นักช้อปออนไลน์ไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสังคมยุคดิจิทัล นับเป็นปัจจัยผลักดันตลาด “อี–คอมเมิร์ซ” เติบโต ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ปีนี้ยังโตได้อีก 8 – 10% ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น”
ในตลาดไทยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งภาคอุตสาหกรรม (B2B) และขนส่งปลายทางถึงผู้บริโภคแบบ door to door หรือ B2C โดย “เบอร์หนึ่ง” ที่ขับเคี่ยวชิงตำแหน่งในตลาด คือ DHL จากเยอรมนี และ Yusen Logistics สัญชาติญี่ปุ่น
ทรานส์ฟอร์ม 2025 โตเหนือจีดีพี
ซูซูมุ ทานากะ ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูเซ็น ให้บริการธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจรในไทยมากกว่า 50 ปี เริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันยังเป็นลูกค้าหลักสัดส่วน 60 – 65% จากนั้นขยายสู่กลุ่มเคมีคอลและค้าปลีก สัดส่วน 25% และ 4 ปีก่อนเริ่มให้บริการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยมีศูนย์รับและกระจายสินค้าครอบคลุมทุกภูมิภาค กว่า 30 แห่ง รวมพื้นที่ 3 แสนตร.ม.
จากการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่ส่งผลกับทุกอุตสาหกรรม ยูเซ็นจึงได้ประกาศนโยบาย Transform 2025 วางเป้าหมายการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 – 6 ปีนี้ ให้มากกว่าจีดีพีไทย หรือไม่น้อยกว่า 5% ทุกปี พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในธุรกิจโลจิสติกส์ และมองหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอี-คอมเมิร์ซ
“โลจิสติกส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมมีโอกาสเติบโตจากโครงการเมกะโปรเจกต์และอีอีซีของไทย ส่วนตลาด B2C ขยายตัวตามเทรนด์อี-คอมเมิร์ซที่ยังมีโอกาสอีกมาก”
ปัจจุบันยูเซ็นมีลูกค้ากว่า 500 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยลูกค้าหลัก 90% เป็นธุรกิจญี่ปุ่น จากการขยายฐานลูกค้าธุรกิจใหม่ๆ คาดว่าปี 2025 สัดส่วนลูกค้าญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 60 – 70%
ขนส่งบริการ B2C โตเท่าตัว
พิมาน นวลหงส์ กรรมการบริหาร หน่วยงานการจัดการคลังสินค้า บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้บริการ B2C เป็นครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน มาจากการขยายตัวของธุรกิจ “มาร์เก็ตเพรส” ในไทย จากผู้ให้บริการรายใหญ่ในต่างประเทศ เช่น Lazada เข้ามาใช้บริการจัดส่งสินค้า
พฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ รองรับตลาดอี-คอมเมิร์ซ และให้บริการลูกค้าทุกช่องทาง ยูเซ็นจึงให้บริการจัดส่งสินค้า B2C ในกลุ่มลูกค้าเดิมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จัดส่งสินค้าแบบ B2B คือจากคลังสินค้าไปยังร้านค้าปลีกและดิลเลอร์ให้ลูกค้าแบรนด์ต่างๆ อยู่แล้ว
กลุ่มสินค้าที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบันมีทั้ง สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวส่ง โดยเฉพาะสินค้าดูแลสุขภาพ จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังจับจ่ายสูง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าแฟชั่น รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์
“ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์โดยรวมของยูเซ็นตั้งเป้าเติบโตแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5% แต่บริการอี-คอมเมิร์ซกลุ่ม B2C เราเติบโตได้กว่าเท่าตัวทุกปี และมองหาโอกาสการขยายบริการในกลุ่มนี้มากขึ้นอีก”
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตตามนโยบาย ทรานส์ฟอร์ม 2025 ได้ใช้งบลงทุน 600 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี สร้างคลังสินค้าใหม่ 2 หลัง ขนาด 14,000 ตร.ม. และ 9,700 ตร.ม. รวมพื้นที่ 28 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด ที่เชื่อมต่อเครือข่ายขนส่งไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าเรือแหลมฉบัง