล รีเทล” จึงเดินหน้าลงทุนพัฒนา E-Logistics โดยพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า Omni Channel พื้นที่ 75,000 ตร.ม. เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ “ออมนิ แชนแนล ดีซี” 15 ปี ย่านบางพลี สมุทรปราการ กับ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” โครงการดังกล่าวจะให้เงินลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ฝั่งเฟรเซอร์ส ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าใหม่ ส่วนเซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้เช่าที่จะลงทุนเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ใหม่ๆ ราวปีละ 300 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลา 10 เดือน จะเริ่มใช้งานในปี 2563
โดยศูนย์กระจายสินค้า Omni Channel แห่งใหม่ จะเป็นรูปแบบ “โลจิสติกส์ แคมปัส” เป็นศูนย์กลางเก็บและกระจายสินค้าของเซ็นทรัล รีเทล ทั่วประเทศ ทั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ออฟฟิศเมท และซีเอ็มจี
ปัจจุบัน เซ็นทรัล รีเทล มีศูนย์กระจายสินค้า 5 แห่งในย่านบางพลี บางนา หลังจากดีซี ออมนิ แชนแนล แห่งใหม่เริ่มให้บริการในปีนี้ จะยกเลิกการเช่าดีซีปัจจุบันทั้ง 5 แห่ง
ส่งสินค้าเรียลไทม์ 1-2 ชั่วโมง
การให้บริการลูกค้าของ เซ็นทรัล รีเทล จะครอบคลุมทั้ง Physical Platform และ Digital Platform หรือการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการให้บริการ ออมนิ แชนแนล ของเซ็นทรัล รีเทล ปัจจุบันให้บริการเฉพาะบุคคล (Personalization) จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 27 ล้านราย โดยใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning พัฒนาเซอร์วิสใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็น Central Chat & Shop แอปพลิเคชั่น Line ซึ่งเป็นผู้ช่วยช้อปส่วนตัว ให้คำปรึกษาผ่านการแชต ส่งข้อความ ส่งรูปสินค้าหรือแคปหน้าจอสินค้าที่ต้องการส่งผ่านไลน์ระบบจะค้นหาข้อมูล และส่งรายละเอียดสินค้าให้เลือกซื้อ สามารถซื้อสินค้าทุกแบรนด์ ทุกสาขาของเซ็นทรัล จัดส่งฟรีทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ ส่งผ่าน Grab
บริการระบบสั่งซื้อสินค้า E-Ordering เมื่อมาที่สโตร์เลือกดูสินค้าก่อนจากนั้นสามารถสั่งซื้อสินค้าจากแท็บเล็ตที่มีให้บริการ ณ จุดขาย เพื่อจัดส่งไปยังจุดรับที่ลูกค้าสะดวก รวมทั้งช่วยค้นหาสินค้าที่ไม่มีอยู่ในสโตร์ที่ลูกค้าไปช้อป โดยจะหาสินค้าจากสาขาอื่นๆ และจัดส่งให้
ปี 2563 จะให้บริการใหม่รูปแบบ Click & Reserve ให้ลูกค้าคลิกออนไลน์เลือกสินค้าที่ต้องการซื้อไว้ล่วงหน้า จากนั้นมาดูสินค้าหรือลองสินค้าในกลุ่มแฟชั่นที่สโตร์ เพื่อเลือกซื้อหรือจัดส่ง รูปแบบนี้เป็นการแก้ pain point ของลูกค้าที่สั่งซื้อออนไลน์แต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับความต้องการ
เดิมบริการจัดส่งผ่านช่องทางออนไลน์และออมนิ แชนแนล จะใช้เวลา 2 – 3 วัน ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ หากสั่งซื้อก่อน 14.00 น. จะได้รับสินค้าในวันเดียวกันไม่เกิน 21.00 น. แต่ปี 2563 จะพัฒนาให้เป็นการจัดส่งแบบ “เรียลไทม์” คือหลังการสั่งซื้อจะได้รับสินค้าภายใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยศูนย์กระจายสินค้าออมนิ แชนแนลใหม่ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเข้าถึงสินค้าทั้งหมดในทุกสโตร์ของเซ็นทรัล
“ปกติบริการช้อปปิ้ง ออนไลน์เติบโต 200 – 300% มาต่อเนื่อง การพัฒนาเซอร์วิสครอบคลุมทุกช่องทางด้วยกลยุทธ์ออมนิ แชนแนล สมบูรณ์แบบ จะทำให้ธุรกิจเซ็นทรัล รีเทลเติบโตได้ระดับ 5 – 10% หลังจากนี้”
“เฟรเซอร์ส” ปั้นโลจิสติกส์ตอบเทรนด์องค์กร
ในฝั่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ธุรกิจของ “เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี” วางยุทธศาสตร์ก้าวสู่ผู้ให้บริการ Integrated Real Estate Platform ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริการดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทโซลูชั่น การงทุน Township รูปแบบมิกซ์ยูส
โสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทรนด์การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบัน องค์กรขนาดใหญ่ต้องการพัฒนาแบบรวมศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยี สมาร์ท โซลูชั่น สร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งการออกแบบอาคารที่บ่งบอกถึง identity ขององค์กร
เฟรเซอร์ส จึงโฟกัสการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและบริการโลจิสติกส์รูปแบบ Build-to-Suit คือ การสร้างตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายและจะเซ็นสัญญาระยะยาว ปีนี้วางเป้าหมายสร้างศูนย์กระจายแบบ Build-to-Suit ราว 1.2 แสนตร.ม. ซึ่งได้ตามเป้าหมาย แต่ละปีจะขยายเพิ่มปีละ 1 แสนตร.ม. ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการโลจิสติกส์ 300 – 400 ราย
ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าให้กับ เพาเวอร์บาย พื้นที่ 30,000 ตร.ม.ในย่านบางพลี และปีนี้เซ็นสัญญากับเซ็นทรัล รีเทล พัฒนาศูนย์กระจายสินค้า ออมนิ แชนแนล อีก 75,000 ตร.ม. ในพื้นที่เดียวกัน ด้วยเงินลงทุนส่วนของ เฟรเซอร์ส ราว 1,000 ล้านบาท สัญญาเช่า 15 ปี โดยเป็น “โลจิสติกส์แคมปัส” ของธุรกิจในเครือเซ็นทรัลรวมพื้นที่ 1 แสนตร.ม.